xs
xsm
sm
md
lg

Boutique... That's so hot'

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายสัปดาห์ - สังเกตไหม? ระยะนี้สินค้า บริการอะไรๆ ก็นำคำว่า "Boutique" มาใช้กันเต็มไปหมด โรงแรม...โทรศัพท์มือถือ...ธนาคาร...สายการบิน...ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ ทำไม? คำนี้จึง Hit และ Hot กลายเป็นคอนเซ็ปต์ที่นักการตลาดนำมาใช้เป็นจุดขาย ปรากฏการณ์นี้เป็นเพียงแฟชั่นที่เกิดขึ้นแค่ชั่ววูบแล้วหายไป หรือเป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยาวนาน

การทำตลาดโดยใช้คำว่า "Boutique" มาเป็นจุดขาย น่าจะเริ่มถูกจุดขึ้นอีกครั้ง เมื่อ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เปิดตัว "บูติก โบว์ลิ่ง" ขึ้นเป็นครั้งแรกที่เมเจอร์ โบว์ล พระราม 3 เพื่อต้องการสร้างเทรนด์แฟชั่นของโบว์ลิ่งขึ้นมาใหม่ ให้โบว์ลิ่งเป็นมากกว่ากีฬาหรือการแข่งขัน แต่จะเป็นไลฟ์สไตล์ของการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ของวันพักผ่อน และการสังสรรค์

จากนั้น คำๆ นี้ก็ถูกนำมาใช้กับธุรกิจการเงินการธนาคาร เมื่อ นิวัตต์ จิตตาลาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ "เคทีซี" เปิดตัว Boutique Branch เพื่อเป็นศูนย์บริการทางการเงินครบวงจร หนึ่งในหลายจิ๊กซอว์ที่ต้องการเปลี่ยน personality แบรนด์เคทีซีให้เป็นนักเรียนนอก ขับรถสปอร์ต แทนที่จะเป็นข้าราชการแก่ๆ ใส่ชุดสีกากี อุ้มไก่ และขับรถกระบะ

หลังจากนั้นไม่นาน โดยเฉพาะนับจากต้นปี 2547 เป็นต้นมา มีหลายสินค้า และบริการหยิบแนวคิดที่ว่านี้มาใช้กันให้เพียบไปหมด ไม่ว่าจะเป็น เอราวัณ แบงคอก ปรับศูนย์การค้าใหม่ภายใต้แนวคิด บูติก มอลล์, บางกอกแอร์เวย์ ที่ประกาศจุดยืนใหม่เป็น บูติก แอร์ไลน์ เพื่อหนีการแข่งขันด้านราคา ภายหลังการเข้ามาของบรรดาโลว์ คอสต์ แอร์ไลน์

บูติก ถูกนำมาใช้ในธุรกิจโรงแรม และกลายเป็นเทรนด์ใหม่มาแรงเมื่อหลายโรงแรมในไทยใช้คอนเซ็ปต์นี้เป็นจุดขายในการบุกตลาด ทั้ง บ้านทะเลดาว, คาซ่า เดอ มาเร, The Evason Hua-Hin, กบาลทะมอ และวีรันดา รีสอร์ทแอนด์สปา ของตระกูลองค์วาสิฏฐ์ เป็นต้น ยังไม่นับรวมถึง N-PARK หลังชนะประมูลที่โรงภาษีร้อยชักสามก็มีแผนจะสร้างรีสอร์ตบูติก ราคาแพงที่สุดในโลกคืนละ 5 หมื่นบาท ด้วยเช่นกัน

การที่ "Boutique" สามารถนำมาใช้ได้ในหลายสินค้า และบริการ แทนที่จะจำกัดวงอยู่แค่เสื้อผ้าเหมือนในอดีต เป็นเพราะ ผู้บริโภคทุกคนเริ่มรับทราบความหมายของคำว่า บูติก ในความหมายอื่นๆ ว่าคือ in trend และ fashionable

ทว่า "บูติก"ไม่ได้มีบทบาทเพียงแค่ "คำ" ที่บ่งบอกถึงบุคลิกของแบรนด์เท่านั้น แต่ยังเป็นการจำแนกแยกแยะกลุ่มผู้บริโภคลงไปด้วยว่า สินค้าและบริการเหล่านี้มีไว้เพื่อ "ใคร" กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะระดับกลางไปจนถึงระดับสูง หาใช่สินค้า สำหรับกลุ่มแมสแต่อย่างใดไม่

"บูติก" สร้างจุดขายด้วยอารมณ์ สินค้าทุกกลุ่ม ธุรกิจทุกประเภทสามารถใส่คำว่า "บูติก" เข้าไปได้ แต่ทันที่ใส่คำนี้ เข้าไปในสินค้าหรือธุรกิจแล้ว สินค้านั้นจะต้องใส่ความรู้สึกเข้าไปในสินค้า หรือมีการขายความรู้สึกใส่อารมณ์เข้าไป (Emotional) เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีของลูกค้า (Experience) อย่ามองจากสิ่งที่มองเห็น นั่นคือกฏเหล็กของความเป็น"บูติก" โดยทั่วไปการสร้างจุดขายให้สินค้าหรือบริการมักจะใช้เหตุผลทางการขาย เพื่อให้ลูกค้ามองเห็นถึงเหตุผลในการซื้อสินค้า แต่ความจริงแล้วลูกค้าไม่ได้ซื้อเพียงส่วนนั้นส่วนเดียว

นั่นคือจะต้องมีการการประเมินความรู้สึกในใจของลูกค้า เพื่อที่จะสร้างความรู้สึก และประสบการณ์ที่ดี โดยการใส่ส่วนผสมที่ลงตัวประกอบด้วย 2 ส่วน สิ่งแรกคือสิ่งที่ลูกค้ามองเห็น (Physical Element ) และอีกส่วนหนึ่งที่รวมเป็นประสบการณ์ของลูกค้าคือ ส่วนที่มาจากความรู้สึกภายใน (Emotional Element)

ดังนั้น ส่วนของธุรกิจทุกแห่ง มุ่งขายแต่ Physical คือการขายให้ลูกค้าเห็นถึงเหตุผลในการซื้อ แต่ความจริงแล้ว ปัจจัยในการตัดสินใจซื้อของลูกค้า ไม่ได้ซื้อเพียงแค่เหตุผลส่วนเดียว ผศ.ชื่นจิตต์ แจ้งเจนกิจ อาจารย์ประจำภาควิชาบริหารการตลาดคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวและให้มุมมองอีกว่า "บูติก" เป็นคำที่ดึงมาจากวิธีการ ที่เจาะไลฟ์สไตล์ ถ้าจะพูดถึง บูติก จะเป็นแนวที่ไม่ได้ซื้อด้วยเหตุผล แต่เป็นการซื้อด้วยอารมณ์ ความรู้สึก สบาย ส่วนตัว เป็นในแนวเดียวกันกับ Exclusiveสุดท้ายแล้ว การที่จะทำให้เป็น "บูติก" หรือเป็น Exclusive หรือ VIP นั่นคือคอนเซปต์เดียวกัน แต่จะเรียกมันว่าอะไร"
ในมุมของตลาด "บูติก" เป็นคอนเซปต์การตลาด ที่ต้องการสร้างความรู้สึกพิเศษ (Exclusive)ให้ลูกค้าว่า ได้รับการตอบสนองในความเป็นส่วนตัว ความสะดวกสบาย เพื่อให้เห็นคำว่า บูติก เป็นที่มาจากตัวลูกค้าเอง เห็นได้ว่ากรณี บูติก แอร์ไลน์ ไม่ได้เน้นจุดขายว่าเป็น แอร์ไลน์ ที่มีเส้นทางบินหลากหลาย ค่าโดยสารราคาถูก แต่กลับดึงจุดขายว่า ที่นี่มาแล้วสบาย เพราะเราเข้าใจคุณ และมีเป้าหมายเพื่อหวังสร้างประสบการณ์ดีของลูกค้าประสบการณ์ดีของลูกค้า (Experience) ประกอบด้วย 2 ส่วน สิ่งแรกคือสิ่งที่ลูกค้ามองเห็น (Physical Element ) และอีกส่วนหนึ่งที่รวมเป็นประสบการณ์ที่ดีของลูกค้าคือ ส่วนที่มาจากความรู้สึกภายใน (Emotional Element) ดังนั้นส่วนของธุรกิจทุกแห่งถ้าขายแต่ Physical คือการขายให้ลูกค้าเห็นถึงเหตุผลในการซื้อ แต่ความจริงแล้วลูกค้าไม่ได้ซื้อเพียงส่วนนั้นส่วนเดียว มีการประเมินความรู้ในใจ

แม้ว่า "บูติก"จะเป็นเรื่องของการสร้างคอนเซปต์ใหม่ แต่ก็เป็นคอนเซปต์ใหม่ที่อยู่ภายใต้ หลักการบริหารประสบการณ์ดีให้กับลูกค้า Customer Experience ซึ่งมีตัวอย่างในจุดที่ธุรกิจทำประสบความสำเร็จมาแล้วคือเรื่องการทำ CRM : Customer Relationship Management การสร้างสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับลูกค้า ทั้งทางด้าน Customer Service ศูนย์บริการลูกค้า มีคอลเซ็นเตอร์ ในบางที่อาจมี การเพิ่มมูลค่า เรื่องของการสะสมแต้ม สะสมคะแนน

ในที่สุดแล้ว ภาวะในปัจจุบันทุกธุรกิจก็ทำเหมือนๆ กัน บางธุรกิจเริ่มฉีกคำว่า CRM ให้ลงลึกไปถึงในใจลูกค้า ฉีกให้ลูกค้าจดจำธุรกิจของตนเองได้ ให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการที่ร้านหรือธุรกิจนั้นอย่าสม่ำเสมอ เพื่อสร้างส่วนแบ่งลูกค้า ( Customer Share)

"เป็นการใช้รูปแบบของ บูติก เพื่อใส่ประสบการณ์เข้าไป ซึ่งประสบการณ์นี้ไม่ใช่ประสบการณ์ในความหมายของบัตรเครดิต หรือในประสบการณ์ในความหมายของห้างสรรพสินค้า แต่เป็นประสบการณ์ในใจของลูกค้าที่รู้สึกสบาย รู้สึกสะดวก รู้สึกวิถีชีวิตง่ายขึ้น ที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง มันกลายเป็นความรู้สึกที่แตกต่างมากกว่า"

ลักษณะของการสร้าง "บูติก" มีคอนเซปต์ที่เน้นให้กับผู้บริโภค แต่เนื่องจากบางธุรกิจฐานลูกค้ายังไม่ใหญ่ ก็จะดึง บูติกเข้ามา เพื่อหาลูกค้าใหม่ก่อน เพื่อที่จะให้ลูกค้าลองมาใช้บริการแล้วเกิดความประทับใจ และจะได้กลายเป็นลูกค้าประจำ ผศ.ชื่นจิตต์ แจ้งเจนกิจ กล่าวถึง ฐานลูกค้าของบูติก ซึ่งถือว่าเป็นส่วนที่สร้างให้ธุรกิจที่ใส่คำว่า "บูติก" มีโอกาสขายนั้น มีจำนวนมากในสังคมคนรุ่นใหม่ ที่มีไลฟ์สไตล์ มีการทำวิจัยกันมากในหลายโพรดักส์ หลายธุรกิจถึงเหตุผลในการซื้อสินค้าของผู้บริโภค มีเหตุผลที่พบว่าในยุคปัจจุบันกลายเป็นเหตุผลที่ อิงกับอารมณ์มากขึ้น

ตัวอย่างเช่น การถามผู้บริโภคว่า เหตุผลในการซื้อบ้านใหม่ คำตอบที่ได้คือรู้สึกว่าบ้านดูคับแคบ เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคใช้อารมณ์ในการตัดสินใจซื้อ และเป็นเหตุผลที่มีในการตัดสินใจซื้อมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดเป็นแนวคิดว่า การที่เราจะใส่สินค้าโดยนำเสนอด้านเหตุผล หรือ ฟังก์ชันของสินค้าทำงานได้อย่างไร ราคาถูกกว่า คุ้มค่ากว่า มีบริการหลังขาย มีโปรโมชั่นมากกว่า เหล่านี้คือเหตุผล

แต่ความจริงแล้ว จะต้องใส่สิ่งที่เรียกว่า Emotion หรือเป็นความรู้สึก ความประทับใจ ใส่ลงไป เพื่อเติมให้ลูกค้า รู้สึกว่าได้โปรโมชั่นนั้นคุ้มกว่าที่อื่น และรู้สึกว่าที่นี่ดูแลมากกว่าที่อื่น คุ้มค่าในแง่ของจิตใจ ไม่ใช่คุ้มค่าในแง่ของการเอาผลประโยชน์ หรือสิทธิประโยชน์มาเทียบกัน ผศ.ชื่นจิตต์ กล่าว

บูติก... แฟชั่นหรือเทรนด์
Boutique เป็น n. มีความหมายตามพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย ฉบับกะทัดรัด โดยฝ่ายวิชาการภาษาอังกฤษ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ว่า ร้านค้าเล็กๆ ที่ขายสินค้าพวกเสื้อผ้าราคาแพงหรือของขวัญต่างๆ จริงๆ แล้วการรับรู้ของประชาชนชาวไทย ถึงคำว่า "บูติก" มาจากร้าน เสื้อผ้า หรือสไตล์เสื้อผ้าในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถ้าเสื้อผ้าไหนเป็นแบรนด์เนม มีรูปทรงทันสมัย ไม่ซ้ำแบบใคร มักจะถูกขนานนามว่าเป็นเสื้อบูติก ในบ้านเราก็เคยมีร้านที่ชื่อ "บูติกนิวซิตี้" ซึ่งเป็นร้านขายเสื้อผ้าแบรนด์เนม จับกลุ่มลูกค้าผู้หญิงในระดับกลางขึ้นไปถึงบน ถึงปัจจุบันร้านดังกล่าวก็ยังคงมีอยู่

"บูติก" เริ่มจะขยายไปสู่สินค้า และบริการอื่นๆ ที่ไม่ใช่เสื้อผ้า หากว่าเฉพาะในเมืองไทยก็เมื่อ 7-8 ปีที่ผ่านมา เมื่อมีคำว่า "บูติก โฮเต็ล" เกิดขึ้น เป็นโรงแรมเล็กๆ มีห้องพักไม่มากนัก แต่การตกแต่ง บริการ และราคาต้องเรียกว่าเข้าขั้นสุดยอด

ทว่า คำว่า "บูติก" ก็หยุดอยู่เพียงแค่นั้น ไม่ได้ขยายไปถึงสินค้า และบริการอื่นๆ เหมือนดังปัจจุบัน มีนักการตลาดบางคน ให้ทัศนะว่า จริงแล้วบูติก เป็นคอนเซปต์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อมาตอบสนองรสนิยมของผู้บริโภค เหตุที่บูติกนำมาใช้มากขึ้นก็สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันที่หลายสินค้านำรสนิยมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำตลาด ที่สำคัญคำว่า "บูติก" เริ่มถูกรับรู้ใหม่ว่า ไม่ใช่ร้านขายเสื้อผ้าเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงสินค้า หรือบริการที่มีคำต่อท้ายด้วย "บูติก" นั้น มีความเป็นแฟชั่น และอยู่ในกระแส นั่นแล
บูติก มอลล์ ยุทธศาสตร์ที่แตกต่างของเอราวัณ แบงคอก เป็นเพราะการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรงของห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้าย่านสี่แยกราชประสงค์ ทำให้การปรับตัวของโซโก้เดิมของกลุ่ม อัมรินทร์ พลาซ่า ต้องสร้างสไตล์ที่แตกต่างจากคู่แข่งทั้งอยู่ใกล้เคียงอย่างเกษร พลาซ่า เซ็นทรัล ชิดลม รวมถึงเซ็นทรัลเวิลด์ พลาซ่า ทำให้โซโก้เดิมต้องกลายร่างเปลี่ยนมาเป็น ศูนย์การค้าเอราวัณ Bangkok โดยวางตำแหน่งทางการตลาดของตนเป็นห้างสรรพสินค้าในแนวคิด "บูติกมอลล์" หรือแนว Boutique นั่นเอง

เสรี ศิรินนพวงศากร ผู้จัดการทั่วไป กลุ่มกิจกรรมพิเศษ บริษัท อัมรินทร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า การปรับปรุงศูนย์การค้าภายใต้แนวคิดดังกล่าว เป็นการสร้างความแตกต่างจากศูนย์การค้า และห้างสรรพสินค้าในบริเวณใกล้เคียง รวมถึงการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน เนื่องจากเซ็นทรัลเวิลด์พลาซ่า และเกษร พลาซ่านั้น จะเน้นจับกลุ่มลูกค้าระดับไฮเอนด์ มีรสนิยมและชื่นชอบการซื้อสินค้าราคาค่อนข้างสูง แต่สำหรับ เอราวัณ Bangkok จะวางตำแหน่งให้เป็นสถานที่สำหรับคนทำงานในกรุงเทพฯ รวมทั้งชาวต่างชาติ เป็นการตอบโจทย์เรื่องไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค คือจะมีทั้งแหล่งแฟชั่น ศูนย์อาหาร และเรื่องของสุขภาพ

การปรับปรุง เอวาวัณ Bangkok ในครั้งนี้ใช้งบประมาณราว 300 ล้านบาท เน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นคนทำงานอายุตั้งแต่ 25-45 ปี มีลักษณะการใช้ชีวิตที่ทันสมัย โดยเอาวัณ Bangkok จะเป็นสถานที่ๆ กลุ่มเป้าหมายใช้สำหรับนัดพบปะ หรือเจรจาธุรกิจในเวลาเดียวกันได้เสรี กล่าว่า ในส่วนของแฟชั่นซึ่งเป็นแกนหลักนั้นจะมุ่งเน้นสินค้าประเภทแฟชั่นและเครื่องประดับ ร่วมสมัยที่มีความหรูหรา เป็นแบรนด์ดังจากต่างประเทศ และเป็นแบรนด์ที่ไม่มีมาก่อนในประเทศไทย เช่น Coach, Cortina Watch, S.Oliver และ Rado เป็นต้น

นอกจากนี้จะมีบริการเรื่องของศูนย์สุขภาพ โดยใช้แนวคิด One Stop ที่มีสินค้าและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ ความงาม รวมถึงบริการด้านศูนย์อาหาร ที่ประกอบด้วยร้านอาหารหลายๆ สไตล์ทั้ง ไทย จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อิตาลี จุดเด่นของศูนย์อาหารที่ว่านี้คือเป็นร่านที่ไม่ซ้ำประเภทกันเพื่อกันการแย่งลูกค้ากันเอง

"การปรับปรุงศูนย์การค้าให้เป็น บูติกมอลล์ นอกจากเป็นการตอบโจทย์เรื่องความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายแล้ว ยังเป็นการแก้ปัญหาเรื่องขนาดพื้นที่ของศูนย์การค้า เนื่องจาก เอวาวัณ Bangkok มีขนาดเพียง 13,000 ตารางเมตร จัดเป็นศูนย์การค้าขนาดเล็กเมื่อเทียบกับคู่แข่งในย่านดังกล่าว"

"บูติก โฮเต็ล" เล็กๆ แต่แพงระยับ!!
บูติก โฮเต็ล (Boutique Hotel) สินค้าบริการเทรนด์ใหม่ราคาแพง กลายเป็นสัญลักษณ์ ของความเรียบง่าย ที่แฝงไปด้วยปรัชญาและแนวความคิดตะวันออกผสมกันจนเกิดคลื่นลูกใหม่ของธุรกิจโรงแรม ถูกนำมาปรับใช้กับงานบริการจนได้รับความนิยมแพร่หลายจากคนรุ่นใหม่กระเป๋าหนัก กอปรพฤติกรรมการพักผ่อนของคนรุ่นใหม่ที่มีอันจะกินก็เปลี่ยนไปด้วย จากเดิมที่เดินทางไปไหนต้องไปสถานที่ใหญ่โตและมีคนรู้จักแต่วันนี้กลับชอบไปที่ที่ใครไม่รู้จัก ไม่อยากเป็นที่จับตามองของคนอื่น รวมถึงรสนิยมการกินอาหารและการแต่งตัวก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน บูติก โฮเต็ล จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของคนกลุ่มนี้ที่หันมาใช้บริการกันมากขึ้น

เมื่อดีมานด์เพิ่มขึ้น มีหรือที่ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมในเมืองไทยจะอยู่นิ่งเฉย ดังนั้นจึงต้องวิ่งตามให้ทันกับกระแสแฟชั่นที่เกิดขึ้น การดึงเอาความแปลกใหม่ในทุกๆ ด้านของ บูติก โฮเต็ล ออกมาเพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าจุดเด่นจึงหนีไม่พ้นเรื่องของความต่างบนความเหมือนเดียวกันคือเริ่มตั้งแต่ที่การออกแบบ รูปลักษณ์ภายในและภายนอกของโรงแรมตลอดจนห้องโถงที่ไม่ธรรมดาดูราวกับห้องแสดงงานศิลปะมากกว่า ส่วนการแต่งกายของพนักงานต้อนรับที่อาจจะดูแปลกหูแปลกตาไปจากโรงแรมทั่วๆ ไปสักหน่อย หรือแม้แต่อาหารที่มักจะเน้นในเรื่องของสุขภาพเป็นหลัก คือจุดขายที่กำลังได้รับกระแสตอบรับจากกลุ่มลูกค้าไม่น้อย นับเป็นกลยุทธ์ที่หยิบมาใช้ได้ตรงจุดกับกลุ่มเป้าหมาย...

นอกจากจะเน้นในเรื่องของตัวอาคารทั้งภายในและภายนอกที่ดูโดดเด่นเฉพาะตัวแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญพอๆกันและขาดไม่ได้ก็คืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกประเภทเทคโนโลยีไว้คอยบริการ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์จอแอลซีดีบวกกับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โทรศัพท์หมุนตรงต่างประเทศโดยไม่ต่อเสียเวลาตัดสาย โทรทัศน์จอพลาสมาติดจานดาวเทียมรับช่องสัญญาณได้จากทุกทวีป สามารถดูและฟังข่าวอัพเดทได้ตลอดทั้งวัน

บริการที่มีฟังก์ชั่นมากมายอย่างนี้ สนนราคาแพง จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ล่าสุด กลุ่ม N-PARK ที่ร่วมลงทุนกับ อามันบุรี รีสอร์ท ผุดรีสอร์ตเพียง 80 ห้องเท่านั้น แต่คิดค่าเข้าไปใช้บริการถึง 50,000 บาทต่อคืน บูติก โฮเต็ล ในวันนี้จึงไม่ใช่เพียงแค่สร้างขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการของกลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้น แต่เป็นโฮเต็ลที่ถูกรวบรวมนำเอารูปแบบงานศิลปะหัตถกรรมของท้องถิ่นทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาใช้ได้อย่างกลมกลืนให้เป็นบรรยากาศของบ้านมากกว่าโรงแรมทั้งที่เป็นอาคารสูงใจกลางเมืองหรือรีสอร์ทที่อยู่บริเวณตามชายหาด...

เส้นทางของ บูติก โฮเต็ล
บูติก โฮเต็ลในยุคแรกนั้นเกิดขึ้นในลอนดอน และปารีสก่อนในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน ที่ปารีสนั้นเป็นโรงแรมเล็กๆ ชื่อ ลา วิลล่า โรงแรมเก่าบนถนน จาค็อบ ถนนสายเล็กๆ ย่าน แซ็งต์ แฌ็ร์ค เดส์ เพรส์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากร้านกาแฟโก้หรูยอดนิยมของฝั่งซ้าย กาเฟ่ต์ โอซ์ เดอซ์ มาร์โก้ และกาเฟ่ต์ เดอ ฟลอร์ สองร้านกาแฟที่เคยเป็นที่นัดพบของ กวี นักเขียน ศิลปิน และบุคคลในวงการแฟชั่นของปารีส ถือว่าเป็นย่านเก๋ที่สุดบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำแซนน์

ส่วนลอนดอนนั้นชื่อโรงแรม เธอะ ฮอลคิ้นส์ โรงแรมขนาดย่อมย่าน เบลก ราเวียและเดอะเมโทรโปลิแทน ที่ โอลด์ พาร์ค เลน ซึ่งเป็น บูติก โฮเต็ล ยอดนิยม หลังจากนั้นความนิยมใน บูติก โฮเต็ล ก็เริ่ม เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในหมู่นักธุรกิจระดับผู้บริหารยุคใหม่ที่มีบุคลิกและการใช้ชีวิตที่ไม่ซ้ำแบบใคร มักเป็นผู้ที่นิยมในแนวปรัชญาตะวันออก

อันที่จริงบูติก โฮเต็ล ในกรุงเทพฯนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะบรรดาโรงแรมแบบเล็กๆ นั้นมีอยู่หลายแห่งแต่มีบางแห่งที่พอจะทรงอิทธิพลสำหรับกลุ่มเป้าหมายได้ไม่น้อย คงจะหนีไม่พ้นโรงแรมสามแห่งบนถนนสายสำคัญอย่าง สาทร สีลม สุรวงศ์ และสุขุมวิท ดังนี้ 1.Metropolitain บนถนนสาทร เป็นโรงแรมที่เทรนดี้ที่สุด มีห้องมากถึง 170 ห้อง และน่าจะนับว่าเป็นโรงแรมแนวบูติก แห่งแรกของกรุงเทพฯก็ว่าได้ 2.โรงแรม 222 บนถนนสีลม ตึกเก่าที่ถูกเนรมิตด้วยเงินกว่า 170 ล้านบาท สร้างเป็นโรงแรมจำนวนห้องกว่า 40 ห้อง 3.The Davis ตั้งอยู่เกือบสุดซอยสุขุมวิท 24 รูปแบบอาคารแบ่งออกเป็นหลายส่วน เช่นส่วนของโรงแรม, ส่วนของเรือนไทย, ส่วนของบริการ และส่วนของร้านอาหาร ธุรกิจทั้งสามแห่งที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ บูติก โฮเต็ล เท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่ายังคงมีอีกหลายแห่งที่กำลังจะเปิดตัวในเร็วๆ นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น