xs
xsm
sm
md
lg

ภัยแล้งปีลิงสู่ปีไก่ : ภาคเกษตรเสียหาย…10,000 ล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ปรากฏการคลื่นกระแสความร้อนเอลนิโน (El Nino) ที่จะทำให้สภาพดินฟ้าอากาศแห้งแล้งผิดปกติ เริ่มก่อตัวตั้งแต่กันยายนเป็นต้นมา ผ่านเข้าแถบเอเชีย โดยเฉพาะอินเดีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และแอฟริกา

ทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากภาวะแห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วง และฝนหมดเร็ว ภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นเร็วกว่าทุกปี เป็นตัวแปรใหม่ ส่งผลกระทบภาคเกษตร โดยเฉพาะสาขากสิกรรม

เนื่องจากคาดว่า ผลผลิตสินค้ากสิกรรมหลายประเภท จะลดลงกว่าที่คาดไว้เบื้องต้น กล่าวคือ เดิม คาดว่าผลผลิตสินค้ากสิกรรมหลายประเภท จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นผลจากราคาที่อยู่ในเกณฑ์สูง จูงใจให้ขยายการผลิต

อย่างไรก็ตาม ภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นทั้งวิกฤตและโอกาสสำหรับไทย เนื่องจากการส่งออกสินค้าเกษตรบางประเภทลดลง จากผลผลิตที่ลดลง จากความเสียหายภัยแล้ง เกษตรกรพื้นที่ประสบภัยแล้ง ต้องเสียโอกาสจะมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิต

แต่ถ้ามองอีกด้าน เป็นโอกาสของไทย ทำให้คาดได้ ว่าราคาผลผลิตการเกษตรปี 2548 จะยังคงอยู่ในเกณฑ์สูงต่อเนื่อง ทั้งความต้องการตลาดโลก ที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง ภัยแล้งที่เกิดขึ้นนี้ จะเป็นปัจจัยกระตุ้นประเทศผู้นำเข้าสินค้าเกษตร เริ่มสต็อกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันภาวะขาดแคลนสินค้าเกษตร ที่อาจเกิดขช่วงกลางปี 2548 กรณีความแห้งแล้งเกิดขึ้นยาวนานถึงช่วงกลางปี 2548

รายงานเบื้องต้น กรมส่งเสริมการเกษตร ข้อมูล ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม–31 ตุลาคม พื้นที่เกษตรประสบภัยแล้งทั้งสิ้น 13.991 ล้านไร่ คาดพื้นที่เกษตรจะเสียหาย 8.921 ล้านไร่ แยกเป็น นาข้าว 7.556 ล้านไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 948,475 ไร่ อ้อยโรงงาน 234,582 ไร่ และมันสำปะหลัง 182,214 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 32 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 7 จังหวัด ตะวันออกเฉียงเหนือ 15 จังหวัด ภาคกลาง 10 จังหวัด

พื้นที่ประสบภัยแล้งส่วนใหญ่ อยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชี ได้แก่ เลย ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ และนครราชสีมา จังหวัดที่เสียหายรุนแรงจากภัยแล้ง คือนครราชสีมา คาดว่าพื้นที่เกษตรเสียหายถึง 1.6 ล้านไร่

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรประเมินมูลค่าความเสียหายผลผลิตสินค้าเกษตร ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งครั้งนี้ ประมาณ 9,777 ล้านบาท เป็นความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดกับผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ ดังนี้

-ข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2547/48 ประเมินผลผลิตข้าวนาปีที่เสียหายประมาณ 1.23 ล้านตันข้าวเปลือก มูลค่าความเสียหาย 7,651 ล้านบาท คาดว่าจะมีผลผลิตคงเหลือ 19.73 ล้านตันข้าวเปลือก

ปีนี้ การที่เกิดปัญหาภัยแล้งเร็วและรุนแรงกว่าปกติ ทำให้เกิดความเสียหายกับผลผลิตข้าวนาปีอย่างมาก เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปีประมาณ 70% จะเก็บเกี่ยวช่วงพฤศจิกายน-ธันวาคม

ถ้าภาวะแห้งแล้งยังคงอยู่ถึงช่วงกลางปี 2548 จะส่งผลให้รัฐบาลเข้มงวดปลูกข้าวนาปรัง ดังนั้น โอกาสที่เกษตรกรที่นาข้าวได้รับความเสียหายช่วงนี้ จะขยับไปปลูกข้าวทดแทนช่วงข้าวนาปรัง โอกาสน้อยกว่าทุกปีที่ผ่าน นอกจากเกษตรกรที่อยู่เขตชลประทาน และเกษตรกรที่มีบ่อน้ำสำรอง

-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประเมินผลผลิตเสียหาย 279,795 ตัน มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ 1,217 ล้านบาท คาดว่าจะมีผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 1 (ข้าวโพดฤดูฝน) คงเหลือ 4.18 ล้านตัน

ขณะนี้ เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตไกือบหมดแล้ว ช่วงระยะเก็บเกี่ยวข้าวโพด เริ่มตั้งแต่กันยายน คาดคงเหลือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 1 ที่จะเก็บเกี่ยวช่วงพฤศจิกายนประมาณ 933,462 ตัน หรือ 21.8%

ความเสียหายที่เกิดขึ้น จะมีส่วนกระตุ้นราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในตลาดกระเตื้อง เนื่องจากคาดการณ์เบื้องต้น ว่าปริมาณการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีนี้ จะมากเกินความต้องการ เป็นผลจากราคาที่อยู่ในเกณฑ์สูงปีที่ผ่านมา

-อ้อยโรงงาน คาดผลผลิตเสียหาย 1.02 ล้านตัน มูลค่าความเสียหาย 632 ล้านบาท ผลผลิตคงเหลือที่คาดว่าจะเข้าโรงงาน 60.87 ล้านตัน การประเมินความเสียหายของอ้อยโรงงาน ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ

เนื่องจากโรงงานผลิตน้ำตาล เริ่มเปิดหีบปลายพฤศจิกายน ช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยเกือบ 80% ของผลผลิตอ้อยทั้งหมด จะอยู่ช่วงไตรมาสแรก ถ้าแห้งแล้งยังคงดำเนินต่อถึงช่วงกลางปี 2548 คาดอ้อยโรงงานจะได้รับความเสียหายมากกว่าที่คาดไว้

-มันสำปะหลัง ประมาณการผลผลิตจะเสียหาย 266,274 ตัน มูลค่าความเสียหาย 277 ล้านบาท ยังคงมีผลผลิตเหลือออกสู่ตลาด 21.93 ล้านตัน ผลผลิตทยอยเก็บเกี่ยวตั้งแต่ตุลาคม แต่ช่วงที่ผลผลิต 70% ของผลผลิตทั้งหมด ออกสู่ตลาด ธันวาคมถึงมีนาคมปีถัดไป

ประเด็นควรติดตามต่อไป คือ
1. ถ้าภัยแล้งที่เกิดขึ้นยาวนานถึงกลางปี 2548 คาดจะส่งผลกระทบภาคการเกษตรอย่างมาก ปัจจุบัน ยังไม่อาจคาดการณ์ความรุนแรงของปัญหา แต่น่าจะเตรียมการรับมือปัญหาดังกล่าวตั้งแต่ต้นๆ

ซึ่งจะทำให้แก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที กรณีเกิดปัญหาซ้ำรอยปี 2542 เป็นปีที่เกิดความแห้งแล้งรุนแรง ปัญหาควรระวัง คือ ปัญหาสงครามแย่งน้ำ และวิกฤตน้ำดื่มน้ำใช้ เป็นผลจากการที่เกษตรกรเสี่ยงขยายพื้นที่ทำนาปรัง โดยไม่สนใจว่าจะเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ

ปัญหาขาดแคลนน้ำ นอกจากจะส่งผลกระทบภาคเกษตรกรรม ปี 2542 ยังส่งผลกระทบอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ คืออุตสาหกรรมน้ำดื่มบรรจุขวด เนื่องจากแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิต น้อยลง

อุตสาหกรรมต้องพึงระวัง คืออุตสาหกรรมการเกษตร ที่อาจมีปัญหาวัตถุดิบไม่พอจะป้อนโรงงาน โดยเฉพาะโรงงานผลิตภัณฑ์จากผลไม้ กรณีเกิดปัญหาฝนทิ้งช่วง และภัยแล้งรุนแรง อาจกระทบพื้นที่ปลูกไม้ผลได้

ปัญหาภาวะน้ำเค็มหนุนสูง เป็นอีกปัญหาต้องเร่งเตรียมมาตรการรับมือ เนื่องจากน้ำจากเขื่อนที่ส่งมา เพื่อผลักดันน้ำเค็ม มีน้อย ทำให้น้ำเค็มเข้าพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้ผลผลิตการเกษตรได้รับความเสียหาย

ความเค็มที่ไม่กระทบผลผลิตพืชผัก ไม่เกิน 1 กรัมต่อลิตร ไม้ยืนต้น ไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร จังหวัดติดชายฝั่งทะเล รับผลกระทบน้ำทะเลหนุนสูงเช่นกัน โดยเฉพาะสมุทรสงคราม ผลผลิตการเกษตรที่คาดว่าจะกระทบ คือ ข้าว สวนผลไม้ เช่น ส้ม ลิ้นจี่ เป็นต้น และบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ยังส่งผลถึงน้ำดิบใช้ผลิตน้ำประปา ความเค็มมาตรฐานเพื่อผลิตน้ำประปา ต้องไม่เกิน 0.25 กรัมต่อลิตร

นอกจากปัญหาขาดแคลนน้ำ ยังมีอีกหลายปัญหา ที่เป็นผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง คือ ปัญหาไฟป่า ซึ่งมักเกิดช่วงแล้ง ปัญหาแรงงานอพยพกลับเข้าเมือง ภัยแล้งส่งผลกระทบแรงงานต้องกลับเข้ามาทำงานในตัวเมือง หรือเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ

ปัญหาโรคมากับภัยแล้ง ซึ่งเป็นปัญหาไม่ควรมองข้าม เรื่องผลกระทบจากภัยแล้ง คือโรคต่างๆ ที่อาจเกิดจากภัยแล้ง กระทรวงสาธารณสุข ควรเร่งเผยแพร่ข้อมูลโรคระบาดจากภัยแล้ง เช่น โรคไทฟอยด์ อหิวาตกโรค เป็นต้น

รวมทั้งป้องกัน เพื่อให้ประชาชนเตรียมป้องกัน และดูแลสุขภาพ นอกจากโรคระบาดจากภัยแล้ง โรคที่ควรระวัง ที่มีความเสี่ยงจะเกิดช่วงฤดูแล้งปีนี้ คือโรคนิ่ว เนื่องจากน้ำประปาที่นำมาจากน้ำบ่อบาดาล ที่ไม่สะอาดพอ

2. ติดตามผลกระทบภัยแล้งต่อผลผลิตเกษตรกรรม ทั้งประเทศคู่ค้าและคู่แข่งของไทย แม้ภัยแล้งที่เกิดขึ้น จะสร้างความเสียหายให้ผลผลิตการเกษตรของไทย แต่ขณะเดียวกัน ภัยแล้งก็สร้างความเสียหายให้ประเทศคู่แข่งสินค้าเกษตรของไทยด้วย

คาดว่าประเทศที่จะได้รับผลกระทบครั้งนี้ ที่น่าติดตาม คือ อินเดีย และอินโดนีเซีย รวมทั้งความเสียหายจากภาวะแห้งแล้งประเทศต่างๆ แถบแอฟริกา ซึ่งน่าจะส่งผลให้การแข่งขันส่งออกสินค้าเกษตรตลาดโลก ลดความรุนแรง เนื่องจากประเทศเหล่านี้ ต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น

นอกจากติดตามแก้ไขปัญหาระยะสั้น ที่เน้นภาคเกษตรกรรมให้มีน้ำเพียงพอ เพื่อบรรเทาความเสียหาย รัฐบาลยังกำหนดแนวนโยบายแก้ปัญหาระยะยาวอีกด้วย เนื่องจากประเทศไทย มีปัญหาจัดการทรัพยากรน้ำ

ทำให้เกิดปัญหา ทั้งภาวะขาดแคลนน้ำช่วงฤดูแล้ง และน้ำท่วมช่วงฤดูฝน กรอบนโยบายแก้ปัญหาของรัฐบาล คือแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ ทั้งระบบ ทั่วประเทศ รัฐบาลตั้งเป้าหมาย 5 ปี (2547-2551) เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภค

รวมถึงการเกษตร ทั้งในและนอกเขตชลประทาน ตลอดจนการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ให้เสร็จเรียบร้อย โดยส่วนที่จัดสรรน้ำเขตชลประทานไปแล้ว 22 ล้านไร่ จะจัดสรรเพิ่มอีก 11 ล้านไร่ พื้นที่เศรษฐกิจพอเพียงอีก 25 ล้านไร่

ที่เหลืออีก 73 ล้านไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน จะขุดสระเก็บน้ำ หรือบ่อบาดาลหมู่บ้าน ทุกหมู่บ้าน กว่า 25,000 แห่ง

ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ทำให้แผนระยะยาวแก้ปัญหาภัยแล้ง ได้รับการหยิบยกเป็นประเด็นปัญหาเร่งด่วน คือโครงการชลประทานระบบท่อ ปัจจุบัน รัฐบาลกำลังจัดทำแผนวางระบบน้ำทั่วประเทศ โดยจะสำรวจออกแบบก่อสร้างพื้นที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และพร้อม นำร่องก่อน คาดจะเป็นเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ หรืออาจแยกตามภูมิภาค หรือจังหวัดละแห่งก่อน เพื่อให้เครือข่ายสมบูรณ์

รูปแบบดำเนินการโครงการชลประทานระบบท่อ รัฐบาลจะก่อสร้างระบบ และท่อส่งให้ ส่วนการบริหารจัดการซ่อมบำรุง ต้องเป็นหน้าที่กลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ที่ต้องจัดประชุมคัดเลือกตัวแทนเป็นกรรมการรับผิดชอบ ต้องตั้งกองทุนบริหารจัดการกันเอง

อาจใช้วิธีติดมิเตอร์ควบคุม และวัดปริมาณใช้ เพื่อให้ชาวบ้านมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ และช่วยกันดูแลรักษา โดยจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านปรับโครงสร้างผลิต หน่วยงานส่งเสริมวิชาการเทคโนโลยี ช่วยดูแลพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร ยังมีโครงการขุดบ่อให้เกษตรกร เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้ง

กรอบนโยบายวางแผนแก้ไขปัญหาระยะยาวนี้ เป็นแนวทางที่ดี การเกิดภาวะแห้งแล้งผิดปกติครั้งนี้ เป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะกระตุ้นรัฐบาลเร่งวางแนวทางดำเนินการชัดเจน และเริ่มร่างแผนปฏิบัติการ เพื่อจะบรรลุผลนโยบายตามที่วางไว้

เมื่อวางแนวทางจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีระบบ จะแก้ปัญหาได้ ไม่เฉพาะปัญหาน้ำเพื่อการเกษตร แต่ยังแก้ปัญหาน้ำเพื่อการบริโภคของคนในเมือง และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม ได้อีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น