xs
xsm
sm
md
lg

คชก.เพิ่มราคารับซื้อหัวมันสำปะหลังเป็น 1.50 บาท/กก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) มีมติเปลี่ยนราคาแทรกแซงหัวมันสำปะหลังในฤดูกาลผลิต 2547/48 จากกิโลกรัมละ 1.20 บาท เป็น 1.50 บาท และเพิ่มปริมาณรับจำนำจาก 5 ล้านตัน เป็น 10 ล้านตัน พร้อมขยายเวลารับจำนำออกไปอีกหากมีหัวมันสำปะหลังสดค้างอยู่มาก และเห็นชอบให้ยกเลิกโครงการขายแป้งมันสำปะหลังล่วงหน้า

นายวัฒนา เมืองสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คชก. มีมติให้ปรับเปลี่ยนการแทรกแซงหัวมันสำปะหลังในฤดูกาลผลิตปี 2547/48 ใหม่ จากเดิมกำหนดในการแทรกแซงรับซื้อหัวมันสำปะหลังสดจากเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในราคา 1.20 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 1.50 บาทต่อกิโลกรัม และเพิ่มปริมาณการรับจำนำจาก 5 ล้านตัน เป็น 10 ล้านตัน โดยให้เริ่มเปิดรับจำนำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 เมษายน 2548 และหากหัวมันสำปะหลังสดยังค้างอยู่ ซึ่งหมดระยะเวลาเปิดรับจำนำ ก็อาจจะขยายเวลารับจำนำดังกล่าวได้

นอกจากนี้ คชก. ยังได้เห็นชอบให้ยกเลิกโครงการขายแป้งมันสำปะหลังล่วงหน้า ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ขายล่วงหน้าให้กับบริษัท พี.เอส.ซี. สตาร์ โปรดักส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ชนะประมูลแป้งมันสำปะหลังไปก่อนหน้านี้ โดยจะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการประมูลใหม่ เพื่อต้องการลดปัญหาคำครหา และจะลดปัญหาเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ภาครัฐต้องเป็นผู้ดำเนินการ แต่จะเป็นเรื่องให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศจะประกาศเชิญชวนเอกชนเข้ามาประกวดราคารับซื้อหัวมันสดจากเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศจำนวน 10 ล้านตัน แบบไม่มีการกำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องรับซื้อจำนวนมากน้อยแค่ไหน ในวันที่ 13 ธันวาคมนี้ และจะมีการเปิดซองประมูลวันที่ 22 ธันวาคมนี้ ซึ่งจะทำการถ่ายทอดสดผ่านช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนได้รับทราบขั้นตอนการเปิดซองประมูลในครั้งนี้

ทั้งนี้ ผู้ที่ยื่นประมูลจะต้องซื้อหัวมันสำปะหลังสดราคา 1.50 บาทต่อกิโลกรัม ในปริมาณ 10 ล้านตัน ซึ่งผู้ที่เสนอประมูลจะเสนอซื้อจำนวนมากน้อยแค่ไหนก็ได้ โดยไม่จำกัดปริมาณ แต่ผู้ซื้อจะต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกันในอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่ามันสำปะหลังที่ยื่นเสนอประมูลเป็นขั้นต่ำ โดยบริษัทที่ชนะการประมูลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบด้านขนส่ง การส่งออก กระบวนการแปรรูปเป็นแป้งมันสำปะหลัง หรือมันเส้นเองทั้งหมด และต้องส่งออกภายในระยะเวลา 180 วัน พร้อมต้องแสดงเอกสารการส่งออกมันสำปะหลังดังกล่าวต่อกระทรวงพาณิชย์ให้รับทราบ ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะเป็นการป้องกันการจับเสือมือเปล่า เพราะบริษัทที่ยื่นเข้าประมูลจะต้องมีการตรวจสอบว่า เป็นบริษัทประกอบธุรกิจเกี่ยวกับมันสำปะหลังอย่างแท้จริง และที่สำคัญ ผู้เสนอประมูลจะสามารถเข้าไปซื้อหัวมันสำปะหลังสดในส่วนของลานมัน

นอกจากนี้ จะขยายเกี่ยวกับการขุดมันสำปะหลังสดของเกษตรกรในทุกพื้นที่จากเดิมกำหนดขุดมันสำปะหลังไม่เกิน 120 ตัน ขยายเป็นรายละ 500 ตันขึ้นไป อย่างไรก็ตาม การเปิดประมูลหัวมันสำปะหลังสดล่วงหน้าตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวซึ่งจะทำให้ผลผลิตมันฯ สดในปีหน้าที่คาดว่าจะมีอยู่ประมาณ 13 ล้านตัน น่าจะทำให้เกษตรกรสามารถขายมันฯ ได้ในราคาดี ซึ่งภาครัฐเปิดการแทรกแซงและเปิดให้ประมูลถึง 10 ล้านตัน ซึ่งขณะนี้ราคาหัวมันสดในตลาดอยู่ที่ 1.40 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้น การกำหนดอัตราแทรกแซงอยู่ที่ 1.50 บาทต่อกิโลกรัม จะทำให้เกษตรกรขายหัวมันฯ สดได้ราคาสูงขึ้น และเชื่อว่าในอนาคตกลุ่มที่ประกอบธุรกิจมันฯ ลานมัน หรือแม้แต่โรงสีข้าวต่าง ๆ จะต้องมีการปรับกระบวนการ ปรับทิศทางทางด้านการตลาดใหม่ เพื่อที่จะเข้าหาเกษตรกรในพื้นที่ให้มากขึ้น เพราะรัฐบาลมีนโยบายที่จะให้เกษตรกรสามารถขายสินค้าภาคการเกษตรในราคาสูงขึ้นมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา

นายวัฒนา กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการเปิดรับจำนำข้าวเปลือกนาปีในฤดูกาลผลิต 2547/48 ที่เริ่มเปิดรับจำนำมาตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน - 8 ธันวาคม 2547 มีเกษตรกรนำข้าวมาจำนำกับภาครัฐทั้งสิ้น 1.04 ล้านตัน ซึ่งเป็นข้าวหอมมะลิในภาคอีสานเพียง 30,000 ตันเท่านั้น หากเป็นเช่นนี้เชื่อว่าการรับจำนำข้าวเปลือกของภาครัฐที่ตั้งเป้าหมายการรับจำนำไว้ที่ 5 ล้านตันข้าวเปลือกอาจจะได้ไม่ถึง เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่นำข้าวไปขายให้กับภาคเอกชน ซึ่งมีราคาดีกว่าการรับจำนำ แต่ก็ยอมรับว่าการขายข้าวให้กับโรงสีมีชาวนาบางจังหวัดยังร้องเรียนมาที่ภาครัฐว่า กลุ่มโรงสีมีการกดราคารับซื้อข้าวเปลือก ซึ่งทำให้ราคาที่เกษตรกรได้รับต่ำกว่าราคารับจำนำ เนื่องจากเกษตรกรบางรายมีความเดือดร้อนต้องใช้เงินและไม่สะดวกที่จะนำข้าวมาจำนำไว้กับภาครัฐ และเกรงเกี่ยวกับเรื่องที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะหักหนี้ค้างเก่าที่เกษตรกรยังค้างชำระนี้กับ ธ.ก.ส. อยู่ ซึ่ง ธ.ก.ส.ได้รับปากการนำข้าวเปลือกมาเข้าร่วมกับภาครัฐจะไม่มีการหักหนี้ค้างเก่า จึงอยากเชิญชวนให้เกษตรกรนำข้าวมาจำนำกับภาครัฐจะดีกว่าการนำข้าวไปขายให้กับโรงสีแล้วถูกกดราคา และกระทรวงพาณิชย์จะมีการเปิดเสรีไม่ต้องขออนุญาตในการเปิดรับจำนำข้ามเขต โดยเปลี่ยนแปลงให้ทุกพื้นที่สามารถรับจำนำข้าวเปลือกข้ามเขตได้
กำลังโหลดความคิดเห็น