xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจ รร.ปรับตัวรับภาวะต้นทุนเพิ่ม รายเล็กรวมตัว-รายใหญ่สู่ระบบเชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จับตาธุรกิจโรงแรม ปัญหาการแข่งขันบนภาวะต้นทุนเพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวลด กูรูวงการโรงแรมชี้ ผู้ประกอบการขนาดเล็กจะรวมตัวส่งต่อลูกค้าสู้ศึกโรงแรมที่บริหารโดยเชน หากเป็นโรงแรมขนาดใหญ่จะผันตัวเข้าสู่ระบบเชนมากขึ้น และเริ่มเห็นระบบแฟรนส์ไชน์ในธุรกิจโรงแรม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการที่ยังต้องการบริหารเองขอเพียงแต่ซื้อระบบ ชี้เชนที่มาแรงเป็นแนวยูโรเปี้ยนสไตล์ เหตุเพราะนักท่องเที่ยวยุโรปเพิ่มจำนวน ขณะที่โรงแรมในเขตกรุงเทพฯจะเริ่มแข่งขันสูงในปี 49

นายพอล แวน มีเรนด็องค์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ โรงแรม เวสทิน แกรนด์ สุขุมวิท เปิดเผยว่า สถานการณ์แข่งขันของธุรกิจโรงแรมในกรุงเทพปีนี้ยังไม่รุนแรง เพราะจำนวนโรงแรมที่มีอยู่ กับจำนวนนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจที่เดินทางเข้ามาพักค้างคืนในกรุงเทพ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะ ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ปัจจุบันในเขตกรุงเทพ โดยเฉพาะย่านใจกลางเมืองและเขตชุมชน อาทิ สุขุมวิท ราชประสงค์ สีลม บางรัก ยังไม่มีโรงแรมเกิดใหม่

แต่ทั้งนี้จากเป้าหมายยุทธศาสตร์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ที่ต้องการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเฉลี่ยปีละ 10% ส่งผลให้นักธุรกิจจำนวนมากสนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจโรงแรม ซึ่งจะเห็นว่ามีหลายโรงแรม และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ระดับไฮเอนด์ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งน่าจะเริ่มเปิดดำเนินการได้ประมาณปี 2549 เป็นต้นไป โดยการบริหารจัดการ จะมีทั้งกลุ่มที่เจ้าของบริหารเอง และซื้อระบบเครือข่ายเข้ามาบริหาร(เชน) ซึ่งเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในธุรกิจโรงแรมของประเทศไทย จะผสมระหว่างอเมริกา และยุโรป

กล่าวคือ ในอเมริกา กว่า 90% ของโรงแรมจะถูกบริหารโดยเชน ทำให้มีมาตรฐานการบริการในระดับเดียวกัน ขณะที่ กลุ่มประเทศยุโรป โรงแรมระดับกลางจะรวมตัวกันระหว่างผู้ประกอบการ แล้วสร้างแบรนด์ขึ้นมาพร้อมกำหนดมาตรฐานด้านบริการ อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนที่เห็นได้ชัดในผู้ประกอบการโรงแรมขนาดใหญ่ ที่เห็นได้ขณะนี้ ได้แก่ โรงแรม พลาซ่า แอทธินี ที่ผันตัวเองให้อินเตอร์เชน คือ เมอริเดียน เข้ามาบริหาร

เชนยูโรเปี้ยนสไตล์มาแรง
ม.ล.หทัยชนก กฤดากร ประธานเลขาธิการคณะกรรมการ สมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า รูปแบบการดำเนินธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย จะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพตลาด และการแข่งขัน โดยความน่าจะเป็นที่เริ่มเห็นได้ชัดเจนจากนี้ไป คือการรวมกลุ่มกันของผู้ประกอบการรายเล็ก เพื่อส่งต่อลูกค้าระหว่างกัน ขณะที่กลุ่มระดับกลางจะเป็นในรูปของการซื้อแฟรนส์ไชน์ของโรงแรมชื่อดัง ที่มีมาตรฐานด้านบริการเป็นสากล เข้ามาดำเนินการ แต่เจ้าของยังเป็นผู้บริหารอยู่ ขณะที่กลุ่มโรงแรมระดับบนซึ่งมีเงินทุนจำนวนมาก จะใช้วิธีซื้อเชนเข้ามาบริหาร ซึ่งเชนเหล่านั้นจะส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางเข้ามาวางระบบและนั่งบริหารอยู่ด้วย

โดยเชนยอดนิยมในประเทศไทย น่าจะเป็นมาตรฐานยูโรเปี้ยนสไตล์ ทั้งนี้เพราะตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรปในประเทศไทย ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งก่อนหน้านี้ เชนโรงแรมที่เข้ามาบุกเบิกในไทยจะเป็นมาตรฐานอเมริกันสไตล์ และสภาพของโรงแรมเดี่ยวๆ จะหมดไป เพราะแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว โดยเฉพาะเรื่องของการประชาสัมพันธ์ เพราะธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจที่สร้างภาพ สร้างบริการ จึงต้องมีการพัฒนาให้เห็นถึงโปรดักส์ และรูปแบบการให้บริการอย่างเด่นชัด เพื่อใช้เป็นสื่อเชิญชวนลูกค้า

เชื่อระบบเชนบริหารต้นทุนได้ดีกว่า
อย่างไรก็ตามสถานการณ์ การแข่งขันของธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย บนภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ปัญหาต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับขึ้น เชื่อว่าโรงแรมที่บริหารโดยเชนจะได้เปรียบเรื่องวิธีบริหารจัดการที่สามารถลดต้นทุนได้ดีกว่า เพราะจะมีเจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญและประสบการณ์ที่พบเห็นในหลายๆ ประเทศที่มีโรงแรมเครือข่ายตั้งอยู่ แล้วนำมาจัดทำเป็นโปรแกรมการทำงาน ตรงนี้จะช่วยลดต้นทุนได้ ขณะที่การปรับขึ้นราคาห้องพัก ปกติ โรงแรมจะมีการปรับอัตราคาห้องพักทุกปีประมาณเดือนตุลาคม โดยวิธีการปรับจะคำนวณจากต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับอัตราเข้าพักเฉลี่ย ซึ่งแต่ละปีจะปรับไม่เท่ากัน
กำลังโหลดความคิดเห็น