xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-พม่าเตรียมลงนามร่วมมือโครงการโรงไฟฟ้าสาละวิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รมว.พลังงานเผยรัฐบาลไทยเตรียมลงนามความเข้าใจเบื้องต้น (เอ็มโอยู) กับพม่าปลายเดือนพฤษภาคมนี้เพื่อพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำเขื่อนสาละวินที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงสุดถึง 15,000 เมกะวัตต์

นายวิเศษ จูภิบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสาละวินร่วมกันทั้ง 2 ประเทศ จะเป็นการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีราคาแพงขึ้นทุกขณะนี้ โดยความร่วมมือครั้งนี้จะได้ประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งกำลังผลิตไฟฟ้าจะชัดเจนเท่าใดจะต้องมีการศึกษาเรื่องความต้องการไฟฟ้า ขนาดเงินลงทุน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน โดยการที่ผลิตไฟฟ้าสูงสุด 15,000 เมกะวัตต์นั้นจะเกิดจากการสร้างเขื่อนประมาณ 5-6 เขื่อน และในด้านเม็ดเงินลงทุนจะเกิดจากภาคเอกชน โดยเอ็มโอยูดังกล่าวจะไม่ได้ระบุว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะเข้าไปร่วมลงทุนแต่อย่างใด ซึ่งการใช้พลังน้ำจะทำให้ค่าไฟฟ้าต่ำเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงอื่น ๆ และส่งผลดีต่อต้อนทุนการผลิตสินค้าของไทย สร้างขีดวามสามารถทางการแข่งขันให้สูงขึ้น

นายวิเศษ กล่าวด้วยว่า กระทรวงพลังงานจะต้องเตรียมการศึกษาความเหมาะสมของการใช้ไฟฟ้า เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับความต้องการพลังงานที่เกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งปัจจุบันโรงไฟฟ้าของไทยส่วนใหญ่จะใช้ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเตา ซึ่งการใช้น้ำมันเตาที่เพิ่มขึ้นเป็นสาเหตุของการนำเข้าน้ำมันที่สูงขึ้นมหาศาลในปีนี้ด้วย ซึ่งนอกจากพลังงานน้ำแล้วก็มีความเป็นไปได้ที่ใช้พลังงานถ่านหินสะอาด การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี)

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ไทยจำเป็นต้องศึกษาทางเลือกการใช้พลังงานให้หลากหลาย ซึ่งรัฐบาลจะต้องตัดสินใจบนพื้นฐานที่เกิดประโยชน์มากที่สุดในประเทศ เช่น การใช้พลังงานถ่านหินสะอาดหรือพลังงานนิวเคลียร์ว่าจำเป็นหรือไม่สำหรับเมืองไทย หากจำเป็นก็ต้องเตรียมตัวล่วงหน้าอย่างน้อย 15 ปี เตรียมทั้งการพัฒนาบุคลากรรองรับ การสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน ซึ่งพลังงานนิวเคลียร์มีต้นทุนต่ำและจากช่วงราคาน้ำมันแพง ขณะนี้หลายประเทศได้ให้ความสนใจในการพัฒนานิวเคลียร์มากยิ่งขึ้น เช่น ประเทศฟินด์แลนด์

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสาละวินนั้น นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า คงจะต้องใช้เวลานานในการพัฒนา เพราะอาจจะเกิดแรงต่อต้านจากกลุ่มองค์กรเอกชนต่าง ๆ เหมือนกับกรณีโรงไฟฟ้าพลังนำน้ำเทิน 2 ที่ต้องใช้เวลานาน ถึง 11 ปีจึงจะสามารถก่อสร้างขึ้นมาได้
กำลังโหลดความคิดเห็น