xs
xsm
sm
md
lg

"หมอประเวศ"แนะใช้ระบบเศรษฐกิจพอเพียงลดการใช้พลังงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.ประเวศ วะสี แนะใช้ระบบเศรษฐกิจพอเพียง-เมืองน่าอยู่ เพื่อลดการใช้พลังงาน ในขณะที่ รมว.พลังงานสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยให้จังหวัดทำแผนพลังงานเพื่อทำให้การลดการให้เหลือ 1 เท่าของจีดีพีใน 5 ปีข้างหน้า และใช้พื้นที่ประสบภัยสึนามิส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน

ในงานสัมมนา “พลังงานและสิ่งแวดล้อมเพื่อชุมชนน่าอยู่” ซึ่งกระทรวงพลังงานและองค์กรเอกชนร่วมกันจัดขึ้น นพ.ประเวศ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยใช้พลังงานเป็นมูลค่าสูงประมาณ 1 ล้านล้านบาทต่อปี ในขณะที่มูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ประมาณ 5 ล้านล้านบาท จะเป็นได้ว่าพลังงานมีสัดส่วนถึง 1 ใน 5 และยิ่งเศรษฐกิจขยายตัวการใช้พลังงานก็เพิ่มสูงขึ้น จนพลังงานมีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันไปแล้ว และจะเห็นได้ว่าเมื่อราคาปรับขึ้นก็กระทบต่อค่าครองชีพและยังส่งผลให้เกิดปัญหาการขัดแย้งความรุนแรงตามมา ดังนั้น เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ การอนุรักษ์พลังงานควรจะเป็นทิศทางใหญ่ที่ต้องหาปรับลดให้ได้ ซึ่งหากไทยลดได้ประมาณ 200,000 ล้านบาทต่อปี ประเทศไทยก็จะมีเม็ดเงินส่วนนี้ไปช่วยเหลือยกระดับคุณภาพชีวิตด้านสังคมได้มากขึ้น

นพ.ประเวศ แนะว่าการให้ข้อมูลภาพรวมการใช้ การประหยัดพลังงาน การเน้นการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขของทุกเชื้อชาติ การอยู่อย่างมีสันติภาพร่วมกัน และการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจพอพียง การทำให้ชุมชนเป็นเมืองน่าอยู่ ลดการพึ่งพาดีพาร์ทเมนต์สโตร์ขนาดใหญ่ ก็จะทำให้ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า เพราะห้างขนาดใหญ่มีการใช้ไฟฟ้าเท่ากับโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ครึ่งเขื่อนเลยทีเดียว และเป็นการส่งเสริมการพึ่งพาพลังงานจากพลังงานทดแทน การดำเนินการรูปแบบนี้ก็จะทำให้เกิดการลดการใช้พลังงานไปในที่สุด ประกอบกับประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจช่วยเหลือกัน สิ่งเหล่านี้เมื่อกระกอบกันก็ทำให้เมืองไทยเป็นเมืองน่าอยู่ เมืองน่าท่องเที่ยว ลดมลพิษ และจะกลายเป็นสวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย ดึงให้มีเม็ดเงินท่องเที่ยวเข้าในไทยได้เพิ่มขึ้นด้วย

ด้าน นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า บทบาทของกระทรวงพลังงานต่อไปจะให้ความสำคัญต่อชุมชนและการพัฒนาคนในชุมชน ในการตัดสินใจโครงการสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน โดยพร้อมจะให้เรื่องพลังงานเป็นเรื่องผลักดันให้คนในชุมชน และประชาชนได้รับองค์ความรู้อย่างเต็มที่ เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมภาคประชาชน และเชื่อมั่นว่า แนวทางเช่นนี้จะทำให้การลดการใช้พลังงานป็นไปตามยุทธศาสตร์พลังงานที่จะลดการใช้พลังงานจากสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) 1.4 ต่อ 1 เหลือ 1 ต่อ 1 ใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งตามแผนงานนี้จะมีการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ควบคู่ไปกับการลดการใช้ในระดับโรงงาน–ภาคครัวเรือน–ภาคการค้า-ภาคการจราจร โดยเฉพาะโครงการส่งเสริมระบบขนส่งมวลชน หากเป็นไปตามแผนของรัฐบาลก็จะสามารถลดการใช้พลังงานได้ 3 ล้านล้านบาทใน 10 ปีข้างหน้า

นพ.พรหมินทร์ กล่าวเพิ่มว่า กรณีในเขตจังหวัดพื้นที่ภาคใต้ด้านทะเลอันดามัน เช่น จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และระนอง ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุคลื่นยักษ์สึนามิ และกำลังอยู่ระหว่างการฟื้นฟูนั้น กระทรวงพลังงานพบว่าเขตพื้นที่ต่าง ๆ เหล่านี้มีศักยภาพด้านพลังงานทดแทน ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ และพร้อมจะเข้าไปร่วมพัฒนาพลังงานทดแทนเหล่านี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการพัฒนาพลังงานลม และการเพาะปลูกพืชปาล์มน้ำมันเพื่อผลิตเป็นไบโอดีเซล เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น