xs
xsm
sm
md
lg

ฟาสต์ฟูดดิ้นสู้ศึกหนัก “อาหารสุขภาพ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตลาดฟาสต์ฟูดยังเหนื่อย ออกแรงดิ้นสู้ไม่หยุด ชี้ปี 2548 ยังต้องปรับตัวงัดเกมรับมือศึกหนัก กระแสอาหารเพื่อสุขภาพยังมาแรง แย่งชิงฐานผู้บริโภค ค่ายใหญ่ตั้งป้อมสู้หวังดึงผู้บริโภคกลับคืน


ธุรกิจฟาสต์ฟูดหรือธุรกิจอาหารบริการด่วนในปัจจุบันยังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคบางกลุ่มอยู่ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับความนิยมมากเท่ากับเมื่อหลายปีก่อนก็ตาม เนื่องจากขณะนี้เทรนด์คนทั่วโลกเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินที่ต้องมีความพิถีพิถันกันมากขึ้นเป็นพิเศษ โดยผู้บริโภคยุคใหม่จะเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์และมีคุณค่าต่อร่างกาย ซึ่งมูลค่ารวมของธุรกิจอาหารฟาสต์ฟูดในปีนี้คาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 14,500 ล้านบาทและคาดว่าจะมีการเติบโต 10% จาก 2-3 ปีก่อนที่มีการขยายตัว 5-7%

อย่างไรก็ตาม อาหารฟาสต์ฟูดที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันยังคงเป็นกลุ่มฟาสต์ฟูดอาหารหนัก ได้แก่ ไก่ พิซซ่า และแฮมเบอเกอร์ ซึ่งกลุ่มนี้มีมูลค่าตลาดสูงถึง 83% ของตลาดฟาสต์ฟู้ดส์ทั้งหมดหรือประมาณ 12,000 ล้านบาท ส่วนกลุ่มอาหารเบา ได้แก่ โดนัทและไอศกรีม มีมูลค่าตลาด 2,500 ล้านบาทหรือคิดเป็น 17% ของมูลค่าตลาดฟาสต์ฟูดทั้งหมด

ในขณะที่ทิศทางในปีหน้าของเหล่าผู้ประกอบการธุรกิจฟาสต์ฟูดรายใหญ่ต่างพาเหรดงัดกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกันออกไป เพื่อรองรับกับการแข่งขันที่มีความรุนแรงทั้งคู่แข่งทางตรงและทางอ้อม เช่น ธุรกิจอาหารแช่แข็งที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและเข้ามาแย่งแชร์ตลาดอาหารจานด่วนไปบ้าง ซึ่งหนึ่งในกลยุทธ์ที่ตลาดฟาสต์ฟูดนิยมใช้ยังคงเป็นกลยุทธ์ทางด้านราคาอยู่ ซึ่งบางค่ายอัดโปรโมชั่นลดราคาหรือการขายเป็นเซ็ทในราคาที่ถูก เป็นต้น ทั้งนี้ตัวแปรที่สำคัญของธุรกิจนี้ต้องไม่มองข้ามปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่กำลังจะเกิดขึ้น อาทิ ราคาวัตถุดิบหรือต้นทุนที่แพงขึ้น, ราคาน้ำมันปรับขึ้น และสภาวะเศรษฐกิจของไทย ซึ่งผู้ประกอบการบางรายเตรียมปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นแล้วหลังจากทนแบกภาระต้นทุนวัตถุดิบขึ้นไม่ไหว เช่น พิซซ่า ฮัท ในขณะที่บางรายยังคงตรึงราคาเดิมไว้อยู่และหันลดการบริหารต้นทุนในองค์กรแทน

ตลาดไก่ไม่หวั่นไข้หวัดนก
ตลาดฟาสต์ฟูดไก่ยังคงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของผู้ประกอบการไก่ปีนี้อาจจะได้รับผลกระทบมากกว่าเพื่อน เนื่องจากกรณีไข้หวัดนกระบาด ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคในเรื่องการทานอาหารตระกูลไก่น้อยลง แต่จากการที่ภาครัฐมีนโยบายการป้องกันในเรื่องนี้อย่างเข้มงวดและเร่งประชาสัมพันธ์ว่าการทานไก่สุกนั้นจะไม่ทำให้ติดเชื้อไข้หวัดนก ดังนั้นตลาดฟาสต์ฟูดไก่จึงกลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติและมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ โดยคิดเป็นสัดส่วนได้ 43% ของมูลค่ารวมตลาดฟาสต์ฟูดทั้งหมด

ผู้นำตลาดไก่อย่างเคเอฟซี เปิดเผยทิศทางการดำเนินธุรกิจในปีหน้าว่า บริษัทยัมเรสเทอรองสต์ฯ มีแผนขยายสาขาเคเอฟซีเพิ่มอีกประมาณ 20-25 สาขาทั่วประเทศ ด้วยงบลงทุนรวมประมาณ 350 ล้านบาท โดยจะเน้นขยายสาขาและเพิ่มฐานลูกค้าในต่างจังหวัดมากขึ้น เพราะมองว่าตลาดกลุ่มนี้มีแนวโน้มและพัฒนาการที่ดีในเรื่องกำลังซื้อ โดยเคเอฟซีจะเปิดสาขาตามห้างสรรพสินค้า, ดิสเคานต์สโตร์และซูเปอร์มาร์เก็ตมากกว่าการเปิดร้านแบบสแตนด์อโลน เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการลงทุนน้อยกว่า

ประกอบกับในปีหน้าเคเอฟซีเตรียมออกเมนูใหม่เพิ่มอีก 4-5 รายการในกลุ่มไก่และอื่นๆ เพื่อเอาใจคอไก่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดบริษัทฯ เพิ่งทุ่มงบ 50 ล้านบาทในการพัฒนาและคิดค้นเมนูใหม่ “เคเอฟซี ไก่นุ่ม คลาสสิค” ที่มีส่วนผสมของเครื่องเทศกว่า 11 ชนิด ในราคา 30 บาทเท่ากับไก่ฮอทแอนด์สไปซี่ คาดว่าเมนูใหม่นี้จะช่วยเพิ่มยอดขายรวมให้เคเอฟซีโตกว่า 20%

ทางด้านเชสเตอร์ กริลล์เองก็มีการเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน โดยยังคงเน้นการทำตลาดและการขยายสาขาควบคู่กันไปกับการจัดกิจกรรมการตลาด หลังจากที่ปีนี้มีการปรับตัวรับกับโรคไข้หวัดนกไปแล้ว

พิซซ่าปรับภาพลักษณ์สู่ “แคชวล ไดนิ่ง”
ส่วนตลาดฟาสต์ฟูดประเภทพิซซ่าในปีนี้การแข่งขันมีความรุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกลยุทธ์การทำตลาด เช่น กลยุทธ์มัลติแบรนด์ เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น หรือการที่ผู้ประกอบการต้องเร่งสร้างความถี่ในการซื้อสินค้า รวมถึงการขยายช่องทางการจำหน่ายให้ครอบคลุม ซึ่งการขายแบบซื้อกลับบ้านหรือแบบดิลิเวอร์รี่จึงเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน เพราะลงทุนต่ำและขยายตัวได้เร็ว ในส่วนของลูกค้าก็ได้รับความสะดวกและประหยัด ยิ่งขณะนี้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นแล้วทำให้คนไม่อยากออกจากบ้าน

ในวงการพิซซ่าค่ายใหญ่อย่างพิซซ่า ฮัทภายใต้การดูแลของบริษัท ยัม เรสเทอร์รองสต์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ กล่าวคือ พิซซ่าฮัทได้ปรับตำแหน่งทางการตลาดใหม่ โดยสลัดภาพฟาสต์ฟูดแบบเดิมให้เป็นภาพลักษณ์ใหม่ ที่มีความเป็น แคชวล ไดนิ่ง (Casual Dining) ซึ่งคล้ายๆกับเป็นร้านอาหารที่มีความสะดวกสบายในการทานอาหาร และชูเมนูอาหารใหม่ที่มีความคุ้มค่าขึ้นมา และยังคงมีกลยุทธ์ขายเป็นชุดคอมโบเซ็ทด้วยโดยที่ไม่เน้นเรื่องการลดราคา ซึ่งจากการปรับครั้งนี้คงทำให้ราคาเมนูบางตัวเพิ่มขึ้น แต่ทางผู้บริโภคเองก็จะได้รับความคุ้มค่ามากขึ้น โดยหลังจากที่ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์และเมนูแล้วส่งผลให้การใช้จ่ายต่อหัวของลูกค้าเพิ่มขึ้นประมาณ 15%

นายปณิธาน เศรษฐบุตร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ยัม เรสเทอร์รองสต์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงตลาดฟาสต์ฟูดเวลานี้ว่า จะสะดุดมากในช่วงของการเปลี่ยนเวลาเปิดปิดห้างและค่าน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคระดับแมสรายได้อาจจะหายไปประมาณ 1,000-2,000 บาท ซึ่งจะทำให้การซื้อสินค้าลดน้อยลง อีกทั้งหากหลังช่วงเลือกตั้งใหญ่ในปีหน้าหากรัฐบาลสามารถตรึงราคาน้ำมันได้ก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ถ้าไม่ได้คคาดว่าอาจจะมีผลกระทบบ้าง

ด้านเดอะ พิซซ่า คอมปะนีที่มีเครือไมเนอร์กรุ๊ปเป็นผู้ดูแลเน้นจัดกิจกรรมตลอดเนื่องทั้งปี โดยทุกเดือนจะมีเมนูใหม่ และในทุก 6 เดือนจะมีแคมเปญกระตุ้นยอดขายอยู่เสมอ ทั้งนี้จากผลการสำรวจพบว่าผู้บริโภคที่เข้ามาทานพิซซ่าในร้านเดอะพิซซ่าคอมปะนีเฉลี่ย 2 ครั้งต่อ 3 เดือน ประกอบกันเดอะ พิซซ่าฯจะเน้นการขยายจุดขายแบบดีลิเวอรี่ หลังจากที่เดอะ พิซซ่าฯเปิดสาขาแบบเต็มรูปแบบได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในกรุงเทพฯ แล้ว อีกทั้งช่องทางแบบดีลิเวอรี่นั้นมีแนวโน้มการเติบโตดีที่สุด และสามารถกระจายไปยังตลาดในทุกพื้นที่บริการ โดยจำนวนสาขาที่จะเปิดภายในปีนี้ประมาณ 20 แห่งซึ่งรวมทั้งดิลิเวอรี่กับร้านนั่งทานด้วย จากปัจจุบันที่มีสาขาในประเทศรวมทั้งหมด 129 แห่ง (เป็นของแฟรนไชส์ 16 สาขา) แบ่งเป็น ดีลิเวอรี่และร้านนั่งทานสัดส่วนเท่ากัน 50% และเป็นสาขาในกรุงเทพฯ 70% ต่างจังหวัด 30%

เบอร์เกอร์ปีหน้าแข่งเดือดแน่หลังปีนี้ตลาดนิ่ง
ปีนี้ตลาดเบอร์เกอร์ค่อนข้างเงียบ เนื่องจากผู้นำตลาดอย่างแมคโดนัลด์กำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงองค์กรภายใน อีกทั้งคู่แข่งรายอื่นๆก็ไม่ได้รุกตลาดหนักเท่าที่ควรจึงทำให้การแข่งขันฟาสต์ฟูดกลุ่มเบอร์เกอร์ดูเป็นรองกลุ่มอื่นๆมาก โดยมูลค่าตลาดเบอร์เกอร์ปีนี้คาดว่ามีมูลค่า 2,900 ล้านบาทหรือคิดเป็น 20% ของตลาดรวมฟาสต์ฟูด และคาดการณ์ว่าตลาดจะโตอีก 10% ซึ่งปีหน้าตลาดคงดุเดือดกว่านี้แน่หลังจากที่แมคฯเคลียร์ปัญหาในบ้านเสร็จ

ในขณะที่คู่แข่งอย่างเบอร์เกอร์คิงเริ่มรุกตลาดแล้วในช่วงปลายปีนี้จนถึงปีหน้า โดยนายจอห์น สก๊อต ไฮเน็ค ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เบอร์เกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ทิศทางการแข่งขันในตลาดเบอร์เกอร์ปีหน้าค่อนข้างจะมีรุนแรงขึ้น หลังจากที่ปีนี้ตลาดรวมคงที่ จากการที่เบอร์เกอร์ คิงและคู่แข่งอย่างแมคโดนัลด์ไม่มีการขยายสาขา ซึ่งแนวทางการทำตลาดในปีหน้าบริษัทฯจะเน้นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ช่วยกระตุ้นยอดขาย โดยบริษัทฯไม่มีแผนที่จะปรับลดราคาลง แต่จะเพิ่มคุณค่าและคุณภาพให้กับสินค้าแทน ควบคู่กับการสร้างตำแหน่งทางการตลาดของเบอร์เกอร์ คิงในฐานะที่เป็นแบรนด์พรีเมี่ยม รวมถึงการขยายสาขาเบอร์เกอร์ คิงเพิ่มอีก 4-5 แห่งทั่วประเทศ โดยใช้งบลงทุนรวมประมาณ 40 ล้านบาท จากปัจจุบันเบอร์เกอร์ คิงมี 16 สาขา รวมถึงแผนทยอยปรับปรุงทุกแห่งด้วยงบสาขาละ 2-4 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น