xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนต้องรับช่วงต่อพัฒนาเศรษฐกิจไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย ถนอม พิพิธยากร

การพบปะระหว่างนายกรัฐมนตรี กับตัวแทนภาคเอกชนกว่า 1,500 บริษัท เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว เป็นการส่งสัญญาณจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สู่ภาคเอกชน ว่าบริษัทเอกชนต่าง ๆ ต้องปรับตัวรับการแข่งขันที่จะมีมากขึ้นปีหน้า และปีต่อ ๆ ไป รวมถึงการที่ภาคเอกชนต้องพัฒนาตนเองให้เข้มแข็ง เพื่อรับช่วงพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้ขยายต่อเนื่อง จากรัฐบาล

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการพบปะกับตัวแทนภาคเอกชน เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งตัวแทนภาคเอกชนที่เข้าพบ ประกับด้วยธุรกิจขนาดกลาง และขนาดใหญ่ โดยนายกรัฐมนตรีเล่าให้บรรดานักธุรกิจเหล่านั้นฟังว่า ต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษด้านใดบ้างในปีหน้า และปีต่อ ๆ ไป

โดยการพบปะกับตัวแทนภาคเอกชนเหล่านี้ นายกรัฐมนตรียืนยันว่า เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะภาคธุรกิจเหล่านี้ สามารถก่อให้เกิดการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจไทยได้ต่อเนื่อง รวมถึงการที่บริษัทห้างร้านต่าง ๆ ของภาคเอกชน ต้องเสียภาษีให้รัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกรณีของบริษัท ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับพนักงานบริษัท รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการขายสินค้าและบริการต่าง ๆ ขณะที่เมื่อบริษัทเหล่านี้จ่ายเงินปันผล โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก็ต้องเสียภาษีเงินปันผลให้ภาครัฐ

ซึ่งรัฐบาลสามารถนำเงินภาษีเหล่านี้ ไปพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะรัฐบาลนี้ ที่มีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการกองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ

นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ภาคธุรกิจเอกชน จำเป็นต้องพัฒนาตนเองให้เข้มแข็ง เพื่อให้เกิดกำไรจากการบริหารจัดการภาคธุรกิจเอกชน จนสามารถเสียภาษีให้ภาครัฐ เพื่อให้เศรษฐกิจ-ตลาดทุนไทย ขยายตัวต่อเนื่อง เป็นแหล่งระดมทุน นอกเหนือจากการใช้เงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ รวมถึงก่อให้เกิดนักลงทุนระยะสั้น และระยะยาว ในตลาดทุนไทย เพื่อให้ภาคเอกชน สามารถรับไม้ต่อจากรัฐบาล ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมไทย เพื่อยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมไทย ในอีกระดับ นำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจน ซึ่ง พ.ต.ท. ทักษิณตั้งเป้าหมาย จะแก้ปัญหาความยากจน ให้หมดจากแผ่นดินไทย ให้ได้ภายในทศวรรษนี้

โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวกับตัวแทนของ 1,500 บริษัทดังกล่าว ว่าประเทศไทยจำเป็นต้องเดินหน้าเปิดเขตการค้าเสรี (Free Trade Areas-FTAs) กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ต่อเนื่องปีหน้า และปีต่อ ๆ ไป เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจไทย สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้า และขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นผลให้สินค้า และบริการ จากประเทศไทย สามารถส่งออกไปยังตลาดทั่วโลกได้อย่างต่อเนื่อง

โดยรัฐบาลมีหน้าที่เดินหน้าเจาะตลาดส่งออกใหม่ ๆ (Emerging Export Markets) รวมถึงขยายตลาดส่งออกดั้งเดิม (Conventional Export Markets) ผ่านข้อตกลง FTAs ดังกล่าว ภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (World Trade Organizaton-WTO) แม้ประเทศไทยอาจจะต้องยอมเปิดตลาดให้สินค้านำเข้าจากประเทศเหล่านี้บ้าง แต่ในระยะยาวแล้ว เชื่อว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากข้อตกลงนี้มากกว่า

ขณะที่นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ยืนยันว่า การแก้ปัญหาความยากจนในสังคมไทย รัฐบาลจะใช้ระบบสังคมนิยม ที่เน้นการพัฒนาคนในสังคม โดยระบบกึ่งรัฐสวัสดีการ ควบคู่ไปกับระบบทุนนิยม ที่เน้นการแข่งขัน และความเข้มแข็งเป็นหลัก

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ยังยืนยันว่า จะลงทุนเพื่อพัฒนาระบบขนส่งสินค้า-คน ในอีก 4 ปีข้างหน้า อย่างต่อเนื่องอีกกว่า 1 ล้านล้านบาท เพื่อให้ต้นทุนสินค้า-บริการ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้

ความพยายามของรัฐบาล ในการพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมไทย ให้ขยายตัวยั่งยืน จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกคน ทุกฝ่าย ในสังคมไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น