xs
xsm
sm
md
lg

ภาคธุรกิจอินเดียจี้รัฐยกเครื่องกม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - ภาคธุรกิจอินเดียยังคงเผชิญกับอุปสรรคเรื่องกฎระเบียบข้อบังคับอันล้าสมัยจำนวนมาก แม้ทางการพยายามเปิดเสรีการค้าและแย่งชิงเม็ดเงินลงทุนต่างชาติจากจีนก็ตาม

ผลการศึกษาล่าสุดของสหพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรมของอินเดีย (FICCI) ระบุว่า ยังมีกฎหมายหลายร้อยฉบับที่อยู่ในสมุดจารึกพระราชบัญญัติ ซึ่งอาจสร้างความล่าช้าในการตั้งธุรกิจใหม่หรือทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก

องการ เอส. กังวาร ประธานFICCI กล่าวว่า "ภาคธุรกิจต้องเผชิญกับพระราชบัญญัติราว 3,000 ฉบับ โดยในจำนวนนี้มี 450 ฉบับที่ล้าสมัยและเกี่ยวเนื่องกับการตัดสินใจทางการค้าทั้งทางตรงและทางอ้อม"

เขาเสริมต่อว่า "กฎข้อบังคับจำนวนมากจากหลากหลายกระทรวงของอินเดียทำให้โครงการใหม่ๆ หรือ แผนการขยายธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการสร้างโรงงานใหม่ เกิดความล่าช้าและต้นทุนสูงขึ้น"

FICCI ระบุอีกว่า ทางการภารตะต้องเร่งสะสางกฎข้อบังคับ หากต้องการแข่งขันเรื่องการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติกับคู่แข่งอย่างจีน

อนึ่ง แม้อินเดียเริ่มผลักดันการเปิดเสรีการค้ามาตั้งแต่ปี 1991 แต่แดนภารตะสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติที่หลั่งไหลเข้าไปในแดนมังกรได้เพียงน้อยนิด กล่าวคือ อินเดียมียอดการลงทุนจากต่างชาติเมื่อปีที่แล้ว 4,100 ล้านดอลลาร์ ขณะที่จีนได้รับเม็ดเงินถึง 60,000 ล้านดอลลาร์

กังวารบอกว่า "พวกเราต้องโละกฎหมายจำนวนมากที่ล้าสมัย ตลอดจนปรับปรุงกฎหมายที่จำเป็นให้ง่ายขึ้นและเป็นไปตามหลักเหตุผล" เขาเสริมว่า ธุรกิจหรือการร่วมทุนใหม่ซึ่งเผชิญความอยุติธรรมของกฎข้อบังคับ อาจต้องใช้เวลาหลายปีในการฟ้องร้อง

ทั้งนี้บริษัทต่างชาติ 4 แห่ง ซึ่งรวมถึง อิเล็กทริไซต์ เดอ ฟรองซ์ (อีดีเอฟ) บริษัทยักษ์ใหญ่ของยุโรป ได้ถอนการลงทุนโครงการไฟฟ้ามูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ออกจากอินเดีย โดยอ้างถึงอุปสรรคด้านกฎหมายและความล่าช้าอันยาวนาน

กังวารกล่าวต่อว่า "อินเดียมีผู้พิพากษาเพียง 25 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ต่ำที่สุดในโลก" พร้อมให้ข้อมูลว่า มีคดีความตกค้างอยู่ในศาลสูงถึง 38 ล้านคดี ดังนั้น "พวกเราต้องการให้มีการเพิ่มจำนวนศาลและผู้พิพากษาอย่างเร่งด่วน พร้อมกับลดความยุ่งยากในกระบวนการศาล"

กระนั้นก็ดี แดนภารตะกำลังผลักดันแผนการขยายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (เอสอีแซด) เพื่อเปิดทางให้บริษัทส่งออกไม่ต้องเผชิญกับกฎหมายแรงงานที่เข้มงวดซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการจ้างงานและการปลดพนักงาน ทั้งนี้เอสอีแซดยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการผลิต รวมถึงจะได้รับยกเว้นภาษีเป็นเวลา 15 ปี

นอกจากนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางการอินเดียได้ประกาศแผนการยกเลิกเพดานสิทธิการออกเสียง 10% ในธนาคารเอกชน โดยจะอนุญาตให้แบงก์ต่างชาติมีสิทธิออกเสียงตามจำนวนหุ้นที่มีอยู่

ทว่า ทางพรรคคอมมิวนิสต์ระบุว่า จะคัดค้านแผนดังกล่าว เพราะมีเป้าหมายดึงการลงทุนจากต่างชาติ และปูทางให้นักลงทุนต่างชาติสามารถซื้อกิจการแบงก์ท้องถิ่น

ทั้งนี้บรรดาผู้นำภาคธุรกิจระบุว่า แม้ทางการมีความตั้งใจดี แต่การปฏิรูปเป็นไปในลักษณะ "ไม่ค่อยคืบหน้ามากนัก"
กำลังโหลดความคิดเห็น