xs
xsm
sm
md
lg

"หมอมิ้ง"ชี้หาก กฟผ.ไม่แปรรูป จะไม่สามารถแข่งผลิตไฟฟ้าได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รมว.พลังงานวางระบบผลิตไฟฟ้าใหม่ เป็นระบบส่งเสริมการสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ที่ต้องการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพลดความสูญเสีย และค่าไฟฟ้าต่ำสุด ระบุหาก กฟผ.ไม่แปรรูปเป็นบริษัท ก็คงจะเสนอตัวแข่งขันลำบาก ด้าน กฟผ.ย้ำพร้อมแข่งขัน แต่รัฐต้องให้ผลิตไฟฟ้าครึ่งหนึ่งของดีมานด์ในอนาคต เพื่อความมั่นคงของระบบ

น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่ากระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมให้มีการกระจายการก่อสร้างโรงไฟฟ้าให้ไปใกล้กับแหล่งที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น เพื่อทำให้การผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำสุด เพราะสามารถลดการลงทุนด้านสายส่งและความสูญเสียในการส่งไฟฟ้าผ่านสายส่งที่เสียอยู่ประมาณ ร้อยละ 7 และสามารถใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เนื่องจากใช้ความร้อนและความเย็นที่ได้จากกระบวนการการผลิตไฟฟ้ากลับทำประโยชน์ได้อีกครั้ง เช่น การทำความเย็นภายในตัวอาคาร เป็นต้น เพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าจากปัจจุบันที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่มีประสิทธิภาพเพียงร้อยละ 45 เท่านั้น และการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กเช่นนี้จะลดต้นทุนด้านการเงิน และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การคัดค้านจากประชาชนก็จะน้อยลง

“แผนดังกล่าวจะถูกบรรจุอยู่ในการประมูลการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่หลังปี 2553 โดยส่วนหนึ่งจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (ไอพีพี) และส่วนหนึ่งจะเป็นสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็กดังกล่าว” น.พ.พรหมินทร์ กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การตั้งโรงไฟฟ้าขนาดเล็กในรูปแบบใหม่นี้จะเป็นประโยชน์มากทั้งผู้ลงทุนและผู้ใช้ เพราะสามารถตั้งตามจุดที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ทั่วประเทศ เพราะขณะนี้ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าส่วนใหญ่จะอยู่ในต่างจังหวัดตามการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งหากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่แปรรูปเป็นบริษัท ก็จะไม่มีความคล่องตัวในการแข่งขันประมูลสร้างโรงไฟฟ้า โดยเมื่อ กฟผ.เป็นบริษัท จะสามารถร่วมทุนกับ บมจ.ปตท. หรือ การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่แปรรูปในอนาคตได้

น.พ.พรหมินทร์ กล่าวว่า สำหรับแผนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้น รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนที่จะดำเนินการโดยทาง กระทรวงการคลังก็จะตั้งบริษัทซูเปอร์โฮลดิ้งขึ้นมาถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจ และดูแลการบริหารจัดการ ในกรณีนี้หากรัฐวิสาหกิจใดไม่มีการปรับตัวก็สามารถเลือกอีกแห่งมาดำเนินการแทนได้ ซึ่งก็จะทำให้ประเทศมีทางเลือกเพิ่มสูงขึ้น ส่วนการแปรูป กฟผ.นั้น ขณะนี้ทางผู้บริหาร กฟผ.กำลังศึกษาแนวทางในการแปรรูปที่เหมาะสม

นายพฤฒิชัย จงเลิศวณิชกุล ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนระบบ กฟผ. กล่าวว่า การประมูลโรงไฟฟ้าใหม่ในอนาคต กฟผ.ยังหวังว่าจะได้สัดส่วนการผลิตครึ่งหนึ่งของการประกาศซื้อทั้งหมด เพราะหากไม่ได้ก็อาจจะส่งผลต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เพราะโรงไฟฟ้าเอกชนล้วนๆ คงไม่มีโรงใดจะเพิ่มกำลังผลิตเพื่อให้ประเทศมีสำรองถึงร้อยละ 15 เหมือนกับ กฟผ. และ กฟผ.ก็พร้อมจะประมูลแข่งขันกับเอกชนด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น