xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นอุตฯการบินขาดทุน$6 พันล. กระตุ้นรัฐออกนโยบายเกื้อหนุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - ไออาต้าเผย อุตสาหกรรมการบินปีนี้จะขาดทุน 6,000 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงแพง และต้นทุนในอเมริกาเหนือที่ทะยานล้ำหน้าการขยายตัวในเอเชียและยุโรป

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) ซึ่งมีการประชุมระหว่างวันที่ 30-31 พ.ค.ในกรุงโตเกียว เรียกร้องวานนี้ (30) ให้บรรดารัฐบาลของแต่ละประเทศดำเนินนโยบายที่เป็นมิตรต่อภาคธุรกิจ พร้อมทั้งวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอการเก็บภาษีตั๋วเครื่องบินของฝรั่งเศสและเยอรมนีเพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนา

ไออาต้าระบุว่า ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนในส่วนของตน หลังเหตุการณ์โจมตีสหรัฐฯเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 โดยลดต้นทุนและเพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น ทั้งนี้ยอดผู้เสียชีวิตจากเครื่องบินตกเมื่อปีที่แล้วมีเพียง 428 คน ถือได้ว่าเป็นปีที่มีความปลอดภัยมากที่สุด

จิโอวานนี บิซิกนานี ผู้อำนวยการใหญ่ไออาต้ากล่าวระหว่างการเปิดประชุมที่มีบริษัทเข้าร่วมราว 265 แห่ง ว่า "ยอดขาดทุนระหว่างปี 2001 และ 2004 สูงกว่า 36,000 ล้านดอลลาร์ โดยในปีนี้พวกเราจะขาดทุนเพิ่มอีก 6,000 ล้านดอลลาร์"

ขณะที่ไออาต้า ซึ่งเป็นสมาคมที่ประกอบด้วยบรรดาสายการบินราว 95% ของทั่วโลก คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า ปี 2005 จะมียอดขาดทุน 5,500 ล้านดอลลาร์

บิซิกนานีกล่าวต่อว่า "บางส่วนของอุตสาหกรรมก็ได้กำไร ทว่าสัดส่วนนั้นไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับอุตสาหกรรมขนาด 400,000 ล้านดอลลาร์นี้ ดังนั้นการดำเนินการและการเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วนเป็นสิ่งจำเป็น"

ทั้งนี้เขาคาดว่า ต้นทุนด้านพลังงานในปีนี้จะอยู่ที่ 83,000 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ต้นทุนที่นอกเหนือจากเรื่องพลังงานจะลดลงราว 4.5%

อนึ่ง เรื่องราวความสำเร็จในอุตสาหกรรมได้เกิดขึ้นในเอเชีย กล่าวคือ บรรดาสายการบินมีกำไรถึง 2,600 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว

บิซิกนานีอธิบายว่า "การเติบโตอย่างแข็งแกร่งซึ่งได้รับแรงหนุนจากจีน และต้นทุนแรงงานต่ำ เป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขัน" พร้อมระบุว่า อินเดีย ซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นของสงครามราคาเพื่อกระตุ้นการเดินทางทางอากาศ "อาจกลายเป็นตลาดใหญ่แห่งใหม่ของอุตสาหกรรมการบิน"

ขณะเดียวกัน บรรดาสายการบินยุโรปเมื่อปีที่แล้วนั้นก็มีกำไรราว 1,400 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารมากขึ้นและการรวมตัวในอุตสาหกรรม

กระนั้นก็ดี ไออาต้าระบุว่า อุปสรรคใหญ่ที่สุดของการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินคือ อเมริกาเหนือ ซึ่งบรรดาสายการบินประสบภาวะขาดทุนรวม 9,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2004

บิซิกนานีเพิ่มเติมว่า ต้นทุนแรงงานและภาษีสนามบินในอเมริกาเหนืออยู่ในระดับสูงเกินไป ประกอบกับการแข่งขันจากสายการบินต้นทุนทำให้กำไรโดยรวมลดลง

เขาบอกอีกว่า รัฐบาลหลายประเทศมองธุรกิจการบินเป็น "ศูนย์กลางกำไร" ไม่ใช่ "เครื่องช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ" พร้อยยกตัวอย่างว่า สหรัฐฯเก็บภาษีตั๋วเครื่องบินมูลค่า 200 ดอลลาร์ ราว 26% ทำให้ต้องเสียเงินอย่างไม่เป็นธรรมไป 15,000 ล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ บิซิกนานีวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอการเก็บภาษีเชื้อเพลิงและภาษีตั๋วเครื่องบินของประธานาธิบดีฌาคส์ ชีรัก แห่งฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรีแกร์ฮาร์ด ชเรอเดอร์ ของเยอรมนี ซึ่งให้เหตุผลว่า จะนำเงินที่ได้ไปช่วยเหลือด้านสุขภาพในแอฟริกา

ทั้งนี้เขามองว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นเงื่อนงำทางการเมือง พร้อมระบุว่า ยุโรปควรจะเริ่มที่ตนเองก่อนโดยปฏิรูประบบอุดหนุนภาคเกษตร หากต้องการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา

ขณะเดียวกัน ผู้อำนวยการใหญ่ไออาต้าก็ยกย่องญี่ปุ่นที่ดำเนินการเพื่อประโยชน์ของภาคธุรกิจ โดยตกลงลดค่าธรรมเนียมการลงจอดที่สนามบินนาริตะ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เดือนตุลาคม พร้อมระบุว่า "การปรับลดค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะเป็นการเริ่มต้นของความสัมพันธ์ครั้งใหม่"

ก่อนหน้านี้ ไออาต้าได้เรียกร้องให้ญี่ปุ่นลดค่าธรรมเนียมลงจอดของสนามบินดังกล่าวราว 20% จากระดับปัจจุบันที่ 2,400 เยน (22 ดอลลาร์) ต่อน้ำหนักเครื่องบิน 1 ตัน
กำลังโหลดความคิดเห็น