xs
xsm
sm
md
lg

คาดความเสียหายจากคลื่นสึนามิสูงถึง 30,000-50,000 ล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 48 หลังคลื่นยักษ์สึนามิถล่ม จะส่งให้ประเทศไทยสูญเสียคิดเป็นมูลค่า 30,000-50,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้เหลือร้อยละ 5.2-5.8 ขณะที่โพลระบุว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่เชื่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจะใช้ระยะเวลาแค่ 6 เดือน และจะค่อยปรับตัวดีขึ้น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์ความสูญเสียเกี่ยวกับปัญหาจากคลื่นยักษ์สึนามิถล่มใน 6 จังหวัดภาคใต้ เบื้องต้นคาดว่า จะเกิดความสูญเสียกับประเทศไทยคิดเป็นมูลค่า 30,000-50,000 ล้านบาท จากภาคธุรกิจ เช่น ประมง ท่องเที่ยว และคาดว่า จะส่งผลถึงตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ (จีดีพี) ในปี 2548 ลดลงร้อยละ 0.3 ทำให้ทางศูนย์ฯ ปรับประมาณการเป้าหมายจีดีพี จากเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 5.5-6 ปรับมาเป็นเติบโตเพียงร้อยละ 5.2-5.8

อย่างไรก็ตาม ตามประมาณการตัวเลขจีดีพีที่ศูนย์ฯ ได้มีการประเมินไว้ในปี 2548 ในช่วงไตรมาสแรกจีดีพีจะอยู่ที่ร้อยละ 5.5 ไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ร้อยละ 5 ไตรมาส 3 อยู่ที่ร้อยละ 5.5 และไตรมาสที่ 4 อยู่ที่ร้อยละ 6 แต่จากปัญหาสึนามิถล่มใน 6 จังหวัดภาคใต้ จีดีพีรายไตรมาสของปีนี้ ทางศูนย์ฯ จึงได้ปรับโดยในไตรมาสแรกโตเพียงร้อยละ 5 ไตรมาส 2 ร้อยละ 4.8 ไตรมาส 3 ร้อยละ 5.2 และไตรมาสที่ 4 อยู่ที่ร้อยละ 5.5 ทั้งนี้ ยังเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้ยังเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 4.2 การส่งออกของไทยอยู่ที่ร้อยละ 15 ซึ่งผลของสึนามิตามเป้าหมายคาดการณ์ว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยปี 2548 จะมีมูลค่ากว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ผลกระทบดังกล่าวได้กระทบต่อดุลบริการในปีนี้บ้าง จึงทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้ลดน้อยลง 500-700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับทั้งปีดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะเกินดุลอยู่ที่ 2,300-2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า นอกจากผลกระทบที่เกิดขึ้นที่ศูนย์ฯ ได้มีการประเมินไปแล้ว แต่ทางด้านผลดีก็จะมีให้เห็น เนื่องจากหลังจากนี้ไปจะต้องมีการบูรณะซ่อมแซมสถานที่ท่องเที่ยวและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ เป็นการเร่งด่วน ที่คาดว่าจะต้องใช้เงินในการซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวก็จะเป็นเม็ดเงินกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนที่จะให้ชุมชนใน 6 จังหวัดภาคใต้ มีอาชีพทำได้ต่อเนื่อง

นายธนวรรธน์ กล่าวยอมรับว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการที่ได้สอบถามผู้ประกอบการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 322 คน พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้แสดงความคิดเห็นว่า เหตุการณ์ดังกล่าวจะกระทบจำนวนรายได้ และนักท่องเที่ยวชะลอตัวลงประมาณร้อยละ 25 ซึ่งผลกระทบดังกล่าวจะมีระยะเวลาถึง 6 เดือน แล้วค่อยปรับตัวดีขึ้น โดยในการประเมินผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะอยู่ที่ประมาณ 15,000-30,000 ล้านบาท จากสมมติฐานนักท่องเที่ยวลดลงประมาณร้อยละ 25-50 ระยะเวลา 6 เดือน รวมถึงในด้านผลกระทบการหารายได้ของประชาชนในพื้นที่จะลดลงและจะส่งผลให้อำนาจการซื้อของประชาชนลดลงประมาณร้อยละ 10 ซึ่งจะทำให้ธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจากการที่จะมียอดขายลดลงประมาณ 10,000 ล้านบาท ทางด้านอุตสาหกรรมประมงที่พบว่าเรือสูญหาย ชำรุด ประมาณ 3,000 ลำ คาดว่าจะกระทบต่ออุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่องประมาณ 3,000-5,000 ล้านบาท แต่เชื่อว่าจากการที่เศรษฐกิจของประเทศยังมีอัตราการเติบโตสูงขึ้น และจากมาตรการที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผนึกกำลังเร่งแก้ไข ปรับปรุง เชื่อว่าความเสียหายที่คาดการณ์ไว้จะมีอัตราสูงจะเริ่มดีขึ้นในช่วงปลายปี

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการสอบถามผู้ประกอบการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวน 322 ราย ต่อผลกระทบธุรกิจจากคลื่นยักษ์สึนามิถล่มภาคใต้ โดยผู้ประกอบการกว่าร้อยละ 50 เห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศไทยนานประมาณ 6 เดือน กว่าร้อยละ 23 เห็นว่าจะกระทบประมาณ 1 เดือน และที่เหลือคาดว่าจะกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวเกิน 1 ปีขึ้นไป แต่ผู้ประกอบการร้อยละ 53.6 เห็นว่านักท่องเที่ยวงต่างชาติมีการเปลี่ยนแปลงการเดินทางไปยังภูมิภาคอื่นของประเทศไทยมากขึ้น โดยหันไปท่องเที่ยวในภาคเหนือมากที่สุด รองลงมาภาคตะวันออกและอ่าวไทย ร้อยละ 39.2 เห็นว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติยังคงท่องเที่ยวใน 6 จังหวัดภาคใต้เช่นเดิม และร้อยละ 7.2 เห็นว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเปลี่ยนแปลงการเดินทางไปประเทศอื่นแทน นอกจากนี้ ผลสำรวจโดยผู้ประกอบการยังเห็นด้วยปานกลางร้อยละ 50.80 คิดว่านักท่องเที่ยวยังจะเดินทางมาประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น