xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลาล้มไพ่ ล้างกระดานบันเทิงไทย ตี๋ แม็ทชิ่ง คิดการใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายสัปดาห์ - เขาเคยถูกหยามหยันว่า "เพี้ยน"...เมื่อคิดทำบริษัทโปรดักชั่น เฮาส์ เขาเคยถูกตราหน้าว่า "บ้า"...เมื่อคิดนำบริษัทที่เขาสร้าง เข้าตลาดหุ้น MAI เขาเคยถูกปรามาสว่า "ฟลุก" เมื่อมูลค่าหุ้นไม่ตก สวนทางกับความคิดของใครหลายคน

แต่วันนี้ "เขา" สมชาย ชีวสุทธานนท์ หรือ ตี๋ แม็ทชิ่ง และแม็ทชิ่ง สตูดิโอ บริษัทโปรดักชั่น เฮาส์ ติด 1 ใน 10 ของโลก กำลังเป็นที่สนใจของคนในวงการบันเทิงอย่างยิ่ง เพราะหลายสิ่งหลายอย่างที่ "เขา" กำลังคิดและเคลื่อนไหวอยู่นั้น หากสำเร็จนั่นหมายถึงการพลิกโฉมอุตสาหกรรมโทรทัศน์และเพลงบ้านเราเลยทีเดียว

ภาพการรุกคืบเข้าไปธุรกิจบันเทิงอื่นๆ ของ "ตี๋ แม็ทชิ่ง" รุนแรง และชัดเจนมากยิ่งขึ้น ภายหลังจากแม็ทชิ่ง สตูดิโอ เปิดโอกาสให้ บริษัท บีบีทีวี โปรดัคชัน ซึ่งเป็นกิจการในเครือบริษัท กรุงเทพวิทยุและโทรทัศน์ หรือช่อง 7 เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 27.8% เพื่อต่อยอดธุรกิจ และให้เอื้อกันด้านธุรกิจบันเทิงครบวงจรมากขึ้น

"ผลของการร่วมทุนครั้งนี้ ทำให้เป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการทำธุรกิจของบริษัทเร็วกว่าที่ดำเนินการเองทั้งหมด" ตี๋ ในฐานะของ ประธานกรรมการ บริษัทแม็ทชิ่ง กล่าวไว้เช่นนั้น

ธุรกิจเป้าหมายของ "ตี๋" ไม่ได้วางกรอบอยู่แค่วงการบันเทิงเท่านั้น แต่ขยายขอบเขตออกไปทำธุรกิจที่จับโสตประสาทสัมผัส   แน่นอนว่าย่อมเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากหนัง และเพลง ซึ่งจะว่าไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลก หรือยากเกินกว่าที่คนอย่าง "ตี๋" จะทำได้ เพราะปีกธุรกิจที่สยายออกไปใหม่ ล้วนต่อยอดจาก Core Business ของบริษัทที่เขาเป็น เจ้าของอยู่ทั้งสิ้น

ทุกวันนี้ แม็ทชิ่ง ผลิตภาพยนตร์โฆษณาป้อน ให้วงการปีละ 100-150 เรื่อง และทุกวันนี้แม็ทชิ่ง ก็ผลิตเพลงโฆษณาด้วยเช่นกัน ดังนั้น แผนการรุกเข้าสู่ธุรกิจ ตาดู หูฟัง ของเขาจึงไม่ไกลเกินกว่าฝัน

แม้ว่าวันนี้ภาพการรุกไปในธุรกิจเพลงยังไม่ชัดเจน เพราะในวันที่ "ตี๋" เปิดออฟฟิศในบรรยากาศสวนสวยคุยกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา เขาได้ปฏิเสธถึงแนวคิดการทำค่าย เพลง ณ เวลานี้ แต่หลังจากจบบทสนทนาในวันนั้นเขากลับหยิบซีดีเพลงขึ้นมาเปิดให้คณะผู้สื่อข่าว ได้รับฟัง พร้อมหยอดคำถามว่า "เพราะไหม ?"

ไม่ต้องมีคำอธิบายอื่นใด เพราะสิ่งที่แสดง ออกในวันนั้น บ่งบอกอยู่ชัดเจนว่า เขาพร้อมแล้วที่จะลุยธุรกิจเพลง!!! ที่มีมูลค่าตลาดร่วมหมื่นล้านบาทในแต่ละปี หากคิดรายได้เฉพาะแกรมมี่ในปีที่ผ่านมาก็ปาเข้าไปถึง 3,804 ล้านบาท มิพักต้องพูดถึง อาร์เอส, เบเกอรี่ มิวสิก, รถไฟดนตรี และค่าย เพลงลูกทุ่งอื่นๆ

เมื่อ "ตี๋" เล่นดนตรี แกรมมี่-อาร์เอส ย่อมสะเทือน
การรุกเข้าสู่ธุรกิจดนตรีที่ต้องใช้ "หูฟัง" ของสมชาย แม้เป็นช่วงเริ่มต้นก่อร่างสร้างบริษัท จนบางคนอาจพาลมองไปว่าเป็นไก่อ่อน ที่ริจะเข้ามาต่อกรกับ 2 พญาอินทรีของวงการเพลงอย่าง จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ และอาร์เอส และเชื่อว่าอีกไม่นาน คงจะถูกจิกตายคาเวที ...แต่ไก่อ่อน อย่างแม็ทชิ่ง ไม่ใช่ไก่ย่าง 5 ดาว ที่จะให้ใครมาลองลิ้มชิมรสได้ง่ายๆ แต่เป็นไก่กระทงที่ศึกษาคู่ต่อสู้ และลับเดือย อาวุธคู่กายที่พร้อมจะโรมรันด้วย

วันนี้ ค่ายเพลงนิรนามของ "ตี๋" มี "โอม" ชาตรี คงสุวรรณ อดีตมือดีจากค่ายแกรมมี่มาร่วมชายคา อีกไม่นานจะมี "โจอี้ บอย" เข้ามาร่วมสมทบด้วยอีกคน และมีอีกหลายชีวิตที่มีวี่แววพาเหรดตามมา อย่าง "มิสเตอร์ทีม" เจ้าของอัลบัม "มันนี่ มันนี่" อัลบัมพิเศษ "ช่อมาลี ฟีเวอร์" อัลบัม "แอดเวนเจอร์" และอัลบัม "บั๊มพ์" ที่เชื่อว่าหลังจากหมดสัญญากับแกรมมี่ในอีก 1 ปี ข้างหน้าจะเดินตาม "โอม" ผู้ซึ่งปลุกปั้นให้พวกเขาแจ้งเกิดในวงการได้สำเร็จตามมาด้วย หรือแม้แต่ "ปาล์มมี่" ที่ค่อนข้างสนิทสนมกับ "ตี๋" พอสมควรก็เป็นไปได้ที่จะย้าย ค่ายด้วยเช่นกัน

นี่ขนาดยังไม่ได้ตั้งค่ายเพลงอย่างเป็นทางการ ยังครึกครื้นขนาดนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าต่อไปค่าย เพลงนี้จะยิ่งครึกครื้นขนาดไหน ?

"ศิลปินจะต้องมาอยู่กับตี๋อีกเยอะ" ต้อย แอ็คเนอร์ เซียนวงการบันเทิง วิเคราะห์ให้ฟัง

ที่สำคัญเพียงแค่การย้ายค่าย และข่าวเตรียม ย้ายค่ายของบรรดาครีเอทีฟกับเหล่าศิลปินก็ส่งแรงสะเทือนถึงค่ายยักษ์อย่างแกรมมี่เสียแล้ว เพราะเป็นธรรมดาเมื่อมีคนออก โดยเฉพาะคนระดับมันสมอง และแม่เหล็ก ย่อมมีผลต่อขวัญ กำลังใจของ คนที่เหลือ ไม่ต้องคิดเลยว่าหากต่อไปยิ่งออกมากขึ้น-มากขึ้น จะยิ่งส่งผลขนาดไหน

ไม่เพียงเท่านั้น กรณีการย้ายค่ายยังสะท้อนให้ เห็นถึงองค์กรด้วยว่าเป็นอย่างไร อุปมาคล้ายกับว่า ถ้าบ้านอบอุ่น ลูกหลานคงอยู่กันอย่างมีความสุข ไม่หนีออกไปไหน ขณะที่บ้านของ "ตี๋" จากมุมมองของ คนภายนอก ดูแล้วน่าจะอบอุ่น และน่าอยู่กว่า เพราะด้วยบุคลิก และอุปนิสัยของ "ตี๋" ที่มันส์ บ้า ฮา ติดดิน และเป็นกันเองกับศิลปิน ซึ่งเป็นบุคลิกที่แตกต่างจาก "อากู๋" ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม แห่งค่าย แกรมมี่อย่างสุดขั้ว น่าจะเป็นหัวใจสำคัญที่ดึงดูด "คนคุณภาพ" ให้อยู่ "ผลิตงานคุณภาพ" กับแม็ทชิ่งได้ยาวนานกว่า

อย่างไรก็ตาม หากเทียบศักยภาพระหว่างแกรมมี่กับแม็ทชิ่ง ณ วันนี้ อาจยังห่างกันอยู่หลายขุม ต่างจากอาร์เอสที่ค่อนข้างได้รับแรงสะเทือนจากการเข้ามาของ "ตี๋" มากกว่า เพราะด้วย สรรพกำลังขององค์กรทั้ง 2 ในปัจจุบันถือว่าค่อน ข้างพอฟัดพอเหวี่ยงกัน และที่ผ่านมาอาร์เอสค่อนข้างโหมหนักกับการรุกธุรกิจภาพยนตร์มากกว่า แม้ว่าระยะหลังจะพยายามปรับสัดส่วนรายได้ธุรกิจ ทั้ง 3 ขา (ภาพยนตร์-วิทยุ-เพลง) ให้เท่าๆกันก็ตาม

ณ วันนี้แกรมมี่ของ "อากู๋" อาจยังสบายใจได้ แต่คงวางใจได้ไม่นานนัก เพราะ "ตี๋" วาดหวังไว้ว่าในอีก 3-5 ปีข้างหน้า จะทำให้แม็ทชิ่งฯ มีขนาดธุรกิจใกล้เคียงกับแกรมมี่ ซึ่งตัวเร่งที่ทำให้แม็ทชิ่งโตเร็วได้ถึงขนาดนั้นก็คือ การเข้าร่วมทุนกับบีบีทีวี ที่มีช่องทางโปรโมตเพลงอันทรงพลังคือ สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 กับคลื่นเอฟเอ็ม 107.5 เมกกะเฮิรตซ์

แม้ว่าคลื่นที่มีอยู่ในมือจะยังน้อยเมื่อเทียบกับแกรมมี่ ที่ปัจจุบันถืออยู่ 6 คลื่น คือ 88.0 Peak FM, 91.5 Hotwave, 93.5 E FM, 94.0 Bangkok Radio และ 106.5 Green wave หรือแม้แต่ค่ายอาร์เอสที่ถืออยู่ 3 คลื่น 88.5, 93.5 และ 106 ก็ตาม แต่ด้วยความที่แม็ทชิ่งมีบริษัทในเครือของช่อง 7 เข้าร่วมถือหุ้นด้วย น่าจะทำให้เขาสามารถนำคลื่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ในระดับหนึ่ง และที่สำคัญคลื่นนี้เป็นคลื่นที่เชื่อว่า "ตี๋" น่าจะเข้ามาร่วมทำธุรกิจ ด้วย เพราะจากคำกล่าวของเขาในช่วงเวลาที่ผ่านมาว่า เขากำลังพิจารณาการเข้าสู่ธุรกิจวิทยุ และอยู่ ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรที่อยู่ในธุรกิจด้านนี้เพื่อร่วมเป็นพันธมิตรกัน เพราะวิทยุจะเป็นธุรกิจหนึ่งที่เข้ามาเสริมธุรกิจหลักของแม็ทชิ่งได้

แต่จะว่าไปแล้วการนำสื่อทั้ง 2 เข้ามาใช้เพื่องาน เพลงของ "ตี๋" นั้น ใช่ว่าสามารถทำได้อย่างราบรื่น ด้วยบริษัทกรุงเทพและโทรทัศน์ มีผู้ถือหุ้นอยู่ 2 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มธนาคารกรุงศรีอยุธยา กับกลุ่มตระกูลกรรณสูต กลุ่มแรกดูแลการเงิน ส่วนกลุ่มหลังดูเรื่องโปรดักชั่น ซึ่งคุณนายแดง สุรางค์ เปรมปรีดิ์ เป็นผู้เข้ามาดูแลด้วยตัวเองโดยตลอด เธอคง ไม่ยอมให้ใครมาทำให้คอนเซ็ปต์การนำเสนอราย การของช่อง 7 บิดเบี้ยวไปจากเดิม และการเข้าไปถือหุ้นในแม็ทชิ่งนั้นก็เป็นการเข้าไปถือในนามกลุ่มธนาคารกรุงศรีอยุธยา หาใช่สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ไม่ ดังนั้น หนทางการเข้าสู่ตลาดเพลงของ "ตี๋" จึงหาโรยไว้ด้วยดอกกุหลาบดังที่คิดไว้ไม่ แต่ด้วยความเป็นคนมี "ไอเดีย" หนทางการเข้าช่อง 7 ก็อาจไม่ยากจนเกินไป หากรูปแบบรายการ "โดนใจ" คุณ นายแดง
เต็มเติมรายการ
ล้างไพ่บันเทิงไทย

ที่ผ่านมาวงการโทรทัศน์ไทยมีการปรับตัวที่น่าสนใจ และแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับหนึ่ง เมื่อช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ได้ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ มาเป็นผู้อำนวยการคนใหม่ และเริ่มกระบวนการแปลงร่างแดนสนธยาให้กลายเป็นโมเดิร์นไนน์ ช่องแห่งความทันสมัย หลังจากนั้นหลายช่องก็เริ่มปรับตัวตาม

ช่อง 9 วางตำแหน่งเป็นสถานีข่าว นำเสนอข่าวตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมนำรายการสาระมาสร้าง ความแตกต่างจากช่องอื่นๆที่นิยมนำเสนอละครน้ำเน่า รายการเกมโชว์ไร้สาระ ด้วยการดึงปัญญา นิรันดร์กุล จากค่ายเวิร์คพอยต์เข้ามาร่วมผลิตรายการ เช่น เกมทศกัณฐ์ ซึ่งเป็นรายการเกมโชว์รายการแรกและรายการเดียวที่ออกอากาศแทรกในช่วงข่าวภาคค่ำ ปรากฏว่าสร้างปรากฏการณ์การ รับชมให้กับผู้ชมได้เป็นอย่างมาก และได้รับการตอบ รับจากบริษัทเอเยนซีเป็นอย่างดี สิ่งหนึ่งที่สะท้อนความนิยมของรายการนี้ก็คือ เป็นครั้งแรกที่สินค้าของยูนิลีเวอร์ลงโฆษณาในช่อง 9 อ.ส.ม.ท. นอกจากนี้ยังสังเกตได้เม็ดเงินโฆษณาที่หลั่งไหลเข้าสู่องค์กรแห่งนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากรายได้ในปี 2545-2546 ได้กำไร 112 ล้านบาท ปี 2546-2547 กำไร 559 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตถึง 399.3%

ผลการปรับตัวครั้งใหญ่ของโมเดิร์นไนน์ส่งผล ให้ไอทีวีต้องปรับตัวตามไปด้วย ที่เคยวางตำแหน่ง เป็นสถานีข่าวก็เปลี่ยนเป็นสถานีที่เพิ่มความบันเทิงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการดึง 2 ผู้ผลิตรายการไตรภพ ลิมปพัทธ์ กับ กันตนา เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายละ 10%

แม้โมเดิร์นไนน์จะปรับตัวสร้างกระแสการรับรู้ใหม่ไปแล้ว แต่ช่องอื่นๆยังคงนำเสนอรายการวนเวียนกับความต้องการของชาวบ้านร้านตลาดอยู่เช่นเดิม การนำเสนอรายการดังนี้ นับว่าเป็นช่องว่างให้ "ตี๋" ที่ชอบคิดนอกกรอบอยู่เสมอทำรายการออกมาสอดรับกับความต้องการของคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการรับชมรายการอื่นๆ ที่แปลกใหม่กว่าที่เคยรับชมอยู่ในปัจจุบัน แม้ว่าขณะนี้จะมีผู้ผลิตรายการรายเล็กรายน้อยอยู่ในวงการกันอยู่มาก และแต่ละรายต่างพยายามหาทางรอดด้วยการเกาะผู้ผลิตรายการค่ายใหญ่เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองก็ตาม แต่งานนี้ "ตี๋" ไม่หวั่น และสนามแรกที่จะเข้าไปรบ คือรายการเกมโชว์

"เราจะผลิตรายการโทรทัศน์ทั่วไป เหมือนเจเอสแอล หรือเวิร์คพอยต์ ส่วนละครยังไม่คิดจะผลิต ยืนยันว่าไม่คิด ผมไม่จำเป็นต้องไปรบในตลาดตรงนั้น แต่ในอนาคตอาจเป็นเป้าหมายของเรา ผมอยากทำซีรีส์เหมือนฮอล์มาร์คในเคเบิ้ลทีวี ซึ่งมันเป็นอีกตลาดหนึ่ง และช่อง 7 เขาแข็งแรงอยู่แล้ว เรียกว่าผมเป็นหน่วยเสริมเฉพาะกิจมากกว่า" ประธานกรรมการ แม็ทชิ่ง อธิบาย

อย่างที่ "ตี๋" บอก ...ในอนาคตเขาถึงจะเริ่มคิด ลุยละคร แม้ว่าเขาจะมีความพร้อมทั้งเครื่องมือเครื่องไม้ ความสามารถเพียงพอที่จะผลิตละครดีๆขึ้นมาสักเรื่อง เพราะขณะนี้เขากระโดดเข้าไปผลิตภาพยนตร์เรื่อง "ซีอุย" เรียบร้อยแล้ว และเชื่อว่า "เขา" คงจะลุยงานภาพยนตร์ไปอีกสักระยะ เพื่อสร้างความยอมรับในวงการภาพยนตร์ก่อน อย่างน้อยก็คงนานพอกว่าที่ สตีเวน สปีลเบิร์ก โทรมาชวน "ตี๋" ไปร่วมทำงานด้วยกันตามที่เคยใฝ่ฝันเอาไว้ และหลังจากนั้นเขาอาจจะหันมาผลิตละครโทรทัศน์ดีๆสักเรื่องให้คนไทยได้ดูก็ได้

"หากรายการเกมโชว์ และรายการอื่นๆ ของ "ตี๋" ที่ผลิตออกมาสามารถเสริมช่องว่างของสังคม และการรับรู้ของผู้รับชมได้ เมื่อนั้นการรื้อไพ่ ล้างกระดานวงการบันเทิงไทยจะเกิดขึ้น" ต้อย แอ็ค เนอร์ สรุปไว้อย่างน่าสนใจ

เบื้องหลัง!! บีบีทีวี เข้าร่วมทุนแม็ทชิ่ง
ดูเหมือนว่า การตกลงปลงใจของบริษัท บีบีทีวี โปรดัคชั่น จำกัด ที่จะเข้ามาร่วมทุนกับบริษัทแม็ทชิ่ง สตูดิโอ จำกัด(มหาชน) ค่อยๆ เกิดขึ้นมาจากสายสัมพันธ์ที่สร้างสมมาเนิ่นนานระหว่าง ชาลอต โทณวณิก และสมชาย ชีวสุทธานนท์ ครั้งเมื่อทั้งสองฝ่ายมาเจอกันในช่วงของการผลิตหนังโฆษณาให้กับแบงก์กรุงศรีอยุธยา

ที่มาของสายสัมพันธ์เริ่มก่อตัวขึ้นด้วยรูปแบบลักษณะการทำงานของ ตี๋ แม็ทชิ่ง ที่ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่เป็น "โปรดักชั่น เฮาส์" ที่รับผลิต งานโฆษณาเท่านั้น

แต่จะเน้นวิธีการทำงานแบบถึงลูกถึงคน ขอเข้าไปร่วมสร้างสรรค์งานทั้งในแง่ของการตลาด และการครีเอทีฟ ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบที่ ตี๋ แมทชิ่ง หรือ สมชาย ชีวสุทธานนท์ ใช้งานโฆษณาเป็น บันไดที่จะสามารถต่อยอดนำไปสู่กลุ่มธุรกิจอื่นๆ ได้

ทว่า ..การต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่นได้นั้น ก็คงต้องอาศัย จังหวะ และเวลา รวมไปถึงความพึงพอใจในผลงานของกันและกัน ถือว่าสิ่งที่เป็น ประเด็นสำคัญที่สุด ในการ Synergy หรือ Alliance คือการมีมุมมองภาพเดียวกันหรือปล่าว นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด

"ผมจำได้ว่ายังเซอร์ไพรส์ ตอนนั้นที่แบงก์ กรุงศรีจับภราดรมาโฆษณาแล้วมันก็สร้างสมให้ภาพของแบงก์กรุงศรี ไปในแง่ของอินเทรนด์ อันนี้คือมุมมองของพี่ชาลอต และเป็นสิ่งที่ผมคิด ว่าการที่ผมจะ Synergy กับใคร ผมก็ต้องดูเหมือนกัน เค้าเองเป็นมุมมองของแบงก์เกอร์ ที่มีความเป็น ครีเอทีฟ พยายามจับแมส" นั่นเป็นคำกล่าวของตี๋

ฟังดู เหมือนจะเป็นไปในน้ำเสียงเดียวกัน กับคำกล่าวของชาลอต

"เราได้มีโอกาส เจอกันเพราะโฆษณาจริงๆ ภราดรเป็นพ่อสื่อ เค้าดังมากในวงการ แต่ไม่เคยรู้จักกันเลย เจอกันวันแรก พี่ไปนั่งดูถ่ายโฆษณา 3 เรื่อง เห็นการโปรดักชั่นเป็นยังไง ทำให้ได้คลุกคลีรู้จักกันมากขึ้น แล้วบังเอิญว่า หนังได้รับรางวัล 2 เรื่อง ในแง่ของการสร้างสรรค์สังคม หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้เห็นข่าวตี๋มาตลอด คิดว่า คนนี้ดูแล้วก็ไม่ธรรมดา"

เวลาผ่านไปไม่นาน ความลงตัวระหว่างธุรกิจก็ได้เริ่มก่อตัวขึ้น เมื่อ ชาล็อต ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในสายแบงก์ ถูกวางตัวให้มาบริหารงาน ของ บีบีทีวี โปรดัคชั่น จำกัด เรียกได้ว่าเป็นสาย งานทางด้านเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนเลย และเมื่อมานั่งตรึกตรองดู แน่นอนว่าการนำพาธุรกิจที่ได้รับมอบหมายให้เป็นไปตาม เป้าหมายได้จะต้องหาหุ้นส่วนทางธุรกิจที่ไว้วางใจ ได้มาเป็นพันธมิตร

สำคัญที่สุด พันธมิตรนั้น ยังต้องเป็น "กูรู" ในวงการ เพื่อให้สมน้ำ สมเนื้อ กับความเป็นช่อง 7 สถานีโทรทัศน์ที่มี เรตติ้งดีที่สุดในประเทศไทย

นับว่าเป็นโอกาสที่ดี.... จังหวะเดียวกันนั้น แมทชิ่งกำลังมองหาพันธมิตรเพิ่มทุน เพื่อที่จะขยายตลาด เข้าไปสู่การทำธุรกิจที่ครบโสตประสาทสัมผัส หรือ Full Sevice Entertainment

ความลงตัวในธุรกิจจึงได้เริ่มขึ้น......... การเจรจาทางธุรกิจของทั้ง 2 ฝ่าย จึงได้เริ่มขึ้นอีกครั้ง วินาทีนั้น ภาพบรรยากาศในการเจรจาเป็นไปอย่างชื่นมื่น และหากจะคาดหวังให้ผลของการเจรจาครั้งนั้น บรรลุวัตถุประสงค์.....คงไม่ใช่เรื่อง ยาก......เพราะผู้บริหารของทั้งสองฝ่าย มีความพึงพอใจในวิสัยทัศน์ มุมมองธุรกิจ ที่คล้ายๆ กัน ในที่สุดทั้งสองฝ่าย จึงได้ตกลงร่วมลงทุนกัน เป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ เพื่อนำจุดแข็ง มาปิดจุดอ่อน เสริมสร้างความแกร่ง เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจร่วมกัน
เพิ่มทุน "MATCH" ทำรายย่อยจุก กระทบราคาหุ้น – ภาพธุรกิจยังไม่ชัด
การที่บริษัท บีบีทีวี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของกลุ่มบริษัทกรุงเทพวิทยุและโทรทัศน์ ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 เข้ามาร่วมทุนกับบริษัทแม็ทชิ่ง สตูดิโอ จำกัด(มหาชน) หรือ MATCH เมื่อ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา ด้วยการเพิ่มทุนถึง 136.5 ล้านหุ้นและเสนอขายให้ กับบีบีทีวีเป็นการเฉพาะเจาะจง โดยทางแม็ทชิ่ง เปิดให้เข้ามาถือหุ้น 27.8%

การเปิดทางให้บีบีทีวีเข้ามาเป็นพันธมิตรรายใหญ่ นับได้ว่าเป็นความลงตัวในทางธุรกิจ ที่แม็ทชิ่งมีความแข็งแกร่งเรื่องการโฆษณาและการทำรายการทีวี ขณะที่บีบีทีวีมีสถานีโทรทัศน์ช่อง 7

"การเข้ามาร่วมถือหุ้นในแม็ทชิ่ง ไม่ได้หมายความว่าทางแม็ทชิ่งจะเสนอรายการต่าง ๆ แล้วอนุมัติทันที ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการเหมือนกับรายอื่นทั่วไป เราเข้ามา เป็นเพียงการเข้าเสริมทางด้านเงินทุนเท่านั้น" ชาลอต โทณวณิก ประธานกรรมการ บีบีทีวี กล่าว

ล่าสุดบริษัทลูกของแม็ทชิ่ง คือ แม็ทชิ่ง บรอดคาสท์ ได้เข้าลงทุนบริษัท แม็ทชิ่ง เทเลวิชั่น จำกัด 65% ของทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท บริษัทนี้จะเป็นเป็นผู้ผลิต และรับจ้างผลิต ตลอดจนการขายโฆษณารายการโทรทัศน์ ทั้งนี้เพื่อให้การผลิตรายการทีวี ซึ่งเป็นสายงานหนึ่งของบริษัทมีการดำเนินธุรกิจที่ครอบคลุม และสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กลุ่มบริษัท

นับตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์อนุญาตให้หุ้น MATCH ซื้อขายได้ตามปกติ หลังจากที่ได้ให้รายละเอียดถึงหุ้นเพิ่มทุนและพันธมิตรที่เข้ามาร่วมถือหุ้น ราคาหุ้น MATCH กลับปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากระดับ 10.10 บาทในวันก่อนประกาศเพิ่มทุน ลงมาเคลื่อนไหวที่ระดับ 9.05 บาทก่อนที่จะดีดกลับไปที่ 9.25 บาทเมื่อ 7 กรกฎาคม 2547 ขณะที่ใบสำคัญแสดงสิทธิของบริษัท (MATCH-W1) กลับสวนทางกับราคาหุ้นสามัญที่ราคาเริ่มปรับลดลง

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์กล่าวว่า หุ้นเพิ่มทุน ที่เสนอขายให้กับนักลงทุนเฉพาะเจาะจงเพียงอย่างเดียวถึง 27.8% แถมมอบใบสำคัญแสดงสิทธิให้อีก ซึ่งทางบีบีทีวีมีสิทธิแปลงเป็นหุ้นสามัญได้ ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นในแม็ทชิ่ง เพิ่มขึ้นเกือบ 50% โดยการเพิ่มทุนในครั้งนี้ไม่ได้เปิดให้กับรายย่อยได้ซื้อหุ้นเพื่อรักษาสัดส่วน ย่อมทำให้ราคาหุ้นปรับลดลงตามสัดส่วนของจำนวนหุ้นและจำนวนใบสำคัญแสดงสิทธิที่เพิ่มขึ้น โดยหลักการแล้วราคาหุ้น MATCH และ MATCH-W1 ย่อมต้องปรับลดลงเท่ากับสัดส่วนที่เปิดให้นักลงทุนรายใหญ่ เข้ามาถือหุ้น ดังนั้นราคาหุ้นของแม็ทชิ่งควรอยู่ที่ประมาณ 8-9 บาท ถือว่าเต็มมูลค่าแล้ว

โดยหลักการแล้วการเพิ่มทุนในลักษณะนี้สามารถทำได้ ซึ่งบริษัทที่ต้องการหาพันธมิตรใหม่มักจะใช้วิธีการเช่นนี้และไม่เปิดโอกาสให้กับนักลงทุนรายย่อย แต่ในทางปฏิบัติแล้วผู้ถือหุ้นรายย่อยของ MATCH จะเป็นฝ่ายที่เสีย เปรียบ เพราะราคาหุ้นจะลดลงทันทีจากปริมาณ หุ้นที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก

"หุ้น MATCH หลังจากปรับราคาพาร์จาก 5 บาท เหลือ 1 บาท เคยขึ้นไปถึง 21.73 บาท เช่นเดียวกับใบสำคัญฯ MATCH-W1 ที่เข้าซื้อขายวันแรกเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2547 ราคาปิดที่ 6.50 บาท จากนั้นทั้งราคาหุ้นแม่และใบสำคัญฯ ต่างปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จนลงมาเคลื่อนไหว ที่บริเวณ 9.25 บาทและ 3.26 บาท ถือว่ารายย่อยหลายรายเจ็บตัวกับหุ้นตัวนี้ไปแล้วรอบหนึ่ง และต้องมาเจ็บตัวซ้ำสองหลังจากที่มีการเพิ่มทุน ครั้งใหญ่ให้กับกลุ่มช่อง 7 โดยที่รายย่อยไม่ได้รับสิทธิส่วนนี้"  นักวิเคราะห์กล่าว

ที่สำคัญคือการเพิ่มทุนในครั้งนี้แล้วทางแม็ทชิ่งได้เงินไปราว 392 ล้านบาท ซึ่งทางบริษัทระบุว่า เพื่อสำรองในการขยายกิจการของ กลุ่มบริษัทในอนาคต และเพื่อใช้เป็นเงินทุน หมุนเวียนในการดำเนินงานทั่วไปของกลุ่มบริษัท ดังนั้นนับจากนี้ไปคงจะต้องดูว่าการขยายงานของทางแม็ทชิ่งจะสร้างรายได้ที่มากพอและส่งผลกลับมายังราคาหุ้นที่รายย่อยถือไว้หรือไม่

พันธมิตรใหม่อย่างช่อง 7 ถือเป็นการสร้าง ความได้เปรียบให้กับแม็ทชิ่ง เป็นอย่างมาก เพราะแม็ทชิ่งเองได้ต่อยอดธุรกิจจากฐานธุรกิจ โฆษณา เริ่มที่ขยายงานไปสู่กิจการข้างเคียง เช่น ผลิตรายการโทรทัศน์ ให้เช่าอุปกรณ์ ผลิตภาพยนตร์ มูฟวี่ทาวน์ ผลิตหนังสือและรุกธุรกิจโฆษณาในต่างประเทศ ล่าสุดมีการเตรียมการในธุรกิจด้านเพลง

"รายรับที่จะเข้ามาหลังจากได้เงินเพิ่มทุนในครั้งนี้จะเป็นตัวพิสูจน์ว่าราคาหุ้น MATCH ที่รายย่อยถือหุ้นไว้แล้วไม่ได้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนจะเป็นการรอคอยที่คุ้มค่าหรือไม่"

สำหรับคำแนะนำในการลงทุนหุ้นตัวนี้ขณะนี้เรายังไม่ทราบความชัดเจนถึงสิทธิประโยชน์ที่ทางแม็ทชิ่งจะพึงได้กลุ่มช่อง 7 มาเป็นผู้ถือหุ้นร่วม ดังนั้นจึงมองภาพของแม็ทชิ่งยังไม่ชัด ดังนั้นนักลงทุนอาจต้องตัดสินว่าควรจะถือต่อหรือตัดสินใจขาย คาดว่าจากนี้จนถึงสิ้นปีอาจจะยังไม่เห็นความชัดเจนดังกล่าว

อย่างไรก็ตามในต้นปี 2548 หุ้น MATCH จะยกระดับจากตลาด MAI ขึ้นไปซื้อขายในตลาดหุ้นใหญ่ (SET) ซึ่งอาจจะมีผลในเรื่องจิตวิทยาด้านราคาได้ในช่วงปลายปี 2547
สิ่งที่คุณอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับ "ตี๋ แม็ทชิ่ง"
"ตี๋ แม็ทชิ่ง"เป็นคนสนุกสนานเป็นนักเล่าเรื่อง...การให้สัมภาษณ์เขามักมีแง่มุมให้อมยิ้ม ชวนให้ติดตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเขาพริ้มตาเล่าถึงเรื่องราวชีวิตในอดีตของตัวเองนั้น ร้อยทั้งร้อยที่ได้รับรู้ประวัติชีวิตของเขา คงรู้สึกคล้ายกันว่าผู้ชายคนนี้น่าสนใจมาก...มากขนาดทำเป็นหนังชีวิตชนิดเข้มข้นได้สบายๆ !

ก่อนหน้านี้ ชื่อของ ตี๋ แม็ทชิ่ง หรือ สมชาย ชีวสุทธานนท์ เป็นที่รู้จักก็เฉพาะแต่ในแวดวงโฆษณา คนทั่วไปอาจรู้จักเขาเพียงว่าเป็นคนที่เกี่ยว ข้องกับงานโปรดักชั่น เฮาส์...เกี่ยวกับแม็ทชิ่ง สตูดิโอ ทว่าหลังจากสั่งสมความน่าเชื่อถือ ตลอดจนการขยายธุรกิจในเชิงรุกของแม็ทชิ่ง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมไปถึงการที่แม็ทชิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ใหม่ในช่วงต้นปีที่แล้ว ชื่อของ ตี๋ แม็ทชิ่ง ในฐานะ CEO ของบริษัท ก็เข้าไปอยู่ในความจดจำของใครหลายๆ คน

และหากยังจำได้...ตี๋ แม็ทชิ่งคนนี้นี่แหละ ที่ใช้ลวดสลิงดึงตัวเองให้ลอยต่องแต่งอยู่ที่หน้าตึกตลาดหลักทรัพย์ในงานเปิดตัวหุ้นแม็ทชิ่งเข้าซื้อขาย ในตลาด...จนเป็นภาพข่าวหน้าปกหนังสือพิมพ์หลาย ฉบับในวันถัดมา...เขาคงเป็น CEO คนเดียวกระมังที่กล้าทำแบบนี้

นี่แหละ ตี๋ แม็ทชิ่ง
หลายเดือนก่อน ตอนที่กลิ่นอายของการประกาศผลสอบเอนทรานซ์ยังอบอวล  ภาพ "ตี๋ แม็ทชิ่งออกสู่สายตาประชาชนในฐานะพรีเซนเตอร์ระบบโทรศัพท์มือถือ เป็นโฆษณาที่ให้กำลังใจน้องๆ ที่พลาดหวังจากการสอบ ตี๋พูดในโฆษณาว่าให้ลอง นึกถึงคนจำนวนมากที่ก็สอบเอนทรานซ์ไม่ติดเหมือนๆ กัน

"ถ้าไม่ใช่คุณที่ทำให้พ่อแม่ยิ้มได้ ถ้าไม่ใช่คุณที่ได้ฉลองกับเพื่อน...ร้องไห้มาเถอะครับ แต่อย่ายอมแพ้ ถ้าคิดว่าเอนท์ไม่ติดแล้วหมดโอกาส ผมยังไม่มีโอกาสได้เอนทรานซ์เลยด้วยซ้ำ! ตี๋ทิ้งท้าย

ไม่เพียงเขาจะไม่มีโอกาสได้สอบเอนทรานซ์เท่านั้น ช่วงหนึ่งของชีวิตที่ผ่านมา ครอบครัวเขาแทบ จะไม่มีอะไรกินเลยด้วยซ้ำ!

อะไรคือจุดพลิกผันให้เขาขึ้นมายืนถึงจุดนี้...นี่เป็นอีกประเด็นที่น่าติดตาม

ตี๋ แม็ทชิ่ง เกิดในครอบครัวค้าขาย มีโรงงานเล็กๆ ทำตะกั่วถ่วงแห แม้ไม่ได้ร่ำรวย แต่ก็ไม่ลำบาก เขาเป็นลูกคนที่ 3 ของพี่น้อง 7 คน ซึ่งดูแล้วเส้นทางชีวิตของเขาก็น่าจะเรียบง่าย และควร เติบโตไปอย่างมั่นคง เนื่องจากลูกๆ ของครอบครัว "ชีวสุทธานนท์" ต่างเป็นเด็กเรียนดี รวมทั้งเด็กชายตี๋ ด้วย เขาเคยคว้าคะแนนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์มาให้ครอบครัวภูมิใจมาแล้ว

ทว่า เมื่อตี๋ผ่านช่วงวัยมัธยมต้นที่โรงเรียนอัสสัมชัญ แล้วมาเรียนต่อสายพาณิชย์ที่วิทยาเขตพณิชยการพระนคร พฤติกรรมเขาเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ การเรียนเริ่มตกต่ำ และเป็นตัวแสบของสถาบัน เป็นสมาชิกในกลุ่มเด็กเฮี้ยว ทั้งเหล้า ทั้งยา ยกพวกตีกัน...ตี๋ ผ่านมาหมด

จากบทสัมภาษณ์ในนิตยสารแพรว เขาเล่าว่า สมัยเด็ก เขาก็เป็นเหมือนเด็กตัวเล็กทั่วๆ ไป คือมักถูกเพื่อนล้อ แต่การถูกล้อนั้นมันทำให้เขาเกิดความรู้สึกต่อต้าน และเป็นแรงผลักดันให้ต้องทำ ตัวซ่า เพื่อเรียกร้องความสนใจ ผลมันเลยออกมา เป็นแบบนั้น

แล้วชีวิตสนุกสุดเหวี่ยงของเขาก็จบลงที่วิกฤตของครอบครัวประดังเข้ามา...พ่อไปเซ็นค้ำประกันหนี้ให้คนรู้จัก แล้วถูกโกง จนกิจการต้องล้มละลาย ซึ่งเขาในฐานะลูกชายของบ้านจึงไม่อาจปล่อยให้แม่ และพี่น้องต้องลำบากแต่เพียงลำพัง ทว่าเขาเองก็ยังต้องเรียนหนังสืออยู่ จะมีรายได้บ้างก็มาจากการเพิ่งเริ่มเข้าไปฝึกงานที่เอวี.คราฟท์ ซึ่งเป็นโปรดักชั่น เฮาส์มีชื่อในยุคนั้น

ตอนนั้น พ่อเขาหนีไปอยู่ไหนไม่มีใครรู้ บรรยากาศที่บ้านมีแต่เสียงร้องไห้ และทุกคนต้องเริ่มอดมื้อกินมื้อ

นั่นเป็นช่วงที่หนักที่สุดในชีวิตของตี๋ เขาอดข้าวเพื่อให้น้องๆ ได้กิน เขาเคยหิวจนแทบเป็นลมถึงขนาดต้องเข้าไปตักเศษอาหารที่คนในออฟฟิศกิน เหลือเข้าปากทั้งน้ำตา เพราะไม่ได้กินอะไรมาถึงสองวันแล้ว

ภาวะเช่นนี้มันได้เคี่ยวกรำให้เขาเป็นคนมุ่งมั่น และอดทน ทะเยอทะยานดิ้นรนเพื่อให้ครอบครัวมั่นคง ไม่ให้ต้องมีใครลำบากอีกต่อไป

หลังจากผ่านงานที่เอวี.คราฟท์ เขาโยกตัวเองมาที่ฟาร์อีสต์ แอดเวอร์ไทซิ่ง ในฐานะฟิล์ม โปรดิวเซอร์ ด้วยเงินเดือนหลักหมื่นในขณะนั้น ซึ่งก็ช่วยให้ปัญหาทางบ้านเขา ค่อยๆ บรรเทา และจากประสบการณ์การทำงานในวงการโฆษณามาตลอด ในที่สุดเขาเริ่มเห็นลู่ทางที่จะทำธุรกิจส่วนตัวได้ ทำอยู่ที่นี่สองปีจึงได้ลาออกมา และในปี 2533 ห้างหุ้นส่วนจำกัด แม็ทชิ่งฟิล์มเกิดขึ้น โดยเป็นธุรกิจ ที่รับงานผลิตโฆษณา ซึ่งตี๋แทบจะทำงานทุกอย่างด้วยตัวเอง

แต่การก่อร่างสร้างกิจการจนยิ่งใหญ่เฉกเช่นทุกวันนี้ได้นั้น... "คน" คือ  ปัจจัยสำคัญ

ผู้ร่วมบุกเบิกแม็ทชิ่งกับตี๋ ล้วนแล้วแต่เป็นคนระดับ "พรสวรรค์" ทั้งนั้น!

จากจุดเริ่มในการทำงานตรงนั้น ทำให้เขาได้พบกับ "ดอม ฐนิสสพงศ์ ศศินมานพ" สุดยอดช่างภาพที่เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการก่อตั้งแม็ทชิ่ง สตูดิโอในอีกสองปีถัดมา ระยะแรกทั้งสองผลัดกันเป็นผู้กำกับในงานที่เข้ามา แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง บริษัทเขาเริ่มโต ตี๋ผันตัวเองสู่การเป็นผู้บริหาร ขณะที่งานการกำกับ เขาได้ชวน "มั่ม สุธน เพ็ชรสุวรรณ" ผู้กำกับฝีมือดีที่รู้จักกันมาตั้งแต่ตี๋ยังอยู่ที่เอวี.คราฟท์ให้มาช่วยงานเขา รวมทั้งผู้กำกับหัวใจศิลปินอย่าง แหม่ม มาม่า บูลส์

นอกจากนี้ การสร้างคนยังถือเป็นความมุ่งมั่นของตี๋ที่จะช่วยเสริมการขยายอาณาจักรของเขาต่อไป

"จะหาคนที่ดีพร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์นั้นเป็นเรื่อง ที่ยาก แต่ถึงแม้เขาจะมีดีซัก 60-70 เปอร์เซ็นต์ ก็ให้เขาได้มีโอกาสได้ทำในสิ่งที่เหมาะกับความถนัดของเขา มันก็จะกลายเป็นคุณค่าร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว" เขาบอก

ความสำเร็จของแม็ทชิ่งในวันนี้ มาจากความมุ่งมั่น บวกความสามารถของตี๋ กับชาวแม็ทชิ่งทุกคน ที่พร้อมจะมองหาโอกาส และแปรรูปความคิดความฝันให้เป็นความจริง แม้ในระหว่างทางอาจเคย มีการปรามาสจากผู้คนที่ไม่เชื่อในความสามารถของคนไทยด้วยกัน

แต่ตี๋ แม็ทชิ่งก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าวันนี้ความ ตั้งใจพาเขาไปได้ไกลขนาดไหน

..และล่าสุดได้ยินว่าตี๋เปรยว่า เขาฝันว่าสักวันหนึ่ง ผู้กำกับชื่อดังอย่าง สตีเวน สปีลเบิร์ก จะโทรมาหาเขา บอกว่าอยากร่วมงานด้วย
คราวนี้ใครจะกล้าปรามาสเขาอีก!
กำลังโหลดความคิดเห็น