xs
xsm
sm
md
lg

เดาทางมาเลย์-เชื่อเตรียมปรับค่าริงกิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เฮรัลด์ ทรีบูน - เชื่อกัวลาลัมเปอร์กำลังเตรียมการปรับค่าริงกิต โดยน่าจะชิงลงมือก่อนจีนยอมปรับหยวนชนิดเฉียดฉิว เพราะหากเคลื่อนไหวเร็วเกินไปสินค้าออกของตัวก็จะตกที่นั่งลำบาก แต่ถ้าช้าเกินไปจะกลายเป็นการเชื้อเชิญนักเก็งกำไรเข้ามา และดันอัตราเงินเฟ้อถีบตัวสูงขึ้น

ในฐานะที่ปรึกษาพิเศษด้านเศรษฐกิจของมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในช่วงวิกฤตเอเชียปี 1998 นูร์ โมฮัมหมัด ยะอ์กูบ คือสถาปนิกผู้วางระบบผูกริงกิตตายตัวกับดอลลาร์ แบบเดียวกับที่เงินหยวนของจีนตรึงไว้กับสกุลเงินสหรัฐฯ

นับแต่นั้นค่าเงินมาเลย์ปักหลักอยู่ที่ 3.8 ริงกิตต่อดอลลาร์ แม้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากการหนุนนำของภาคส่งออกกระทั่งรัฐบาลยอมรับว่าค่าริงกิตต่ำเกินจริงไปแล้ว ดังนั้นเมื่ออับดุลเลาะห์ อาหมัด บาดาวี ผู้สืบทอดอำนาจต่อจากมหาเธร์ แต่งตั้งนูร์เป็นรัฐมนตรีคลังเมื่อปีที่แล้ว นักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนจำนวนมากจึงเดาเกมว่านูร์ถูกดึงตัวมาปรับหรือแม้แต่ยกเลิกนโยบายตรึงริงกิต

แต่ถึงป่านนี้นูร์ก็ยังปล่อยให้คนเหล่านั้นเดากันต่อไป โดยแย้มเพียงว่าต้องมีการปรับค่าเงินแน่นอน แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้

นอกจากหยวนและดอลลาร์ฮ่องกงแล้ว ริงกิตเป็นเงินเอเชียสกุลเดียวที่ผูกไว้กับดอลลาร์ ธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคต่างพยายามควบคุมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับค่าเงินของตัวเองน้อยที่สุด โดยเฉพาะการปกป้องไม่ให้ค่าเงินแข็งเกินไปในช่วงหลายปีมานี้ เพื่อรักษาขีดความสามารถการแข่งขันของภาคส่งออก แต่ที่สุดแล้วตลาดต่างหากที่เป็นผู้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยน

ก่อนหน้านี้ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่านูร์จะต้องปรับค่าริงกิต เพราะแม้การตรึงค่าเงินช่วยป้องกันขีดความสามารถการแข่งขันของภาคส่งออก แต่การที่ริงกิตมีค่าต่ำเกินจริงก็ทำให้ต้นทุนการนำเข้าโป่งพอง เป็นอุปสรรคต่อการเติบโต

แต่ระยะหลังนักลงทุนเริ่มไม่แน่ใจกับการคาดการณ์ดังกล่าว และพากันถอนเงินทุนกว่า 200 ล้านดอลลาร์ออกจากตลาดหุ้นกัวลาลัมเปอร์ระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน

ด้านนักเศรษฐศาสตร์มองว่ามือที่จะมาบีบนูร์อาจเป็นการที่จีนปรับค่าเงินหยวน อันจะเปิดทางให้มาเลเซียและผู้ส่งออกอื่นๆ ของเอเชียกล้าปล่อยให้ค่าเงินของตัวเองแข็งขึ้นโดยที่สินค้าออกไม่แพงกว่าของจีน กลยุทธ์ของนูร์คือการเดาใจพญามังกรและปรับค่าริงกิตตัดหน้าการปรับค่าหยวนชนิดเฉียดฉิว

เนื่องจากหากเคลื่อนไหวเร็วเกินไปสินค้าออกมาเลเซียก็จะตกที่นั่งลำบาก และนักเก็งกำไรจะหลั่งไหลอัดฉีดเงินเข้าสู่แดนเสือเหลือง กระตุ้นอัตราเงินเฟ้อถีบตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ การตรึงค่าริงกิตเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชุดมาตรการควบคุมการไหลเข้า-ออกของเงินทุน เพื่อป้องกันมาเลเซียจากวิกฤตการเงิน ซึ่งขัดกับคำแนะนำของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ในขณะนั้น

แต่หลังจากนั้น มาเลเซียก็ยกเลิกการควบคุมเกือบทั้งหมด คงเหลือเพียงระบบผูกริงกิต ซึ่งได้รับคำชมว่านอกจากจะทำให้ภาคส่งออกมีขีดความสามารถแข่งขันแล้ว ยังทำให้สภาพแวดล้อมการทำธุรกิจมีเสถียรภาพ

กระนั้น อาร์จูนา มาเฮนแดรน หัวหน้านักเศรษฐศาตร์ของสถาบันวิจัยเครดิต สวิสในสิงคโปร์ ชี้ว่าด้านลบของกลไกนี้คือทำให้นักลงทุนจำนวนมากตื่นตระหนกและหนีไปเล่นในตลาดทุนอื่นๆ ของเอเชีย

แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่เห็นว่าการผูกริงกิตดีต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจแดนเสือเหลือง เพราะในจังหวะที่แนวโน้มเศรษฐกิจโลกอึมครึมลงเช่นขณะนี้ ไม่ใช่โอกาสเหมาะในการปรับกลไกอัตราแลกเปลี่ยน ถ้าริงกิตแข็งขึ้น ผู้ส่งออกอิเล็กทรอนิกส์จะเดี้ยงหนักสุด เช่นเดียวกับเกษตรกร เนื่องจากมาเลเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ ตลอดจนถึงชาวไร่ชาวนา ซึ่งขัดกับนโยบายยกระดับชีวิตชาวชนบทของอับดุลเลาะห์

ทว่านับวันแนวโน้มการปรับค่าริงกิตยิ่งเชี่ยวกรากมากขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของทุนสำรองอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ นับจากปี 1997 ทุนสำรองของมาเลเซียเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าเป็น 75,200 ล้านดอลลาร์

อนึ่ง การคงกลไกผูกริงกิตในยามที่เงินตราหลั่งไหลเข้าประเทศนั้น บีบให้แบงก์ชาติต้องมีต้นทุนก้อนใหญ่ในการจัดการกับการปริวรรตเงิน ไม่นานนี้มาเลเซียตัดสินใจยกเลิกการบังคับให้ผู้ส่งออกแปลงรายได้จากต่างแดนเป็นริงกิต รวมถึงยอมให้ชาวมาเลย์มีบัญชีเงินฝากในรูปสกุลเงินต่างประเทศ เพื่อผ่อนคลายแรงกดดันต่อริงกิต

กระนั้นก็ดี ริงกิตที่มีค่าต่ำเกินจริงยังคงกระตุ้นภาวะเงินเฟ้อจนขณะนี้อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 6 ปี ดันต้นทุนการนำเข้าเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ต่างๆ แพงขึ้นจนถึงจุดที่ผู้ผลิตมากมายเรียกร้องให้ปรับค่าเงิน

ผู้สนับสนุนให้ปรับค่าเงินบอกว่า หากจีนปรับค่าหยวน มาเลเซียจะไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการปรับค่าริงกิต แต่ถ้ากัวลาลัมเปอร์รอให้จีนลงมือก่อน นักเก็งกำไรก็จะอัดเม็ดเงินเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากการแข็งขึ้นของริงกิต พลอยทำให้ความกดดันด้านเงินเฟ้อยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น