การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เตรียมฟ้องกลับโฮปเวลล์ หลังถูกโฮปเวลล์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก รฟท. ต่อคณะอนุญาโตตุลาการ โดยระบุ รฟท.ส่งมอบพื้นที่และตรวจแบบก่อสร้างล่าช้า ทำให้โครงการทำได้ล่าช้าตามไปด้วย ซึ่ง รฟท.เตรียมยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการ 17 เมษายนนี้ พร้อมยืนยันเดินหน้าทุบเสาโฮปเวลล์ทิ้งหมดแน่นอน
นายจิตต์สันติ ธนะโสภณ ผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บริษัท โฮปเวลล์ ประเทศไทย จำกัด ได้มีหนังสือมายังตน โดยแจ้งให้ทราบว่า บริษัทฯ ได้ยื่นเรื่องต่อคณะอนุญาโตตุลาการ โดยมีประเด็นท้วงติงการดำเนินงานของ รฟท. ที่ไปรื้อถอนซากโครงสร้างของโฮปเวลล์ โดยบริษัทฯ ได้กล่าวโทษ รฟท.ว่าไม่ปฏิบัติตามสัญญากับโฮปเวลล์ในเรื่องของการส่งมอบพื้นที่ล่าช้าและตรวจแบบก่อสร้างล่าช้า ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้โครงสร้างโฮปเวลล์ล่าช้า บริษัทฯ จึงจะต้องเรียกร้องค่าเสียหายจาก รฟท. ซึ่งการยื่นข้อเรียกร้องของโฮปเวลล์ต่ออนุญาโตตุลาการนั้น บริษัทเอกชนสามารถทำได้ตามสิทธิของคู่สัญญา แต่ รฟท. ยังเดินหน้าในการรื้อถอนโครงสร้างโฮปเวลล์ต่ออย่างแน่นอน และหากเอกชนไม่เห็นด้วยก็สามารถที่จะฟ้องต่อศาลอีกชั้นหนึ่งได้
“ในวันที่ 17 เมษายนนี้ รฟท. จะยื่นหนังสือต่อคณะอนุญาโตตุลาการเพื่อฟ้องร้องกลับบริษัทโฮปเวลล์ด้วยเช่นกัน เนื่องจากการที่บริษัทโฮปเวลล์ฯ กล่าวหา รฟท. นั้น ไม่เป็นความจริง ซึ่งเรื่องนี้จะต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย และ รฟท.เองก็ยืนยันว่าเรื่องนี้มีความโปร่งใส เนื่องจากข้อกล่าวหาที่ทางบริษัทโฮปเวลล์ฯ กล่าวหานั้น สามารถชี้แจงได้ และมีเอกสารเป็นหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า ไม่ได้มีการส่งมอบพื้นที่ล่าช้ากว่ากำหนดแน่นอน” นายจิตต์สันติ กล่าว
สำหรับการทุบตอม่อโครงสร้างโฮปเวลล์ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายต้องการสร้างรถไฟฟ้ารองรับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่จะเปิดให้บริการในวันที่ 29 กันยายนนี้ โดยได้ก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าด่วน (แอร์พอร์ต ลิงก์) เชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มูลค่า 26,000 ล้านบาท โดยมีแนวเส้นทางเริ่มจากสถานีพญาไท-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซ้อนทับแนวเดียวกับเส้นทางของโฮปเวลล์ ต่อมาจึงได้มีการศึกษาความแข็งแกร่งของตอม่อโฮปเวลล์ที่มีอายุมากว่า 10 ปี โดยได้ทำการทดสอบมาตรฐานเสาโฮปเวลล์เส้นทางทางสายตะวันออก หรือเส้นทางแอร์พอร์ต ลิงก์ ที่มีเสาอยู่ประมาณ 50 ต้น พบว่าเสาโฮปเวลล์ไม่ได้เกณฑ์ตามมาตรฐาน และมีค่าเฉลี่ยต่ำการเกณฑ์ที่ตั้งไว้ โดยมีค่าเฉลี่ยเพียง 100 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร จากที่มาตรฐานกำหนดไว้ 350 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร จึงทำให้ต้องทุบทิ้งทั้งหมด
ขณะที่ ผลการศึกษาความแข็งแรงของโครงสร้างเสาโฮปเวลล์ของ สนข. กลับตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง โดยมีการมอบหมายให้สถาบันวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาบันเทคโนโยลีแห่งเอเซีย (AIT) ทำการศึกษาร่วมกัน จากผลศึกษาคืบหน้ากว่าร้อยละ 80 สามารถระบุได้แล้วว่า มีเสาโครงสร้างสามารถใช้งานได้เกือบทั้งหมด จากเสาที่มี 981 ต้น และมีเสาที่คุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานต้องทุบทิ้งเพียง 2 ต้นเท่านั้น และสนข.ในฐานะหน่วยงานที่เป็นผู้ออกแบบ และวางโครงสร้างระบบขนส่งมวลชนจะเดินหน้าใช้ประโยชน์จากโครงสร้างดังกล่าวทันที โดยเฉพาะโครงการเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดง (มักกะสัน -สุวรรณภูมิ)
คลังข้อมูลผู้จัดการ:
*การรถไฟแห่งประเทศไทย