xs
xsm
sm
md
lg

ทิศทางปิโตรเคมีปีไก่: สดใส…ต่อเนื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็น 1 ในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเป็นรากฐานอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ มากมาย เช่น อุตสาหกรรมพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ทอผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ส่วนประกอบรถยนต์ เครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์ก่อสร้าง ปุ๋ยเพื่อการเกษตร เป็นต้น

ปีนี้ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ก่อให้เกิดรายได้ 315,000 ล้านบาท หรือ 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติภายในประเทศ

ขณะนี้ เป็นช่วงวัฏจักรขาขึ้นราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี จึงส่งผลอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยโดยรวม อัตราเติบโตของกำไรดีมากปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า อุตสาหกรรมปิโตรเคมี จะมีแนวโน้มสดใสต่อเนื่องสู่ปี 2548-2549 ซึ่งเป็นปีที่ราคาปิโตรเคมีไต่สู่จุดสุดยอดของวัฏจักร

ขณะที่อุปทานขยายตัวจำกัด กอปรกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวอยู่ในระดับสูง เป็นแรงหนุนที่ดีต่อราคาปิโตรเคมี อีกทั้งหลายบริษัทปิโตรเคมีของไทย ก็มีภาระดอกเบี้ยจ่ายลดลงมาก หลังจากปรับโครงสร้างหนี้และการเงิน ช่วงปีก่อนๆ

สายอะโรเมติกส์: อุปทานตึงตัว…ขาขึ้นยังอยู่อีกหลายปี
แรงจูงใจวัฏจักรขาขึ้นของราคา ซึ่งคาดว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลาสติกโลกจะมีรายได้เฉลี่ยก่อนหักภาษีและดอกเบี้ยที่ 130 ดอลลาร์ต่อตัน จึงเป็นโอกาสให้ผู้ผลิตหลายราย ทั้งในและต่างประเทศ ลงทุนโครงการเพิ่มการผลิตปิโตรเคมีขั้นต้น และขั้นปลายใหม่ๆหลายแห่ง

เพื่อให้ทันรับผลกำไรช่วงขาขึ้น โดยเฉพาะสายอะโรเมติกส์ ซึ่งใช้น้ำมันดิบ หรือคอนเดนเสทเป็นวัตถุดิบผลิต ที่ราคาน่าจะสูงไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา เกิดภาวะขาดแคลนผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ในเอเชีย โดยเฉพาะจากจีน

ขณะที่ราคาก็ปรับขึ้นทิศทางเดียวกับราคาน้ำมัน ตุลาคม ราคาผลิตภัณฑ์หลักอะโรเมติกส์ คือ เบนซีน และพาราไซลีน สูงขึ้นที่ 890 ดอลลาร์ต่อตัน และ 1,183 ดอลลาร์ต่อตัน ตามลำดับ จาก 800 ดอลลาร์ และ 750 ดอลลาร์ตามลำดับ ไตรมาส 2

แนวโน้มปี 2548-2551 ภาวะตลาดผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ในเอเชีย คาดว่ายังคงขาดแคลน ปี 2551 จะขาดแคลนพาราไซลีนประมาณ 2 ล้านตัน เนื่องจากโรงงาน NPC 4 ในอิหร่าน ขนาดกำลังผลิต 750,000 ตันต่อปี ซึ่งมีแผนจะเริ่มผลิตปี 2549 คาดว่าจะดำเนินการช้ากว่ากำหนด จากการก่อสร้างล่าช้า

ขณะที่โรงงาน Xianglu PC ในจีน กำลังผลิต 800,000 ตันต่อปี ที่มีแผนเริ่มดำเนินการปี 2550 ต้องหยุดชะงักโครงการ เนื่องจากปัญขาดแคลนวัตถุดิบ ทำให้การใช้กำลังผลิตของโรงงานอะโรเมติกส์ในภูมิภาค ยังมีแนวโน้มจะสูงต่อเนื่องจนถึงปี 2551

ขณะที่ตลาดอะโรเมติกส์ในประเทศปี 2548-2549 คาดว่าจะขาดแคลนพาราไซลีนปีละ 4 แสนตัน เนื่องจากมีโครงการผลิต PTA ที่ต้องการใช้พาราไซลีนเป็นวัตถุดิบในการผลิตเกิดขึ้น อุปทานที่ตึงตัวดังกล่าว จะส่งผลให้วัฏจักรขาขึ้น ระยะเวลายาวนานออกไปอีกประมาณ 3 ปีข้างหน้า

สายโอเลฟินส์: ราคาผลิตภัณฑ์พุ่ง…อนาคตสดใส
สายโอเลฟินส์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบผลิต คาดว่าจะขยายตัวกำไรสูงสุดปี 2548-2549 เช่นกัน จากปัจจัยราคาผลิตภัณฑ์หลัก คือ เอทิลีน และโพรพิลีน ที่สูงขึ้นตามแนวโน้มวัฏจักรขาขึ้น

ยังรับแรงหนุนจากราคาน้ำมันสูงขึ้น กอปรกับความต้องการเพิ่มขึ้นในเอเชีย โดยเฉพาะจากจีน ความต้องการผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ขยายตัวมากกว่าอุปทาน สถาบัน Chemical Market Associates. Inc (CMAI) คาดว่าปัจจัยดังกล่าว จะส่งผลเกิดอุปสงค์ส่วนเกิน เอทีลีนและโพรพิลีน เหลือประมาณ 800,000 ตัน และ 230,000 ตัน ภายในปี 2550

ส่งผลราคาเอทิลีนและโพรพิลีน สูงขึ้นตาม ปีนี้ ราคาเฉลี่ยเอทิลีนปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ 800 ดอลลาร์ต่อตัน เพิ่มขึ้น 29% จากปี 2546 โพรพิลีน 710 ดอลลาร์ต่อตัน เพิ่มขึ้น 24% จากปี 2546 จะไต่ขึ้นสู่สูงสุดของวัฏจักรปี 2548-2549 แล้วจึงลดลงปี 2550 เป็นต้นไป

ความสามารถการแข่งขัน…ไทยยังได้เปรียบคู่แข่ง
อุตสาหกรรมปิโตรเคมี จะเชื่อมโยงโดยตรงกับอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขั้นกลาง และมีผลิตภัณฑ์โมโนเมอร์หลัก อาทิ โพลีเอทิลีน (PE) โพลีโพรพิลีน (PP) โพลีสไตรีน (PS) โพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) เพื่อป้อนเป็นวัตถุดิบให้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกอีกต่อ

ปี 2546 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์เหล่านี้ 1.66 ล้านตัน ขณะที่นำเข้าเพียง 422,000 ตัน ทำให้ปริมาณส่งออกสุทธิ 1.238 ล้านตัน ปริมาณนี้ ไทยส่งออกจีนถึง 46% ขณะที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดผลิตภัณฑ์โมโนเมอร์ในจีน 7%

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ จีน ซึ่งถูกเปรียบเป็น “โรงงานของโลก” ต้องการผลิตภัณฑ์โมโนเมอร์อย่างมาก ปี 2546 จีนต้องนำเข้า 54% ของโพลีเอทิลีน และ 40% ของโพลีโพรพิลีนที่บริโภคทั้งหมดของโลก คาดว่าปี 2563 ความต้องการนำเข้าโพลีเอทิลีนจะมากกว่า 10 ล้านตัน โพลีโพรพิลีนกว่า 3 ล้านตัน คาดว่าจะเพิ่มเป็น 3 เท่าของปริมาณนำเข้าปี 2546 จีนจึงเป็นตลาดนำเข้าสำคัญของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไทยอนาคต

วิเคราะห์ขีดความสามารถแข่งขัน ในการผลิตของไทย เพื่อส่งออกสู่ตลาดจีน อยู่ในเกณฑ์ที่ดี เนื่องจากไทยมีทรัพยากรก๊าซธรรมชาติที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีสามารถใช้เป็นวัตถุดิบ เพื่อผลิตเอทิลีน ได้ (Gas based ethylene production)

ขณะที่ประเทศคู่แข่งอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่มี ยกเว้นมาเลเซีย ต้องใช้แนฟทา ซึ่งเป็นโมเลกุลหนึ่งของน้ำมัน เป็นวัตถุดิบ ซึ่งราคาแพงกว่าก๊าซธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ด้านต้นทุนผลิต ไทยเป็นรองแค่มาเลเซีย เนื่องจากรัฐบาลมาเลเซียสนับสนุนด้านราคา อีกทั้งยังมีสัดส่วนใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตเอทิลีนถึง 64%

ขณะที่ไทยใช้เพียง 23% ทำให้ต้นทุนผลิตของมาเลเซียถูกกว่าไทย สำหรับสายอะโรเมติกส์ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทย แข่งขันกับชาติอื่นได้ เนื่องจากผลิตภัณฑ์จากสายนี้ ยังขาดแคลนอยู่มาก ทั้งตลาดในและต่างประเทศ อีกทั้งไทยยังมีต้นทุนผลิตต่ำ เนื่องจากใช้คอนเดนเสท หรือก๊าซธรรมชาติเหลว ที่มีอยู่ในประเทศ เป็นวัตถุดิบผลิต

4 องค์ประกอบหลัก… จุดอ่อน-จุดแข็งปิโตรเคมีไทย
องค์ประกอบสำคัญที่มีผลกระทบขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทย จำแนกได้ 4 องค์ประกอบ ดังนี้

องค์ประกอบที่ 1: ต้นทุนผลิต องค์ประกอบต้นทุนผลิอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทย จัดว่าสู้ได้กับคู่แข่งประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เนื่องจากฐานผลิตของอุตสาหกรรม ขนาดใหญ่พอที่สามารถทำให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำลงได้

โดยเฉพาะขณะนี้ ผู้ผลิตในประเทศ ให้ความสำคัญกับการรวมตัวของห่วงโซ่การผลิต (Integration of production chain) เพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันจากการผลิตในระดับที่ได้ประโยชน์จากขนาด (Economies of scale)

ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำลง ซึ่งจะเพิ่มผลประโยชน์ช่วงขาขึ้นของธุรกิจ เนื่องจากการผลิตสินค้าขั้นปลาย จะให้มูลค่าเพิ่มสูงกว่า ขณะเดียวกัน สามารถแข่งขันได้ หากธุรกิจเข้าช่วงขาลง

เห็นได้จากโครงการลงทุนใหม่ๆ อาทิ บมจ.ปิโตรเคมีแห่งชาติ ที่รวมการผลิตโพลีเอทิลีน ความหนาแน่นสูง (HDPE) กับการผลิตเอทิลีน เข้าด้วยกัน กลุ่มอินโดรามา ที่เริ่มโครงการผลิต PTA เพื่อขยายขนาดผลิต จากที่ผลิต PET อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ยาวนานแล้ว ไทยยังเป็นรองอยู่ส่วนนี้

องค์ประกอบที่ 2: โครงสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ไทยมีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานดีเทียบเท่าสิงคโปร์ และมาเลเซีย โดยมีท่าเรือน้ำลึก และระบบเครือข่ายถนน เชื่อมกับศูนย์กลางการผลิตปิโตรเคมีที่ระยอง กับกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นตลาดหลักผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี

แต่ด้านโลจิสติกส์ สิงคโปร์มีระบบจัดการดีกว่าทั้งไทยและมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม ระบบสาธารณูปโภคสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยที่ระยอง หากพัฒนาเต็มศักยภาพ จะส่งผลดีระยะยาว หากสนับสนุนการลงทุนเพิ่มเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดจากสาธารณูปโภคที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะระบบขนส่งทางถนน จะช่วยลดต้นทุนขนส่งได้มากขึ้น

องค์ประกอบที่ 3: ทรัพยากรบุคคล อุตสาหกรรมปิโตรเคมี บุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ที่ประกอบด้วยวิศวกรและแรงงานฝีมือระดับสูง โดยรวม ไทยแข่งขันกับประเทศคู่แข่งอื่นๆ ได้

อย่างไรก็ตาม บุคลากรไทยเสียเปรียบทักษะใช้ภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะหมู่ช่างเทคนิคต่างๆ ที่ต้องทำความเข้าใจระบบ และเทคโนโลยีต่างๆ นำเข้าจากต่างประเทศ และเป็นภาษาอังกฤษ

จึงจำเป็นต้องเสริมสร้างทักษะภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้น เพื่อให้เข้าใจระบบ และขั้นตอนเทคโนโลยีเหล่านี้ ซึ่งจะส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

องค์ประกอบที่ 4: กฎหมายและระเบียบต่างๆ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทย ได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากภาครัฐต่อเนื่อง เช่น การลงทุนระบบสาธารณูปโภคด้านต่างๆ สร้างแรงจูงใจ โดยให้ประโยชน์และสิทธิพิเศษการลงทุน ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น

สะท้อนให้เห็นว่า ภาครัฐเห็นความสำคัญอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่สร้างผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเป็นรากฐานอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ อีกมากมาย

สรุป
อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีทิศทางขึ้นลง พร้อมกับความต้องการและการลงทุน ขณะนี้ เป็นช่วงขาขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม จึงทำให้ผลประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีปีนี้ อยู่ในระดับดีมาก

คาดว่าผลประกอบการจะดียิ่งขึ้นปี 2548-2549 ซึ่งเป็นปีที่ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไต่สู่จุดสูงสุดของวัฏจักร อีกทั้งราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวอสูง เป็นแรงหนุนที่ดีต่อราคาปิโตรเคมี แรงจูงใจด้านราคา เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการลงทุนโครงการเพิ่มกำลังผลิตปิโตรเคมีหลายแห่ง เพื่อรับผลกำไรช่วงขาขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น