xs
xsm
sm
md
lg

ทักษิณเยี่ยมคนไทยทั่วแผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย ถนอม พิพิธยากร

นายกรัฐมนตรีเดินทางเยี่ยมเยียนประชาชนทั่วประเทศเป็นระยะทางทางรถยนต์มากกว่า 10,700 กิโลเมตร ใน 76 จังหวัด โดยสิ้นสุดที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันเสาร์ที่ 28 ส.ค. เพื่อให้ได้ข้อมูลแท้จริง (First-hand Information) จากประชาชนทั่วประเทศอย่างแท้จริง เพื่อการบริหารประเทศในอีก 4 ปีข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ-ประสิทธิผล มากขึ้นอีก

ผลสรุปการเดินทางเยี่ยมเยียนประชาชนคนไทยทุกระดับของผู้นำรัฐบาล ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาเส้นทางคมนาคมไม่เพียงพอ ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง ปัญหาคนไทยระดับรากหญ้าถูกเอารัดเอาเปรียบ ปัญหาความเป็นอยู่ของคนไทยภาคต่าง ๆ ที่บางอย่างคล้ายกัน บางอย่างก็ต่างกัน แต่ความต้องการพื้นฐาน (Basic Needs) เหมือนกัน คือปัญหาปัจจัย 4 เรื่องที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เสื้อผ้า และอาหาร ยังไม่เพียงพอ รวมถึงปัจจัยที่ 5 การคมนาคมขนส่ง

จากการเดินทางเยือนทุกจังหวัดทั่วประเทศของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เรียกว่า “ทัวร์นกขมิ้น” หรือค่ำไหนนอนนั่น เพื่อให้ผู้นำรัฐบาลสามารถสัมผัสปัญหา-ความต้องการของคนไทยท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อจะได้กำหนดนโยบายระดับชาติ-ระดับท้องถิ่น ให้สอดคล้องกัน ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของคนไทยทั่วประเทศ เพื่อให้การผลักดันการขยายตัวเศรษฐกิจ-สังคมไทย เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ-ประสิทธิผล อย่างแท้จริง

“ทัวร์นกขมิ้น” ครั้งล่าสุดของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ รวมถึงการเดินทางเยี่ยมเยียนประชาชนในจังหวัดเพชรบุรี ชุมพร ระนอง พัทลุง ตรัง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ฯลฯ และจากการเดินทางดูระบบจราจรในกรุงเทพ เมื่อวันเสาร์ โดยการใช้เรือล่องคลองแสนแสบ ซึ่งถือเป็นคลองหลักคลองหนึ่งของชาวกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ใช้เดินทางในชีวิตประจำวัน พ.ต.ท.ทักษิณ มีแนวคิดให้คนใน กทม. ใช้ “ตั๋ววัน (One)” คือ การที่คนใน กทม. สามารถเดินทางด้วยทางรถโดยสารประจำทาง เรือ รถไฟฟ้า ทั้งบนดิน และใต้ดิน โดยใช้ตั๋วโดยสารใบเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกให้คน กทม.

ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็พยายามผลักดันการขยายตัวเศรษฐกิจ ให้ต่อเนื่อง-ยั่งยืน ท่ามกลางภาวะความผันผวนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งส่วนหนึ่ง เป็นผลจากการเก็งกำไรของบรรดากองทุน Hedge Funds ที่เน้นเก็งกำไรทุกอย่างที่ขวางหน้า ซึ่งเคยทำให้เศรษฐกิจไทย-เอเชีย ล่มสลายมาแล้วช่วงปี 2540

ทางแก้ปัญหาที่รัฐบาลกำลังพยายามทำอยู่ คือการหาแหล่งพลังงานทดแทนใหม่ ๆ รวมถึงการที่นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ เรียกร้องให้คนไทยทุกกลุ่ม ทุกคน ร่วมมือร่วมใจกันประหยัดการใช้น้ำมันอย่างแท้จริง

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลกำลังเดินหน้าผลักดันการส่งออกสินค้า-บริหารไทย ต่อเนื่อง ทั้งในตลาดส่งออกหลัก (Conventional markets) และตลาดใหม่ ๆ ส่งผลให้การส่งออกสินค้าและบริการจากประเทศไทย มีมูลค่าเกิน 8 พันล้านดอลลาร์ต่อเดือน ติดต่อกัน 3 เดือนแล้ว

ช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ การส่งออกสินค้าและบริการของไทย มูลค่าสูงถึงประมาณ 2.18 ล้านล้านบาท (5.44 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ขณะที่กระทรวงการคลังระบุ เศรษฐกิจการคลังไทย ก.ค. ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลฐานะการคลังของรัฐบาลแข็งแกร่ง อยู่ในกรอบของความยั่งยืนทางการคลัง ทำให้การเก็บรายได้ช่วง 10 เดือนแรกปีงบประมาณ 2547 (ต.ค. 2546-ก.ค. 2547) สูงกว่าประมาณการ

ก.ค. การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี แม้ว่ายังคงมีความเสี่ยงจากราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่เก็บจากการบริโภคภายในประเทศ ก.ค.ขยายตัวอัตราเร่ง 20.4% ต่อปี สูงขึ้นจาก 17.3% ต่อปีเดือนก่อน

ขณะที่ภาษีสรรพสามิต ที่เก็บจากสินค้าคงทน ขยายตัว ก.ค. 14.6% ต่อปี ชะลอเล็กน้อยจากเดือนก่อน เนื่องจากผู้บริโภคชะลอการซื้อรถยนต์ เพื่อรอโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ ที่ต่ำลง โดยเฉพาะรถยนต์ขนาดเล็ก

การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูง โดยเฉพาะการลงทุนเครื่องมือเครื่องจักร การนำเข้าสินค้าทุน มิ.ย.ขยายตัว 21.5% ต่อปี สูงขึ้นจาก 8.8% พ.ค. ขณะที่รายได้ภาษีเก็บจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวดี 59% ต่อปี ก.ค. แม้รายได้ที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาษีที่ปรับเพิ่มสู่อัตราปกติ สอดคล้องกับปริมาณขายซีเมนต์ ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ 9.9% ต่อปี มิ.ย.

ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐเร่งตัวขึ้น โดยรายจ่ายงบประมาณ ก.ค. เพิ่มขึ้น 17.9% ต่อปี เพิ่มขึ้นจาก 11.4% ต่อปีเดือนก่อน รายจ่ายประจำขยายตัว 19.9% ต่อปี ขณะที่รายจ่ายลงทุนขยายตัว 1.5% ต่อปี

การค้าระหว่างประเทศขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งการส่งออกและนำเข้า โดยมูลค่าส่งออก ก.ค. 8.2 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัว 25.6% ต่อปี ขณะที่มูลค่านำเข้า 8.1 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 25.4% ต่อปี ส่งผลดุลการค้า ก.ค.เกินดุลทั้งสิ้น 76.7 ล้านดอลลาร์

การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวดี ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม มิ.ย.ขยายตัว 9.4% ต่อปี กลุ่มอุตสาหกรรมที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่อัตราใช้กำลังผลิต มิ.ย. 71.6% ส่งผลไตรมาส 3 อยู่ที่ 71.2%

สินเชื่อ ทั้งจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ขยายตัวต่อเนื่อง ตามการขยายตัวเศรษฐกิจและการลงทุน โดยสินเชื่อธนาคารพาณิชย์บวกกลับตัดหนี้สูญและหนี้ที่โอนไปบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMCs) ไม่รวมสินเชื่อที่ให้ AMCs ขยายตัว 9% ต่อปี มิ.ย. ขณะที่สินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจ พ.ค. ขยายตัว 11.9% ต่อปี

เสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งภายใน-นอกประเทศ อยู่ในระดับมั่นคง โดยเงินเฟ้อ ก.ค. 3.1% ต่อปี สูงกว่าเดือนที่ผ่านมาเล็กน้อย ตามการปรับเพิ่มเพดานราคาปลีกน้ำมันเบนซินในประเทศ รวมทั้งราคาอาหารสดเพิ่มขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 40.93 บาทต่อดอลลาร์ ก.ค. อ่อนลงจากเฉลี่ย 40.80 บาทต่อดอลลาร์ มิ.ย.

ดุลบัญชีเดินสะพัด มิ.ย.เกินดุลสูง 440 ล้านดอลลาร์ จากการเกินดุลการค้าและดุลบริการ ทุนสำรองทางการอยู่ที่ 43.5 พันล้านดอลลาร์ ณ สิ้น ก.ค. คิดเป็น 5.4 เดือนของมูลค่านำเข้า หรือประมาณ 3.7 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2,918 พันล้านบาท คิดเป็น 44.09% ของการขยายตัวเศรษฐกิจ (GDP) เพิ่มขึ้นจาก เม.ย. 47.5 พันล้านบาท หรือ 0.7 ของ GDP หนี้ที่เป็นภาระต่องบประมาณ คิดเป็น 26.08% ของ GDP

ความพยายามของรัฐบาล ที่จะทำให้คนไทยทั่วประเทศ ฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะการประหยัดการใช้ไฟฟ้า-น้ำมันอย่างจริงจัง เพื่อให้เศรษฐกิจ-สังคมไทย ขยายตัวมีคุณภาพ และยั่งยืน ในระยะยาว
กำลังโหลดความคิดเห็น