xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหา"เรดเทป"สกัดดาวรุ่งศก.อินเดีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ - "ข้าราชการอินเดียควรใช้หมึกสีแดงหรือหมึกสีเขียวในเอกสารราชการ" เพียงแค่คำถามนี้ประโยคเดียว แต่รัฐบาลกลับใช้เวลาตัดสินใจเรื่องนี้ถึง 1 ปี

อรุณ ชูรี อดีตรัฐมนตรีอินเดียเขียนตั้งข้อสังเกตไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับความล่าช้าในระบบราชการแดนภารตะ ซึ่งนักลงทุนยังต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน แม้มีการปฏิรูปด้านต่างๆ มาเป็นเวลา 14 ปีแล้วก็ตาม

ชูรี อดีตนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เล่าว่า ครั้งหนึ่งในปี 1999 เจ้าหน้าที่ 2 คนในกระทรวงเหล็กกล้าเขียนความคิดเห็นในบันทึกว่า "สิ่งที่บรรดาเพื่อนร่วมงานและผู้บังคับบัญชาสนใจไม่ใช่เนื้อหาที่พวกเขาเขียน หากแต่เป็นข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขาใช้หมึกสีแดงและสีเขียวต่างหาก"

ประเด็นดังกล่าวทำให้เกิดการประชุมระหว่างกรมกองต่างๆ หลายครั้ง และหลังจากการปรึกษาหารือเกือบ 1 ปี จึงได้ข้อสรุปเป็นแนวทางเกี่ยวกับหมึกที่ข้าราชการสามารถใช้ได้ในเอกสารราชการต่างๆ

แม้อินเดียจะมีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย และช่วยยกระดับมาตรฐานการครองชีพ ตลอดจนผ่อนคลายความเข้มงวดด้านเศรษฐกิจ แต่นักลงทุนยังคงต้องจำทนกับปัญหาในระบบราชการ อันเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ตัวอย่างชัดเจนอีกประการหนึ่งที่แสดงถึงหลุมพรางของการเริ่มธุรกิจในประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ ได้แก่ โครงการเหล็กกล้ามูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์ของปอสโก ผู้ผลิตยักษ์ใหญ่จากแดนโสมขาว ซึ่งถือเป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศรายใหญ่สุดของอินเดีย ดูจะเกิดปัญหาเนื่องจากความเฉื่อยชาในระบบราชการ

กล่าวคือหลังจากการเจรจาร่วมกันถึง 1 ปี แต่รัฐบาลแดนภารตะและปอสโกก็ยังตกลงกันไม่ได้ แม้แต่การลงนามในข้อตกลงเบื้องต้น โดยสื่อภารตะเผยว่า สาเหตุสำคัญคือการตัดสินใจล่าช้าของรัฐบาลท้องถิ่น
ไม่ถึงเป้า

นอกจากนี้ สถิติของอินเดียในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติยังถือว่าไม่สอดคล้องกับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ที่ราว 6% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กล่าวคือ เมื่อปี 1997 อินเดียตั้งเป้าที่จะดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติให้ได้ 10,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ทว่า 8 ปีผ่านไป อินเดียก็ยังไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย

ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง จีน กลับดึงดูดเงินทุนมหาศาลได้ถึง 55,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 11 เดือนแรกในปีงบประมาณที่ผ่านมาซึ่งสิ้นสุดในเดือนมีนาคม แต่อินเดียทำได้เพียง 4,500 ล้านดอลลาร์

บรรดานักวิเคราะห์ต่างลงความเห็นว่า ระบบราชการของอินเดียถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการลงทุนจากต่างชาติ

สุมิตรา โชติหุริ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจจากไอซีอาร์เอ สำนักจัดอันดับความน่าเชื่อถือของอินเดียกล่าวว่า "เรามักพูดถึงการปฏิรูป แต่ระบบกลับต่อต้านการเปลี่ยนแปลง บรรดาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างกันขัดขวางความพยายามในการเปลี่ยนแปลง"

บิมาล จาลาน อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติอินเดียแจงว่า "เพื่อให้การอนุมัติเป็นไปอย่างฉับไวหรือผ่านพ้นข้อจำกัดทางกฎหมายไปได้ การคอร์รัปชั่นจึงกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และถูกมองว่า เป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำธุรกิจในอินเดีย"

ทั้งนี้สถิติจากเวิลด์แบงก์ชี้ชัดว่า ปัญหาความล่าช้าในระบบราชการเป็นอุปสรรคต่อการเติบโต โดยค่ากลางของเวลาในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ในอินเดียอยู่ที่ 89 วัน ขณะที่จีนใช้เวลา 41 วัน และออสเตรเลียใช้เวลาเพียง 2 วัน

ปัญหาอีกประการที่ยิ่งทำให้จุดด้อยนี้เด่นชัดมากขึ้นคือ ตลาดแรงงานที่ตึงตัว ซึ่งทำให้เป็นการยากสำหรับบริษัทต่างๆ ในการว่าจ้างหรือไล่พนักงานออก ทั้งนี้ข้อมูลระบุว่า บริษัทอินเดียโดยทั่วไปมีพนักงานมากเกินจำเป็นถึง 17% และเหตุผลสำคัญก็คือ กฎหมายแรงงานที่ล้าหลังและเข้มงวด

นักวิเคราะห์และผู้กำหนดนโยบายจึงพากันให้ข้อสรุปว่า หากปราศจากความล่าช้าในระบบราชการ ระบบกฎหมาย และการคอร์รัปชั่น เศรษฐกิจอินเดียจะเติบโตรวดเร็วมากกว่าที่เป็นอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น