ใครอยากเรียนดอกเตอร์ เร่เข้ามา...อนาคตอันใกล้คุณอาจจะได้ยินคำโฆษณาเยี่ยงนี้
เพราะปัจจุบันธุรกิจการศึกษาเมืองไทยกำลังห้ำหั่นกันอย่างดุเดือด ไม่ใช่การแข่งขันเร่งเปิดหลักสูตรปริญญาโทภาคพิเศษอย่างที่เคยเป็นข่าว แต่คราวนี้เป็นการจับตลาดระดับบน หมายถึงคนที่คิดจะเรียนระดับปริญญาเอกหรือดอกเตอร์ จากนี้ต่อไปคุณหาที่เรียนได้ไม่ยากเย็นอีกแล้ว
"เมื่อก่อนไม่ค่อยมีใครเปิดสอนระดับดอกเตอร์ ทำให้ต้องไปเรียนที่เมืองนอก แต่ตอนนี้เปิดกันมาก และไม่ต้องมาเทียบกับก.พ.อีกด้วย" นักศึกษาระดับป.เอก คนหนึ่งบอก
การเข้าศึกษาระดับปริญญาเอกในยุคสังคมแห่งการเรียนรู้ ไม่ใช่เรื่องจับต้องยากอย่างอดีตเมื่อ 10-20 ปีก่อน มีเพียงมหาวิทยาลัยของรัฐอย่าง จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ มหิดล พระจอมเกล้าฯ เท่านั้นที่เปิดสอน เน้นหนักไปทางด้านวิทยาศาสตร์ ทำให้คนไทยต้องเสียเงินตราออกนอกประเทศหากใครจะเรียนในด้านสังคมศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์ระดับดอกเตอร์ อีกประการที่คนไทยนิยมแห่ไปเรียน เมืองนอก หลายคนบอกว่า เรียนง่ายกว่า จบเร็วกว่า
"ตัวเลขคนที่เรียนดอกเตอร์ในมหาวิทยาลัยเมืองไทยปี 2544 ถ้าจำไม่ผิดมีประมาณ 2,800 คน ขณะที่คนฝรั่งเศสเรียนกันถึง 54,000 คน แต่ตอนนี้มีหลักสูตรเพิ่มเข้ามามากขึ้นรศ.คิม ไชยแสนสุข รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหงบอก เขาเป็นคนดูแลหลักสูตรปริญญาเอกของรามฯซึ่งรามฯ เองพึ่งจะเปิดได้เพียง 3 ปียังไม่มีใครเรียนจบ หลักสูตรที่โดดเด่นของรามฯก็คือ การเน้นเรื่องดึงเอาภูมิปัญญาตัวบุคคลและท้องถิ่นออกมาจากผู้เรียน ประกอบกับหลักสูตรที่ออกมาจะต้องสอดรับกับการขยายตัวของประเทศในทุกด้าน แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ เรื่องอาจารย์ผู้สอน ซึ่งอาจารย์ที่จะสอนระดับปริญญาเอกได้นั้นรัฐกำหนดว่าจะต้องมีคุณวุฒิและความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ อย่างมาก ทำให้ทุกมหาวิทยาลัยเกิดอาการขาดแคลนเหมือนๆ กัน
มีดอกเตอร์ไม่พอ
"ทุกแห่งเจอเหมือนกันคือจะเปิดหลักสูตร แต่ใครจะมาสอน เราก็เลยใช้ระบบพูลอาจารย์ ซึ่งทำกันมาตั้งแต่ระดับปริญญาโท หมายถึงทุกมหาวิทยาลัยจะแลกเปลี่ยนอาจารย์กันและกัน ของรามฯมีอาจารย์ระดับดอกเตอร์ 40-50 คน มีระดับรศ.เป็น 100 คน เราไม่มีปัญหาเรื่องนั้น แต่ปัญหาจะอยู่ที่ความชำนาญเฉพาะทางของอาจารย์มากกว่า
การแห่เปิดหลักสูตรปริญญาเอก ก็เหมือนเล่นงูกินหาง เนื่องจากสาเหตุที่ทุกแห่งทั้งของรัฐและเอกชนทยอยเปิดหลักสูตรดังกล่าวก็เพื่อสร้างบุคลากรในประเทศให้มีองค์ความรู้มากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของบุคลากรที่จะมาสอนในสถานศึกษา ซึ่งขาดแคลนระดับปริญญาเอก แต่เมื่อเปิดสอนก็หา คนสอนลำบาก
เท่ากับว่า ต้องแสวงหาคนสอนระดับดอกเตอร์ เพื่อเร่งผลิตดอกเตอร์
แต่จากนี้ต่อไปประเทศไทยจะมีคนติดดีกรีระดับดอกเตอร์มากขึ้น ทั้งเรียนด้วยทุนตนเองและรัฐบาล เมื่อหลักสูตรเพิ่มมากขึ้น
ทุนป.เอกเฟื่องฟูกว่าป.โท
ในแผนพัฒนาอุดมศึกษาฉบับที่ 9 ปี 2545-2549 พูดถึงเป้าหมายด้านการสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ ให้เน้นภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่มหาวิทยาลัย ลดการพึ่งพาจากภายนอก ขณะเดียวกันก็เน้นพัฒนาเชิงวิชาการนำไปสู่สากล
โดยกำหนดยุทธศาสตร์การเพิ่มปริมาณคนที่จะจบระดับปริญญาเอก ให้ทุนเพื่อพัฒนาอาจารย์ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ให้กู้ปีละ 100 ล้านบาท โดยปี 2540-2544 ให้กู้ ปริญญาโท 31 ทุน ปริญญาเอก 69 ทุน เป็นเงินประมาณ 120.45 ล้านบาท
ไม่เพียงเท่านั้นในแผนยังระบุให้สนับสนุนและพัฒนานักวิจัยระดับปริญญาโทและปริญญาเอก สร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ ตอบสนองความต้องการของประเทศ โดยวางแผนที่จะรับนักศึกษาระดับปริญญาเอกรับรวมเฉลี่ย 5 ปี ประมาณปีละ 4,242 คน หรือเพิ่มขึ้นปีละ 1,697 คน รวมตลอดแผน 9 จะมีประมาณ 23,800 คน เป็นสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประมาณ 10,101 คน สายมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ 10,329 คน หากแยกเป็นมหาวิทยาลัยในส่วนของรัฐประเภทรับจำกัด จะรับจำนวน 20,780 คน ทั้งนี้คาดว่าจะมีคนจบปริญญาเอกในปี 2549 จำนวน 13,441 คน มากว่าอดีตถึง 5 เท่าซึ่งมีระดับ 2 พันคนเท่านั้น
ขณะที่ปริญญาโท รับนักศึกษาเข้าใหม่ เฉลี่ย 5 ปี ประมาณปีละ 81,586 คน หรือเพิ่มขึ้นปีละ 5,221 คน รวมทั้ง 5 ปีประมาณ 407,928 คน เป็นสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 86,870 คน สายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 295,308 คน หากแบ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐประเภทรับจำกัด จะรับจำนวนทั้งสิ้น 257,027 คน คาดว่าจะมีผู้จบในปี 2549 รวม 255,345 คน
ทั้งนี้ในกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกอบด้วย 5 สาขาวิชาได้แก่ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์และสัตวแพทย์
ข้อมูลจากการสำรวจ
หลักสูตรระดับปริญญาเอก
"ถ้าถามว่าเราขาดแคลนดอกเตอร์ด้านไหน ผมอยากจะให้เน้นหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะเราขาดมาก เป็นพื้นฐานของประเทศ รวมทั้งสาขาใหม่ที่จะรองรับอนาคต ไม่ว่าจะเป็นนาโนเทค โนโลยีรศ.คิม บอก
เปิดสอน กว่า 800 หลักสูตร
จากการสำรวจจำนวนหลักสูตรของมหาวิทยา-ลัยที่เปิดสอนระดับปริญญาเอก พบว่า มีจำนวนกว่า 800 หลักสูตร เฉพาะปี 2545-2547 มีหลักสูตรใหม่เกิดขึ้น 116 หลักสูตร จำนวนหลักสูตรที่เปิดใหม่ในปี 2545-2547 แบ่งเป็นหลักสูตรสร้างนักวิชาการในส่วนของมหาวิทยาลัยของรัฐ 54 หลักสูตร ม.เอกชน 7 หลักสูตร ม.ราชภัฏ 1 หลักสูตร ขณะที่สายสร้างผู้เชี่ยวชาญ ม.รัฐบาลมี 49 หลักสูตร ม.เอกชน 3 หลักสูตรและม.ราชภัฏ 2 หลักสูตร
สำรวจสถาบันสอนดอกเตอร์ไทย
จากการสำรวจหลักสูตรระดับปริญญาเอกของ สถาบันการศึกษาในไทย พบว่ามีการแบ่งประเภทหลักสูตรได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1.หลักสูตรสำหรับการสร้างนักวิชาการ หรือปรัชญาดุษฎีบัณฑิต และ 2. หลักสูตรสำหรับการสร้างผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ หลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต, วิศวกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต, สถาปัตยกรรมดุษฎีบัณฑิต, สาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิต, เภสัชศาสตรดุษฎีบัณฑิต, ทันตแพทย์ศาสตรดุษฎีบัณฑิต, ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต, อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต, ศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิต, บริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต, สังคมสงเคราะห์ศาสตร์ฯ, พยาบาลศาสตรดุษฎีบัณฑิต, นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต, การจัดการดุษฎีบัณฑิต, รัฐประศาสนศาสตร์ และปรัชญา
ประมาณ 99% ของหลักสูตรทั้งหมดเปิดสอนโดยมหาวิทยาลัยของรัฐ และอีก 1% เปิดสอนในมหาวิทยาลัยเอกชน ดังนั้นแนวโน้มและทิศทางของ การเปิดหลักสูตรใหม่ๆ ระดับปริญญาเอกจึงเป็นไป ตามแนวทางของมหาวิทยาลัยรัฐมากกว่า ทั้งนี้หลักสูตรที่เป็นการสร้างนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ ส่วนใหญ่มุ่งไปที่แขนงวิชาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มากกว่าสังคมศาสตร์
ตัวอย่างเช่นในปี 2542 ม.ธรรมศาสตร์ ได้เปิด หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสหวิทยาการ sinvDoctor of Philosophy Program in Integrated Sciences
ชื่อปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต
(สหวิทยาการ)
หลักสูตรนี้มีปรัชญาที่จะผลิตมหาบัณฑิตและ ดุษฎีบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถทางวิชาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการค้นคว้าและวิจัย อย่างแท้จริง นักศึกษาที่จะเข้ามาศึกษาในหลักสูตรนี้ จะต้องมีความรู้ความสามารถในทางวิชาการในระดับสูง อาจารย์ที่จะเข้าร่วมในหลักสูตรนี้จะได้รับการคัดสรรและยอมรับในวงวิชาการ ของมหาวิทยาลัยระหว่างมหาวิทยาลัยและนานาชาติว่ามีความรู้ความ สามารถ ทางวิชาการอย่างแท้จริงเพื่อให้ปริญญาดังกล่าวเป็นที่นิยมยกย่อง ให้ความเชื่อถือทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และสากล
โดยที่หลักสูตรดังกล่าว จะเน้นความสามารถในการวิจัยเป็นหลักและจะพยายามจัดทำหลักสูตรที่ออกแบบให้สอดคล้องกับการพัฒนาขีดความสามารถ เต็มที่ตามศักยภาพของนักศึกษาทุกคน โดย ที่จะดำเนินการศึกษาวิจัยตามปรัชญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มีลักษณะเด่น นั่นคือ การเน้นการ ศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อเสริมสร้างความเป็นประชาธิปไตย (Democracy) หลักนิติธรรม (The Rule of Law) การแข่งขัน (Competition) ความเป็นธรรมในสังคม (Social Justice) การจัดการที่มีประสิทธิภาพ (Effective Management) และการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน (Sustainable De-velopment)
ขณะที่หลักสูตรปริญญาเอกของรามคำแหง จะเน้นดึงเอาภูมิปัญญาของผู้เรียนออกมา รศ.คิม ยกตัวอย่างว่า สมมุติว่าคุณเขาทราย แกแล็กซี่ อดีตแชมป์โลกจะมาเรียน เราก็จะต้องดึงเอาภูมิปัญญาความรู้ ความสามารถของเขาออกมา เพราะการที่เขา ได้เป็นแชมป์โลกมีกระบวนการต่างๆมากมายที่ควร ศึกษา ไม่ใช่ปล่อยให้หายไป
"เราจะจับคุณเขาทรายมานั่ง แล้วให้เล่าถึงอดีตประสบการณ์ ต่างๆ แล้วเราก็เอาทฤษฎีไปจับ บอกว่า สิ่งที่คุณทำ มันเข้ากับทฤษฎีไหน แล้วสอนให้ทำ วิจัยด้วยตนเอง ผลิตงานวิจัยออกมาเป็นตำรา ทำให้เราได้ภูมิปัญญามาเรียนรู้ มีอีกหลายคนที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักธุรกิจ เจ้าของกิจการ ชาวบ้านที่ทำเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ตอนนี้เรามีหลักสูตรที่ให้คนทั่วประเทศไทยเรียน แล้วให้ไปศึกษาภูมิปัญญาชุมชน เพื่อสกัดออกมาใช้งานเป็นองค์ความรู้" รองอธิการบดี รามฯ บอก
วิธีคิดของรามฯเป็นการต่อยอดจากแผนพัฒนาอุดมศึกษาฉบับที่ 9 ซึ่งมีปรัชญาที่จะค้นหาภูมิปัญญาท้องถิ่นออกสู่ตลาดสากล
แต่สิ่งที่รศ.คิม เป็นห่วงตอนนี้ก็คือ การเปิดเสรี การศึกษาที่กำลังจะเกิดขึ้น หากประเทศไทยยังไม่พัฒนาองค์ความรู้ท้องถิ่นออกมา ไม่มีคนจบระดับปริญญาเอกที่ศึกษาองค์ความรู้จากตะวันออก จะทำให้มีโอกาสถูกครอบงำได้ง่าย
"ยุคนี้เป็นยุคอาณานิคมทางปัญญา เรามีคนจบ ต่างประเทศมาก แต่ไม่เคยมีคนจบจากในประเทศ จบจากตะวันออก หากมีการเปิดเสรีการศึกษา เราก็จะถูกใส่ความรู้ความคิดแบบตะวันตก ให้คิดแบบ ตะวันตก ตอนนี้ผมว่าเรายังไม่ถึงเวลาเปิดเสรีการศึกษา"
เอกชนสอนป.เอก1%
สำหรับหลักสูตรระดับปริญญาเอกที่เปิดขึ้นใน มหาวิทยาลัยเอกชนพบว่ามี1%นั้นมีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญของพื้นฐานการศึกษาที่พัฒนามา อาทิ ม.รังสิต เปิดหลักสูตรปริญญาเอกด้านวิศวกรรมโยธา, ม.เซนต์จอห์นก็มีการเปิดด้านปรัชญาและศาสนา หรือการสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศเพื่อพัฒนาหลักสูตรร่วม กันเพราะขาดแคลนบุคลากร เช่น ม.กรุงเทพ ก็สร้าง ความร่วมมือกับ The University of Nebraska-Lincoin จากอเมริกาเปิดหลักสูตรด้านบริหารธุรกิจ หรือม.อัสสัมชัญ ที่ล่าสุดได้สร้างความร่วมมือกับ University of South Australia เปิดด้านบริหาร ธุรกิจเช่นกัน
ผศ.ดร.เกษมสันต์ พิพัฒน์ศิริศักดิ์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ม.กรุงเทพ ย้ำว่า ข้อจำกัดของการ พัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาเอก คือ ขาดแคลนคณาจารย์ และอุปกรณ์ เช่น ห้องสมุด เทคโนโลยีที่สนับสนุนการศึกษา จึงต้องอาศัยความเชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยต่างประเทศเข้ามาพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน ซึ่งการเลือก The University of Nebra-ska-Lincoin เพราะมีจุดเด่นในหลักสูตรบริหาร ธุรกิจ โดยเฉพาะการสร้างบุคลากรไปเป็นผู้ประกอบการเอง ซึ่งตรงกับแนวคิดของมหาวิทยาลัย
สำหรับเทรนด์ล่าสุดสำหรับกลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชนที่เปิดในปีนี้ คือ ด้านการบริหารการศึกษา ที่มีทั้งที่ ม.เซนต์จอห์น, ม.คริสเตียน และม.อัสสัมชัญโดยใช้ชื่อสาขาวิชาภาวะผู้นำทางการศึกษา
ดร.กิตติ โพธิกิตติ ผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัย ม.อัสสัมชัญ กล่าวถึงการเปิดหลักสูตรนี้ว่า ถือเป็นการพัฒนาต่อยอดจากหลักสูตรระดับปริญญาโทที่เปิดมาแล้ว 4-5 ปี โดยการจะเปิดระดับปริญญาเอกได้ ต้องมีความพร้อมด้านอาจารย์ ในขณะที่กลุ่มนักศึกษาก็ต้องการต่อยอดความรู้ของตนให้สูงขึ้น ซึ่งหลักสูตรนี้เป็นการเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มนักวิชาการ และสถาบันการศึกษาที่อยาก อัปเกรดอาจารย์ ก็จะสนับสนุนทุนการศึกษาให้มาเรียน
ม.ราชภัฏมาแรง
หากถามถึงความร้อนแรงของตลาดวิชาการ นาทีนี้ ถ้าไม่นับรวมเจ้าเก่าอย่าง ม.รามคำแหงแล้ว ราชภัฏที่พึ่งได้ยกระดับเป็นมหาวิทยาลัยมามาดๆมีสถาบันในเครือข่ายทั่วประเทศก็น่าจะเป็นคู่ต่อสู้กับเจ้าถิ่นอย่างรามฯไม่น้อย
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ถือเป็นสถาบันแรกในกลุ่มราชภัฏที่เปิดหลักสูตรระดับปริญญาเอก โดยปีการศึกษา 2546 มีการเปิดหลักสูตรการจัดการดุษฎีบัณฑิต ใน 4 สาขาวิชา และปีล่าสุดยังเปิดเพิ่มด้านปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาการบริหารงานยุติธรรมและสังคม และรัฐประศาสนศาสตร์
ก่อนหน้านี้ รศ.ดร.พยอม วงศ์สารศรี คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต กล่าวไว้ว่า แนวทางการพัฒนาหลักสูตร จะเน้นปรัชญาทาง การศึกษาที่เป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับคนทุกกลุ่ม และจะมีการพัฒนาหลักสูตรทั้งที่เป็นหลักสูตรยอดนิยมอย่างสาขาการจัดการ และที่เป็น หลักสูตรที่จำเป็นต่อสังคม อย่าง การบริหารงานยุติธรรมและสังคม กลยุทธ์ที่นำมาใช้ เน้นที่การดึงศักยภาพของกลุ่มบุคลากรที่เกษียณอายุแต่มีความ สามารถมาร่วมเป็นคณาจารย์ให้กับสถาบัน
ทั้งนี้ราชภัฏดุสิตได้มีพัฒนาการต่อเนื่องในระดับสูงกว่าปริญญาตรี เริ่มจากปี 2539 จัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัย โครงการแรกที่บัณฑิตวิทยาลัยเริ่ม เปิดสอนในปี 2540 คือ โครงการปริญญาโทบริหาร ธุรกิจมหาบัณฑิตของมหาวิทยาลัยวิกตอเรีย โดยใน โครงการนี้เป็นโครงการร่วมระหว่างบัณฑิตวิทยาลัย สถาบันราชภัฏสวนดุสิตกับมหาวิทยาลัยวิกตอเรีย ประเทศแคนาดาโครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการเรียนรู้ระบบบริหารจัดการการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาเป็นอย่างดี
โครงการที่สอง คือ การเปิดปริญญาโทครุศาสตรมหาบัณฑิต ในปี พ.ศ.2542 โดยใช้หลักสูตรกลางของสำนักงานสภาบันราชภัฏ โดยบัณฑิตวิทยาลัย สถาบันราชภัฏสวนดุสิต เสนอศักยภาพการขอเปิดไปยังคณะกรรมการสถาบันราชภัฏ
โครงการที่สาม คือ การเปิดปริญญาโทบริหาร ธุรกิจมหาบัณฑิต ในปี พ.ศ. 2543 โดยเป็นหลักสูตรที่บัณฑิตวิทยาลัย สถาบันราชภัฏสวนดุสิต สร้างขึ้นโดยผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการสถาบันราชภัฏ
โครงการที่สี่ คือ การเปิดปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต ในปี พ.ศ. 2545 โดยเป็น หลักสูตรที่บัณฑิตวิทยาลัย สถาบันราชภัฏสวนดุสิต สร้างขึ้นโดยผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการสถาบันราชภัฏ
โครงการที่ห้า คือ การเปิดปริญญาโทนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต ในปี พ.ศ. 2547 โดยเป็นหลักสูตรที่บัณฑิตวิทยาลัย สถาบันราชภัฏสวนดุสิต สร้างขึ้น
โครงการที่หก คือ การเปิดปริญญาเอกการจัดการดุษฎีมหาบัณฑิต ในปี พ.ศ. 2547 โดยเป็นหลักสูตรที่บัณฑิตวิทยาลัย สถาบันราชภัฏสวนดุสิต สร้างขึ้น
มหิดลเน้นวิทยาศาสตร์
ขณะที่ ศ.ดร.เลียงชัย ลิ้มล้อมวงศ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดลให้ความเห็นถึงทิศทางที่มีการเปิดหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์มากกว่าด้านสังคมศาสตร์ เพราะอดีตแนวทางการพัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาเอกเริ่มจากสาขาวิชาดังกล่าว และเมื่อนักศึกษาสำเร็จการศึกษาก็เข้าไปเป็นนักวิชาการในสถาบันการศึกษาต่างๆ และพัฒนางานวิจัยไปตามสาขาที่เชี่ยวชาญ เกิดการต่อยอดองค์ความรู้และพัฒนาสู่การเปิดสอน ระดับปริญญาเอกในด้านต่างๆ ที่ยังคงอยู่ในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
"เนื่องจากฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีหลักฐานที่ชัดเจน ทำให้ผลจากการทำวิจัยกลายเป็นสิ่งที่สามารถจับต้องได้ ง่ายต่อการพิจารณาให้ลงตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการ ในขณะที่สายสังคมศาสตร์ผลของการวิจัยมักเกิดการถกเถียงถึงความน่าเชื่อถือ ทำให้เกิดการพัฒนาช้ากว่าด้านแรกอย่างไรก็ตามแนวทางดังกล่าวก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไป ส่วนหนึ่งเกิดจากการพัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาเอกด้านการบริหารจัดการ โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายสำหรับผู้ที่ต้องการเป็นผู้เชี่ยว ชาญแต่ไม่ต้องถึงขั้นเป็นนักวิชาการที่มาสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ซึ่งกำลังจะกลายเป็นที่นิยมในกลุ่มนักธุรกิจที่อยากจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก เพื่อที่จะสามารถปรับฐานเงินเดือนของตนขึ้นได้ ซึ่งขณะนี้ทางวิทยาลัยการจัดการ ม.มหิดลเองก็มีแผนที่จะพัฒนาอาจารย์ให้มีงานวิจัยทางธุรกิจเพื่อเปิดหลักสูตรระดับปริญญาสาขาด้านการจัดการขึ้นด้วยในอนาคต
ทบวง - ก.พ.รื้อกรอบ ดร.สื่อผสม
ทบวง-ก.พ. เตรียมรื้อหลักเกณฑ์ใหม่ให้ การรองรับวุฒิการศึกษาที่ใช้สื่อผสม เรียนทางไกล อินเตอร์ ระดับป.โท-เอก พร้อมเปิดทำประชาพิจารณ์อีกรอบให้สังคมรับรอง ขณะที่ ก.พ.ย้ำไม่เคยให้การรับรองใครสักราย ระบุผู้เรียนต่อจะเป็นเจ้าของกิจการเอง ไม่รับราชการ ด้านผู้ศึกษามั่นใจ "ดร." เกิดจากความรู้แท้จริงไม่ใช่จากสถาบันเป็นตัวกำหนด!
ธุรกิจการศึกษาเปิดกว้างในสังคมปัจจุบัน เมื่อรัฐบาลมีนโยบายเปิดเสรีในเกือบทุกเรื่อง การศึกษาก็เช่นกัน
การศึกษาในยุคโลกไร้พรมแดน รูปแบบ ลักษณะ และวิธีการต่างๆ วันนี้จึงไม่ใช่ข้อจำกัดทางการศึกษาในระดับใดก็ตาม โดยเฉพาะปริญญาเอก และขณะนี้ต้องยอมรับว่า การเรียนผ่านสื่อผสมอินเทอร์เน็ท ทางไกล หรือไปรษณีย์ เป็นอีก รูปแบบที่กำลังนิยม!
การศึกษายุคโลกาภิวัตน์
สุภาวดี ช่วงโชติ ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต วิทยาศาสตร์และเทค-โนโลยี ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาทางไกลกับสถาบันแห่งหนึ่งในประเทศฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ในสาขาการปฏิรูปและพัฒนาองค์กร ตามหลักสูตรจะต้องเดินทางไปฟิลิปปินส์ 3 ครั้ง คือการไปรายงานตัวก่อนศึกษา การส่งราย งานวิทยานิพนธ์ และการเดินทางไปรับปริญญา
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ สุภาวดี ตัดสินใจมาศึกษาที่สถาบันแห่งนี้นั้น มาจากคำแนะนำของเพื่อน (ปากต่อปาก) ที่สำเร็จการศึกษาไปก่อนหน้านี้ ด้วยเงื่อนไขที่ว่าเวลาในการเรียน ค่าใช้จ่าย และการสำเร็จการศึกษา ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับคนที่ใฝ่รู้ทุกคน
"การเรียนที่เน้นเวลาเรียน โดยเฉพาะวันธรรมดาของหลายสถาบัน ถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนตั้งใจที่จะแสวงหาความรู้ หรือต้องการต่อยอดทางวุฒิการศึกษาหมดโอกาสที่จะพัฒนาตนเองไปเป็นจำนวนมาก จึงต้องหาสถาบันที่สามารถรองรับเงื่อนไขที่มีอยู่ได้ และสถาบันแห่งนี้ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต ทั้งหน้าที่การงาน และการศึกษาควบคู่" สุภาวดี กล่าว
การเรียนที่ง่าย สบายๆ สำหรับชีวิต ไม่สร้างความยุ่งยากเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ต้องการเพิ่มดีกรีให้กับตนเอง
วิชาความรู้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราไขว่คว้าไม่ใช่มา จากสถาบันเท่านั้น ความสะดวก อิสระ และไม่ยุ่งยาก ทำให้หลายคนเกิดความสนุกในการเรียน และพัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดยั้ง
สุภาวดี เล่าอีกว่า มีนักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงหลายคนที่เสียเงินไปกว่า 2 แสนบาท ก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะสำเร็จการศึกษาได้ ในขณะที่หลักสูตรที่เธอกำลังศึกษาอยู่ เสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 4 แสนบาท บวกกับตำรา หนังสือบางส่วนด้วย
สำเร็จการศึกษาก็ได้คำว่า "ดอกเตอร์" เหมือนกัน
"ยอมรับว่าชื่อเสียงของสถาบัน หรือการที่คนไม่รู้จักเป็นปัญหามาก แต่ไม่ใช่ปัญหาสำหรับคนที่แสวงหาความรู้ เพราะการศึกษาต้องมาจากตนเองอย่างแท้จริง โดยมีรางวัลตอบแทนเป็นวุฒิการศึกษาที่ไม่ยากเกินกำลังที่จะทำ"
ทบวง-ก.พ.รื้อหลักเกณฑ์ใหม่
พันธ์เรือง พันธ์หงส์ ผู้อำนวยการส่วนการศึกษาต่อต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กล่าวถึงการไปศึกษาต่อต่างประเทศในรูปแบบและวิธีการต่างๆ เช่น ไปรษณีย์ อินเตอร์ หรือรูปแบบโดยใช้สื่อผสมเข้า มาร่วมนั้น ยังไม่มีการรับรองวุฒิการศึกษา โดยเฉพาะในส่วนของผู้ที่จะเข้ามารับราชการ
"ผู้ที่เข้าศึกษาต่อในลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะเป็นทำธุรกิจ เจ้าของกิจการ หรือผู้จัดการองค์กร เอกชนที่ต้องการเพิ่มวุฒิการศึกษามากกว่าที่จะเข้า มารับราชการ"ผอ.ส่วนการศึกษาต่อต่างประเทศ กล่าว
ทางด้านศูนย์หลักสูตร ก.พ. ซึ่งจะพิจารณา และรับรองในเรื่องหลักสูตร เปิดเผยว่า กรณีการ ศึกษาทางไกล อินเตอร์ หรือใช้สื่ออื่นๆเข้ามาร่วม จะต้องมีการพิจารณา เพื่อตรวจสอบหลักสูตรการ ศึกษาที่เรียนมาว่าได้รับการรับรองว่าเข้าเกณฑ์หรือ ไม่ โดยจะพิจารณาเป็นรายๆไป
"การพิจารณาอนุมัติของ อ.ก.พ. ต้องมีหลักการ แต่ไม่ใช่ว่าการศึกษาในลักษณะที่นำสื่อการสอนมาร่วมอย่างนี้ จะไม่ได้รับการพิจารณาเรื่องคุณวุฒิเลย ซึ่งคงต้องมีการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดว่าอยู่ในระดับความรู้ใด"
อย่างไรก็ตาม มีความพยายามจากทบวงมหาวิทยาลัย ที่หารือร่วมกับทางก.พ. กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้การรับรองวุฒิการศึกษา จากการเรียน ในลักษณะนี้ โดยพยายามที่จะยกร่างขึ้นมา 1-2 ปีก่อน แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากติดขัดในแง่มุมการพิจารณาที่มีเสียงท้วงติงจากฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง ในด้านมาตรฐานและคุณภาพ
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และมาตรฐาน จะมีกรอบของทบวงมหาวิทยาลัยกำหนดอยู่ เช่น หากสำเร็จการศึกษาระดับ ปริญญาตรี-เอก จะต้องมีจำนวนหน่วยกิตเท่าไร เนื้อหาหลักสูตรวิชาการเป็นอย่างไร ก่อนหน้านี้ได้เปิดทำประชาพิจารณ์ไปแล้วในเรื่องของหลักเกณฑ์ แต่ยังไม่เรียบร้อย
ล่าสุด ได้มีการนำหลักเกณฑ์มาพิจารณาใน อ.ก.พ.อีกครั้งเมื่อต้นสัปดาห์ แต่ถูกส่งกลับให้ไปทำ ประชาพิจารณ์ใหม่อีกรอบ เพื่อความรอบคอบมาก ที่สุด ก่อนที่จะประกาศใช้จริง เพราะการตรวจสอบ ในลักษณะนี้ทำได้ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะประเด็นการนำสื่อต่างๆ เข้ามาร่วมในการศึกษา
นอกจากนี้ มีข่าวว่า หลักเกณฑ์ที่กำลังยกร่างขึ้นในขณะนี้อาจจะถูกรื้อใหม่อีกรอบ หลังการเปลี่ยน แปลงผู้บริหารระดับสูงในทบวงมหาวิทยาลัย
ก.พ.ไม่เคยอนุมัติ
แหล่งข่าวจากกองเทียบโอนวุฒิการศึกษาจากต่างประเทศของ ก.พ. เปิดเผยว่า การเสนอขอให้พิจารณารับรองวุฒิการศึกษา ระดับสูง(ป.โท-เอก) มีส่งเข้ามาถึงก.พ.จำนวนมาก แต่ถ้าเป็นการศึกษาลักษณะที่ใช้สื่อเข้ามาประกอบจะไม่เคยได้รับการรับรองจากก.พ.สักรายเดียว
ในส่วนของบริษัทเอกชนที่เสนอขอให้ช่วยพิจารณาเรื่องวุฒิทางการศึกษาจากก.พ.นั้น เคยมี แต่ไม่มากซึ่งก.พ.จะไม่รับพิจารณา หรือให้การรับรอง จะมีบ้างก็เป็นกรณีของบริษัทเอกชนใหญ่ หรือธนาคาร ที่ติดต่อสอบถามเข้ามาถึงสถาบันที่จะส่งบุคลากรไปศึกษาว่า ก.พ.ให้การรับรองหรือไม่ ในเรื่องหลักสูตร
อย่างไรก็ตาม สำหรับการศึกษาในลักษณะใช้สื่อผสม เรียนทางไกล หรือทางอินเทอร์เน็ต หากสอบถามมาที่ก.พ.ก่อน จะได้รับคำแนะนำว่าอย่าเสี่ยงต่อ การไปศึกษา เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า เพราะหลักสูตรอาจจะไม่ได้รับการรับรองจากก.พ. โดยเฉพาะหากต้องการยึดอาชีพข้าราชการ ทั้งนี้สถาบัน หรือหลักสูตรต่างๆ ที่ให้การรับรองนั้นสามารถที่จะตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ www.ocsc.go.th
เรียนดอกเตอร์เมืองไทยลงทุนไม่ถึงล้าน
"ผู้จัดการรายสัปดาห์" ได้ทำการสำรวจค่าใช้จ่ายในการเรียนระดับปริญญาเอกเฉพาะที่เป็นหลักสูตรภาคภาษาไทยของมหาวิทยาลัยชื่อดังของรัฐ 7 แห่ง โดยสอบถามเจ้าหน้าที่ของแต่ละมหาวิทยาลัย (ดูตารางประกอบ) พบว่า จุฬาลงกรณ์ฯมีค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร ในสาขาวิชาต่างๆ ประมาณ 110,000 - 150,000 บาท โดยคิดค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่ายสำหรับกลุ่มสายสังคมศาสตร์เทอมละ 11,000 บาท และสายวิทยาศาสตร์ เทอมละ 15,000 บาท
เกษตรศาสตร์ จัดเก็บแบบเหมาจ่ายเช่นกัน โดยแบ่งอัตราค่าธรรมเนียมเป็น 4 กลุ่ม คือ สังคมศาสตร์เทอมละ 11,500 บาท วิทยาศาสตร์เทอมละ 14,500 บาท เทคโนโลยีเทอมละ 16,500 และวิศวกรรมศาสตร์เทอมละ 17,500 บาท
นอกจากการจัดเก็บค่าเรียนแบบเหมาจ่ายแล้ว บางแห่งจะจัดเก็บตามหน่วยกิตที่ลงทะเบียนอย่าง ม.ธรรมศาสตร์ หน่วยกิตละ 1,500 บาท ม.มหิดล หน่วยกิตละ 900 บาท ส่วนม.เชียงใหม่ หน่วยกิตละ 300 บาทเฉพาะกลุ่มวิชาคอร์สเวิร์ค และกลุ่มวิชาวิทยานิพนธ์หน่วยกิตละ 400 บาทในสายวิทยา ศาสตร์ และ 250 บาทในสายสังคมศาสตร์ ด้านสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง จัดเก็บหน่วยกิตละ 300 บาท ในขณะที่ม.รามคำแหง จัดเก็บหน่วยกิตละ 4,000 บาท
เนื่องจากการศึกษาต่อระดับปริญญาเอกนั้น มีการแบ่งคุณสมบัติผู้ที่จะเข้าศึกษาต่อออกเป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มแรก คือ ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาโทมาสายเดียวกับสาขาวิชาที่จะเข้าศึกษาต่อ
กลุ่มที่ 2 คือ ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาโทมาสายเดียวกับสาขาวิชาที่จะเข้าศึกษาต่อ แต่จบมานานกว่า 5 ปี หรือเป็นกลุ่มที่จบการศึกษาต่อระดับปริญญาโทมาแล้ว แต่ไม่ตรงสาขาวิชาที่จะศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก แต่อาจมีพื้นฐานความ รู้จากที่เคยเรียนมาในรายวิชา
และกลุ่มสุดท้าย คือ นักศึกษาระดับปริญญาตรีที่สนใจเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอก โดยที่ยังไม่ศึกษาต่อระดับปริญญาโท
จากการจัดกลุ่มข้างต้นทำให้โครงสร้างราย วิชาในการเรียนแตกต่างกัน อาทิ กลุ่มแรกอาจไม่ต้องศึกษารายวิชาใดๆ เพิ่มเติม หรือศึกษาบ้างแต่ไม่คิด หน่วยกิต ส่วนกลุ่มที่สองอาจต้องศึกษาบางราย วิชาเพิ่มเติม เช่นเดียวกับกลุ่มที่ 3 ที่มีทั้งรายวิชาที่ต้องศึกษา ซึ่งอาจเท่ากันหรือมากกว่ากลุ่มที่ 2 รวมถึงบางหลักสูตรอาจกำหนดหน่วยกิจสำหรับทำวิทยานิพนธ์ให้กลุ่มนี้มากกว่า 2 กลุ่มแรก
ความแตกต่างของการกำหนดโครงสร้างหลักสูตรที่แตกต่างกันตามพื้นฐานการศึกษาของผู้ที่จะเรียน ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเรียนของนักศึกษาแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน เพราะโดยทั่วไปโครงสร้างค่าใช้จ่ายในการเรียนส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับระยะเวลาเรียน อาทิ ค่าธรรมเนียมการศึกษาที่จ่ายเป็นรายปี กลุ่มที่จบระดับปริญญาตรี มักใช้เวลาเรียนนานกว่ากลุ่ม อื่น ค่าธรรมเนียมเหล่านี้จึงมากกว่า นอกจากนี้จำนวนหน่วยกิตที่ต้องเรียนมากกว่า ก็ทำให้ค่าหน่วย กิตตลอดหลักสูตรของกลุ่มนี้มีมากกว่าด้วย
นอกจากหลักสูตรไทยแล้วหลักสูตรนานาชาติ ถือเป็นที่นิยมเปิดมากขึ้น ประเภทของสาขาวิชาแพทยศาสตร์จะเปิดมากในมหาวิทยาลัยรัฐอย่างที่ม.มหิดล แต่ถ้าเป็นประเภทวิทยาศาสตร์ และบริหารธุรกิจ จะมีทั้งในมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน อาทิ หลักสูตรของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือ เอไอที เปิดสอนทั้งหมด 4 ด้านรวมเป็น 28 สาขาวิชา ได้แก่ เทคโนโลยี วิศวกรรม วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และการจัดการ ค่าใช้จ่ายของการศึกษาที่นี่จะคิดเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐในอัตราที่เท่ากัน คือ 38,280 ดอลลาร์สหรัฐ จากระยะเวลาของการเรียนแต่ละหลักสูตรประมาณ 6 ภาคการศึกษา
ม.อัสสัมชัญ หรือเอแบค เปิดสอน 9 สาขาวิชา ด้านที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศว-กรรม มีค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าหน่วยกิตตลอดหลักสูตรประมาณ 336,000 บาท ส่วนด้านปรัชญา และศาสนา มีค่าใช้จ่ายที่ 120,000 บาท และภาวะผู้นำทางการศึกษา 513,000 บาท
นอกจากนี้กลุ่มหลักสูตรนานาชาติจะมีบางหลักสูตรที่เป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างชาติ อย่างเช่น ม.กรุงเทพ ที่เปิดเพียง 2 หลักสูตร คือ บริหารธุรกิจโดยเปิดร่วมกับThe University of Nebraska-Lincoln (USA) และนิเทศศาสตร์ที่เปิดร่วมกับ Ohio University (USA) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการเรียนตลอดหลักสูตรประมาณ 1,200,000 บาทเท่ากัน
ในส่วนของระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษาต่อระดับปริญญาเอกโดยทั่วไปแต่ละมหาวิทยาลัยจะกำหนดตามข้อกำหนดของคณะกรรมการการอุดม ศึกษา ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกสำหรับนักศึกษาที่จบระดับปริญญาโทแล้ว กลุ่มนี้ใช้ระยะเวลา เรียนประมาณ 3 ปีไม่เกิน 5 ปี และอีกกลุ่ม คือ นักศึกษาระดับปริญญาตรีที่มาศึกษาต่อระดับปริญญาเอกเลย กลุ่มนี้จะกำหนดให้มีระยะเวลาเรียนไม่เกิน 8 ปี แต่สำหรับบางหลักสูตรที่เป็นความร่วมมือกับต่างชาติอาจกำหนดเวลาเรียนที่ 4 ปี
หลักสูตรนานาชาติ! ต่างชาติการันตีฉลุย
หลักสูตรโกอินเตอร์!!ปริญญาเอก ที่เปิดเรียนเปิดสอนอยู่ในประเทศขณะนี้ พูดได้ว่ามีให้เลือกเรียนกันตามความชอบใจ หลากหลายทั้งเนื้อหาและวิชา มีทั้งในรูปแบบอินเตอร์ นานา ชาติ การประยุกต์(ทั้งนอกและใน) การดัดแปลง เป็นต้น นักศึกษาท่านใดที่อยู่ระหว่างการแสวง หาแหล่งความรู้ในระดับที่สูง "ดอกเตอร์" คงต้องค้นหากัน!
ความร่วมมือของสถาบัน และมีเครื่อง หมายการันตีว่า "หลักสูตร" นี้ มีที่มาจากต่างประเทศ ดูเหมือนว่าจะได้รับการยอมรับ และค่อนข้างเป็นที่สนใจของนักศึกษา
สถาบันการศึกษาหลายแห่งได้พยายามนำจุดนี้มาเป็นจุดขาย และค่อนข้างที่จะประสบผลสำเร็จได้รับความเชื่อถือ...
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในหลักสูตรปริญญาเอก สาขานิเทศศาสตร์นานาชาติ ที่ได้ร่วมมือกับ Ohio University (USA) ตั้งแต่ปี 1994(2537) และค่อนข้างที่จะประสบผลสำเร็จ เพราะมีนักศึกษาเข้าศึกษาอย่างต่อเนื่อง แม้ในระยะแรกจะเปิดรับสมัครปีเว้นปี ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร ประมาณ 1,100,000 บาท ในปีแรกจะศึกษาที่มหาวิทยาลัย ปีที่ 2 จะเดินทางไปศึกษาที่ Ohio University และก่อนกลับมาทำวิทยานิพนธ์ที่มหาวิทยาลัยในปีที่เหลือ จะรับได้รุ่นละไม่เกิน 20 คน
ดร.รสชงพร โกมลเสวิน หัวหน้าโครงการปริญญาเอก สาขานิเทศฯ กล่าวว่า การที่เชื่อมต่อ กับ Ohio University นั้นเพื่อสร้างความมั่นใจเรื่องมาตรฐานของหลักสูตร เพราะที่ Ohio University ได้รับการยอมรับว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับจากสากลทางด้านนิเทศฯ
"เครื่องมือ บุคลากร ประสบการณ์ และภาษา เป็นสิ่งที่นักศึกษาทุกคนใฝ่หา เพราะ Ohio University ถึงพร้อมในเรื่องนี้แบบไม่ต้องอธิบาย ทำให้นักศึกษาโตทั้งวุฒิภาวะและวุฒิการศึกษา" ดร.รสชงพร กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีคนดังหลายคนที่อยู่ในวงการสำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนี้ อาทิ จุฬาพันธ์ ผดุงชีวิต นักเขียนชื่อดัง อภิชาต อินทร วิสิทธิ์ พิธีกรอิสระ ที่เคยผ่านการศึกษาจากหลักสูตรนี้และสร้างชื่อมาแล้ว
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เอแบค เป็นสถาบันหนึ่งที่ได้รับการกล่าวถึงในช่วงที่ผ่านมา ถึงมาตรฐานการศึกษา กับหลักสูตรปริญญาเอก ในสาขา Ph.D. in Food Biotechnology (Ph.D.FB) และมีความร่วมมือกับ University of California at Davis,USA,
ตามหลักสูตรจะเน้นการศึกษาไบโอเทคโน-โลยีวิวัฒนาการใหม่ และชีวภาพ รวมถึงการบริหารจัดการ ศึกษา 5 ปี สำหรับนักศึกษาที่ต้อง การจะต่อในระดับปริญญาโท-เอก (2-3) และนักศึกษาจะเดินทางไปศึกษายัง University of California at Davis,USA, ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายทั้ง 2 ระดับอยู่ประมาณ 900,000 บาท (ป.โท อยู่ที่ 400,000 บาท และป.เอก 500,000 บาท)
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต กับหลักสูตรปริญญาเอก "Business Informatics" ที่ได้ Dr.Charles Sinclair Newton form University of New South Wales-Austratian Defence Force Academy เป็นประธานโครงการ
กฤษฎา ศิริข่วง ผู้ช่วยผู้อำนวยการหลักสูตรนี้ กล่าวว่า เป็นหลักสูตรที่เน้นการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์กับธุรกิจ และการบริหารจัดการข้อมูล ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งในโลกอนาคตในการผสมประสานระหว่างเทคโนฯกับระบบธุรกิจ มีนักศึกษาชาวต่างชาติที่ให้ความสนใจมาร่วมเรียนด้วย ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรประมาณ 900,000 บาท
ประเด็นแท้จริงวันนี้ที่พบจากปากคำของนักการศึกษาหลายคน(ทำธุรกิจการศึกษา) ระบุตรง กันว่า การนำหลักสูตรจากต่างประเทศ หลักสูตรนานาชาติเข้ามาประยุกต์ เมื่อให้น้ำหนักไปที่หลักสูตรประเทศต้นสังกัด จะทำให้หลักสูตร-โครงการผ่านการพิจารณาและให้การรับรองมาตรฐานจากสภามหาวิทยาลัยได้มากกว่า การที่จะนั่งเขียนหลักสูตรในประเทศขึ้นเอง
ดังนั้น หลักสูตรแบบลูกผสมและมีเครื่องหมายจากต่างประเทศให้การการันตี ดูจะเป็นของง่ายและเป็นสูตรสำเร็จไปเสียแล้ว ต่อการจัดหลักสูตรในระดับปริญญาเอก
เรียน "ดอกเตอร์"ในเมืองไทยง่ายจริงหรือ!?
การเปิดสอนในระดับปริญญาเอกของหลายๆ มหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนในบ้าน เราขณะนี้ถือว่ามี "ปริมาณ"ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวด เร็วด้วยเหตุนี้จึงทำให้หลายฝ่ายมองว่าปริญญาเอกที่เปิดสอนในบ้านเราจะได้มาตรฐานเหมือนกับการไปเรียนต่อ "ดอกเตอร์" ในต่างประเทศหรือไม่
รศ.ภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรม การการอุดมศึกษา ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมและตรวจสอบการเปิดหลักสูตรของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ บอกกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่ามหาวิทยาลัยที่ประสงค์จะเปิดหลักสูตรปริญญาเอก จะต้องมีความพร้อมทุกๆด้านและจะเป็นผู้กำหนดหลักสูตรมาเสนอต่อ สกอ.ซึ่งจะดูในเรื่อง ของมาตรฐานโดยรวมคือการจัดการศึกษาตามประกาศทบวงมหาวิทยาลัยเรื่อง "เกณฑ์มาตรฐาน ระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ.2542"โดยโครงสร้างหลักสูตรปริญญาเอก แบ่งการศึกษาเป็น 2 แบบ โดยเน้นการวิจัยเพื่อพัฒนานักวิชาการและนักวิชาชีพชั้นสูง คือ แบบ 1 เป็นแผนการศึกษาที่เน้น การวิจัยโดยมีการทำวิทยานิพนธ์ที่ก่อให้เกิดความ รู้ใหม่ สถาบันอุดมศึกษาอาจกำหนดให้เรียนรายวิชาเพิ่มเติมหรือทำกิจกรรมทางวิชาการอื่นเพิ่มขึ้นก็ได้โดยไม่นับหน่วยกิต แต่จะต้องมีผลตามที่สถาบันอุดมศึกษากำหนดคือผู้เข้าศึกษาที่สำเร็จปริญญาตรี จะต้องทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 72 หน่วยกิต ส่วนผู้เข้าศึกษาที่สำเร็จปริญญาโท จะต้องทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต ทั้งนี้ วิทยานิพนธ์ตาม (1) และ (2) จะต้องมีคุณภาพและมาตรฐานเดียวกัน
แบบ 2 เป็นแผนการศึกษาที่เน้นการวิจัยโดยมีการทำวิทยานิพนธ์ที่มีคุณภาพสูงและก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการและวิชาชีพ และศึกษางานรายวิชาเพิ่มเติม โดยมีข้อกำหนดให้ผู้เข้า ศึกษาที่สำเร็จปริญญาตรี จะต้องทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต และศึกษางานรายวิชาอีกไม่น้อยกว่า 24 หน่วยกิต ส่วนผู้เข้าศึกษาที่สำเร็จปริญญาโทจะต้องทำวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 36 หน่วยกิต และศึกษางานรายวิชาอีกไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิตทั้งนี้ วิทยานิพนธ์ตาม (1) และ (2) จะต้องมีคุณภาพและมาตรฐานเดียวกัน
รศ.ภาวิช บอกอีกว่า การเปิดสอนในระดับปริญญาเอกจะ ต้องมีอาจารย์ประจำอย่างน้อย 5 คน โดยได้มีการกำหนดคุณสมบัติไว้ว่า ต้องเป็น อาจารย์ประจำหลักสูตรเต็มเวลา ได้รับปริญญาเอกหรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการไม่ต่ำกว่า ศาสตราจารย์ในสาขาวิชานั้นหรือสาขาวิชาที่สัมพันธ์กัน จำนวนอย่างน้อย 3 คน ส่วนอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ต้องเป็นอาจารย์ประจำ ได้รับปริญญาเอกหรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่ง ทางวิชาการไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์ในสาขาวิชานั้นหรือสาขาวิชาที่สัมพันธ์กัน และต้องมีประสบการณ์ในการทำวิจัยที่มิใช่ส่วนหนึ่งของการศึกษา
นอกจากนี้ อาจารย์ผู้สอบวิทยานิพนธ์ จะต้องประกอบด้วยอาจารย์ประจำที่ต้องเป็นผู้ได้รับปริญญาเอกหรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์ในสาขาวิชานั้นหรือ สาขาวิชาที่สัมพันธ์กัน ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก สถาบันต้องเป็นผู้ได้รับปริญญาเอก หรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์ในสาขาวิชานั้นหรือสาขาวิชาที่สัมพันธ์กัน หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องในกรณีที่ไม่สังกัดสถาบันอุดมศึกษา
สำหรับอาจารย์ผู้สอน ต้องเป็นผู้ได้รับปริญญาเอกในสาขาวิชานั้นหรือสาขาวิชาที่สัมพันธ์กัน มีประสบการณ์ด้านการสอนและมีผลงานวิจัยเพิ่มเติมจากงานวิจัยที่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อรับปริญญา หรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์ หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องในกรณีที่ไม่สังกัดสถาบันอุดมศึกษา
ประการสำคัญ ภาระงานที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์และการค้นคว้าอิสระ ของอาจารย์ประจำหนึ่งคนให้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอก ไม่เกิน 5 คน หรือเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาการค้นคว้าอิสระของนักศึกษาปริญญาโท ไม่เกิน 15 คน หากเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาทั้งวิทยานิพนธ์และการค้นคว้าอิสระ ให้คิดสัดส่วนจำนวนนักศึกษาที่ทำวิทยา-นิพนธ์ 1 คน เทียบได้กับจำนวนนักศึกษาที่ค้น คว้าอิสระ 3 คน ทั้งนี้ให้นับรวมนักศึกษาที่ยังไม่สำเร็จการศึกษาทั้งหมดในเวลาเดียวกัน
สำหรับคุณสมบัติของผู้เข้าศึกษาในระดับปริญญาเอกจะต้องเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือเทียบเท่า จากสถาบันอุดมศึกษาที่ทบวงมหาวิทยาลัยรับรอง ซึ่งการลงทะเบียนเรียนและระยะเวลาการศึกษา ให้ลงทะเบียนเรียนได้ไม่เกิน 15 หน่วยกิตในแต่ละภาคการศึกษาปกติ และให้ใช้เวลาศึกษาอย่างมากในแต่ละหลักสูตรดังนี้
สำหรับผู้ที่สำเร็จปริญญาตรีแล้วเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ให้ใช้เวลาศึกษาอย่างมาก ไม่เกิน 8 ปีการศึกษา ส่วนผู้ที่สำเร็จปริญญาโทแล้วเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ให้ใช้เวลาอย่างมากไม่เกิน 5 ปีการศึกษา
รศ.ภาวิช กล่าวต่อว่า ทบวงมหาวิทยาลัยยังได้กำหนดเกณฑ์การสำเร็จการศึกษา นักศึกษา จะต้องปฏิบัติดังนี้ แบบ 1 สอบผ่านภาษาต่างประเทศอย่างน้อย 1 ภาษาตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สถาบันอุดมศึกษากำหนด สอบผ่านการ สอบวัดคุณสมบัติ (Qualifying Examination) เพื่อเป็นผู้มีสิทธิขอทำวิทยานิพนธ์ เสนอวิทยานิพนธ์และสอบผ่านการสอบปากเปล่าขั้นสุดท้ายโดยคณะกรรมการซึ่งจะต้องประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากภายในและภายนอกสถาบัน และผลงานวิทยานิพนธ์จะต้องได้รับการตีพิมพ์ หรืออย่าง น้อยดำเนินการให้ผลงานหรือส่วนหนึ่งของผลงานได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารหรือสิ่งพิมพ์ทางวิชาการ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในสาขาวิชานั้น
แบบ 2 ศึกษารายวิชาครบถ้วนตามที่กำหนด ในหลักสูตร โดยจะต้องได้แต้มระดับคะแนนเฉลี่ย ไม่ต่ำกว่า 3.00 จากระบบ 4 แต้มระดับคะแนนหรือเทียบเท่า สอบผ่านภาษาต่างประเทศอย่างน้อย 1 ภาษาตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สถาบันอุดมศึกษากำหนด สอบผ่านการสอบวัดคุณสมบัติ (Qualifying Examination) เพื่อเป็น ผู้มีสิทธิขอทำวิทยานิพนธ์ เสนอวิทยานิพนธ์และสอบผ่านการสอบปากเปล่าขั้นสุดท้ายโดยคณะกรรมการซึ่งจะต้องประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากภายในและภายนอกสถาบัน และผลงานวิทยานิพนธ์จะต้องได้รับการตีพิมพ์ หรืออย่างน้อยดำเนินการให้ผลงานหรือส่วนหนึ่งของผลงานได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารหรือสิ่งพิมพ์ทางวิชาการ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในสาขาวิชานั้น
"การประกันคุณภาพของหลักสูตรได้กำหนด การประกันคุณภาพไว้ทุกหลักสูตรอย่างชัดเจน ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยระบบการจัดการเรียน การสอนที่เน้นให้นักศึกษาสามารถศึกษาและแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ระบบการสอบวิทยานิพนธ์ ระบบการพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัย และให้มีระบบการประเมินเพื่อพัฒนาหลักสูตรทุก 5 ปี"
เขาระบุอีกว่าจากเกณฑ์มาตรฐานที่ทบวงมหาวิทยาลัยกำหนดมานั้นถือว่ามีความเคร่งครัดมากพอสมควรแต่เนื่องจากปัจจุบันมีสถาบันทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเปิดสอนในระดับปริญญาเอกเพิ่มขึ้นทางคณะกรรมการการอุดม ศึกษาจึงได้เตรียมที่จะเสนอมาตรการการควบคุม มาตรฐานการศึกษาในระดับปริญญาเอกเพิ่มขึ้นซึ่งในขณะนี้อยู่ในระหว่างการร่างข้อกำหนดดังกล่าวและคาดว่าจะนำเข้าที่ประชุมบัณฑิตวิทยา ลัยในราวปลายเดือนสิงหาคม 2547 นี้