xs
xsm
sm
md
lg

แผนปฏิวัติระบบการศึกษาใหม่ ปั้น56โรงเรียนผลิตเด็กอัจฉริยะ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายสัปดาห์ -
  • เปิดแผนปฏิบัติการพัฒนาเด็กอัจฉริยะ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศ
  • กระทรวงศึกษาจับมือกระทรวงวิทย์ ฯ เตรียมเสนอขออนุมัติ ครม. ปั้น 34 โรงเรียนทั่วประเทศ นำร่องเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ พร้อมให้ทุนและหนุนด้านวิจัย ส่วน อีก22 แห่งก.ศึกษาคัดสรรและกำหนดแนวทางพัฒนาเอง
  • เร่งผุดโครงการ เวิร์ดคาสซ (world class) จัดตั้งมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลิตบัณฑิตนักวิทยาศาสตร์ แห่งแรกในเมืองไทย
  • มหิดลวิทยานุสรณ์ เตรียมขยายสาขาอีก 5 แห่ง
  • ภาคเอกชน ร่วมปั้น เด็กอัจฉริยะ 10 ขวบ..จบปริญญาตรี

    แผนปฏิบัติการให้ไทยก้าวสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ Knowleadge Based Society หรือ Economy Based Society ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศได้ ตามเป้าหมายของ พ .ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เริ่มขึ้นแล้ว!

    โดยเฉพาะปัญหาและอุปสรรค ก็คือการขาดนักวิจัย งานวิจัยและการพัฒนา (R&D) ) ที่จะมาสนับสนุนให้ไทยก้าวสู่โลกการค้าที่ปรับเปลี่ยนตลอดเวลาได้อย่างมั่นคง....

    “เรื่องของเด็กอัจฉริยะ เวลานี้ ต้องเจียระไนให้เป็นเหมือนเพชร เลือกมาให้ถูกแล้วเอาไปเจียระไน ขณะนี้เด็กอัจฉริยะในไทยทุกสาขามีประมาณ 400,000 คน เราต้องสร้างนักเขียน นักวิชาการ นักวิจัยที่ดี เพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา”นายกรัฐมนตรีกล่าวในงานสัมมนาเรื่องนโยบายของรัฐบาลในการปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคนไทยให้เข้มแข็ง 8 ธ.ค. 2546

    ปฏิบัติการนี้เกิดขึ้นจริง!เมื่อ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ สถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน และศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษแห่งชาติ ต่างตื่นตัวที่จะปั้นเด็กไทยในอนาคต ให้เป็นเด็ดอัจฉริยะ-สายพันธ์ใหม่ ที่โดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ซึ่งมีความสำคัญต่อการกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต

    ศึกษาจัดหลักสูตรพิเศษ 22โรงเรียน
    กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันโครงการเด็กความสามารถพิเศษ ซึ่งปัจจุบันได้งบประมาณในปี47 จำนวน 105 ล้านบาท ปี 48 จำนวน 96.012 ล้าน และอยู่ระหว่างขอใช้งบกลางเพิ่มเติมจากรัฐบาล เพื่อนำมาผลักดันให้โครงการนี้เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง

    พจนีย์ เจนพนัส นักวิชาการ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กล่าวว่า ในส่วนงานที่กระทรวงศึกษาธิการดูแลนั้น มีอยู่ 2 ส่วนที่สำคัญ คือ นำโรงเรียนมัธยมศึกษาที่มีอยู่ในปัจจุบันมาจัดหลักสูตรพิเศษเรียกว่าโรงเรียนที่จัดหลักสูตรสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ และโรงเรียนเฉพาะทางที่ตั้งขึ้นมาเป็นโรงเรียนที่เน้นการเรียนการสอนด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นหลัก

    โดยโรงเรียนที่จัดหลักสูตรสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษนี้ จะมีการจัดหลักสูตรเข้มข้นเป็นกลุ่มวิชา เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย โดยจะมีการให้เด็กตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษา (ม.) ปีที่ 3 มาสมัครสอบคัดเลือกโดยการวัดแววความสามารถ วัดสมอง ทักษะความคิด ที่สำคัญต้องมีเกรดเฉลี่ย 3 ขึ้นไป มาเรียนต่อในระดับ ม.4-ม.6 ซึ่งจะได้โรงเรียนละประมาณ 30-50 คน

    “เด็กเหล่านี้จะมาเรียนร่วมกันเฉพาะในวิชานั้น ๆ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ โดยวิชาอื่น ๆ ยังเรียนร่วมกับเพื่อน ๆ คือการอยู่ร่วมกันทางสังคมของเด็กจะไม่เสียไป”

    สำหรับการเรียนการสอนจะมีการแบ่งเป็น 3 ระดับคือ หลักสูตรร่นระยะเวลา คือเรียนจากตำราปกติ จากที่ต้องเรียน 3 ปีให้เหลือ 2 ปีครึ่ง แล้วไปเรียนหลักสูตรพิเศษเพิ่มพูนประสบการณ์ที่มีความเข้มข้น และหลักสูตรขยายประสบการณ์ เป็นความสนใจเฉพาะทางของเด็ก เช่น ด้านภาษา คณิตเพื่อการเอนทรานซ์ หรือการเพิ่มทักษะพิเศษเรียนรู้จากวิทยากรในอาชีพนั้นๆ เพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงรวมทั้งจะมีการส่งนักเรียนไปทดลองเรียนภาษาอังกฤษร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ปรากฏว่าได้เกรด A ทั้งหมด ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ทำหนังสือมาถึงโรงเรียนขอตัวเด็กเข้าศึกษาต่อโดยไม่ต้องสอบ

    นอกจากนี้ยังมีการจัดเวทีให้เด็กได้แสดงผลงานของตัวเองที่คิดค้นขึ้น เหมือนทำ Conference เช่นเด็กกลุ่มคณิตศาสตร์ ทำเรื่องประวัติของเลขศูนย์ หรือคณิตศาสตร์กับดนตรี ฯลฯ เด็กจะคิดค้นและหาข้อมูลเพื่อมารายงานหน้าชั้น มีครูให้คำปรึกษาเท่านั้น

    อย่างไรก็ดี โครงการนี้มีข้อจำกัดอยู่ที่ไม่สามารถทำได้ทุกโรงเรียนเพราะแต่ละโรงเรียนมีเด็กเก่งไม่เท่ากัน เด็กที่ผลิตออกมาคุณภาพก็จะไม่เท่ากัน โครงการนี้จึงต้องเจาะกลุ่มไปที่โรงเรียนเด็กเก่งอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 22 โรงเรียนที่สามารถทำได้ เป็นโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร 6 แห่งคือ บดินทร์เดชา (สิงห์ เสนีย์) เตรียมอุดมศึกษา สวนกุหลาบวิทยาลัย สตรีวิทยา นวมินทราชินูทิศ บดินทร์เดชา และสตรีวัดมหาพฤฒาราม และอีก 16 แห่งซึ่งอยู่ใน 12จังหวัด เป็นโรงเรียนนำร่อง

    ‘มหิดลฯ’ปรับหลักสูตรทุก 3 ปี - ตั้งใหม่อีก 5 สาขา
    สำหรับโรงเรียนเฉพาะทางที่ตั้งขึ้นมาเพื่อปั้นเด็กอัจฉริยะในสายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์โดยเฉพาะ ขณะนี้มีอยู่ 2 โรงเรียนที่สำคัญคือ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย

    โดยโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ถือเป็นโรงเรียนแรกและเป็นโรงเรียนต้นแบบของการผลิตเด็กอัจฉริยะสายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีความพร้อมแทบทุกด้านทั้งงบประมาณ บุคลากร สื่อการเรียนการสอน และมีการดำเนินการจนประสบความสำเร็จมาแล้วในระดับหนึ่ง วันนี้เขาเตรียมพร้อมที่จะปรับหลักสูตรให้เข้มข้นมากขึ้นไปอีก

    ดร.ธงชัย ชิวปรีชา ผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ระบุว่า ในปีการศึกษาหน้าจะมีการปรับหลักสูตรของโรงเรียน ซึ่งเป็นการปรับ 3 ปีต่อครั้ง เพื่อให้เหมาะสม และเท่าทันสถานการณ์การพัฒนาตลอดเวลา เช่น ขณะนี้กำลังนิยมเรื่องนาโนเทคโนโลยีได้เริ่มมีการนำมาสอนในโรงเรียน

    “ปรับเพื่อลดความเข้มของบางวิชา เพราะเห็นว่าค่อนเข้มข้นมากไปซึ่งเด็กบางคนรับไม่ไหว และบางเนื้อหาสาระที่แน่นเกินไป ทำให้เด็กไม่รับในสิ่งที่ตนเองต้องการอย่างแท้จริง ทั้งนี้จะมีการประเมินข้อดีข้อด้อยอยู่ตลอดเวลา ที่สำคัญต้องทำหลักสูตรเพื่อเข้าหาเด็ก”

    หรือบางครั้งสาขาวิชาที่มีเด็กเลือกเรียนคนเดียวทางโรงเรียนก็ต้องเปิดสอน เพื่อตอบสนองความต้องการ เช่น เขียนแบบคอมพิวเตอร์ ต้องจัดหาเครื่องมือและครูผู้สอน

    “การศึกษาเพื่อตอบสนองต่อเด็กอัจฉริยะต้องกล้าลงทุน เพื่อให้เขาแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มความสามารถ เพราะเป็นการสร้างอนาคตของชาติ แม้เราจะไม่ทราบว่าคนเหล่านี้จะสร้างอะไรให้กับประเทศชาติก็ตาม แต่เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องลงทุน โดยเฉพาะรัฐบาลต้องจัดสรรให้ถึงพร้อม” ดร.ธงชัย กล่าว และย้ำว่า หากเราลงทุนถูกๆก็อย่าหวังว่าจะได้เทคโนยีที่มีคุณภาพ ราคาคู่กับคุณภาพ

    ตั้งเป้าปี 48 ครูจบป.โท 70%
    ทั้งนี้ ปรัชญาในการปั้นเด็กอัจฉริยะของมหิดลวิทยานุสรณ์ เริ่มจากกระบวนการคัดสรรเด็ก ที่ต้องมีความโปร่งใสชัดเจน ก่อนเข้าสู่โปรแกรมการเรียนการสอน เพื่อไม่ให้เปลืองงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ และได้เด็กที่ไม่มีความพร้อม

    หลักสูตรต้องมีการพัฒนาไม่หยุดนิ่ง ปรับให้สอดคล้องและรับการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา รวมถึงไปถึงผู้สอนครูอาจารย์ที่ มหิดลฯให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก โดยตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2548 โรงเรียนจะต้องมีครูผู้สอนที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทให้ได้ 70%
    นอกจากนี้ ทางโรงเรียนยังได้ประสานความร่วมมือกับ 4 มหาวิทยาลัย ที่เป็นเสมือนพี่เลี้ยงเพื่อต่อยอดการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ศิลปากร และพระจอมเกล้าฯ ธนบุรี ด้วย

    อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอันใกล้นี้ มหิดลวิทยานุสรณ์ เตรียมที่จะดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนเพิ่มขึ้นอีก 5 แห่ง โดยจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในเร็วนี้อีกด้วย

    "จุฬาภรณ์"เสริมตำราภาษาอังกฤษให้เด็กเรียน
    ด้านโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตเด็กเก่งด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์โดยเฉพาะเหมือนมหิดลวิทยานุสรณ์ แม้ว่าขณะนี้ความพร้อมทางด้านงบประมาณและบุคลากรยังไม่มีความพร้อมเทียบเท่ากับมหิดลวิทยานุสรณ์ แต่แนวทางการปั้นเด็กอัจฉริยะไว้ชัดเจน

    สุวิทย์ ซื่อตรง ผู้อำนวยการโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย จ.ชลบุรี กล่าวถึงแนวทางในการพัฒนาโครงการเด็กอัจฉริยะว่า โรงเรียนตั้งขึ้นมาเพื่อผลิตบุคลากรด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารี ที่ทรงมีต่องานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบในวันที่ 4 ก.ค. 2536 ฉะนั้นเป้าหมายของโรงเรียนจึงมุ่งผลิตบุคลากรไว้รองรับโครงการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม การเรียนการสอนจึงต้องมุ่งเน้นที่สายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นสำคัญ

    โครงการเด็กอัจฉริยะของจุฬาภรณ์ฯ นั้น จะคัดเด็กพิเศษจากทั้งหมดของชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย จำนวน 20 คน จัดเรียน 4 สายวิชาคือ วิทย์ คณิต อังกฤษ และคอมพิวเตอร์ โดยเด็กในแต่ละกลุ่มจะได้เรียนอย่างเข้มข้นในกลุ่มวิชาที่ได้รับคัดเลือก รวมทั้งส่งเสริมในด้านกิจกรรม และส่งแข่งขันในงานต่างๆ เกี่ยวกับงานวิจัย และประดิษฐ์กรรม พร้อมเสริมด้วยตำราภาษาอังกฤษของนักศึกษาระดับปริญญาตรี

    “แม้ทางโรงเรียนจะมีปัญหาด้านงบประมาณจากส่วนกลางที่ไม่เพียงพอต่อการพัฒนาคุณภาพสื่อการเรียนการสอน แต่โรงเรียนได้จัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเอื้อให้เด็กพัฒนาตัวเองได้อย่างเต็มที่ตามความสามารถ ส่วนตัวเด็กเองก็มีความพร้อมในการเรียนการสอนอยู่แล้วเพราะโรงเรียนเข้มตั้งแต่รับเด็กเข้าโรงเรียนคือเด็กต้องมีเกรดเฉลี่ย 3 ขึ้นไปซึ่งวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ต้องได้ 3ด้วย”

    ปัจจุบันเด็กนักเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย สามารถสอบเอ็นทรานส์เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย คณะแพทย์ศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้จำนวนไม่น้อย สิ่งเหล่านี้เป็นผลงานด้านวิชาการที่การันตีคุณภาพการเรียนการสอน

    ก.วิทย์ ทำโปรเจก World Class-ตั้งม.วิทยาศาสตร์
    ด้าน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แม้จะไม่ได้เป็นแม่งานใหญ่ แต่ได้ให้ความร่วมมือกับทางกระทรวงศึกษาธิการเต็มที่ ภายใต้ชื่อโครงการ เวิร์ดคาสซ (world class) หรือระดับโลก พร้อมกับการริเริ่มจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

    รศ.ดร.ธีระวัฒน์ มงคลอัศวรัตน์ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา สำนักงาน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ระบุ กระทรวงวิทย์ฯและกระทรวงศึกษาฯ ได้ร่วมมือกันตั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์ โดยเป้าหมายคือการผลิตเด็กเกิดกระบวนการเรียนรู้ และเข้าใจวิทยาศาสตร์อย่างถูกต้อง โดยใช้มหาวิทยาลัย 22 แห่งเป็นผู้บริหารจัดการโรงเรียน

    “โมเดลนี้จะให้มหาวิทยาลัยของรัฐทั้ง 22 แห่ง ที่เปิดเรียนคณะวิทยาศาสตร์ คัดเลือกโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ หรือใกล้เคียง 1 แห่ง รวม 22 โรงเรียน และโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย อีก 12 แห่ง รวม 34 แห่ง รับโอนกิจการทั้งหมดของโรงเรียนนั้นๆ บริหารจัดการแทน สพฐ. โดยมีคณะวิทยาศาสตร์เป็นเสมือนพี่เลี้ยง เช่น ดูแลการปรับหลักสูตร จัดการเรียนการสอน เน้นวิชาการด้านวิทยาศาสตร์เป็นหลัก ในเบื้องต้นได้มีการตกลงร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการเรียบร้อยแล้ว” รศ.ดร.ธีระวัฒน์ กล่าว

    รศ.ดร ธีระวัฒน์ ระบุอีกว่า การโอนกิจการครั้งนี้ยังอยู่ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ แต่กระทรวงวิทย์ฯ จะให้การสนับสนุนในเรื่องทุน เรื่องกิจกรรมการวิจัย เนื่องเพราะกระทรวงมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและพร้อมกว่าในการฝึกงานหรือดูงาน โดยโครงการนี้จะเกิดขึ้นภายในปีการศึกษา 2548 นี้

    นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังต้องการให้เกิดโรงเรียนต้นแบบ เหมือนกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ที่เป็นรากฐานสำคัญของวิทยาศาสตร์ ในระดับอาชีวศึกษาขึ้นด้วย รวมถึงการต่อยอดให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ขึ้นใหม่

    “เป้าหมายเพื่อต่อยอดให้กับเด็กที่เรียนมาทางวิทยาศาสตร์โดยตรง และเป็นมหาวิทยาศาสตร์เฉพาะทางในการผลิตบัณฑิต นักวิทยาศาสตร์เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศสำหรับอนาคต” ทั้งนี้ รูปแบบดังกล่าวทั้งหมดอยู่ระหว่างการเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะมีการพิจารณาอีกครั้ง ก่อนดำเนินการต่อไป

    มศว.ใช้งบ20ล.ตั้งศูนย์วัดอัจฉริยะเด็ก
    สำหรับความเคลื่อนไหวของมหาวิทยาลัยภาครัฐ ผศ.ดร.อุษณีย์ อนุรุณวงศ์ ประธานศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ประสานมิตร เปิดเผยว่า เตรียมจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งชาติ ระดับมหาวิทยาลัยขึ้น ซึ่งจะเป็นศูนย์ประสานความร่วมมือกับนักวิจัยทั้งประเทศ และทั่วโลก ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปี 2548 ได้งบประมาณมาแล้ว 20 ล้านบาท มีเป้าหมายสำคัญคือการยกระดับและพัฒนานักวิจัยไทย และเชื่อมความร่วมมือกับนักวิจัยโลก

    นอกจากนี้ ทางมศว.เตรียมจัดจัดศูนย์วัดแวดอัจฉริยะขึ้น เพื่อตรวจสอบและวินิจฉัยถึงความสามารถพิเศษของเด็กตั้งแต่อายุ 3-5 ปี โดยจะเริ่มในปี 2548 ด้วย

    “ยิ่งเด็กยิ่งดี อายุไม่เกิน 6 ปี เพราะจะเห็นแวดธรรมชาติอย่างแท้จริง หลังอายุ 8 ขวบสภาพแวดล้อมต่างๆจะหล่อหลอมเด็กแทน ซึ่งทำให้ผู้ปกครองสามารถที่จะทราบได้ว่า ลูกของตนเองน่าที่จะได้รับการส่งเสริมในจุดไหน”

    Gifted Child สูตรติวเข้มเด็กเก่ง
    ปัจจุบันไม่เพียงแต่ภาครัฐเท่านั้นที่มีแนวคิดในการสร้างเด็กที่มีความสามารถพิเศษในรูปของโครงการหรือโรงเรียนที่เปิดสอนเฉพาะด้านเท่านั้น แต่ในส่วนของภาคเอกชนอย่าง สถาบันเสมือนจริงด้านอีเลิร์นนิ่ง (Virtual institute of Elearning) อันเกิดจากการรวมกลุ่มของ4 สถาบันการศึกษาคือ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราชและมหาวิทยาลัยรามคำแหง มี“ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน”ในฐานะประธานสถาบันฯ มีแนวคิดที่จะเปิดหลักสูตรการเรียนการสอน”เด็กอัจฉริยะ”ขึ้นในราวกลางปี 2548 โดยจะเน้นความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์

    สำหรับหลักสูตร”เด็กอัจฉริยะ”หรือGifted Child ที่จะนำมาใช้ในการเรียนการสอนสำหรับเด็กตั้งแต่วัย 4 ขวบขึ้นไปนั้นย่อมแตกต่างไปจากหลักสูตรของเด็กทั่วไป จะมีการจัดการสอนความรู้เฉพาะด้านความถนัดและความต้องการของเด็กแต่ละคน ซึ่งบางคนอาจต้องใช้วิธีการสอนแบบตัวต่อตัว

    ปั้นเด็ก 10 ขวบจบป.ตรี
    “ผลที่เราตั้งไว้คือในช่วง 10 ปีอาจจะมีเด็กจากสถาบันเราเป็นเด็ก 10 ขวบจบปริญญาตรีสัก1 คน ซึ่งไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะมีเด็กแบบนี้ได้สักกี่คน เพราะขึ้นอยู่กับพัฒนาการที่แตกต่างกัน”

    ในราวต้นปี2548 สถาบันจะมีการประชุมเพื่อวางหลักสูตรอย่างชัดเจน รวมทั้งจะเริ่มเสาะหาผู้สอนที่มีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง และจะเปิดรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษจากทุกระดับชั้นของสังคม ทั้งเด็กที่ร่ำรวยและยากจน คาดว่าโครงการสอนเด็กอัจฉริยะ ของสถาบันนั้นจะได้รับการสนับสนุนในด้านกำลังคน และงบประมาณจากภาคต่างๆไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน องค์กรมูลนิธิ จะมีการประสานกับรัฐบาลเพื่อแก้ไขกฎหมายหรือกฎระเบียบบางส่วนต่อไป

    อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญที่สุดต่อการสร้างกระบวนการศึกษาของเด็กที่มีความสามารถพิเศษ นั้นคือการ”จัดสังคม”อย่างเหมาะสมโดยพิจารณาจากบทเรียนความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศมาแล้ว ซึ่งจะทำให้เด็กอัจฉริยะ เหล่านี้เป็นกลไกในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าและมีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่าง เก่ง ดี มี สุข ควบคู่กันไป
    เครื่องมือวัดความเก่ง 7 ชนิด : ช่วยพ่อแม่เลี้ยงลูกให้ถูกทาง
    หาก“พ่อ-แม่” อยากจะปั้นลูกให้ “เก่ง –เด่น” ไปในทิศทางใด ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เนื่องเพราะขณะนี้ มีเครื่องมือหรือแบบวัดเบื้องต้นที่จะทำให้เรารู้ได้ว่า “ลูกน้อย”มีพรสวรรค์ที่ควรจะสนับสนุนและพัฒนาไปด้านใด

    ความเก่ง 7 ชนิดที่กล่าวถึง ประกอบด้วย ความเก่งด้านภาษา, ด้านตรรกะ-คณิตศาสตร์,ด้านมิติ,ด้านดนตรี,ด้านร่างกาย-การเคลื่อนไหว,ด้านมนุษยสัมพันธ์ และด้านความเก่งในการรู้จิตใจของตนเอง ความเก่งเหล่านี้จำเป็นที่พ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นจะต้องแอบสังเกตลูกหลานตัวเอง และเตรียมส่งเสริมให้ถูกทาง หนังสือเรื่องความเก่ง 7 ชนิด ค้นหาและพัฒนาพหุปัญญาในคน ของกระทรวงศึกษาธิการ เล่มนี้มีคำตอบ...

    เริ่มต้นดูกันก่อนว่า ความเก่งแต่ละด้านนั้นแตกต่างกันอย่างไร และอาชีพของคนเก่งแต่ละด้านมักเป็นอาชีพอะไร

    ความเก่งด้านภาษา เป็นเรื่องความสามารถในการใช้ถ้อยคำ บุคคลที่ฉลาดด้านนี้จะมีความสามารถด้านการอ่าน การเขียน อาชีพของคนเหล่านี้จึงประกอบด้วย นักหนังสือพิมพ์ นักเล่านิทาน กวี และนักกฎหมาย

    ความเก่งด้านตรรกะ-คณิตศาสตร์ เป็นความสามารถด้านจำนวนตัวเลขและเหตุผล มีความสามารถในการจัดลำดัก คิดหาสาเหตุและผลลัพธ์ สร้างสมมติฐาน การค้นหารูปแบบ แบบแผน และชอบใช้ชีวิตอย่างมีเหตุผล อาชีพของคนเหล่านี้จึงมักเป็น นักวิทยาศาสตร์ นักบัญชี และนักจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์

    ความเก่งด้านมิติ เป็นความเก่งด้านการคิดเป็นรูปภาพ สามารถมองเห็นโลกในรูปของภาพ และสามารถจำลองภาพนั้น ๆ ได้ กล่าวได้ว่าผู้มีความสามารถด้านนี้จะมีความไวในการดูมาก สามารถมองเห็นรายละเอียดและจำลองภาพในสมองได้ดี และสามารถเขียนและวาดออกมาได้ชัดเจน คนเก่งด้านนี้จึงมักเป็น นักสถาปนิก นักถ่ายรูป ศิลปิน นักบิน และวิศวกรช่างกล

    ความเก่งด้านดนตรี เป็นความเก่งของคนที่มีความสามารถและชื่นชมในเสียงทำนองจังหวะ และผลิตเสียงทำนองจังหวะได้ดี ซึ่งจะเป็นผู้ที่มีหูไวต่อเสียง ร้องเพลงถูกทำนอง จับจังหวะดนตรี และสามารถแยกเสียงดนตรีต่าง ๆ ได้ดี คนเก่งด้านนี้เช่น เบโทเฟน

    ความเก่งด้านร่างกาย-การเคลื่อนไหว คือคนเก่งที่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ดี รวมทั้งการใช้มือเพื่อกระทำกับสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งได้แก่อาชีพ นักกีฬา นักประดิษฐ์หัตถกรรม ช่างเครื่องยนต์ ศัลยแพทย์ นักแสดงตลก ช่างไม้ ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า นักประดิษฐ์หุ่น นักว่ายน้ำ และนักเต้นรำ

    ความเก่งด้านมนุษยสัมพันธ์ คือความสามารถพิเศษในการทำงานร่วมกับผู้อื่น เข้าใจผู้อื่น รับรู้อารมณ์ความปรารถนาของคนอื่น โดยทั่วไปบุคคลที่เก่งด้านนี้มักเป็นผู้ที่เข้าใจผู้อื่นได้อย่างลึกซึ้ง เป็นนักประสานงาน นักไกล่เกลี่ย นักสร้างเครือข่าย และเป็นครูได้ดี

    ความเก่งในการรู้จิตใจของตนเอง คือเป็นคนที่สามารถแยกสภาพจิตและอารมณ์ของตนเอง และนำความสามารถนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ดี ได้แก่พระ นักสอนศาสนา นักแนะแนว นักธุรกิจที่ดำเนินกิจการของตัวเอง ซึ่งอีกบุคลิกหนึ่งของคนประเภทนี้มักเป็นผู้ที่พึ่งตนเอง ชอบอิสระเสรี มีวินัยในตนเอง และไม่ชอบทำงานกับผู้อื่น

    ความเก่งทั้ง 7 ด้านนี้ ในคนหนึ่งอาจมีได้มากกว่าหนึ่งชนิด และทุกความเก่งสามารถพัฒนาขึ้นมาได้ และเพื่อให้รู้แน่ ว่าแต่ละคนมีความเก่งด้านไหน หนังสือเล่มนี้มีแบบทดสอบให้ลองสำรวจ ลองทำเครื่องหมายถูกในข้อที่ตรงกับลักษณะของท่านและบุตรหลาน ซึ่งสามารถติดต่อขอแบบวัดได้ที่กระทรวงศึกษาธิการ

    เตรียมอุดมจับมือจุฬา ปั้นเด็กเก่งเข้ารั้วจามจุรี
    เตรียมอุดมฯ ชูโครงการความสามารถพิเศษเฉพาะทาง เสริมทักษะเด็กเก่งด้วยหลักสูตรเข้มข้น ย่นระยะเวลาเรียน จับมือกับ ม.จุฬาฯ ให้เด็กเรียน ปี 1 ล่วงหน้า ในวิชาที่ตนถนัด พร้อมหนุนด้านกิจกรรม ส่งเสริมให้ฝึกงานและทำประโยชน์ต่อสังคม


    โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเป็นโรงเรียนมัธยมที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะ ‘เด็กเก่ง’ ในระดับต้นๆของไทย เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น อาจารย์พรรณี เพ็งเนตร ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จะเป็นผู้ไขความลับเรื่องนี้ให้กระจ่าง
    เตรียมอุดมฯสอนเฉพาะระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 โดยแบ่งหลักสูตรการเรียนการสอนทั่วไป เป็น 3 ส่วน คือ

    1) สาระการเรียนรู้พื้นฐาน จะเหมือนกับโรงเรียนอื่นๆ โดยมี 8 กลุ่มสาระ คือ 1.ภาษาไทย 2.คณิตศาสตร์ 3.วิทยาศาสตร์ 4.สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม 5.สุขศึกษาและพลศึกษา 6.ศิลปะ 7.การงานอาชีพและเทคโนโลยี และ 8.ภาษาต่างประเทศ ซึ่งส่วนนี้เด็กทุกห้องในแต่ละชั้นปีจะเรียนเหมือนกัน

    2) สาระการเรียนรู้เพิ่มเติม ส่วนที่ 1 จะเน้นการเพิ่มพูนทักษะเพื่อความเป็นเลิศเฉพาะด้าน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาต่อ แบ่งเป็น 3 กลุ่มวิชา คือ 1. เน้นด้านวิทย์-คณิต 2. เน้นด้านภาษา-คณิต และ 3.เน้นด้านภาษา-ภาษา ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมัน และญี่ปุ่น โดยเด็กแต่ละชั้นปีจะแบ่งห้องเรียนตามกลุ่มวิชาที่เลือก

    3) สาระการเรียนรู้เพิ่มเติม ส่วนที่ 2 เป็นการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมความสามารถของนักเรียนแต่ละคน ทั้งทางด้านวิชาการและวิชาชีพ โดยส่วนนี้จะเป็นวิชาเลือกเสริม เช่น เด็กที่เลือกเรียนด้านวิทย์-คณิต สามารถเลือกเรียนวิชาคอมพิวเตอร์ วิทย์-คณิตประยุกต์ ภาษาฝรั่งเศส ฯลฯ วิชาใดวิชาหนึ่งเป็นวิชาเสริม นอกจากนั้นโรงเรียนยังได้จัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาตนเองตามศักยภาพ พร้อมทั้งปลูกฝังด้านจริยธรรม

    นอกจากหลักสูตรการเรียนทั่วไปแล้ว ที่ดูจะโดดเด่นอย่างมากคือโครงการความสามารถพิเศษเฉพาะทาง ซึ่งโรงเรียนเตรียมอุดมฯจัดทำขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีความถนัดเฉพาะด้านสามารถเลือกเรียนในบางวิชาได้เป็นพิเศษ โดยขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้เรียน ความเห็นชอบของผู้ปกครอง และผ่านการคัดกรองตามเกณฑ์ของโรงเรียน วิชาที่เปิดให้เลือกเรียน ได้แก่ คณิตศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ ชีวะ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ซึ่งผู้ที่สมัครเข้าโครงการและผ่านการคัดกรองจากทางโรงเรียนจะแยกมาเรียนและสอบวิชานั้นๆเป็นการเฉพาะ ส่วนวิชาอื่นๆก็ยังคงเรียนและสอบร่วมกับเพื่อนในชั้นตามปกติ โดยโครงการนี้จะเป็นการเรียนต่อเนื่องตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 4- 6 (รวม 6 เทอม)

    โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (ส.ก.ศ.) โดยนักเรียนจะต้องเรียนให้ครบทั้ง 3 หลักสูตร คือ

    1.หลักสูตรลดระยะเวลาเรียน โดยโรงเรียนจะจัดหลักสูตรพิเศษเฉพาะวิชาที่นักเรียนคนนั้นๆมีความถนัด ซึ่งเป็นหลักสูตรปกติ แต่ใช้เวลาเรียนน้อยกว่าปกติ เด็กสามารถเรียนวิชาที่ตนเลือกโดยใช้เวลาเรียนเพียง 4-5 เทอมก็จบหลักสูตร ขณะที่เด็กทั่วไปต้องใช้เวลาเรียน 6 เทอม โดยอาจารย์ที่สอนเป็นอาจารย์ของโรงเรียนเตรียมอุดมฯเอง

    2. หลักสูตรเพิ่มพูนประสบการณ์ เพื่อให้นักเรียนรู้ถึงคอนเซ็ปของวิชานั้นๆอย่างลึกซึ้ง
    โดยเชิญอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆมาช่วยสอนร่วมกับอาจารย์ของเตรียมอุดมฯ นอกจากนั้นยังมีการเข้าค่ายรายวิชา เพื่อร่วมทำกิจกรรมโครงงานต่างๆด้วย

    นักเรียนที่เข้าโครงการจะเรียนหลักสูตรลดระยะเวลาเรียนและหลักสูตรเพิ่มพูนประสบการณ์ไปพร้อมๆกัน

    3. หลักสูตรขยายประสบการณ์ จะเรียนในเทอมที่ 5 หรือ 6 หลังจากที่จบหลักสูตรลดระยะเวลาเรียนแล้ว บางวิชาอาจเพิ่มพูนประสบการณ์อย่างเข้มข้นในเทอมที่ 5 หรือ 6 โดยโรงเรียนจะเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ หรือร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆเพื่อขยายประสบการณ์ให้เด็ก สำหรับโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำโครงการ CUAP( Chulalongkorn University Advance Placement) หรือโครงการจัดหาที่เรียนล่วงหน้า ซึ่งโรงเรียนสาธิตจุฬา และโรงเรียนสาธิตปทุมวัน ร่วมอยู่ในโครงการนี้ด้วย

    โดยหลังจากที่เด็กจบการศึกษาเทอมที่ 5 ในรายวิชาที่ตนเลือกแล้ว ในเทอมที่ 6 เด็กจะเรียนรายวิชานั้นในหลักสูตรชั้นอุดมศึกษาปีที่ 1 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหากเด็กคนไหนสามารถสอบเข้าจุฬาฯได้ ก็จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเรียนในวิชานี้ซ้ำอีก และถึงแม้จะไม่ได้ศึกษาต่อที่จุฬาฯก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ในการเรียนรู้ อย่างไรก็ดี หากสมัครเข้าโครงการ และเรียนไประยะหนึ่งแล้วรู้สึกว่าเรียนหนักเกินไป ก็สามารถออกจากโครงการและกลับเรียนในคาบปกติได้ทันที

    หลักสูตรความสามารถพิเศษเป็นหลักสูตรที่ต้องเรียนต่อเนื่อง โรงเรียนเตรียมอุดมฯ เพิ่งเริ่มทำโครงการนี้ได้เพียง 2 ปี นักเรียนในโครงการจึงมีเพียงชั้น ม.4 และ ม.5 เท่านั้น นอกจากโรงเรียนเตรียมอุดมฯก็มีโรงเรียนมัธยมบางแห่งที่ทำโครงการนี้ แต่รายละเอียดของหลักสูตรอาจมีความแตกต่างกัน และส่วนใหญ่จะมีรายวิชาให้เลือกน้อยกว่า

    เตรียมอุดมฯยังมีการเรียนนอกหลักสูตร เช่น การเตรียมความพร้อมในการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ มีรุ่นพี่ที่ไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยต่างๆมาช่วยสอนพิเศษให้

    โรงเรียนเตรียมอุดมฯไม่ได้ส่งเสริมให้เด็กเก่งเฉพาะวิชาการอย่างเดียว ยังเน้นให้เด็กเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตด้วย อาทิ มีชมรมต่างๆที่เด็กจัดตั้งขึ้นเองถึง 43 ชมรม ซึ่งสมาชิกชมรมจะได้ทำกิจกรรมที่ตนเองสนใจ เช่น ชมรมการ์ตูนไปดูขั้นตอนการผลิตการ์ตูนของสำนักพิมพ์ , ส่งเสริมให้นักเรียนฝึกงานในช่วงปิดเทอม ,โครงการช่วยสอนเด็กเล็กในถิ่นยากจน

    “ทางโรงเรียนจะมีกิจกรรมเพื่อให้เด็กเข้าสู่สังคม เห็นสภาพจริงของสังคม และได้ช่วยเหลือสังคม เพราะเตรียมอุดมฯผลิตนักเรียนเพื่อรับใช้ประเทศในทุกสาขาวิชา นักเรียนเตรียมอุดมจะมีวิธีคิดแบบสากล และวิธีปฏิบัติตนแบบวัฒนธรรมไทย นี่คือวิสัยทัศน์ของเตรียมอุดมฯ ” ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กล่าว

    จึงไม่น่าแปลกที่เด็กเตรียมอุดมฯจะเป็นเด็กที่เรียนเก่ง กล้าแสดงออก ปรับตัวเข้ากับผู้คนได้ดี อันจะเป็นพื้นฐานในการเป็นคนเก่งและดีในสังคมต่อไป
    วิธีปรุงแต่ง "ลูกน้อย"สู่เด็กอัจฉริยะยุค2005
    การปั้นเด็กอัจฉริยะ ไม่ใช่เรื่องง่าย...เช่นเดียวกับการสรรหาเด็กกลุ่มนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน เนื่องจากโดยธรรมชาติของเด็กจะมีพัฒนาการเป็นเส้นกราฟ มีช่วงเวลาแห่งการเติบโตที่ขึ้นสูง ขณะเดียวกันในบางช่วงเด็กกลุ่มนี้อาจหยุดหรือชะลอพัฒนาการลงอย่างกระทันหัน...ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นมากที่สุดสำหรับกลุ่มเด็กที่มีความสามารถพิเศษ จึงอยู่ที่ความรู้และความเข้าใจของคนใกล้ตัวอย่างผู้ปกครองและครูอาจารย์

    หมั่นสังเกตลูกตั้งแต่เกิด..
    น.พ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้เชี่ยวชาญโครงการสร้างเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ได้อธิบายถึงคุณลักษณะที่โดดเด่นของเด็กกลุ่มนี้ว่าผู้ปกครองสามารถสังเกตความเป็นเด็กที่มีความสามารถกันได้ตั้งแต่แรกเกิดเลยทีเดียว ลักษณะเด็กที่เจอบ่อย เช่น ตั้งแต่เล็กจะดูตื่นตัวผิดปกติ มีการเรียนรู้ที่เร็ว ใช้ภาษาได้ดี สนุกกับการเรียนรู้ มีความสามารถในการคิดเชิงวิเคราะห์และสังเกต คือจะตั้งคำถามดีๆบางทีพ่อแม่ก็อาจจะรู้สึกลูกฉลาดก็แค่นั้น ..แต่ไม่รู้จะช่วยส่งเสริมลูกอย่างไร รอว่าโรงเรียนจะให้คำตอบ แต่โรงเรียนส่วนใหญ่ก็ยังไม่พร้อมที่จะให้คำตอบ

    " ถ้าดูจากเด็กเล็กๆโดยรวมจะเห็นพัฒนาการที่ดี คิดเชิงเหตุผลที่ดี คิดเชิงนามธรรมที่ดี จะมีความไวต่อการรับรู้ สายตาเด็กที่รู้เรื่องดี จะต่างจากเด็กทั่วไป สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาแปลงให้เป็นเครื่องมือสำหรับวัดได้ เพื่อให้พ่อแม่หรือชุมชนรู้

    จริงๆแล้วในต่างประเทศจะไม่พยายามบอกว่าเด็กคนนี้เป็นหรือไม่ เพราะตลอดวัยของเขาอาจจะมีอะไรเด่นหรือด้อย เพราะพัฒนาการของแต่ละคนจะมีช่วงวัยที่ช้าและเร็วต่างกัน ดังนั้นแนวทางปฏิบัติคือจัดให้ได้เรียนรู้ก่อน แต่อย่าเพิ่งไปตีตรา"

    จัดสมดุลย์ไอคิว-อีคิว
    ตามหลักการศึกษาและในเชิงจิตวิทยา ไม่ต้องการให้สังคมหรือผู้ปกครองสรุปว่าลูกหลานของตนเองคือเด็กที่มีความสามารถพิเศษ เพราะเกรงว่าจะเป็นการสร้างแรงกดดันให้กับตัวเด็กมากเกินไป อย่างไรก็ตามด้วยความโดดเด่นของเด็กกลุ่มนี้นี่เองทำให้บางครั้งอาจกลายเป็น"ปมด้อย"ให้กับตัวเด็กหากสังคมเพื่อน ครูขาดความรู้ความเข้าใจอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ปัจจัยที่อาจสร้างผลกระทบต่อพัฒนาการคือขาดกระบวนการศึกษาที่สามารถตอบสนองเด็กเหล่านี้ได้อย่างแท้จริง ในที่สุดจากเด็กที่มีความสามารถพิเศษ มีการเรียนรู้สูงกว่าเด็กในวัยเดียวกัน ก็อาจกลายเป็นเด็ก "ด้อยโอกาส"ไปโดยปริยาย

    "แปลว่าเด็กที่อยู่สุดขอบทั้งสองฝ่าย คือเด็กที่เก่งมากๆ กับเด็กที่ไม่ค่อยเก่ง ดังนั้นเด็กสองกลุ่มนี้ก็จะไม่เข้ากันกับระบบการศึกษาเพราะระบบการศึกษาทำแบบกว้างๆ ตอบสนองกลุ่มใหญ่ สองกลุ่มนี้จึงถูกเรียกว่าเป็นเด็กด้อยโอกาส

    พูดง่ายๆ คือเราไม่ใช้พลังงานการเรียนรู้ไปในทางสร้างสรรค์หรือมีศักยภาพเต็มตัว โดยระบบนี้จึงเป็นโจทย์ของระบบการศึกษาทั่วโลก ในต่างประเทศเขารู้ดีว่าการดึงรั้งคนเหล่านี้ไว้ โดยไม่สร้างระบบที่ดี เป็นการทำลายศักยภาพของประเทศ "

    ดังนั้น ในทางปฏิบัตินั้น การดูแลเด็กที่มีความสามารถพิเศษต้องมีองค์ประกอบในเชิงนโยบายชัดเจน ผู้บริหารต้องการให้การสนับสนุนในระดับโรงเรียน หลักสูตรการเรียนการสอนต้องมีความยืดหยุ่น มีระบบการศึกษาที่เรียกว่า"ทางด่วน"ให้เขาได้เรียนในสิ่งที่ต้องการเรียนรู้โดยไม่ถูกจำกัดในชั้นเรียน รวมทั้งต้องเป็นการเสริมประสบการณ์ สร้างแรงบันดาลใจ

    น.พ.ประเวช ระบุว่าสิ่งสำคัญในการสร้างไอคิวให้กับเด็กกลุ่มนี้แล้ว การดูแลในเรื่องอีคิว หรือด้านอารมณ์ความรู้สึกถือเป็นส่วนสำคัญไม่แพ้กัน เพื่อให้เด็กมีความสามารถพิเศษ อยู่ในสังคมได้อย่างสมดุลย์

    "แม้เขาจะมีความสามารถพิเศษอย่างไรก็ตาม แต่ยังต้องการพัฒนาด้านคุณธรรม วัฒนธรรม สังคมและอารมณ์ ให้สามารถอยู่ได้ในสังคม ไม่ใช่คนที่มีความสามารถ เก่ง แต่เห็นแก่ตัว"

    อย่างไรก็ตามหากมองถึงสถาพแวดล้อมและความพร้อมของสังคมไทยในเวลานี้แล้ว น.พ.ประเวช คาดว่าภายในระยะเวลาอีก ไม่เกิน 2-3 ปีเราอาจจะได้เห็นโครงการสร้างเด็กที่มีความสามารถพิเศษจากทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้องเป็นรูปธรรมมากขึ้น

    เคล็ดลับเด็กเรียนเก่ง
    การที่นักเรียนจะเรียนเก่ง เรียนดี และรักษามาตรฐานของการเรียนเพื่อบรรลุเป้าหมายในการศึกษาที่แต่ละคนตั้งใจไว้ได้นั้น ต้องมีองค์ประกอบหลายประการ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ได้สอบถามวิธีการเรียนของนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และ โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ซึ่งจะเป็นกรณีตัวอย่างได้ว่าเขาเรียนกันอย่างไร ?

    สิขวรรณ วรรธนะสาร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 รองประธานคณะกรรมการนักเรียนฝ่ายกิจกรรม โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กล่าวว่า ผมพยายามตั้งใจเรียนในห้องเรียนให้มากที่สุด หากชั่วโมงใดที่ไม่ได้เข้าเรียนเพราะต้องไม่ทำกิจกรรมก็ขอยืมสมุดโน้ตของเพื่อนไปดู ทำให้สามารถทำกิจกรรมต่างๆควบคู่ไปกับการเรียนได้ จริงๆแล้วเด็กเตรียมอุดมไม่ได้มุ่งแต่จะแข่งกันเรียนหรือหวงวิชาอย่างที่หลายคนเข้าใจ พวกเราช่วยกันเรียนมากกว่า ใครที่เก่งคณิตศาสตร์ เก่งฟิสิกส์ ก็ช่วยติวให้เพื่อนๆ

    โรงเรียนเรามีกิจกรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น งานสืบสานวัฒนธรรมไทย กีฬาสี ทำหนังสือพิมพ์โรงเรียน ละครเวที เรามีชมรมถึง 43 ชมรม ถือเป็นโอกาสให้นักเรียนนำความรู้ที่ได้เรียนแสดงออกได้อย่างเต็มที่

    การใช้ชีวิตในวัยเรียนจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นกับเป้าหมายของแต่ละคน บางคนต้องการเอ็นทรานซ์ในคณะที่ยาก หรือจะไปแข่งโอลิมปิกวิชาการ ก็จะเรียนค่อนข้างหนัก แต่เด็กเตรียมฯทั่วไปก็แค่เรียนให้พอรู้ว่าเรียนไปเพื่ออะไรก็สามารถแบ่งเวลาไปทำกิจกรรมได้

    ปราการ ตอวิเชียร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 รองประธานคณะกรรมการนักเรียนฝ่ายวิชาการ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กล่าวว่า เด็กเตรียมอุดมฯโชคดีตรงที่รุ่นพี่รุ่นน้องมีความผูกพันกันมาก รุ่นพี่ที่จบไปแล้วก็มาช่วยติวให้ ศิษย์เก่าหลายคนที่ไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยก็มาช่วยสอนน้องๆตอนเย็นหลังเลิกเรียน บางคนเคยผ่านการสอบชิงทุนเหล่าเรียนหลวง สอบโอลิมปิกวิชาการ ก็จะนำประสบการณ์ตรงนั้นมาบอก แนะนำว่าควรเตรียมตัวอย่างไร ต้องหาหนังสือเล่มไหนมาอ่าน นอกจากนั้นพี่ ม.4 , ม.5 ยังช่วยติวให้รุ่นน้องในโรงเรียนด้วย

    อาจารย์ท่านก็ทุ่มเทการสอนเต็มที่ บางที่ทางโรงเรียนมีกิจกรรม ทำให้นักเรียนบางส่วนต้องขาดเรียน อาจารย์จะช่วยสอนเสริมให้ในช่วงเย็น อีกทั้งบรรยากาศในห้องเรียนถือว่ามีส่วนอย่างมากที่ทำให้เราเรียนได้ดี เพราะเวลาเล่นทุกคนก็จะร่วมกิจกรรมอย่างเต็มที่ แต่พอถึงเวลาเรียนเราก็จะช่วยกันติว ทำให้ดึงขึ้นไปพร้อมๆกัน

    เด็กเตรียมฯไม่ได้แข่งกัน เราช่วยกันเรียนมากกว่า ใครไปเจอโรงเรียนสอนพิเศษดีๆ หรืออ่านหนังสือเล่มไหนแล้วเห็นว่าดีก็จะมาบอกเพื่อนๆ อยู่กันแบบอบอุ่นมากครับ

    อโณทัย จัตุพร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/4 หนึ่งในทำเนียบเด็กเก่ง โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตชลบุรี อโณทัย เป็นเด็กเรียนเก่งได้เกรดเฉลี่ย 4 และอยู่ห้องคิงส์ เล่าถึงเหตุผลเลือกเรียนที่นี่ เพราะคิดว่าดีกว่าโรงเรียนหลายแห่ง ตรงที่ทางโรงเรียนเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้นอกห้องเรียน และทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวัน อาทิ การเข้าค่ายเรียนรู้นอกตำรา เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ และที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปเข้าค่ายที่ม.บูรพา รวมถึงทางโรงเรียนส่งให้ไปแข่งขันด้านการศึกษาหลายครั้ง เช่น ได้ไปแข่งขันภาควิชาชีวะ ระดับโอลิกปิก

    สำหรับเคล็ดลับการเรียนเก่งนั้น พยายามทำความเข้าใจกับสิ่งที่อาจารย์สอนให้มากที่สุด หากไม่เข้าใจจะรีบถามทันที หรืออาจจะเข้าห้องสืบค้น Internet ห้องสมุด เพื่อหาคำตอบ รวมถึงจะถามพ่อแม่เพิ่มเติมเมื่ออยู่บ้าน นอกจากนี้ ทางโรงเรียนยังมีโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กให้นักเรียนเข้าไปดูภาพยนตร์ภาคภาษาอังกฤษด้วย เพื่อให้ฝึกทักษะ และสำเนียงไปในตัว

    อโณทัย เล่าว่า ตอนอยู่มัธยมฯต้น ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนสาธิต จุฬาลงกรณ์ เรียนดีมาตลอดได้เกรดเฉลี่ย 4 แต่ตนเองมีความต้องการที่จะเรียนหมอ ดังนั้น ผู้ปกครองจึงเสนอแนะให้มาเรียนต่อที่จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย เพราะเห็นว่า โรงเรียนนี้ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ ควบคู่กับกิจกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นที่รู้กันในวงการศึกษาว่าที่นี่เด่นในภาควิชาวิทยาศาสตร์ ,คณิตศาสตร์ และอังกฤษ ที่สำคัญยังเน้นงานวิจัยต่าง ๆ ด้วย ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานการเรียนหมอที่แน่นมาก ขณะที่โรงเรียนอื่น ๆ ในกรุงเทพฯไม่ได้ส่งเสริมเด็กในเรื่องกิจกรรมใด ๆ มากนัก

    ขณะเดียวกัน ด้านกีฬา โรงเรียนให้การสนับสนุนจนทำให้ทีมนักกีฬาของโรงเรียน สามารถคว้าชัยชนะเลิศในการแข่งขันระดับประเทศมาแล้วหลายครั้ง เช่น ฟุตบอลเยาวชน ,บาสเก็ตบอล รวมถึงขี่ม้า
  • กำลังโหลดความคิดเห็น