xs
xsm
sm
md
lg

ทิศทางเศรษฐกิจปี 48

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ปี 2548 เป็นปีที่ประเทศไทยมีแนวโน้มจะเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ทั้งน้ำมันราคาแพง อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ภาวะชะลอตัวเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก และความยืดเยื้อของความสถานการณ์ความไม่สงบ
ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

แต่ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ยังคงเติบโตน่าพอใจอีกปี แม้จะขยายตัวชะลอบ้าง แม้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกจะเริ่มอ่อนตัวตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว แต่การยกเลิกการตรึงราคาน้ำมันในประเทศ จะส่งผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ยปี 2548 ยังสูงต่อเนื่อง

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงอัตราดอกเบี้ย คาดว่า FED Funds Rate ของสหรัฐฯ สิ้นปี 2548 จะประมาณ 3.25% จาก 2% ปัจจุบัน ย่อมส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศ ปรับเพิ่มขึ้นตาม เพื่อรักษาสมดุลเศรษฐกิจ
ในและนอกประเทศ

ส่วนภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก ทั้งสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ยุโรป อาเซียน และจีน ที่มีแนวโน้มขยายตัวชะลอจากปีนี้ จะกระทบภาคส่งออกของไทยด้วย ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ทางการยังมีภาระต้องฟื้นฟูสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดนก ที่ยังมีแนวโน้มยืดเยื้อ อาจส่งผล
กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งในและนอกประเทศ

ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจที่ปรากฏหลายประการ เศรษฐกิจไทยปี 2548 ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากปีนี้ ผลจากพลังกิจกรรมเศรษฐกิจที่หนุนเนื่องกันมา โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการ ที่ยังคงดำเนินต่อไป ทั้งมาตรการต่อเนื่องจากปีก่อน และมาตรการใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายใน
ประเทศ

ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2548 จะเติบโตชะลอเล็กน้อย ที่ 5.6% จาก 6.1% ปีนี้ ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ จะมาจากการลงทุนในประเทศเป็นหลัก ทั้งการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมบริการ และสาธารณูปโภค ที่เป็นผลจากการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ และ
อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับการส่งออก

ส่วนภาครัฐ จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ เร่งกระตุ้นให้เกิดการลงทุนผ่านยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตามโครงการเร่งด่วน และระยะสั้นปีนี้ โดยการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐ จะเติบโต 14.8% และ 5% เทียบกับ 16% และ 5.2% ปีนี้ ตามลำดับ

ส่วนการบริโภคภาคเอกชน จากการปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ และอาจปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ จะยังคงสนับสนุนให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนเติบโตได้ โดยจะขยายตัวชะลอเพียงเล็กน้อย เหลือ 4.9% จาก 5.3%

เนื่องจากรับผลกระทบบ้าง จากราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มตามต้นทุนผลิต และอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ด้านการส่งออก คาดว่าจะขยายตัวชะลอเหลือ 8.5% จากที่เติบโตสูงกว่า 20% ปีนี้ เนื่องจากภาวะน้ำมันแพงกระทบต้นทุนผลิตสินค้า ขณะที่อุปสงค์ตลาดหลัก ชะลอ กอปรกับฐานตัวเลขส่งออกปีนี้ ที่อยู่ในเกณฑ์สูง

สำหรับประเด็นเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยที่ควรติดตาม ทั้งอัตราเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้น และดุลบัญชีเดินสะพัด ที่จะเกินดุลลดลง เนื่องจากขาดดุลการค้า ขณะที่รายได้ดุลบริการ โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว อาจไม่เป็นไปตามคาด

เงินเฟ้อจะขยายตัวประมาณ 3.3% สมมติฐานราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยแหล่งเบรนท์ 40-42 $/บาร์เรล จาก 2.8% ปีนี้ ตามต้นทุนผลิตที่สูงขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมัน การปรับเพิ่มเงินเดือน และค่าจ้างแรงงานอื่นๆ แต่การที่เศรษฐกิจชะลอ ขณะที่ดอกเบี้ยแนวโน้มสูงขึ้น เงินเฟ้อโดยรวมจึงเพิ่มได้จำกัด

ส่วนดุลการค้าของประเทศ ปี 2548 แนวโน้มจะขาดดุลครั้งแรกในรอบ 7 ปี ประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์ เป็นอีกประเด็นควรจับตา เพราะจะส่งผลกระทบให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลง เนื่องจากดุลบริการบริจาค โดยเฉพาะส่วนท่องเที่ยว ยังมีทิศทางไม่ชัดเจน ขึ้นกับภาวะฟื้นฟูสถานการณ์ 3 จังหวัดภาคใต้

นอกจากนี้ ภัยแล้งที่กำลังแผ่กระจายเป็นวงกว้าง คาดว่าจะยืดเยื้อถึง พ.ค. ปี 2548 เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะจะกระทบผลผลิตสินค้าเกษตร ต่อเนื่องถึงอำนาจการใช้จ่ายของประชาชน และ
การส่งออกภาคเกษตรได้

ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังเกินดุล 3.9% ต่อ GDP จาก 5.1% ปีนี้ ผนวกทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ยังแข็งแกร่ง อัตราว่างงานที่ต่ำ หนี้ต่างประเทศที่ลดต่อเนื่อง และค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจประเทศให้ยืดหยุ่น รองรับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยง ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมยังเติบโตได้ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น