xs
xsm
sm
md
lg

ศึกชิงยูโนแคล‘เงินตราซื้อไม่ได้’ บททดสอบสัมพันธ์มะกัน-มังกร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิวยอร์ก ไทมส์ – ศึกชิงยูโนแคลกลายเป็นมากกว่าการชิงดีชิงเด่นทางธุรกิจ แต่เป็นเสมือนบททดสอบความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เพราะดูจากปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในวอชิงตันแล้ว ดีลนี้ไม่น่าตัดสินกันที่ราคาเสนอซื้อเท่านั้น

เพียงหนึ่งวันหลังจากไชน่า เนชั่นแนล ออฟชอร์ ออยล์ คอร์เปอเรชั่น หรือซีนุก หนึ่งในรัฐวิสาหกิจน้ำมันรายใหญ่สุดของจีน เสนอซื้อยูโนแคล บริษัทน้ำมันอิสระรายใหญ่ของเมืองลุงแซม ด้วยวงเงิน 18,500 ล้านดอลลาร์ เหล่าส.ส., ส.ว. ไปจนถึงนักกฎหมาย นายธนาคาร และล็อบบี้ยิสต์ในวอชิงตัน ต่างถกกันให้แซดว่าเรื่องนี้อาจกลายเป็นหนึ่งในความท้าทายด้านธุรกิจอันถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ ที่สร้างความกดดันต่อคณะบริหารของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุชมากที่สุด

เรื่องของเรื่องก็คือ ซีนุกสามารถซื้อยูโนแคล ที่เพิ่งตกลงควบรวมกับเชฟรอน บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ร่วมชาติ ผ่านข้อตกลงมูลค่า 16,400 ล้านดอลลาร์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา หรือไม่

ทั้งนี้ การประมูลซื้อยูโนแคลโดยไม่คาดหมายของผู้เล่นต่างชาติเกิดขึ้นในจังหวะที่ราคาน้ำมันเคลื่อนไหวเฉียดระดับ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล พลังงานสำรองมีค่ามากขึ้น และสหรัฐฯกำลังกลุ้มใจกับปริมาณน้ำมันและก๊าซสำรองของตัวเอง แต่ขณะเดียวกัน วอชิงตันก็จำเป็นต้องร่วมมือกับปักกิ่งในด้านการค้าและค่าเงิน ทั้งที่หนักใจกับอิทธิพลทางเศรษฐกิจที่แผ่ไพศาลขึ้นของแดนมังกร

ไมเคิล โอแฮนลอน ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารระหว่างประเทศของสถาบันบรูคกิ้งส์ บอกว่าความเคลื่อนไหวนี้ก่อให้เกิดคำถามว่า สหรัฐฯเต็มใจมากน้อยแค่ไหนที่จะขายธุรกิจให้ประเทศคอมมิวนิสต์ ที่วันหนึ่งอาจต้องแข่งขันกัน “แต่ผมคงแปลกใจมาก ถ้าเราสกัดกั้นการขายยูโนแคลขึ้นมาจริงๆ”

ข้อเสนอของซีนุกยังบีบให้ผู้ถือหุ้นยูโนแคลต้องชั่งใจระหว่างราคาที่สูงกว่าที่ทางฝ่ายจีนเสนอมา กับความเสี่ยงที่ดีลนี้จะเผชิญแรงต่อต้านในวอชิงตัน เพราะเท่ากับเป็นการขายสินทรัพย์ที่มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ของชาติให้กับจีน

ส่วนตัวยูโนแคลนั้นเปิดเผยเพียงว่า ได้ไฟเขียวจากเชฟรอนให้หารือกับซีนุกได้

ปัญหาก็คือ ถ้ายูโนแคลตัดสินใจผละจากเชฟรอนไปซุกอกซีนุก การเมืองในวอชิงตันก็จะเดือดพล่านขึ้นมาทันควัน และดีลนี้ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการการลงทุนของต่างชาติในสหรัฐฯ ซึ่งมีอำนาจสกัดกั้นการลงทุนของต่างชาติ โดยอ้างอิงเหตุผลด้านความมั่นคงแห่งชาติ

หลายปีมานี้ วอชิงตันจำกัดการครอบครองของต่างชาติในอุตสาหกรรมมากมาย ตั้งแต่สายการบินไปจนถึงสื่อ และผู้รับเหมาสัญญาด้านกลาโหม ซึ่งในอดีต ข้อจำกัดเหล่านี้พุ่งเป้าไปที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น และอังกฤษเป็นส่วนใหญ่

ไคลด์ เพรสโตวิตซ์ อดีตผู้เจรจาการค้าในสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน และประธานสถาบันยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในวอชิงตัน มองว่า กรณีของซีนุกนั้นเป็นการแจ้งเกิดของจีนในโลกธุรกิจขนาดใหญ่ และการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดคำถามว่า จะกลายเป็นการมอบอิทธิพลหรือความสำคัญให้กับรัฐบาลที่ไม่ได้เป็นมิตรกับสหรัฐฯเสมอไปหรือไม่

ทางด้านซีนุกนั้น ดูเหมือนวางหมากในวอชิงตันไว้พร้อมแล้ว ด้วยการจ้างพับลิก สเตรทเทอจีส์ บริษัทประชาสัมพันธ์ที่มีรองประธานกรรมการชื่อว่า มาร์ก แมกคินนอน ซึ่งเคยรับผิดชอบงานด้านสื่อในแคมเปญหาเสียงของบุชเมื่อปีที่แล้ว นอกจากนั้น ซีนุกยังดึงเหล่าที่ปรึกษาทางการเงินระดับพระกาฬของสหรัฐฯมาเป็นพวก อาทิ โกลด์แมน แซคส์ และเจ. พี. มอร์แกน เช่นเดียวกับบริษัทกฎหมายและล็อบบี้ยิสต์อย่างเอคิน กัมพ์ สเตราส์ เฮาเออร์ แอนด์ เฟลด์ และเดวิส โพล์ค แอนด์ วอร์เดลล์

คนในวอชิงตันพูดกันว่า ดีลนี้อาจผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการการลงทุนของต่างชาติ ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการชุดนี้มีปฏิกิริยาทั้งบวกและลบกับดีลที่มีจีนเข้ามาเกี่ยวข้อง

ตัวอย่างเช่น ปี 2003 การแสดงทัศนะในเชิงลบของคณะกรรมาธิการชุดนี้ ส่งผลให้ฮัทชิสัน วัมเปาของฮ่องกง ต้องรามือจากการเสนอชื้อโกลบัล ครอสซิ่ง บริษัทโทรคมนาคมชั้นนำของสหรัฐฯที่ภายหลังล้มละลายลง แต่มาปีนี้ คณะกรรมาธิการฯกลับอนุญาตให้เลโนโวของจีนซื้อธุรกิจพีซีของไอบีเอ็มด้วยวงเงิน 1,750 ล้านดอลลาร์

แต่สำหรับงานนี้ วิลเลียม เรนช์ ประธานสภาการค้าต่างประเทศแห่งชาติ และอดีตเจ้าหน้าที่การค้าในรัฐบาลประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน ฟันธงว่าอุตสาหกรรมพลังงานถือเป็นประเด็นความมั่นคงแห่งชาติ โดยเฉพาะในภาวะที่ซัปพลายในตลาดตึงตัว ดังนั้น จึงย่อมมีคนในวอชิงตันออกมาคัดค้าน

ซีนุกเองก็พยายามผ่อนคลายความกังวลที่ว่า ข้อเสนอของตนอาจกระทบต่อตลาดน้ำมันและก๊าซในสหรัฐฯ โดยย้ำว่า 70% ของน้ำมันและก๊าซสำรองของยูโนแคลอยู่ในเอเชีย ขณะที่น้ำมันสำรองในสหรัฐฯของบริษัทแห่งนี้มีแค่ 1% ของปริมาณการบริโภค ส่วนท่อส่งที่เชื่อมต่อกับคลังน้ำมันสำรองเชิงยุทธศาสตร์แดนอินทรีนั้น ซีนุกอาจขายทิ้งถ้าจำเป็น รวมถึงให้สัญญาว่าจะไม่นำน้ำมันและก๊าซสำรองของยูโนแคลในสหรัฐฯไปขายนอกประเทศ และไม่ปลดพนักงานอเมริกัน

อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลกันทั่วไปว่า ต่อไปบริษัทอเมริกันอาจแข่งขันกับรัฐวิสาหกิจจีนยากขึ้น ทั้งยังอาจกลายเป็นการบีบตัวเองให้ป้อนพลังงานแก่จีนที่นับวันจะยิ่งต้องการมากขึ้น

สำหรับจีน ที่บุกตะลุยทั่วโลกเพื่อค้นหาน้ำมัน ก๊าซ และแร่ธาตุมาปลุกปั้นเศรษฐกิจ ดีลนี้จึงสำคัญยิ่ง และทำให้วอชิงตันกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะด้านหนึ่งนั้นต้องพยายามเอาใจพญามังกร เพื่อสะสางปัญหาการค้า เช่น สิ่งทอ ค่าเงิน อีกทั้งต้องพึ่งพาจีนอย่างมากในการปราบพยศเกาหลีเหนือ

และสำหรับซีนุก การได้ยูโนแคลหมายถึงการได้ครอบครองแหล่งก๊าซสำรองใน 14 ประเทศ และคลังก๊าซธรรมชาติใหญ่ที่สุดในเอเชีย ทำให้ซีนุกกลายเป็นบริษัทที่มีแหล่งสำรองน้ำมันและก๊าซทั่วโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น