xs
xsm
sm
md
lg

เกาหลีใต้ : สวรรค์นักชอป"สินค้าผี"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - คิมยังฮี เป็นแม่บ้านชาวเกาหลีใต้ธรรมดาๆคนหนึ่งที่ชอบสินค้าแบรนด์เนม แต่ไม่เคยซื้อสินค้าเหล่านี้เลยเช่นเดียวกับเพื่อนๆ ส่วนใหญ่ โดยเธอเลือกที่จะซื้อของปลอมในราคาแสนถูก ซึ่งเธอเชื่อว่า คุณภาพใกล้เคียงกับของจริงแทน

คิม วัย 55 ปีเล่าว่า เธอซื้อกระเป๋าถือกุชชีปลอมราคาใบละ 119 ดอลลาร์ 4 ใบเมื่อตอนไปชอปปิ้งครั้งที่แล้ว โดยใช้เงินกองกลางที่เพื่อนๆของเธอร่วมกันตั้งขึ้นมา ขณะที่กระเป๋าของแท้มีราคาหลายพันดอลลาร์

"ฉันชอบกระเป๋ากุชชี ถึงเป็นของปลอมแต่คุณภาพดีมากจนใครๆ บอกไม่ได้ถึงความแตกต่าง เพื่อนฉันก็เป็นอย่างนี้ทุกคน" เธอกล่าว

ทั้งนี้เป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงการค้าขายสินค้าปลอมในศูนย์การค้าทั่วกรุงโซล
"ต้องการกุชชีไหม ตามมาสิ!" พ่อค้าเร่คนหนึ่งกระซิบกับผู้สัญจรผ่านไปมาในอีแทวอน ย่านชอปปิ้งซึ่งดึงดูดทั้งชาวเกาหลีและชาวต่างชาติ
ขณะเดียวกัน ถนนยังคลาคล่ำไปด้วยพ่อค้าเร่อีกกว่าโหลที่พูดได้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น ทั้งนี้หากนักชอปเดินดูสินค้าตามหน้าร้านจะเห็นแต่สินค้าเลียนแบบราคาถูกคุณภาพด้อย ส่วนสินค้าเลียนแบบคุณภาพสูงจะถูกเก็บซ่อนอยู่ในโกดังหลังร้าน

การผลิตสินค้าปลอมถือเป็นอุตสาหกรรมผิดกฎหมายซึ่งทำเงินได้เป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ แต่ผู้บริโภคแดนกิมจิโดยทั่วไปกลับไม่เห็นว่า การซื้อสินค้าปลอมเหล่านี้เป็นความผิด อีกทั้งยังไม่สนใจถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ผลิตสินค้าแบรนด์เนมแท้แต่อย่างใด

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ แม้กรอบโครงทางกฎหมายในด้านทรัพย์สินทางปัญญาของเกาหลีใต้มีความเข้มงวดมากขึ้น แต่เจ้าหน้าที่รัฐยอมรับว่า การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในลักษณะนี้ยังคงมีอยู่อย่างแพร่หลาย เพราะถึงแม้คนที่ทำการผลิตหรือขายสินค้าปลอมจะต้องโทษจำคุกสูงสุด 7 ปีหรือต้องโทษปรับ แต่การซื้อขายสินค้าปลอมยังไม่ถือเป็นการทำผิดกฎหมาย

"กฎหมายได้รับการปรับให้แข็งแกร่งขึ้น แต่การลักลอบปลอมแปลงสินค้ายังคงมีอยู่ทั่วไป เพราะยังขาดจิตสำนึกด้านสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา" เจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ผู้หนึ่งกล่าว

ปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ดังจากยุโรปหลายรายอาทิ คริสเตียน ดิออร์, คาร์เทียร์, เบอร์เบอรี, พราดา, กุชชี, หลุยส์ วิตตอง, อกาธา และแบรนด์เสื้อผ้าเครื่องประดับระดับหรูอื่นๆต่างได้รับผลกระทบอย่างหนัก

เจ้าหน้าที่แดนน้ำหอมเผยว่า เกาหลีใต้เป็นประเทศอันดับ 2 รองจากจีนในด้านการผลิตสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์เหล่านี้ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 10% ของการค้าทั่วโลก หรือคิดเป็นมูลค่า 500,000 ล้านยูโรต่อปี

ด้านหอการค้าสหภาพยุโรปในเกาหลีใต้ (อียูซีซีเค) ซึ่งจัดงานประชุมเพื่อพิจารณาถึงประเด็นปัญหานี้ในกรุงโซลเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (30) รวมถึงบรรดานักธุรกิจยุโรปที่ร่วมงานนี้ ต่างเรียกร้องให้เกาหลีใต้และชาติเอเชียอื่นๆ ออกมาตรการปราบปรามสินค้าผีอย่างรุนแรงและต่อเนื่องมากกว่าที่เป็นอยู่ ตลอดจนจัดสรรงบประมาณในการบังคับใช้กฎหมาย และให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้บริโภคมากขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญจากยุโรประบุว่า แม้จีนเป็นศูนย์กลางระดับโลกในด้านการละเมิดลิขสิทธิ์ปลอมแปลงสินค้า แต่ปัญหานี้ก็แพร่หลายเป็นวงกว้างในเกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย และเวียดนามด้วยเช่นกัน

อนึ่ง ข้อมูลจากสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาเกาหลี (เคไอพีโอ) ระบุว่า เจ้าหน้าที่ศุลกากรญี่ปุ่นตรวจพบคดีปลอมแปลงสินค้าถึง 4,405 คดี ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2004 โดยเป็นสินค้าที่ผลิตในเกาหลีถึง 52.2%
กำลังโหลดความคิดเห็น