xs
xsm
sm
md
lg

สินเชื่อเช่าซื้อ / ลิสซิ่ง: แนวโน้มการแข่งขันรุนแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งสามารถดำเนินธุรกิจให้เช่าซื้อ และให้เช่าแบบลิสซิ่งได้ เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายนเป็นต้นมา ความแตกต่างระหว่างสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อลิสซิ่ง

คือสินเชื่อเช่าซื้อ ลักษณะเป็นสินเชื่อให้ผู้เช่าผ่อนชำระเงินเป็นรายงวด โดยผู้เช่าจะได้รับโอนกรรมสิทธิ์จากธนาคารเมื่อครบอายุสัญญา สินค้าที่นิยมให้สินเชื่อเช่าซื้อ ได้แก่ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

ขณะที่สินเชื่อลิสซิ่ง เป็นสินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ประโยชน์จากสินค้า มากกว่าเพื่อมีกรรมสิทธิ์สินค้า ประกาศ ธปท กำหนดให้การเช่าแบบลิสซิ่ง เป็นแบบสัญญาเช่าการเงิน (Financial Lease)

ผู้เช่ามีหน้าที่ต้องบำรุงทรัพย์สินที่เช่าเอง ไม่สามารถบอกเลิกสัญญาก่อนเพียงฝ่ายเดียวได้ สัญญาเช่าอาจระบุให้มีสิทธิซื้อทรัพย์สินเมื่อสิ้นสุดสัญญาหรือไม่ก็ได้ แล้วแต่จะกำหนดในสัญญา สินค้าที่นิยมให้สินเชื่อลิสซิ่ง ได้แก่ รถยนต์ เครื่องจักร เป็นต้น

กฎหมายเฉพาะที่กำกับดูแลสินเชื่อทั้ง 2 ประเภท อยู่ในขั้นตอนพิจารณาเนื้อหา และหลักการ ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของกฎหมาย เพื่อประกาศใช้ต่อไป ซึ่งได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติธุรกิจลิสซิ่ง ภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง และร่างพระราชบัญญัติธุรกิจเช่าซื้อ ภายใต้การดูแลของกระทรวงพาณิชย์

ช่วงก่อนที่ธนาคารพาณิชย์จะได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ /ลิสซิ่งได้ สินเชื่อประเภทนี้ เติบโตต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2543 โดยมีบริษัทเงินทุน และสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non-bank) ดำเนินธุรกิจประเภทนี้

สินเชื่อเช่าซื้อของบริษัทเงินทุน เติบโตจาก 24,128 ล้านบาทปี 2543 มาที่ 138,750 ล้านบาทปี 2546 เติบโตประมาณ 60-90% ต่อปี ขณะที่ผู้ประกอบการที่เป็นสถาบันไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non-bank) มูลค่าสินเชื่อรวมในตลาดปี 2546 ประมาณ 250,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าตลาดรวมทั้งหมดถึงประมาณ 4 แสนล้านบาท ตอบรับยอดขายสินค้าที่ขยายตัว

โดยเฉพาะหมวดยานพาหนะ (รถยนต์ส่วนบุคคล รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ รถมอเตอร์ไซค์) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สัดส่วนให้สินเชื่อเช่าซื้อมากที่สุด คือตั้งแต่ปี 2542 ยานพาหนะทุกประเภท อัตราเติบโตเฉลี่ยประมาณ 30% ต่อปี

การขยายตัวสินเชื่อเช่าซื้อ /ลิสซิ่ง ช่วงที่ผ่านมา รับแรงสนับสนุนหลักจากอัตราดอกเบี้ยต่ำ การฟื้นตัวเศรษฐกิจ และการแข่งขันเสนอรายการส่งเสริมการขาย ตอบรับความต้องการซื้อสินค้าจำเป็นของผู้บริโภค

ธนาคารพาณิชย์…ผู้ประกอบการหน้าใหม่ในตลาด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเชื่อว่า หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตธนาคารพาณิชย์ดำเนินธุรกิจเช่าซื้อ /ลิสซิ่ง ได้ การแข่งขันธุรกิจนี้ จะเพิ่มขึ้น เพราะธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง คงสนใจเข้ามาในตลาด แรงจูงใจ ได้แก่ ;

ขยายโอกาสดำเนินธุรกิจเพิ่มเติมจากบริการแบบเดิมของธนาคาร เดิมธนาคารพาณิชย์
ไม่สามารถปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อลูกค้ารายย่อยได้โดยตรง เช่น ปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์ ซึ่งอดีต ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้ผู้ขายรถ ก่อนที่ผู้ขายรถปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้ารายย่อย การที่ธนาคารสามารถทำธุรกิจเช่าซื้อ /ลิสซิ่งได้ จะขยายขอบเขตบริการกว้างขวางยิ่งขึ้น

สร้างฐานลูกค้ารายย่อยเพื่อเพิ่มช่องทางสร้างรายได้อนาคต เพิ่มเติมจากสินเชื่อราย
ย่อยประเภทอื่นๆ ของธนาคาร เนื่องจากสินเชื่อเช่าซื้อ /ลิสซิ่ง เป็นสินเชื่อเพื่อการอุปโภคและบริโภคที่มีบทบาทเข้าถึงลูกค้ารายย่อยวงกว้าง จากตลาดที่มีขนาดใหญ่

เปรียบเทียบปริมาณสินเชื่อประเภทนี้ เป็นสัดส่วนปริมาณสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ คิดเป็นประมาณ 8.31% จากสินเชื่อเช่าซื้อ /ลิสซิ่ง ประมาณ 4 แสนล้านบาท และสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ 4.8 ล้านล้านบาทปี 2546

เนื่องจากสินเชื่อเช่าซื้อ /ลิสซิ่ง เป็นสินเชื่อเพื่อซื้อสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ได้แก่ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ ที่มีศักยภาพเติบโต ตราบที่ผู้บริโภคยังมีความต้องการใช้จ่าย

สำหรับธนาคาร นอกจากจะสร้างโอกาสทำธุรกิจเพิ่มเติม การเข้ามาทำธุรกิจนี้ จะส่งผลดีสร้างฐานลูกค้า เสนอบริการ และเสนอผลิตภัณฑ์หลากหลายอื่นๆ ของธนาคารอนาคต โดยเฉพาะธนาคารที่มีเป้าหมายเป็นธนาคารครบวงจร (Universal Banking)

สามารถใช้ความได้เปรียบเทคโนโลยีและเครือข่ายสาขาที่มีทั่วประเทศ และความ
ได้เปรียบต้นทุนระดมทุนต่ำกว่า แข่งขันในตลาด เครือข่ายสาขาและระบบชำระเงินของธนาคารที่มีอยู่มาก ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด เอื้อประโยชน์ให้ลูกค้ารับความสะดวกทำธุรกรรมธนาคาร

ขณะที่เป็นการกระจายต้นทุนติดตั้งสาขา เทคโนโลยี และระบบต่างๆ ของธนาคาร ให้เกิดประโยชน์เข้าถึงลูกค้ารายย่อยได้สูงสุด ธนาคารยังได้เปรียบต้นทุนระดมทุนต่ำกว่า ซึ่งมีช่องทางระดมทุนจากเงินฝาก เมื่อเทียบกับสถาบันการเงินไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ ที่ระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ ตลาดหลักทรัพย์ และกู้ยืมสถาบันการเงิน

อย่างไรก็ดี แม้จะเห็นโอกาสดำเนินธุรกิจอนาคต แต่สำหรับธนาคารพาณิชย์บางแห่ง การดำเนินธุรกิจเช่าซื้อ /ลิสซิ่ง อาจหมายถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างดำเนินงานหลายๆ อย่าง รวมทั้งความจำเป็นสร้างความชำนาญ และความคุ้นเคยดำเนินธุรกิจ เพื่อความได้เปรียบในตลาดอย่างแท้จริง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มธนาคารพาณิชย์เดิมที่ไม่ได้ยกฐานะจากบริษัทเงินทุน ตามแผนแม่บทสถาบันการเงิน อุปสรรคบางประการที่อาจมีผลต่อการดำเนินธุรกิจนี้ของธนาคารพาณิชย์ช่วงเริ่มแรก ได้แก่ การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมให้บริการของธนาคาร สร้างความรู้ความชำนาญแก่พนักงาน เข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย

สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับตัวแทนจำหน่ายสินค้า ระบบจัดการและบริหารความเสี่ยงที่สอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้ วิธีปฏิบัติทางบัญชีหลายๆ ประการ เกณฑ์แตกต่างจากผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์

ได้แก่ หยุดรับรู้รายได้เมื่อลูกหนี้ค้างชำระ 3 เดือนขึ้นไป ขณะที่ Non-bank ไม่มีเกณฑ์กำหนดเข้มงวดประเด็นดังกล่าว การดำรงเงินกองทุนตามเกณฑ์ BIS การไม่สามารถให้ผลตอบแทนพนักงานในรูปแบบค่านายหน้า (Commission) ก็อาจมีผลต่อการปล่อยสินเชื่อ และการแข่งขันในตลาดเดียวกันได้

ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง คงพิจารณาผลตอบแทนที่จะได้รับ เทียบกับการเปลี่ยนแปลง และต้นทุนที่อาจเกิดขึ้น ก่อนตัดสินใจรูปแบบดำเนินธุรกิจ โดยธนาคารพาณิชย์มีทางเลือกรูปแบบดำเนินธุรกิจเช่าซื้อ /ลิสซิ่ง ได้แก่

1. ดำเนินธุรกิจภายในธนาคาร และ 2. แยกหน่วยงานดำเนินธุรกิจออกจากธนาคาร สามารถตั้งบริษัทลูกของธนาคาร หรือซื้อกิจการที่ประกอบธุรกิจเช่าซื้อเดิม เป็นต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีข้อสังเกตการดำเนินธุรกิจทั้ง 2 กรณี ดังนี้;

กรณีดำเนินธุรกิจภายในธนาคาร กรณีแยกเป็นหน่วยงานออกจากธนาคาร
•สามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน และระบบดำเนินงานของธนาคารที่มีอยู่เดิม ขณะที่ลูกค้าสามารถใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสาขา และระบบชำระเงินของธนาคารทำธุรกรรมได้เต็มที่

•ต้นทุนระดมทุนต่ำ โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่
•ดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างพอร์ตสินเชื่อค่อยเป็นค่อยไป เริ่มต้นจากฐานลูกค้าธนาคารเดิม ก่อนจะขยายไปยังลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของตลาด

•ส่งผลดีประสานงานภายในธนาคาร เสนอผลิตภัณฑ์อื่นๆ และสินเชื่อประเภทอื่นๆ ของธนาคารแก่ลูกค้า ได้แก่ กรณีเสนอขายไขว้ (Cross Sell) เพราะการดำเนินธุรกิจภายในหน่วยงานเดียวกัน ย่อมทำให้มีความรวดเร็ว ก่อเกิดประสิทธิภาพดำเนินงาน ในสภาวะปัจจุบัน ที่ธนาคารต้องสามารถให้บริการและเสนอผลิตภัณฑ์แก่ลูกค้าครอบคลุม และรวดเร็วที่สุด

•ไม่ต้องพึ่งหน่วยงานอื่นดำเนินธุรกิจ ที่อาจส่งผลความสามารถประกอบธุรกิจส่วนหนึ่ง ขึ้นกับปัจจัยความชำนาญของพันธมิตร หรือบริษัทร่วมทุน ที่อาจเป็นตัวกำหนดการเติบโตธุรกิจนี้ของธนาคารได้ ซึ่งอาจต้องอาศัยเวลาปรับเปลี่ยนเพื่อให้การดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับทีมบริหารธนาคาร•สามารถแบ่งแยกนโยบาย และการดำเนินงานออกจากกันได้ชัดเจน ทำให้เกิดความคล่องตัวดำเนินงาน เพื่อร่นระยะเวลาสร้างความชำนาญในธุรกิจ ในอันที่จะลดผลกระทบที่อาจเกิดกับธนาคาร เรื่องการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร ระบบดำเนินงาน การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของพนักงาน ฯลฯ

•ลดขั้นตอนและลดต้นทุนดำเนินงานระยะยาว เนื่องจากเป็นการซื้อธุรกิจที่มีความพร้อม ทั้งพนักงาน วิธีดำเนินงาน ความชำนาญในธุรกิจ และฐานลูกค้า มากกว่าการเริ่มต้นดำเนินธุรกิจใหม่ ในตลาดที่แข่งขันกันรุนแรง

•ไม่มีข้อจำกัดในทางปฏิบัติ เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการอื่นที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดบางอย่าง ได้แก่ ดำรงเงินทุนตามเกณฑ์ BIS กันสำรองตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่สามารถให้ผลตอบแทนพนักงานรูปแบบค่านายหน้า (Commission) เพื่อส่งเสริมการดำเนินงาน ในภาวะที่ธุรกิจจำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจพนักงาน เพื่อไม่เสียเปรียบทางการตลาด เป็นต้น

•ไม่ต้องแข่งขันกับฝ่ายอื่นๆ ของธนาคาร เรื่องการจัดสรรงบประมาณดำเนินธุรกิจ ที่อาจไม่ได้รับความสำคัญ หากพอร์ตที่มีขนาดเล็กช่วงเริ่มแรก เมื่อเทียบกับสินเชื่อประเภทอื่นๆ ของธนาคาร ทำให้ธุรกิจอาจเติบโตไม่รวดเร็วเท่าที่ควร

ประเมินโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

เงื่อนไขต่างๆ ของรูปแบบทำธุรกิจข้างต้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เป็นไปได้สูงว่าธนาคารพาณิชย์ ไม่รวมบริษัทเงินทุน ที่ยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ และธนาคารเพื่อรายย่อย น่าจะเลือกดำเนินธุรกิจเช่าซื้อ โดยแยกบริษัทออกจากธนาคาร เพื่อประกอบธุรกิจ มากกว่าดำเนินธุรกิจภายในธนาคารเอง

จากเหตุผลความแตกต่างที่มี ระหว่างลักษณะธุรกิจเช่าซื้อ กับธุรกิจเดิมของธนาคาร ที่อาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมภายในองค์กร และความไม่ชำนาญดำเนินธุรกิจนี้ตั้งแต่แรก ในสถานการณ์แข่งขันรอบข้างค่อนข้างรุนแรง ที่มีจำนวนคู่แข่งในตลาด ที่มีอยู่มาก

สินค้าที่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่สนใจ น่าจะเป็นรถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ ในกรุงเทพเป็นหลัก ก่อนจะขยายไปต่างจังหวัด หากเห็นโอกาสธุรกิจช่วงต่อไป เนื่องจากสินค้าดังกล่าว สภาพคล่องสูง และจับกลุ่มลูกค้าที่ธนาคารดูแลความเสี่ยงได้

การแยกธุรกิจเช่าซื้อ / ลิสซิ่ง ออกจากธนาคาร แบ่งได้เป็น
1) ตั้งบริษัทใหม่ โดยนำบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญธุรกิจนี้ร่วมงาน และ

2) ซื้อกิจการธุรกิจเช่าซื้อ /ลิสซิ่ง เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลลูกค้า บุคลากร และระบบดำเนินงานทั้งหมด บางกรณี ซื้อพอร์ตลูกค้าอย่างเดียว การตัดสินใจระหว่าง 2 ทางเลือก คงจะขึ้นกับการพิจารณาของธนาคาร

ว่าการซื้อกิจการจะคุ้มค่าหรือไม่ หากเทียบราคาซื้อกิจการ ที่หากราคาแพง ก็จะจำเป็นต้องมีฐานลูกค้าจำนวนมาก ในการสร้างผลตอบแทน ที่จำเป็นในภาวะผลตอบแทน (Spread) ต่ำลง จากสงครามราคาสินเชื่อประเภทนี้

กับศักยภาพเติบโต และความสามารถแข่งขันในตลาด ระยะยาว เพราะหากคุ้มค่า ทางเลือกดังกล่าว จะสร้างความได้เปรียบ สร้างฐานลูกค้าในเวลารวดเร็ว มิเช่นนั้น ธนาคารอาจเลือกตั้งบริษัทใหม่ โดยสร้างพอร์ตค่อยเป็นค่อยไป หรือใช้ฐานลูกค้าธนาคาร เป็นจุดเริ่มต้น

วิธีหลัง มีข้อดีที่ธนาคารสามารถรับรู้ปัญหา และแก้ไขจุดอ่อนธุรกิจง่ายกว่า ทั้งหมด ขึ้นกับการพิจารณาต้นทุนที่จะเกิดขึ้น และคาดการณ์โอกาสธุรกิจธนาคารแต่ละแห่ง ประกอบกับเงื่อนไขต่างๆ ของแต่ละธนาคาร เป็นกรณีๆ

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีข้อสังเกตเพิ่มเติม ทางเลือกดำเนินธุรกิจแบบแยกหน่วยงานออกจากธนาคาร คือเป็นไปได้ออกมาตรการจากทางการ เพื่อสร้างความเท่าเทียมกัน ดำเนินธุรกิจระหว่างธนาคารพาณิชย์ และสถาบันไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank)

ที่อาจส่งผลไปยัง การตั้งเงินสำรอง ดำรงเงินกองทุนต่างๆ ส่งแบบรายงานต่างๆ ที่อยู่บนมาตรฐานเดียวกัน อาจทำให้ประโยชน์ที่พึงได้รับจากการแยกทำธุรกิจออกจากธนาคาร ไม่ต่างจากการบริหารภายในธนาคารเอง

นอกจากนี้ บริษัทที่แยกจากธนาคาร อาจต้องปรับระบบ และเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบดำเนินงานธนาคาร ตอบรับมาตรฐานบัญชีแบบรวม (Consolidated) ที่ทางการจะพิจารณาให้เป็นแบบปฏิบัติเดียวกันมากขึ้นอนาคต

ปัจจัยหลายประการ รวมทั้งนโยบาย และเงื่อนไขแต่ละธนาคารที่ต่างกัน หรือให้น้ำหนักธุรกิจนี้ไม่มากนักช่วงแรก อาจส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์บางแห่ง เลือกรูปแบบไม่แยกธุรกิจออกจากธนาคาร

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธนาคารที่มีฐานลูกค้ารายย่อยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายธุรกิจเช่าซื้อจำนวนมากอยู่แล้ว สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่ตัดสินใจให้สินเชื่อเช่าซื้อ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานในธนาคาร

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ความสำเร็จจะขึ้นกับ ระยะเวลาปรับตัวแข่งขันในตลาด สร้างเครือข่ายร้านค้า อบรม (Training) พนักงาน เพื่อสร้างความชำนาญ ทั้งการดำเนินงาน ใช้เทคโนโลยี และบริการแก่ลูกค้า ที่อาจต่างจากการดำเนินงานสินเชื่อรายย่อยเดิมของธนาคาร เพื่อแย่งลูกค้าจากผู้แข่งขันเดิมในตลาดได้ เป็นต้น

ขณะที่ธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ หรือธนาคารพาณิชย์รายย่อยที่ยกระดับจากบริษัทเงินทุน น่าจะได้เปรียบทำธุรกิจระยะแรก ในช่วงที่ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ อยู่ในช่วงปรับตัว

เนื่องจากคุ้นเคยกับตลาดมาก่อน ประกอบกับต้นทุนระดมทุนอาจต่ำลง และเจ้าตลาดเดิม อย่างสถาบันไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank) อาจมุ่งเน้นสินเชื่อเช่าซื้อต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น

เนื่องจากแรงแข่งขันปล่อยสินเชื่อในเมืองจากผู้แข่งขันมากรายขึ้น ความเสียเปรียบต้นทุนระดมทุนสูงกว่า เครือข่ายสาขาน้อยกว่าธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการส่วนใหญ่กลุ่มนี้ จะมีลูกค้ากลุ่มเป้าหมายซ้อนทับธนาคารพาณิชย์บางส่วนเท่านั้น ดังนั้น ส่วนแบ่งตลาดไม่น่าจะลดลงเด่นชัด หลังการเข้ามาของธนาคารพาณิชย์ ในธุรกิจนี้

ปัจจัยกระทบการเติบโตสินเชื่อเช่าซื้อปี 2547-2548
ขณะที่ปริมาณผู้ให้บริการในตลาดเช่าซื้อ /ลิสซิ่ง และบรรยากาศการแข่งขันในตลาด เป็นตัวกำหนดทางเลือกผู้บริโภค และผลตอบแทนที่ผู้ประกอบการแต่ละรายจะได้รับ แนวโน้มการเติบโตธุรกิจนี้อนาคต ยังคงถูกกำหนดโดยปัจจัยแวดล้อมสำคัญ ได้แก่;

แนวโน้มขยายตัวเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม สินเชื่อเช่าซื้อ /ลิสซิ่ง เป็นสินเชื่อรายย่อยที่
อิงภาวะอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ ค่อนข้างมาก พิจารณาข้อมูลในอดีต ตั้งแต่ปี 2538- 2546 ตัวเลข GDP เคลื่อนไหวทิศทางเดียวกับยอดขายรถยนต์ ที่คาดว่าจะเป็นสินค้าหลักที่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ จะสนใจให้สินเชื่ออุตสาหกรรมนี้

เช่นเดียวกับกับยอดขายรถยนต์ ก็เคลื่อนไหวแนวทางเดียวกับปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ ของบริษัท
เงินทุน) จากค่าความสัมพันธ์ Correlation 0.82 และ 0.80 ตามลำดับ ซึ่งยังคงสะท้อนมูลค่าซื้อส่วนใหญ่ ที่เป็นแบบผ่อนชำระมากกว่าซื้อเงินสด ดังนั้น แนวโน้มขยายตัวเศรษฐกิจอนาคต น่าจะยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตอุตสาหกรรมรถยนต์ และปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ / ลิสซิ่ง ปีต่อไป

ดอกเบี้ยขาขึ้น และการปรับขึ้นราคาน้ำมัน อาจส่งผลกระทบความต้องการสินเชื่อเช่าซื้อ
ลูกค้าบางส่วน การปรับขึ้นดอกเบี้ย คาดว่าจะทยอยเกิดปี 2548 จะไม่กระทบความต้องการสินเชื่อเช่าซื้อทั้งหมด

เนื่องจากการชะลอสินเชื่อบางส่วน น่าจะได้รับการชดเชย จากแรงกระตุ้นจิตวิทยา ให้คนหันซื้อรถยนต์เร็วขึ้น ก่อนช่วงที่ดอกเบี้ยจะปรับขึ้นจริง ซึ่งคาดว่าจะเกิดช่วงครึ่งหลังปี 2548 นอกจากปัจจัยปรับลดภาษีรถยนต์ ที่น่าจะชดเชยความต้องการลดลง จากกระแสปรับขึ้นดอกเบี้ยได้บางส่วน

เนื่องจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย จะค่อยเป็นค่อยไป ผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ยังคงขึ้นกับปัจจัยโครงสร้างต้นทุนผู้ประกอบการแต่ละราย และอำนาจต่อรองกับแหล่งเงินทุน ขณะที่การแข่งขันตลาดนี้รุนแรง อาจมีส่วนให้การปรับขึ้นดอกเบี้ย ที่คิดกับลูกค้า ไม่เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญช่วงสั้นๆ

อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นราคาน้ำมัน อาจมีผลต่อมูลค่าสินเชื่อชะลอ จากการที่ลูกค้าเริ่มใช้พาหนะขนาดเล็กลง เป็นต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า โดยรวม สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ยังคงเติบโต แม้อาจชะลอบ้างก็ตาม

สรุปและข้อคิดเห็น
สินเชื่อเช่าซื้อ /ลิสซิ่ง เติบโตมากช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา รับปัจจัยสนับสนุนจากดอกเบี้ยต่ำ การฟื้นตัวเศรษฐกิจ และจัดรายการส่งเสริมการขายอย่างหนักของผู้ประกอบการให้สินเชื่อ โดยบริษัทเงินทุน และสถาบันการเงินไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non-bank) มีบทบาทสำคัญในตลาด จากตัวเลขปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อทั้งระบบ ปี 2546 ที่ประมาณมากกว่า 4 แสนล้านบาท

ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศอนุญาตธนาคารพาณิชย์สามารถให้สินเชื่อเช่าซื้อ /ลิสซิ่ง เพื่อเพิ่มช่องทางดำเนินธุรกิจ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 กันยายน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง คงจะทำธุรกิจนี้

จากแรงจูงใจสามารถขยายผลิตภัณฑ์เพิ่มเติม เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้า สร้างฐานลูกค้าใหม่ เพื่อเพิ่มผลตอบแทนอนาคต ใช้ความได้เปรียบเครือข่ายสาขาและระบบชำระเงิน รวมทั้งต้นทุนระดมทุนต่ำ เพื่อแข่งขันได้ในตลาด

อย่างไรก็ดี เนื่องจากการสร้างความได้เปรียบในตลาดสินเชื่อเช่าซื้อ จำเป็นต้องอาศัยการประสานงาน และสร้างความสัมพันธ์กับตัวแทนจำหน่ายสินค้า การเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย มีทีมติดตามหนี้ยึดทรัพย์สิน เข้าถึงกับแหล่งขายทอดสินค้าในตลาด เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเชื่อว่า เป็นไปได้สูงที่ธนาคารพาณิชย์ จะเลือกทำธุรกิจ โดยแยกธุรกิจเช่าซื้อจากธนาคาร รูปแบบซื้อกิจการ หรือตั้งบริษัทใหม่ มากกว่าดำเนินธุรกิจภายในธนาคาร

สินค้าที่ธนาคารน่าจะสนใจ ได้แก่ รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ การแยกธุรกิจจะเป็นแบบใด ระหว่างการค่อยๆ สร้างพอร์ตลูกค้าเอง กับการซื้อกิจการที่มีอยู่แล้ว คงจะขึ้นกับการชั่งน้ำหนัก เพื่อพิจารณาต้นทุนที่เกิดขึ้น และศักยภาพดำเนินธุรกิจของทางเลือกดังกล่าว สร้างผลตอบแทนในอนาคตของธนาคาร เป็นสำคัญ

อย่างไรก็ดี เนื่องจากการแยกหน่วยงานออกจากธนาคาร อาจมีต้นทุนที่ได้ผลไม่คุ้มค่า กรณีพอร์ตขนาดเล็ก หรือธนาคารไม่สามารถหาพันธมิตรที่ได้เปรียบในตลาดได้ คาดว่าธนาคารที่มีฐานลูกค้ารายย่อยกลุ่มเป้าหมายสินเชื่อเช่าซื้อมากอยู่แล้ว อาจสนใจจะเลือกประกอบธุรกิจเช่าซื้อ /ลิสซิ่ง ภายในธนาคารเอง มากกว่าจะเลือกแยกธุรกิจออกต่างหาก

ขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่น เช่น ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งยกระดับจากบริษัทเงินทุน ย่อมจะได้เปรียบช่วงเริ่มแรก จากความคุ้นเคยธุรกิจมากกว่า และสถาบันไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non-bank) บางแห่ง ที่จะมุ่งเน้นสินเชื่อเช่าซื้อต่างจังหวัดมากขึ้น เป็นต้น

นอกจากภาวะการแข่งขันในตลาด ที่ดูเหมือนจะเข้มข้นมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สินเชื่อเช่าซื้อ โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ยังคงแนวโน้มเติบโตปี 2547-2548 แม้จะรับแรงกดดันจากปัจจัยปรับขึ้นดอกเบี้ย และราคาน้ำมัน

เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ยังคงขยายตัว และสินเชื่อเช่าซื้อที่ยังน่าจะได้รับแรงหนุนจากปัจจัยปรับลดภาษีรถยนต์ และแรงกระตุ้นจิตวิทยา ให้ซื้อรถเร็วขึ้น ก่อนปรับดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นจริงอนาคตอันใกล้ ซึ่งคาดว่าจะเกิดช่วงครึ่งหลังปี 2548
กำลังโหลดความคิดเห็น