xs
xsm
sm
md
lg

แนวโน้มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปี 48...เติบโตชะลอเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวดี จากที่ชะลอปีก่อนหน้า ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศสูง เนื่องจากรับปัจจัยสนับสนุนจากภาวะการลงทุนด้านก่อสร้างในประเทศ

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมก่อสร้างเผชิญปัญหาต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น โดยเฉพาะวัตถุดิบผลิตภัณฑ์เหล็ก ซึ่งทำให้ต้นทุนก่อสร้างโดยรวมสูงขึ้น ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างช่วง 10 เดือนแรก สูงขึ้นมากกว่า 10%

ต้นทุนค่าก่อสร้างที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบผู้รับเหมาก่อสร้าง และเกิดความล่าช้าโครงการก่อสร้างโดยรวม ปัจจัยลบ เช่น ความผันผวนราคาน้ำมันตลาดโลก สถานการณ์ความไม่สงบภาคใต้ การแพร่ระบาดโรคไข้หวัดนก ส่งผลกระทบความเชื่อมั่นผู้บริโภค และภาคธุรกิจ

ส่งผลการลงทุนภาคเอกชนชะลอช่วงครึ่งหลังของปี ช่วงระหว่างมกราคมถึงกันยายน ยอดขายซีเมนต์ในประเทศ 20.5 ล้านตัน ขยายตัว 13% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่การผลิตปูนซีเมนต์ 26.5 ล้านตัน ขยายตัว 8.9% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์แนวโน้มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปีนี้ และปี 2548 รวมทั้งแนวโน้มการลงทุนขยายกำลังผลิตเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมระยะข้างหน้า ดังนี้

ธุรกิจปูนซีเมนต์ปีนี้…ขยายตัวสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา
ตลาดในประเทศปีนี้ขยายตัวดี ตามความต้องการก่อสร้างในประเทศ ทั้งโครงการอสังหาริมทรัพย์ภาคเอกชน ที่ขยายตัวทุกประเภท ไม่ว่าที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม และโครงการก่อสร้างโครงสร้างสาธาณูปโภคพื้นฐานภาครัฐ เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบปีที่ผ่านมา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศปีนี้ประมาณ 27.3 ล้านตัน ขยายตัว 12.7% เทียบกับ 24.2 ล้านตันปี 2546 ดีขึ้นจากปีก่อนหน้า ที่ยายตัวเพียง 5%

ราคาปูนซีเมนต์ช่วง 10 เดือนแรกลดลงเฉลี่ย 2.8% คาดเป็นผลจากต้นทุนผลิตต่อหน่วยต่ำลง ตามระดับใช้กำลังผลิตที่สูงขึ้น ราคาขายปลีกปูนซีเมนต์ผสมในท้องตลาด ณ กันยายน ถุงละ 116.64 บาท ลดลง 2.8% เทียบกับถุงละ 120 บาท ช่วงเดือนเดียวกันปีก่อน

แม้ราคาปูนซีเมนต์โดยพื้นฐานจะต่ำกว่าปีที่ผ่านมา แต่บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นปูนซีเมนต์ชนิดพรีเมียม มีคุณบัติพิเศษ และคุณภาพงานดีกว่ารุ่นพื้นฐาน กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เป็นงานก่อสร้างที่ต้องการความละเอียด และสวยงาม ของเนื้องาน ทำให้ตั้งราคาขายได้สูงขึ้น ยังวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับงานเฉพาะด้าน เจาะกลุ่มเป้าหมายลูกค้าเฉพาะกลุ่ม

ตลาดต่างประเทศ ปัจจุบัน ตลาดในประเทศฟื้นต่อเนื่อง ทำให้ผู้ผลิตปรับลดการให้น้ำหนักตลาดต่างประเทศ สัดส่วนตลาดส่งออกปัจจุบันประมาณ 30% ด้านปริมาณ เทียบช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ เคยมีสัดส่วนสูงเกือบ 50%

หลังช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ความต้องการในประเทศลดลง ผู้ผลิตหันหาตลาดส่งออกต่างประเทศเพิ่มขึ้น ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ไทยส่งออกปูนซีเมนต์ 9.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.4% มูลค่าส่งออก 244 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.8%

การส่งออกปูนซีเมนต์กลับมาขยายตัวเป็นบวก เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากตลาดใหม่ คือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เข้ามาปริมาณสูง ขณะที่ตลาดประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) และเอเชียใต้ (บังคลาเทศ) ยังขยายตัวในเกณฑ์ดี

แต่การส่งออกสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกปูนซีเมนต์สำคัญอันดับ 1 ของไทย ลดต่อเนื่อง เนื่องจากปูนซีเมนต์เป็นสินค้าน้ำหนักมาก ค่าขนส่งสูง ทำให้ผลตอบแทนตลาดส่งออกต่ำ โดยเฉพาะประเทศที่ใช้ระยะทางไกลมาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดปีนี้ ไทยจะส่งออกปูนซีเมนต์ประมาณ 12.4 ล้านตัน ขยายตัวประมาณ 2% เทียบปี 2546 ที่ส่งออก 12.2 ล้านตัน

แรงผลักดันอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวสูง คาดว่าจะทำให้การผลิตปูนซีเมนต์ปีนี้ ทั้งสิ้นประมาณ 35.6 ล้านตัน ขยายตัว 9.4% เทียบกับ 32.5 ล้านตันปี 2546 ปูนเม็ด คาดจะผลิต 31 ล้านตัน ลดลง 10% จากปี 2546

อัตราใช้กำลังผลิตซีเมนต์ปีนี้ คาดว่าจะประมาณ 63.3% ดีขึ้นจาก 57.6% ปี 2546 อัตราใช้กำลังผลิตที่ยังคงเพียงพอจะรองรับอุปสงค์ระยะใกล้นี้ ทำให้ยังไม่มีบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ลงทุนขยายเพิ่มกำลังผลิต

แต่มีบริษัทในธุรกิจก่อสร้างรายใหญ่ ลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างของบริษัทเอง ซึ่งบริษัทคาดว่า จะเริ่มเดินเครื่องผลิตได้ภายในปี 2548 กำลังการผลิตประมาณ 800,000 ตัน ซึ่งถือว่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับอุปสงค์โดยรวม ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 3 ล้านตันต่อปี

แนวโน้มปี 2548 : เติบโตต่อเนื่องแม้ชะลอเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า
แนวโน้มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปี 2548 คาดว่าจะยังขยายตัวดี แม้จะชะลอจากปีนี้ สาเหตุสำคัญ เนื่องจากการชะลอการลงทุนภาคเอกชน ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย ที่คาดว่าอาจชะลอ

เป็นผลจากปัจจัยลบกำลังซื้อ ผู้บริโภคอาจต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ท่ามกลางแรงกดดันราคาน้ำมัน และอัตราเงินเฟ้อ ที่แนวโน้มสูงขึ้น ยังมีปัจจัยอัตราดอกเบี้ย อยู่ในช่วงขาขึ้น รวมทั้งการที่สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม คาดว่าภาวะก่อสร้างด้านพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม น่าจะยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ตามความต้องการลงทุนภาคธุรกิจ และการลงทุนจากต่างประเทศ

ส่วนการลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะยังคงเป็นแรงผลักดันสำคัญต่อเนื่องจากนี้ไป จากการที่รัฐบาลมีแผนลงทุนโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่ระยะ 10 ปี มูลค่ารวมเกือบ 2 ล้านล้านบาท ปี 2548 คาดว่าการลงทุนก่อสร้างภาครัฐ น่าจะมูลค่าสูงกว่า 300,000 ล้านบาท ขยายตัวในสูงกว่าปีนี้เล็กน้อย

พิจารณาปริมาณงานภาคก่อสร้าง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การลงทุนก่อสร้างในประเทศปี 2548 จะมูลค่าประมาณ 680,000 ล้านบาท คิดอัตราเติบโต ณ ราคาปีฐาน จะขยายตัวประมาณ 10% เทียบปี 2547 ที่คาดว่าจะมีมูลค่า 590,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราขยายตัว ณ ราคาปีฐาน 11%

จะส่งผลให้ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้าง ยังเติบโตในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตาม การเติบโตด้านการลงทุนปี 2548 แรงผลักดันสำคัญ จากโครงการก่อสร้างสาธารณะเพิ่มขึ้น การวิเคราะห์โครงสร้างปัจจัยผลิตโครงการก่อสร้างประเภทต่างๆ

โครงการก่อสร้างสาธารณะ สัดส่วนใช้ซีเมนต์โครงสร้างปัจจัยผลิตน้อยกว่าโครงการที่อยู่อาศัย และพาณิชยกรรม โครงการก่อสร้างสาธารณะ สัดส่วนใช้ปูนซีเมนต์ประมาณ 5% ของมูลค่าการลงทุนของโครงการ

ขณะที่โครงการเอกชน ใช้ปูนซีเมนต์ประมาณ 8-9% ของมูลค่าโครงการ ผลทวีคูณ (Multiplier effect) จากการเติบโตการลงทุนภาคก่อสร้างต่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ จึงน่าจะต่ำลงเล็กน้อย ตามการชะลอโครงการลงทุนภาคเอกชน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศปี 2548 จะประมาณ 30 ล้านตัน ขยายตัวประมาณ 9.9% ซึ่งเติบโตค่อนข้างดี แม้จะชะลอเทียบกับปีนี้ อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ยังต่ำกว่าช่วงก่อนหน้าวิกฤตเศรษฐกิจ ที่เคยสูง 37 ล้านตันปี 2539

การส่งออกปูนซีเมนต์ปี 2548 คาดว่าผู้ผลิตจะยังคงลดสัดส่วนส่งออก เนื่องจากการเติบโตสูงของตลาดในประเทศ การส่งออกคงจะเน้นตลาดประเทศเพื่อนบ้านแถบอินโดจีนเป็นหลัก ซึ่งภาระต้นทุนค่าขนส่งไม่สูงเกินไป

โดยรวม การผลิตปูนซีเมนต์ปี 2548 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นที่ปีประมาณ 38.3 ล้านตัน ขยายตัวประมาณ 8% เป็นผลจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศ คาดว่าอัตราใช้กำลังผลิตปูนซีเมนต์ปี 2548 จะเพิ่มเป็น 68% จากประมาณ 63% ปีนี้

ขณะที่อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ กำลังผลิตเต็มที่ประมาณ 54 ล้านตัน ซึ่งถ้าการผลิตปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นประมาณ 2.5-3 ล้านตันต่อปี กว่าที่ระดับผลิตจะสูงขึ้นถึงระดับกำลังผลิตเต็มที่น่าจะเป็นประมาณปี 2553

อาจยังต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี กว่าที่จะเริ่มเห็นการลงทุนขยายกำลังผลิตเพิ่มของบริษัทปูนซีเมนต์ในประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าประมาณปี 2550 อัตราใช้กำลังผลิตปูนซีเมนต์น่าจะสูงเกิน 75%

ภาวะและแนวโน้มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (หน่วย : พันตัน)

เครื่องชี้ภาวะอุตสาหกรรมปี 253925462547e2548e
การผลิต
ปูนซีเมนต์38,74932,53035,60038,300
(2.7)(9.4)(7.6)
อัตราการใช้กำลังผลิต (%)78.757.663.367.8
การตลาด
ยอดขายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ37,08224,22727,30030,000
(5.2)(12.7)(9.9)

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงพาณิชย์
e = คาดการณ์โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ตัวเลขในวงเล็บแสดงอัตราเปลี่ยนแปลง (%) เทียบกับปีก่อนหน้า

สรุปและข้อคิดเห็น
ปีนี้ ตลาดปูนซีเมนต์ในประเทศขยายตัวดี ตามความต้องการก่อสร้าง ทั้งโครงการภาคเอกชนและรัฐ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ายอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศปีนี้ จะประมาณ 27.3 ล้านตัน ขยายตัว 12.7% เทียบกับ 24.2 ล้านตันปี 2546

แรงผลักดันจากอุปสงค์ในประเทศขยายตัวสูง คาดว่าจะทำให้การผลิตปูนซีเมนต์ปีนี้ ทั้งสิ้นประมาณ 35.6 ล้านตัน คิดเป็นอัตราขยายตัว 9.4% เทียบกับ 32.5 ล้านตันปี 2546 อัตราใช้กำลังผลิตอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปีนี้ คาดว่าจะประมาณ 63.3% ดีขึ้นจาก 57.6% ปี 2546

แนวโน้มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปี 2548 คาดว่าจะยังขยายตัวดี แม้จะชะลอจากปีนี้ ได้รับประโยชน์จากกิจกรรมการลงทุนของประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การลงทุนก่อสร้างในประเทศปี 2548 จะมูลค่าประมาณ 680,000 ล้านบาท

คิดเป็นอัตราเติบโต ณ ราคาปีฐาน ประมาณ 10% เทียบกับปีนี้ ชะลอเล็กน้อยเทียบคาดการณ์เติบโตปีนี้ ที่ 11% จะส่งผลความต้องการใช้วัสดุก่อสร้าง ยังเติบโตในเกณฑ์ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศปี 2548 จะประมาณ 30 ล้านตัน ขยายตัวประมาณ 9.9% เป็นการเติบโตค่อนข้างดี แม้จะชะลอจากปีนี้ อย่างไรก็ตาม ยังต่ำกว่าช่วงก่อนหน้าวิกฤตเศรษฐกิจ ที่เคยสูง 37 ล้านตันปี 2539

การผลิตปูนซีเมนต์ปี 2548 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 38.3 ล้านตัน ขยายตัวประมาณ 8% เป็นผลจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศ ขณะที่การส่งออก น่าจะลดลง คาดว่าอัตราใช้กำลังผลิตปูนซีเมนต์จะเพิ่มเป็น 68% ปี 2548

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์กำลังผลิตเต็มที่ประมาณ 54 ล้านตัน ถ้าผลิตปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นประมาณ 2.5-3 ล้านตันต่อปี อาจยังต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 ปี กว่าที่อุตสาหกรรมจะจำเป็นต้องลงทุนขยายกำลังผลิตเพิ่ม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าประมาณปี 2550 อัตราใช้กำลังผลิตปูนซีเมนต์น่าจะสูงเกิน 75%

แม้ปี 2548 จะยังคงมีปัจจัยบวกที่จะสนับสนุนธุรกิจขยายตัวดีต่อเนื่อง แต่โครงการก่อสร้างภาครัฐ ที่คาดว่าจะมีปริมาณงานเพิ่มขึ้น ถ้าบางช่วง ที่ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างประเภทใดประเภทหนึ่งเพิ่มขึ้นเร็วกว่าความสามารถปรับเพิ่มกำลังผลิตอุปทาน อาจส่งผลอุปทานเพิ่มตามไม่ทัน และเกิดภาวะราคาสูงขึ้นได้

สำหรับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ แม้กำลังผลิตปูนซีเมนต์ทั้งหมด จะประมาณ 54 ล้านตัน แต่การปรับเครื่องจักรให้เพิ่มกำลังผลิตปริมาณมากๆ อาจต้องอาศัยเวลาระยะหนึ่ง นอกจากนี้ ข้อจำกัดด้านอุปทาน อาจส่งผลให้โครงการก่อสร้างล่าช้า ทำให้การเติบโตอาจไม่เป็นไปตามคาด

ปัจจัยราคาน้ำมัน เนื่องจากปูนซีเมนต์ เป็นอุตสาหกรรมหนึ่ง ที่มีต้นทุนน้ำมันคิดเป็นสัดส่วนสูงกว่าอุตสาหกรรมเฉลี่ย ดังนั้น ถ้าราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นปี 2548 อาจมีผลต่อต้นทุนค่าขนส่งปูนซีเมนต์บ้าง

พิจารณาโครงสร้างปัจจัยผลิตอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์น้ำมันคิดเป็นประมาณ 12% ของปัจจัยผลิตขั้นกลางทั้งหมด ในการผลิตปูนซีเมนต์ ถ้ารวมต้นทุนพลังงานทั้งหมด เช่น ผลิตภัณฑ์น้ำมัน การใช้ไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ จะมีสัดส่วนประมาณ 35% ของปัจจัยผลิตขั้นกลางทั้งหมด คิดเป็น 16% ของมูลค่าผลผลิตโดยรวมในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

ทิศทางราคาน้ำมันปี 2548 จึงเป็นตัวแปรหนึ่ง ที่อาจมีผลกระทบต้นทุนพลังงานในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ อาจส่งผลต่อระดับราคาปูนซีเมนต์ รวมทั้งอัตรากำไรธุรกิจปูนซีเมนต์ปีข้างหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น