xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤต "คน" เอเยนซี่ เมื่อปัญหา "สมองไหล" ร้อนแรงยิ่งกว่าเก่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายสัปดาห์ - เกิดอะไรขึ้นกับคนในวงการเอเยนซี โดยเฉพาะ "ครีเอทีฟ" อาชีพที่เคยเย้ายวนใครต่อใครยิ่งนัก วันนี้กลับเกิดสภาวะ "ขาดแคลน" เพราะคนในอยากออก แต่คนนอกไม่อยากเข้าปรากฏการณ์ "ชอปปิ้ง" มือดีด้านความคิดจึงมีให้เห็นหนาตา แถมหนักหน่วงขึ้นในช่วงเวลานี้ ที่สำคัญช่องว่างของ "คน" ระดับ middle management กับ น้องใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่วงการมีช่องว่างห่างกันมากขึ้น เมื่อ "บุคลากร" ที่ถือเป็นอาวุธสำคัญของบริษัทโฆษณาหดหาย และถูกช่วงชิงเช่นนี้ จะส่งผลอย่างไรต่อวงการ

วงการโฆษณาสมองไหลรับสมัครมืออาชีพ...ด่วน
กว่า 7 ปีที่วงการธุรกิจโฆษณาไทย เผชิญกับการขาดแคลนบุคลากรในทุกระดับ นับตั้งแต่เกิดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่เริ่มฝืดเคืองในช่วงปี 2540 ทำให้บริษัทโฆษณาหลายราย มีการลดจำนวนพนักงานลง เพื่อประคองบริษัทให้อยู่รอด แต่ทว่าหากสามารถมองเห็นอนาคตได้ การแก้ปัญหาโดยใช้นโยบายปลดพนักงานคงเป็นทางเลือกสุดท้ายที่บริษัทโฆษณาจะนำมาใช้แก้ปัญหา

เมื่อภาพรวมของเศรษฐกิจฟื้นตัวอีกครั้ง และมีปริมาณงานเข้ามาหาเอเยนซีมากขึ้น แต่บุคลากรรองรับในแต่ละเอเยนซีมีจำนวนน้อย ทำให้เกิดปัญหาการดึงตัวคนโฆษณามากขึ้น ส่วนคนโฆษณามืออาชีพเดิม ที่กลายเป็นอดีตคนโฆษณาเพราะออกไปช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ บ้างก็หวนคืนวงการ บางส่วนก็มีการถ่ายเทคนในวงการโฆษณาไปประกอบอาชีพอื่น หรือข้ามสายงานไปทำงานด้านการตลาด

นั่นอาจเป็นเพราะได้อานิสงส์จากงานโฆษณา ทำให้มีความคุ้นเคยกันดี พร้อมกับการมีประสบการณ์ในการคิดงานโฆษณาที่จะต้องตอบโจทย์ของลูกค้า เพื่อให้สามารถแข่งขันกันของสินค้า ทำให้ได้รับการยอมรับจากคนในวงการการตลาด เรียกว่ารู้ทางการทำงานกัน ทำให้คนโฆษณาเป็นที่ต้องตาต้องใจของบริษัทการตลาด

ชัยประนิน วิสุทธิผล นายกสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีบีดับบลิวเอ ประเทศไทย เคยกล่าวไว้ว่า ตำแหน่งที่ธุรกิจวงการโฆษณา ประสบปัญหาการขาดแคลน บุคลากรมากเป็นลำดับต้นๆคือ นักวางแผนกลยุทธ์ (Strategic Planner) และนักสร้างสรรค์โฆษณา (Creative)

อันที่จริงปริมาณที่เหมาะสม ทั้ง 2 ตำแหน่ง ควรมีบุคลากรมืออาชีพ รองรับในตลาดอย่างน้อยตำแหน่งละ 100 คน แต่ปัจจุบันสมาคมการโฆษณาฯ มีจำนวนสมาชิกเพียง 80 คน และมีผู้ดำเนินธุรกิจโฆษณาอย่างจริงจังราว 50 แห่ง

อีกจุดหนึ่งที่เป็นชนวนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ครั้งใหญ่ในปีนี้ และตอกย้ำกับปัญหาการขาดแคลน คนคุณภาพในวงการโฆษณา ต้องพบกับวิกฤตทางด้านบุคลากรอย่างแสนสาหัส ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากฤดูกาลโยกย้ายค่ายตามธรรมเนียมปฏิบัติของทุกปี

เห็นจะเป็นกรณี การโยกย้ายค่ายของคนโฆษณาในระดับผู้บริหาร ได้ผันตัวเองออกไปเปิดธุรกิจของตนเอง ที่เป็นบริษัทสเปเชียลลิสต์ เอเยนซี (Specialist Agency) เพราะมองเห็นแนวโน้มการเลือกใช้การสื่อสารการตลาดของลูกค้าเริ่มปรับมาใช้บริการเอเยนซีที่มีความชำนาญเฉพาะด้านแต่ละประเภท แทนการใช้บริการเอเยนซีรายเดียวครบวงจรมากขึ้น

ตัวอย่างดังกล่าว มีให้เห็นตั้งแต่ต้นปี เมื่อ ศศี วัฒนพานิช โบกมืออำลา ตำแหน่งกรรมการบริหารและผู้อำนวยการการบริหาร ลีโอ เบอร์เนทท์ฯ เพื่อออกไปเปิดบริษัท อะ ดอลฟิน โซไซตี้ จำกัด บริษัทรับปรึกษาด้านการวางแผนกลยุทธ์ตราสินค้า และการทำวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคแบบเจาะลึก (Consumer Insight) และในเวลาเดียวกัน ยังมีทีมงานฝ่ายบริหารงานลูกค้า ทีมครีเอทีฟ อาร์ตไดเรกเตอร์ ก๊อบปี้ไรเตอร์ ที่ลาออกไปอีก 7 คน

นอกจากนั้นยังมีการโยกย้ายค่ายของคนโฆษณา เพื่อเพิ่มเงินเดือน หรือเลื่อนตำแหน่ง หากเป็นครีเอทีฟฝีมือดี จะมีเหตุผลของการย้ายค่าย เพราะถูกแย่งซื้อตัวจากบริษัทโฆษณาคู่แข่ง โดยจ่ายค่าตอบแทนที่สูงกว่า หรือบางคนก็ย้ายเพราะ "มีบริษัทโฆษณาใหม่ๆเกิดขึ้น นั่นเป็นสาเหตุหนึ่ง" ที่ทำให้วงการโฆษณาขาดมืออาชีพ เพราะคนโฆษณาก็ยังคงวนเวียนอยู่ในกลุ่มเดิมๆ ส่วนการที่จะปั้นเด็กจบใหม่ นั้นยังต้องอาศัยเวลาถึงหลายปี เพื่อวัดแววปั้นจูเนียร์ขึ้นให้เป็นนักโฆษณามืออาชีพต่อไป

เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่ทุกเอเยนซีที่ต้องเจอปัญหาขาดแคลนมืออาชีพ ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทเอเยนซีโฆษณาข้ามชาติ ขนาดใหญ่ ทั้งที่หากมองภาพของการเป็นองค์กรขนาดใหญ่น่าจะให้เม็ดเงินตอบแทนแก่ครีเอทีฟดีกว่าองค์กรขนาดกลางหรือองค์กรเล็ก และการเป็นองค์กรใหญ่น่าจะมีสินค้าหลากหลายประเภทให้ได้ "คิด"มากกว่า แต่การณ์กลับกลายเป็นว่าองค์กรขนาดใหญ่กลับมีอัตราการไหลออกของคนมากกว่า อย่างเมื่อปีที่ผ่านมามีครีเอทีฟของโอกิลวี่ฯ พาเหรดออกจากองค์กรแห่งนี้ไปอยู่เอเยนซีใหม่ๆหลายราย ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่าครีเอทีฟผู้ที่เคยมีผลงานด้านความคิดสร้างสรรค์ และการผลิตงานโฆษณา ระดับแนวหน้า ขึ้นทำเนียบเอเยนซียอดนิยม แล้วจะสามารถต่อยอด การสร้างผลงานและชื่อเสียงตนเองให้เป็นที่ยอมรับ ในสายตาบริษัทอื่นๆได้

ชัยประนิน วิสุทธิผล เคยให้ทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ปัญหางานโฆษณาล้นแต่ครีเอทีฟขาดตลาด เป็นอีกประเด็นปัญหาหนึ่งที่มีความสำคัญมาก และส่งผลต่อการเติบโตของภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณา เพราะที่ผ่านมาเมื่อสภาพเศรษฐกิจฟื้นตัว ขึ้น ทำให้ชิ้นงานโฆษณามีจำนวนมากขึ้นตามมา ขณะที่คนโฆษณาก็มีเพียงแค่กลุ่มเดียว หน้าเดิม ทำให้คนทำงานจะต้องเพิ่มงานขึ้น บนชิ้นงานที่เพิ่มมาอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นส่งผลทำให้ผลงานออกมาไม่เต็มที่

ยิ่งในปีนี้ คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมโฆษณา จะมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 15% โดยช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา อุตสาหกรรมโฆษณามีการเติบโต 20% หรือคิดเป็นเม็ดเงินกว่า 8 พันล้านบาท ส่วนในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้เม็ดเงินโฆษณาจะมาจาก ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม และกลุ่มดีพาร์ตเมนต์สโตร์ ซึ่งเป็นไฮซีซั่นในช่วงเวลาดังกล่าว

และยิ่งในปีหน้าคาดว่าธุรกิจโฆษณาจะเติบโต 10% และมีปัจจัยจาก การเลือกตั้งใหญ่ในเดือนกุมภา พันธ์ ส่งผลให้ธุรกิจสื่อโฆษณาเติบโตขึ้นมากในช่วง เดือนนี้ เมื่อธุรกิจโฆษณาเติบโต แต่ "คนคิด" โฆษณาร่อยหรอลงเช่นนี้ ปรากฏการณ์ครีเอทีฟ "สมองบวม" เพราะคิดงานโฆษณามากไปอาจจะเกิดขึ้น

ทว่า หากมองอีกมุมหนึ่ง ผลดีจากการขาดแคลนครีเอทีฟก็คือ ทำให้อัตราเงินเดือนของพนักงานในทุกตำแหน่งสูงขึ้นจากอัตราในปัจจุบันตามไปด้วย แต่ค่าตัวบุคลากรที่แพงขึ้นก็ดันต้นทุนเอเยนซีเพิ่มขึ้นตามมาเป็นลูกโซ่ ซึ่งแต่ละตำแหน่งมีรายได้เฉลี่ยตั้งแต่ระดับจูเนียร์ ไปจนถึงระดับมืออาชีพ ประมาณ 1 หมื่นบาท ถึงหลักแสนบาทต่อคน
"บางครั้งการย้ายค่ายของครีเอทีฟหน้าใหม่เพื่อหวังยกระดับค่าตัวขึ้น แต่เมื่อไปอีกที่หนึ่งแล้วไม่ประสบความสำเร็จ หากต้องการกลับมาทำงานที่เดิมก็ต้องพิสูจน์ และโชว์ผลงานก่อน เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านครีเอทีฟไม่ให้สูงเกินไป" คนในวงการเอเยนซีรายหนึ่ง กล่าว

สมาคมโฆษณาฯ ทุ่มสุดตัวร่วมแก้ปัญหาสมองไหล
ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในวงการเอเยนซีนับวันจะรุนแรงขึ้นเนื่องจากคนเก่าที่มีฝีมือก้าวออกไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ในขณะที่คนรุ่นใหม่ก็มีไม่น้อยแต่ยังขาดประสบการณ์และโอกาสในการแสดงฝีมือ นอกจากนี้มุมมองของเด็กยุคใหม่โดยเฉพาะในช่วงหลังวิกฤตเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เคยมองว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่หอมหวน อิสระ ให้เงินค่าตอบแทนดี จึงทำให้ช่วงเวลานั้นคณะนิเทศศาสตร์ เป็นคณะที่มีเด็กหนุ่ม-สาวเลือกเรียนมากที่สุด และเป็นคณะที่มีคะแนนในการเอนทรานซ์สูงเป็นอันดับต้นๆ
ขณะที่ปัจจุบันอาชีพนี้กลับถูกมองว่าไร้เสน่ห์ดึงดูดใจ แถมเงินเดือนยังน้อยเสียอีก แม้ว่าที่ผ่านมาทางสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย โดยวิทวัส ชัยปาณี จะออกแรงเรียกร้องให้เจ้าของสินค้าเพิ่มค่าตอบแทนในการคิดงาน หรือ agency fee ให้ขึ้นมาในระดับ 17.65% ซึ่งเป็นอัตราที่เคยคิดกันมาตั้งแต่ช่วงก่อนวิกฤต เพราะถือว่าเป็นค่าตอบแทน ที่สมน้ำสมเนื้อให้บริษัทโฆษณามีเงินจ้างครีเอทีฟมือดีให้ผลิตงานดีๆออกมาได้อีกต่อไป แต่ดูเหมือนข้อเรียกร้องดังกล่าวจะไม่เป็นผลมากนัก ทำให้เมื่อผล ตอบแทนน้อยคนที่มีฝีมือจึงหันไปทำอาชีพอื่นกันมากขึ้น ที่สำคัญภาวะขาดบุคลากรดังกล่าวทำให้วงการโฆษณาไม่มีการสร้างบุคลากรใหม่ๆขึ้นมา

วิสุทธิ์ ตันตติยาพงษ์ รองกรรมการผู้จัดการ แห่งแอ็คเซส แอนด์ แอสโซซิเอท ซึ่งเป็นบริษัทเอเยนซีระดับกลาง ก็ยอมรับกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่า อาชีพคนโฆษณาไม่หอมหวานเหมือนเก่าจริงๆ

ผลกระทบจากการที่คนเก่าออกไป และคนใหม่ไม่เข้ามา ตามความเห็นของ อาภัสสร บุนนาค EVP-COO แมคแคน อิริคสัน (ประเทศไทย) ที่เคยให้ทัศนะไว้กับนิตยสารการตลาดฉบับหนึ่งเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาก็คือ ช่องว่างของบุคลากรระดับ Middle Management และ Entry Level ที่เริ่มมีจุดที่ห่างกันมากขึ้นทุกขณะ

และช่องว่างระหว่างวันที่ อาภัสสร บอกเมื่อวันนั้นจนถึงวันนี้ ช่องว่างยิ่งห่างกันมากขึ้นๆ

ดูเหมือนว่า หลายๆฝ่ายในวงการธุรกิจโฆษณา พยายามที่จะแก้ปัญหาการขาดแคลนมืออาชีพในวงการ เช่น การจัดโปรแกรม อบรม เสริมความรู้และมุมมองใหม่ให้กับให้กับนักโฆษณารุ่นใหม่ ซึ่งเป็นผลงานของสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย ครั้งเมื่อปารเมศร์ รัชไชยบุญ ยังดำรงตำแหน่ง นายกสมาคม

เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีการสานต่อแนวคิดดังกล่าว โดยร่วมมือกับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโครงการ Adman Awards & Symposium เพื่อเปิดทางให้นักศึกษามีโอกาสสัมผัสและเข้าใจในงานโฆษณาอย่างแท้จริง เพื่อวางแผนสู่เป้าหมายในอาชีพโฆษณาอย่างรู้ทิศทาง

ล่าสุด นายกสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทยคนใหม่ ชัยประนิน วิสุทธิผล ก็ได้ออกมากล่าวถึงแนวทางในการสานต่อนโยบายลดปัญหาการขาดแคลนคนโฆษณาที่มีคุณภาพ โดยตั้งเป้าหมายสร้างคนโฆษณาเลือดใหม่ให้ได้ปีละ 40-50 คนเป็นอย่างต่ำ ภายใต้แนวคิดการจัดตั้งสถาบันการศึกษาเฉพาะทางเกี่ยวกับวิชาชีพโฆษณาขึ้น เน้นสอนทักษะเฉพาะด้านเกี่ยวกับการโฆษณาหลังจบปริญญาตรี และพร้อมจะดำเนินการในปี 2548

ที่ผ่านมาสมาคมฯได้จัดการประกวด แอดแมน อะวอร์ด เพื่อเป็นเวทีที่เปิดกว้างให้กับคนในวงการ โฆษณาทุกระดับ ซึ่งนายกสมคมฯคนเดิมเชื่อว่าจะเป็นเวทีที่มีส่วนสร้างนักโฆษณารุ่นใหม่ให้เกิดขึ้นและเป็นเวทีให้กำลังใจนักโฆษณาที่ทำถูกต้องตามครรลอง นอกจากนี้ยังมีทั้งแทค อะวอร์ด และ แบด อะวอร์ด ที่เป็นเวทีสำหรับคนโฆษณา

อย่างไรก็ตาม การสรรหาครีเอทีฟมือดีไม่ใช่เป็นเรื่องของสมาคมฯเท่านั้น แต่ทางบริษัทโฆษณาอย่าง เจ.วอลเตอร์ ธอมสัน มีการเตรียมรับสถานการณ์การขาดแคลนบุคลากรในช่วงที่ผ่านมา ด้วยการคัดครีเอทีฟที่จบใหม่กว่า 100 คนให้เหลือ 5-6 คนเพื่อนำมาฝึกอย่างจริงจังให้เหมือนกับที่นักโฆษณารุ่นอาวุโสทำ ซึ่งเป็นแนวทางในการพัฒนาทักษะและมุมมองเพื่อให้มีฝีมือสามารถทดแทนคนรุ่นเก่าที่กำลังเกษียณตัวเองจากวงการโฆษณา

ซื้อใจครีเอทีฟได้อย่างไร?
ทรัพยากรบุคคลนับเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของบริษัทโฆษณาเพราะผลงานแต่ละชิ้นคงออกมาไม่ได้ถ้าไม่มีผู้คิดสร้างสรรค์จุดประกายไอเดียขึ้นมาเหมือนกองทัพที่มีแต่ดาบแต่ไม่มีทหารซึ่งก็ไม่สามารถไปรบกับใครได้ ดังนั้นแต่ละค่ายเมื่อมีขุนพลที่เชี่ยวชาญอยู่ในมือแล้วจึงต้องรักษาไว้ให้ดีที่สุด ไม่ให้ไปเข้าร่วมหรือสร้างประโยชน์กับฝ่ายตรงข้าม ซึ่งจะทำให้ตัวเองเสียเปรียบต้องสรรหาคนใหม่เข้ามาทดแทนและฝึกฝนเพิ่มเติมให้ ขณะที่คู่แข่งกลับแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับกลยุทธ์ในการบำรุงรักษาคนของ 3 เอเยนซี มีดังนี้
จีวันเน้นบรรยากาศน่าอยู่
ครีเอทีฟ จูซ จีวัน วิทวัส ชัยปาณี บอกว่าเรื่องบรรยากาศและวัฒนธรรมในองค์กรเป็นเรื่อง สำคัญที่สุด เพื่อนฝูงดี สังคมดี คนทำงานด้วยก็ทำงานดีสบายใจอยู่ได้นาน โดยมีการตั้งเป็น Staff Club และมี Staff party ทุกๆ 2 เดือน นอกจากนี้ในทุกไตรมาสยังมีการจัดกิจกรรมร่วมกันทั้งบริษัทขึ้นอีกด้วย เพื่อให้ทุกคนในทุกหน่วยได้รู้จักและเกิดความสามัคคีกลมเกลียวกัน เป็นการสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคลากรกับองค์กรซึ่งจะทำให้ไม่จะคิดย้ายไปอยู่ที่อื่น

เรื่องเงินก็มีความสำคัญ วิทวัส กล่าวว่า บริษัทมีฐานเงินเดือนระดับมาตรฐานและได้มีการปรับเพิ่มขึ้นให้ทุกปีตามผลงานของแต่ละคน
ด้านการฝึกฝนบุคลกรมีการจัดเวิร์กชอป ทุกๆ 2 เดือน โดยให้มีวิทยากรจากหน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยบรรยายเพื่อเป็นสร้างมุมมองใหม่ในการสร้างสรรค์ผลงาน นอกเหนือจากการส่งไปดูงานและอบรมตามการประกวดโฆษณาที่จัดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้ว

เจวอร์เตอร์ปรับเงินเดือนปีละ 2 หน
พินิจ ฉันทประทีป ผู้บริหารฝ่ายครีเอทีฟของเจวอเตอร์ ธอมสัน เล่าว่าการสร้างบรรยากาศ ในที่ทำงานและความรู้สึกทัศนคติที่ดีต่อองกร ไม่กดดัน เป็นหัวใจหลักในการรักษาทรัพยากรบุคคลให้อยู่คู่และเจริญเติบโตไปพร้อมกับบริษัทและสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพออกมาอย่างสม่ำเสมอ

ด้านผลตอบแทนเงินเดือนมีการปรับขึ้นปีละ 2 ครั้งคือช่วงต้นปีและปลายปี เพื่อผู้ที่ย้ายเข้ามาใหม่ระหว่างนั้นเกิดแรงผลักดันในการทำงาน

ส่วนบางที่มีการเซ็นสัญญาก่อนเข้าทำงานว่าต้องอยู่กับบริษัทอย่างน้อย 3 หรือ 5 ปี พินิจ บอกว่า คงไม่เอามาเป็นแบบอย่างเพราะคิดว่าหากได้แต่ตัวไว้แต่เขาทำด้วยความไม่เต็มใจก็คงไม่เกิดประโยชน์อะไร เนื่องจากผลงานที่ตามออกมาก็จะขาดคุณภาพ

สาทิต จันทวิวัฒน์ ครีเอทีฟไดเรกเตอร์จากค่ายเดียวกัน กล่าวเสริมว่า บริษัทมีหลักสูตรพิเศษชื่อ TTB (ToTal Branding commu nication) ฝึกฝนให้กับครีเอทีฟแยกเป็น 3 ระดับคือ ระดับStaff, Young Tiger และ Senior Tiger ตามอาวุโสเพราะเนื้อหาก็จะมีความเข้มข้นต่างกันไป โดยระดับไทเกอร์นั้นจะเป็นการอบรมส่วนภูมิภาค ของบริษัทในเครือเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งจะจัดขึ้นที่สิงคโปร์ เนื้อหาโดยรวมก็จะเกี่ยวกับการ หา Positioning สร้างแบรนด์ และสื่อสารกับผู้บริโภค

นอกจากนั้นยังมีการอบรมกันเป็นการภายในทุก 1-2 เดือน โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในและต่างประเทศมาบรรยายเสริมความรู้ อัปเดทข้อมูล ให้ครีเอทีฟอยู่ในเทรนด์อีกด้วย

บีบีดีโอมุ่งเทรนนิ่ง
สุทธิศักดิ์ สุจริตตานนท์ ผู้บริหารฝ่ายครีเอทีฟจากบีบีดีโอ บอกว่า ตนให้ความสำคัญกับการเทรนนิ่งมากที่สุด เพื่อบุคลากรในองค์กรจะได้มีทักษะในการสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้ในระดับสากล ก้าวสู่พันธกิจขององค์กรในการเป็นเอเยนซีที่ดีที่สุดในโลก

บริษัทจะให้ครีเอทีฟทุกคนดูผลงานที่ได้รางวัลจากการประกวดโฆษณาระดับโลก 10 ปีย้อนหลังเพื่อนำแนวคิดนั้นมาคิดต่อยอดไปอีกระดับหนึ่ง นอกเหนือจากการส่งครีเอทีฟเข้าฝึกฝนอบรม ดูงานในเทศกาลประกวดผลงานโฆษณาทั้งในและต่างประเทศ ส่วนเรื่องค่าตอบแทนบริษัทมีฐานเงินเดือนอยู่ในระดับมาตรฐานอยู่แล้วและขึ้นทุกปีตามผลงานของแต่ละคนที่ปรากฏออกมา

ครีเอทีฟต้องย้ายวิกทำไม?
"ที่ออกมาจากโอกิลวี่ก็ไม่ได้ออกมาเพราะโกรธเคืองอะไรกับใครเลย ถ้าจะให้กลับไปร่วมงานกับคุณกรณ์หัวหน้าเดิมก็ยังทำได้ เพื่อนๆ ในออฟฟิศเก่าก็ยังมีการติดต่อกันอยู่ประจำ แต่ที่ออกเพราะนายเดิมไม่อยู่แล้ว และมีฝรั่งที่ใหนไม่รู้ อยู่ๆ ก็มาปรับการบริหารใหม่ ทำให้การทำงานไม่เอนจอยเหมือนเดิม ซึ่งก็รู้สึกว่าฝรั่งก็ไม่ได้เก่งกว่าคนไทยเท่าไหร่หรอก และหลังจากที่ออกมามีบริษัทเป็นของตัวเองก็รู้สึกอิสระขึ้น อย่างเช่น ทำงานสองเดือนพักเที่ยว 1 เดือนก็ทำได้ไม่มีใครมาจำกัด"

พิจาริณี กมลยบุตร หัวหน้าทีมครีเอทีฟและพาร์ตเนอร์ของ ออนโกอิ้ง ผู้สร้างสรรค์ผลงานโฆษณาดอกบัวคู่ชุด Black

กิตติ ไชยพร อดีตครีเอทีฟไดเรกเตอร์ผู้สร้างสรรค์งานโฆษณายูนีฟกรีนที ชุดหนอน จากบีบีดีโอ หนึ่งในหัวหน้าทีมที่พาลูกน้องออกไปซบอกพับลิซิสเอเยนซีนอก ซึ่งกำลังเข้ามาเปิดตลาดในประเทศไทยเล่าว่า แต่เดิมตนก็เคยย้ายตามสุทธิศักดิ์ที่ปัจจุบันเป็นผู้บริหารฝ่ายครีเอทีฟของบีบีดีโอ ออกจากโอกิลวี่เมื่อหลายปีก่อน ส่วนครั้งนี้เป็นการย้ายค่ายหนที่ 2 เพราะรู้สึกว่าบรรยากาศการทำงานมีแต่การมุ่งเอาแต่เงินจนเกินไปจนขาดความจริงใจและความเอื้ออารีในสายการบังคับบัญชา เป็นความกดดันในออฟฟิศ ประกอบเขาเองก็ได้รับรางวัลจากการประกวดมาก ทำให้ได้รับข้อเสนอให้เป็นผู้บริหารฝ่ายครีเอทีฟ โดยมีผลตอบแทนมากกว่าจึงตัดสินใจย้ายมา

"การเป็นครีเอทีฟนานๆ ชีวิตอาจต้องผันตัวไปเป็นมาร์เกตเตอร์เพราะนอกจากจะต้องสร้างงานโฆษณาแล้วยังต้องประชุมกับลูกค้า วางแผน ดูตัวเลขงบประมาณมากมาย ซึ่งยุ่งยากและทำให้เครียดด้วย แต่ผมชอบงานแบบครีเอทอย่างเดียวมากกว่า และอยากจะลองหาอะไรใหม่ๆ ในชีวิตที่ท้าทายลองทำดู จึงเลือกมาทำจุดนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นงานอาร์ตมากกว่างานด้านคอมเมอร์เชียล ส่วนด้านรายได้ก็แน่นอนว่าก็มีเพิ่มมากขึ้น รวมถึงยังมีเวลาไปทำงานอดิเรกเล่นหนังเป็นบางครั้งได้อีกด้วย"

อรรณพ ชั้นไพบูลย์ อดีตครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของทีบีดับบลิวเอ ที่ผันตัวไปเป็นผู้กำกับในค่ายเดอะกู้ดบอย และมีผลงานจากภาพยนตร์เรื่องเดอะชัตเตอร์ในบทบาทของ "ต้น" ผู้ข่มขืน "เนตรดาว"
กำลังโหลดความคิดเห็น