xs
xsm
sm
md
lg

แนวโน้มเอาต์ซอร์สภาคบริการซึม ชี้แรงงานตลาดเกิดใหม่ 'มือไม่ถึง'

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไฟแนนเชียล ไทมส์ - การขยายตัวของการโอนย้ายงานภาคบริการออกจากประเทศมั่งคั่งมีแนวโน้มสะดุด เนื่องจากมีแรงงานเพียง 1 ใน 7 ในประเทศต้นทุนต่ำที่มีทักษะและคุณสมบัติสอดคล้องกับความต้องการของบรรษัทข้ามชาติ

สถาบันแมกคินซีย์ โกลบัล หน่วยงานด้านการวิจัยของบริษัทที่ปรึกษาชื่อเดียวกัน ระบุไว้ในรายงานที่เผยแพร่ออกมาในวันพฤหัสฯ (16) ว่าแม้ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตำแหน่งงานด้านการผลิตจำนวนมากถูกโยกจากประเทศร่ำรวยไปยังประเทศตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากความกดดันด้านต้นทุน ทว่าแนวโน้มดังกล่าวเลือนลางมากในภาคบริการ โดยการเอาต์ซอร์ส (โอนย้ายงานออกนอก) ในภาคบริการจะเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป และไม่ก่อผลกระทบฉับพลันทันทีต่อตลาดแรงงานโดยรวมในประเทศกำลังพัฒนา

รายงานยังระบุอีกว่า แนวโน้มดังกล่าวจะส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อค่าแรงในชาติมั่งคั่ง อีกทั้งยังช่วยผ่อนคลายความกังวลในชาติตะวันตกที่ว่าการเอาต์ซอร์สจะทำให้ปัญหาการว่างงานในประเทศบานปลาย

รายงานฉบับนี้เป็นฉบับแรกที่ประกอบด้วยข้อมูลการประเมินที่น่าเชื่อถือในส่วนของจำนวนตำแหน่งงานบริการที่อาจถูกโยกย้ายจากชาติร่ำรวยไปสู่ประเทศยากจน แมกคินซีย์ประเมินว่าตัวเลขดังกล่าวอาจสูงถึง 160 ล้านตำแหน่งในปี 2008 หรือ 11% ของตัวเลขคาดการณ์ตำแหน่งงานบริการทั่วโลก 1,460 ล้านตำแหน่ง

กระนั้น ผลการศึกษากล่าวว่ามีเพียงเศษเสี้ยวของตัวเลขดังกล่าวเท่านั้นที่จะได้รับการว่าจ้างจริง กล่าวคือเมื่อถึงปี 2008 จะมีการจ้างงานภาคบริการนอกประเทศ 4.1 ล้านคน หรือเพียง 1.2% ของงานบริการในประเทศมั่งคั่ง

ทั้งนี้ แม้จำนวนประชากรวัยหนุ่มสาวในประเทศที่มีต้นทุนต่ำที่มีการศึกษาดีขึ้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากในทศวรรษหน้า ทว่าความต้องการว่าจ้างคนเหล่านี้ให้ทำงานที่เอาท์ซอร์สมาจากเมืองนอกกลับทำท่าว่าจะลดต่ำลง

สาเหตุหนึ่งคือทัศนคติของบรรษัทข้ามชาติในการว่าจ้างพนักงาน โดยแมกคินซีย์ได้สัมภาษณ์ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล 83 คนที่ทำงานให้กับบรรษัทข้ามชาติใน 28 ประเทศที่มีต้นทุนต่ำ และพบว่ามีแนวโน้มที่จะมีการปฏิเสธการรับสมัครงานถึง 87% หากพิจารณาจากคุณสมบัติอื่นๆ นอกเหนือจากวุฒิการศึกษา

เหตุผลสำคัญที่ทำให้เปอร์เซ็นต์การตอบรับต่ำก็คือความอ่อนด้อยในด้านทักษะด้านภาษา คุณภาพของระบบการศึกษา ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน และความแตกต่างทางวัฒนธรรม

ไดอานา ฟาร์เรลล์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแมกคินซีย์ แจงว่า บ่อยครั้งที่บรรษัทข้ามชาติล้มเหลวในการโอนงานออกนอก เนื่องจากต้นทุนเบื้องต้นและอุปสรรคอื่นๆ

รายงานของแมกคินซีย์สำรวจจากอุตสาหกรรม 8 แขนง ได้แก่ ยานยนต์ สุขอนามัย ประกันภัย บริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ค้าปลีก เวชภัณฑ์ การธนาคาร และซอฟต์แวร์ รวมถึงวิเคราะห์งานบริการเฉพาะด้านของแต่ละภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้ที่อาจโอนไปยังประเทศต้นทุนต่ำ

แมกคินซีย์ทิ้งท้ายว่า อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้แนวโน้มการขยายตัวของการเอาต์ซอร์สภาคบริการชะงักงันก็คือ ความนิยมก่อนหน้านี้ที่ทำให้ค่าแรงถีบตัวขึ้น เสน่ห์ดึงดูดผู้ว่าจ้างจึงลดลงสวนทาง ดังกรณีของบางพื้นที่ในอินเดียที่กระแสเอาต์ซอร์สกำลังมาแรงอย่างยิ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น