xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอยโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การให้สัมปทานเดินรถไฟฟ้าใต้ดิน เริ่มตั้งแต่ คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2538 อนุมัติหลักการให้องค์การรถไฟฟ้ามหานคร (ชื่อในขณะนั้น ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น "การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย - รฟม.") ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้ามหานครระยะแรกสายสีน้ำเงิน เส้นทางหัวลำโพง-ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์-บางซื่อ ภายใต้กรอบพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 กล่าวคือ ภาครัฐเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานงานโยธา ในขณะที่ภาคเอกชนในฐานะผู้รับสัมปทานเป็นผู้ลงทุนในส่วนของอุปกรณ์งานระบบ พร้อมทั้งให้บริการและซ่อมบำรุงระบบรถไฟฟ้าเป็นเวลา 25 ปี

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า พระราชทานชื่อโครงการใหม่ว่า "โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล" และได้มีการลงนามสัญญาสัมปทานระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยกับบริษัทรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 และวันที่ 3 กรกฎาคม 2547 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดการเดินรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (หัวลำโพง-บางซื่อ) อย่างเป็นทางการ ณ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินหัวลำโพง

บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด ในฐานะผู้รับสัมปทานโครงการ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ตามทะเบียนเลขที่ (2) 154/2541 เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2541 มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Bangkok Metro Company Limited ใช้อักษรย่อว่า BMCL

โครงการรถไฟฟ้ามหานครระยะแรกสายสีน้ำเงิน เป็นระบบรถไฟฟ้าใต้ดินตลอดสายมีระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร โดยมีสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินทั้งสิ้น 18 สถานี เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 05.00-24.00 น. ในเบื้องต้นคาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 2.5 แสนคนต่อวัน ส่วนในปี 2548 ตั้งเป้ายอดผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 15%

การจัดเก็บค่าโดยสาร แบ่งเป็น 3 ช่วงเวลา ดังนี้

1. วันที่ 3 กรกฎาคม 47 – 12 สิงหาคม 47 (1 เดือน) อัตราค่าโดยสาร 10 บาท ตลอดเส้นทาง และรายได้ทั้งหมดนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย

2. วันที่ 13 สิงหาคม 47 – 3 กรกฎาคม 48 (11 เดือน) คิดอัตราค่าโดยสาร ตามระยะทาง (ราคาส่วนลด 15% จากราคาปกติ) บุคคลทั่วไป ค่าโดยสาร 12 – 31 บาท เด็กที่มีความสูงระหว่าง 90 – 120 ซม. และผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ได้รับการลดหย่อน ค่าโดยสาร อัตรา 6 – 16 บาท และเด็กที่มีความสูงต่ำกว่า 90 ซม. ใช้บริการฟรี

3. ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 48 คิดอัตราค่าโดยสาร ตามระยะทาง ตามสัญญา บุคคลทั่วไป ค่าโดยสารปกติเริ่มต้นที่ 14 บาท สูงสุดที่ 36 บาท เด็กที่มีความสูงระหว่าง 90 – 120 ซม. และผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ได้รับการลดหย่อน ค่าโดยสาร อัตราเริ่มต้นที่ 7 บาท สูงสุดที่ 18 บาท และเด็กที่มีความสูงต่ำกว่า 90 ซม. ใช้บริการฟรี

ช่วงวันที่ 3 กรกฎาคม-12 สิงหาคม 2547 ซึ่งเก็บค่าโดยสาร 10 บาทตลอดสายนั้น ปรากฏว่ามีประชาชนสนใจมาใช้บริการเฉลี่ยวันธรรมดาวันละ 2 แสนคน และเสาร์-อาทิตย์ เฉลี่ยวันละ 2.5 แสนคน คิดเป็นรายได้เฉลี่ยวันละ 2 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 89.57 ล้านบาท ซึ่งรายได้ทั้งหมดได้นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย

ช่วงหลังวันที่ 13 สิงหาคม 2547 ซึ่งเก็บค่าโดยสารเริ่มต้น 12 บาท ถึง 31 บาทพบว่า ผู้โดยสารลดลงเกือบ 50% แต่รายได้ยังคงที่เฉลี่ยวันละ 2 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การลดลงของจำนวนผู้โดยสาร ทำให้ทางกระทรวงคมนาคมตัดสินใจเข้าหารือร่วมกับบีเอ็มซีแอล หาแนวทางปรับลดค่าโดยสารให้ถูกลง เพื่อจูงใจประชาชนมาใช้บริการเพิ่มขึ้น

นอกจากเรื่องการปรับลดค่าโดยสารแล้ว ทางกระทรวงคมนาคมยังมีแผนซื้อคืนสัมปทานเดินรถ เพื่อเชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้ามหานครให้กลายเป็นระบบเดียวกันด้วย

เดือนกันยายน 2547 หรือ 1 เดือนหลังบีเอ็มซีแอลเก็บค่าโดยสารเริ่มต้น 12 บาท ถึง 31 บาทพบว่า มียอดผู้ใช้รถไฟฟ้ามหานครวันธรรมดาเฉลี่ย 1.4 แสนคนต่อวัน และ 1 แสนคนต่อวันในช่วงสุดสัปดาห์ โดยรายได้ของบีเอ็มซีแอลเพิ่มขึ้นเป็น 2.7 ล้านบาทต่อวัน จากเดิม 2 ล้านบาทต่อวัน

วันที่ 3 มกราคม 2548 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ทดลองปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร โดยเชื่อว่าจะทำให้มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นประมาณ 50% หรือคิดเป็นจำนวนเฉลี่ยวันละ 1.6-1.7 แสนคน จากที่มีผู้โดยสารใช้อยู่ประมาณวันละ 1.1 แสนคน ประชาชนทั่วไปคิดอัตราค่าโดยสาร 3 สถานีแรก 10 บาท จากนั้นคิดอัตรา 15 บาทตลอดสาย ส่วนนักเรียน นักศึกษา จะคิดอัตราค่าโดยสาร 3 สถานีแรก 7 บาท จากนั้นคิดอัตรา 11 บาทตลอดสาย โดยมีระยะเวลาทดลอง 3 เดือน เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2548

หากการปรับลดอัตราค่าโดยสารทำให้เกิดภาวะขาดทุน รัฐบาลจะหาทางชดเชยให้เช่นเดียวกับการทดลองปรับลดอัตราค่าผ่านทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ โดยรัฐจะรับภาระในสัดส่วน 80% ของภาระการขาดทุน แต่หากจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 40% หรือประมาณ 2 แสนคนต่อวัน จะไม่กระทบต่อรายได้ของบีเอ็มซีแอล และ รฟม.จะไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยให้บริษัทแต่อย่างใด

ขณะที่ รฟม. ระบุว่า การปรับลดราคาค่าโดยสารทำให้รายได้ของรถไฟฟ้ามหานครลดลง 3.4 แสนบาทต่อวัน จากปัจจุบันที่มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 2.7 ล้านบาทต่อวัน มาอยู่ที่ประมาณ 2.36 ล้านบาทต่อวัน

รายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2548 เกี่ยวกับการลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานครเหลือ 15 บาทตลอดสาย และ 10 บาทสำหรับผู้ใช้บริการไม่เกิน 3 สถานีพบว่า จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20% และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 40% ภายในเวลา 3 เดือนที่ทดลองลดค่าโดยสาร ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2548 และจากการประเมินเบื้องต้นพบว่า ช่วง 3 วันแรกที่ทดลองใช้ค่าโดยสารใหม่ มีเพียงวันแรกเท่านั้น ที่ รฟม.ต้องจ่ายชดเชยรายได้ให้บีเอ็มซีแอลประมาณ 3 แสนบาท

ส่วนเรื่องการซื้อคืนสัมปทานเดินรถ ยังไม่มีความคืบหน้าหรือมีข้อสรุปแต่อย่างใด

*********************

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
รฟม.มอบแนวทางให้บริษัทที่ปรึกษาเดินหน้ารถไฟฟ้าสายสีม่วง

ยอดผู้โดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 หลังปรับลดค่าโดยสาร

มีผู้ใช้รถไฟฟ้าใต้ดินไม่คึกคึก เหตุไม่ทราบข่าวลดค่าโดยสาร

"สุริยะ"เตรียมลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน 15 บาทตลอดสาย

รถไฟฟ้าใต้ดินรายได้พุ่ง 10 วันฟันกว่า 20 ล้าน

ประชาชนกว่าแสนคนแห่ทดลองใช้รถไฟฟ้าใต้ดินในวันแรกของการทำงาน

ประชาชนแห่ทดลองใช้รถไฟฟ้าใต้ดินในวันเปิดทำงานวันแรก

คมนาคมตรวจความพร้อมก่อนเปิดโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน

มาถึงแล้ว! รถไฟฟ้าใต้ดินขบวนแรกของไทย

เปิดตัวแล้ว ! รถไฟฟ้าใต้ดินขบแรกของไทย

‘บีอีซีแอล’ควัก45ล้านซื้อหุ้นรถไฟฟ้ากรุงเทพเพิ่ม

บอมบาดิเอร์-ซีเมนส์’ชิงรถไฟฟ้าเสนอศึกษาลงทุนให้ไทยครบวงจร

ซีเมนส์ยันส่งมอบรถไฟฟ้าใต้ดินทันสงกรานต์ปีหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น