xs
xsm
sm
md
lg

โลว์คอสต์เอเชียเดือด-หวั่นฟองสบู่แตก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - นักวิเคราะห์ชี้แรงกดดันจากการแข่งขันที่ดุเดือดและราคาเชื้อเพลิงที่ทะยานสูง จะบีบให้ธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์เอเชียถอนตัวออกจากตลาด และบางรายอาจล้มพับเป็นการถาวร

ความสำเร็จของแอร์เอเชียจากแดนเสือเหลือง ซึ่งเป็นสายการบินราคาประหยัดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้จุดประกายผู้ให้บริการลักษณะเดียวกันจำนวนมากเข้ามาเล่นในตลาด อันรวมไปถึงสายการบินรายใหญ่ที่พยายามเข้ามาทำกำไรจากความสำเร็จนี้

ทว่า ภายหลังจากจุดเริ่มต้นอันยิ่งใหญ่ซึ่งปฏิวัติการเดินทางในภูมิภาค สิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน อาจหมายถึงจุดจบของกระแสความร้อนแรงดังกล่าว เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในยุโรปที่มีเพียงผู้แข็งแกร่งที่สุดเท่านั้นสามารถอยู่รอด

คริส อึง นักวิเคราะห์ด้านการบินจากโอเอสเค รีเสิร์ช ให้สัมภาษณ์ว่า "การแข่งขันในปัจจุบันกำลังดุเดือด ผมคาดว่าธุรกิจนี้จะชะลอตัวในไม่ช้า"

ทั้งนี้เชื่อกันว่าสายการบินโลว์คอสต์ต่างๆ ของสิงคโปร์จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากสายการบินเหล่านี้ไม่อาจหันกลับมาพึ่งพิงตลาดภายในประเทศที่มีขนาดเล็กได้ ทำให้สายการบินเหล่านี้ต้องฟาดฟันกับสายการบินใหญ่ๆ ในตลาดระหว่างประเทศ

อึงระบุว่า แวลูแอร์, เจ็ตสตาร์ และไทเกอร์ แอร์เวย์ส อาจต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดด้วย เนื่องจากสายการบินราคาประหยัดส่วนใหญ่ต้องยึดติดกับเส้นทางที่ใช้เวลาบินภายใน 3 ชั่วโมงครึ่ง เพราะเครื่องบินมีขนาดเล็กและพื้นที่บรรทุกสินค้าจำกัด ดังนั้นการบินระยะไกลมากกว่าที่เป็นอยู่ทำให้ "ประสิทธิภาพการลดต้นทุนน้อยลงและยากต่อการแข่งขัน"

ไบรอัน ลิม นักวิเคราะห์จากอีซีเอ็ม ลิบราเสริมว่า ดูจะเป็นไปไม่ได้สำหรับสายการบินทั้ง 3 ข้างต้นที่จะดำเนินธุรกิจไปได้ด้วยดีในตลาดที่มีการแข่งขันรุนแรงเช่นนี้ และในที่สุดการรวมตัวกลุ่มพันธมิตรเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ลิมแจงว่า "ในสิงคโปร์มีความเป็นไปได้ที่สายการบินโลว์คอสต์รายหนึ่งจะล้มพับไป" พร้อมเสริมว่า "การให้สิทธิการบินระหว่างประเทศเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล ดังนั้นสิทธิการบินหรือการลงจอดส่วนใหญ่ของสิงคโปร์โดยปกติแล้วจะตกอยู่กับสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส"

เขากล่าวต่อว่า เทมาเซค บริษัทลงทุนของรัฐบาลแดนลอดช่องยังเป็นผู้ถือหุ้นในสายการบินไทเกอร์และเจ็ตสตาร์ ยิ่งช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการเงินให้กับสายการบินเหล่านี้มากขึ้น

อิมเทียซ มัคบิล บรรณาธิการบริหารจากทราเวล อิมแพกต์ นิวส์ไวร์ ย้ำต่อว่า หากมีวิกฤตระดับโลกกระทบอุตสาหกรรมนี้อีก อาทิ การแพร่ระบาดของโรคซาร์สหรือไข้หวัดนก ก็มีความเป็นไปได้ที่อุตสาหกรรมนี้จะพังครืนลง

"พวกเราเป็นผู้รับเคราะห์จากภาวะฟองสบู่ทุกครั้ง นับตั้งแต่ฟองสบู่ยุคดอตคอม ตามมาด้วยยุคฟองสบู่ราคาอสังหาริมทรัพย์ จนถึงปัจจุบันคือฟองสบู่ในธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์ พวกเราชาวเอเชียดูจะไม่เคยเรียนรู้จากสิ่งที่ผ่านมาเลย" เขากล่าว

มัคบิลกล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมการบินราคาประหยัดนั้นยังได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่ทะยานเพิ่มขึ้นมากกว่าคู่แข่งยักษ์ใหญ่ระดับโลก ซึ่งมีทรัพยากรด้านการเงินและอำนาจในการซื้อมหาศาล

"สายการบินโลว์คอสต์ระดับโลกซึ่งมีสายการบินใหญ่หนุนหลังอาจอยู่รอดได้ ทว่าสายการบินที่ไม่มีแบกอัพด้านการเงินเช่นนี้มีแนวโน้มที่จะต้องพ่ายแพ้ไป"

ลิมจากอีเอ็มซี ลิบรา ระบุอีกว่า แอร์เอเชีย ซึ่งเป็นผู้เล่นอันดับ 1 ในวงการนั้นมีสถานะมั่นคง เนื่องจากแอร์เอเชียขยายเครือข่ายการบินภายในประเทศออกไปกว้างขวาง และยังสามารถเข้าถึงตลาดภายในประเทศไทยและอินโดนีเซียได้ด้วยการร่วมทุนกับไทย แอร์เอเชีย และเอดับเบิลยูแอร์

พร้อมแจงว่า "แอร์เอเชียยังจะได้รับสิทธิ์การบินจากไทยและจีน ซึ่งทั้ง 2 ประเทศได้ลงนามร่วมกันในข้อตกลงเปิดน่านฟ้า ทำให้สายการบินโลว์คอสต์รายนี้สามารถเจาะตลาดจีนได้ด้วย"

อนึ่ง นอกจากไทยแอร์เอเชียแล้ว ยังมีสายการบินต้นทุนผุดขึ้นในไทยอีก 2 แห่งเมื่อปีที่แล้ว ส่วนออสเตรเลียเองก็มี 2 สายการบินซึ่งครองตลาด 1 ใน 3 ของแดนออสซี่ ขณะที่ไลออน แอร์ของอินโดนีเซียให้บริการเส้นทางไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ รวมถึงเส้นทางในประเทศด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น