xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนร้องรัฐบาลปรับบทบาทก่อนอียูตัดสินจีเอสพีกุ้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ประกอบการเรียกร้องให้รัฐบาลปรับบทบาทก่อนอียูจะตัดสินใจเกี่ยวกับการให้จีเอสพีกับสินค้ากุ้งของไทย ระบุก่อนหน้านี้รัฐบาลแสดงท่าทีแข็งกร้าวว่าสามารถแก้ไขปัญหาและผลกระทบจากเหตุสึนามิได้โดยไม่ต้องรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ทำให้เกิดความวิตกว่าอาจส่งผลต่อการตัดสินใจของอียูได้

นายเอกพจน์ ยอดพินิจ เลขาธิการสมาคมกุ้งไทย ในฐานะประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการบริหารสหภาพยุโรป (อียู) เตรียมพิจารณาเกี่ยวกับการให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ในสินค้ากุ้งแช่แข็งและสินค้ากุ้งแปรรูปที่ไทยส่งออกไปยังยุโรป ให้เหลือเพียงร้อยละ 4.2 ลดลงจากเดิมที่ถูกเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 12 โดยจะมีการพิจารณาในวันที่ 1 เมษายน 2548 ว่าที่ประชุมอียูคงจะไม่มีผลสรุปในการปรับลดจีเอสพีกุ้งให้ไทยในทันที เนื่องจากมีบางประเด็นที่สมาคมกุ้งไทยเป็นห่วง หากคณะกรรมาธิการยุโรปที่มีตัวแทนจากหลายประเทศนำไปพิจารณา อาทิ ภาพของนายกรัฐมนตรีไทยที่แสดงความมั่นใจว่าในสภาวะเกิดภัยพิบัติคลื่นยักษ์ “สึนามิ” ประเทศไทยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้โดยไม่ต้องขอรับการช่วยเหลือจากต่างประเทศ เป็นต้น

เลขาธิการสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ค่อยให้ความสำคัญของอุตสาหกรรมกุ้งไทยเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่กุ้งไทยเป็นสินค้าที่มาจากภาคการผลิตที่แท้จริง แต่รัฐบาลกลับเน้นให้ความสำคัญของอสังหาริมทรัพย์ ตลาดหุ้น หรือสินค้าชนิดอื่น เป็นส่วนใหญ่ ตนไม่มั่นใจว่าการที่อียูจะพิจารณาคืนจีเอสพีให้ไทยในครั้งนี้จะมีเงื่อนไขอื่นๆ หรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาไทยถูกอียูเอาเปรียบมาโดยตลอด โดยเฉพาะการเก็บภาษีนำเข้ากุ้งจากไทยที่มีอัตราสูงกว่าประเทศมาเลเซีย เวียดนาม และอินเดีย ทำให้ปัจจุบันไทยส่งออกกุ้งไปอียูได้ไม่ถึงร้อยละ 5 หรือประมาณ 5,000 ตัน จากมูลค่าที่อียูมีการนำเข้าทั้งสิ้นกว่า 600,000 ตัน และแนวโน้มการส่งออกของไทยจะปรับตัวน้อยลงเรื่อยๆ

นายเอกพจน์ เห็นว่ารัฐบาลควรแสดงท่าทีที่ชัดเจนเกี่ยวกับการพิจารณาการให้จีเอสพีในสินค้ากุ้งแช่แข็งและสินค้ากุ้งแปรรูปที่ไทยส่งออกไปยังยุโรปที่อียูจะมีการพิจารณาในวันที่ 1 เมษายนนี้ โดยให้มีความชัดเจนว่าการพิจารณาดังกล่าวเป็นการให้ความช่วยเหลืออันเนื่องมาจากผลกระทบจากคลื่นยักษ์โดยไม่มีเงื่อนไขอื่นต่อรอง ซึ่งหากอียูคืนจีเอสพีกุ้งให้ไทยในอัตราที่เท่าเทียมกับประเทศอื่น เชื่อว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อีกทางหนึ่งด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น