xs
xsm
sm
md
lg

เปิดสเปกค้าปลีกรถไฟฟ้าใต้ดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พื้นที่ค้าปลีกรถไฟฟ้าใต้ดินยังไม่สรุป เมโทรมอลล์ยังเจรจายันยังไม่มีเซ็นสัญญากับใครทั้งสิ้น เผยสเปกธุรกิจค้าปลีกของเมโทรมอลล์ บริการทางการเงิน อาหารและเครื่องดื่ม ไปรษณีย์ เพยพ้อยท์ คอนวีเนียนสโตร์ อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ มาแรง ชี้ระบุชัดเจนต้องการเทสโก้โลตัสเอ็กซ์เพรส ค่าเช่าคิด 1,500-3,000 บาทต่อตารางเมตร

แม้ว่าโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (หัวลำโพง-บางซื่อ) ระยะทาง 20 กิโลเมตร รถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศไทยเตรียมที่จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 กรกฎาคม 2547

ทว่า พื้นที่ค้าปลีกเชิงพาณิชย์นั้น ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า เป็นอย่างไรมีใครบ้างที่ได้พื้นที่ มีร้านอะไรจะมาเปิดบริการ รวมไปถึง ความไม่มั่นใจของบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆที่จะมาเปิดร้านค้าในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินนี้ ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่อย่างไร เพราะมีตัวอย่างมาแล้วจากกรณีของ พื้นที่ค้าปลีกบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่ในช่วงแรกไม่ประสบความสำเร็จมีการปิดร้านและเปลี่ยนมือไปแล้วจำนวนมาก

ทั้งๆที่ตัวเลขจากการประมาณการของ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด หรือบีเอ็มซีแอล ดูเหมือนว่าจะพยายามสร้างแรงดึงดูดให้ผู้ประกอบการธุรกิจมีความมั่นใจขึ้นบ้าง ที่คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการประมาณ 250,000 คนต่อวัน โดยจะมีรถไฟฟ้าวิ่งทั้งหมด 19 ขบวนต่อวัน ใน 1 ขบวนจะมีจำนวน 3 ตู้ ซึ่งแต่ละตู้มีความจุผู้โดยสารได้ประมาณ 320 คน สามารถจุผู้โดยสารได้เฉลี่ย 40,000 คนต่อชั่วโมง

แหล่งข่าวจาก บริษัท เมโทร มอลล์ จำกัด ผู้บริหารพื้นที่ค้าปลีกในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน เปิดเผย "ผู้จัดการรายวัน" ว่า ขณะนี้บริษัทฯยังไม่ได้ทำการเซ็นสัญญากับใครอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการให้เช่าพื้นที่ค้าปลีก แต่อยู่ระหว่างการเจรจากับธุรกิจหลายรายจำนวนมากที่ให้ความสนใจพื้นที่ ซึ่งต้องใช้เวลานานเนื่องจากมีหลายรายให้ความสนใจและบางธุรกิจก็มีทั้งที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมที่จะเปิดบริการในพื้นที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน

อีกทั้งบริษัทฯต้องใช้เวลาและความละเอียดในการจัดสรรและตกลงกับผู้ที่จะเข้าเช่าพื้นที่แต่ละราย เนื่องจากว่า แต่ละสถานีนั้นจะมีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับทำเลและพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วย โดยบริษัทฯมีพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้งหมดประมาณ 12,000 ตร.ม. ในพื้นที่ 11 สถานี จากทั้งหมดของโครงการที่มี 18 สถานี ซึ่งพื้นที่ค้าปลีกนี้จะอยู่ที่ชั้น 1 เป็นทางเดิน อยู่ภายนอกยังไม่ได้เข้าไปในพื้นที่ซื้อตั๋วและพื้นที่เดินรถไฟฟ้า โดยมีการจ้างให้บริษัทของคนไทยเป็นผู้ออกแบบสถานีให้ โดยตั้งราคาค่าเช่าพื้นที่เบื้องต้นประมาณ 1,500-3,000 บาทต่อตร.ม.ต่อเดือน ทั้งนี้สถานีจตุจักรเป็นสถานีที่มีพื้นที่มากที่สุด มีขนาดความกว้างประมาณ 27 เมตร และยาวประมาณ 140 เมตร

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯเตรียมที่จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดในการพิจารณาและเจรจากับผู้ที่สนใจพื้นที่ค้าปลีก เนื่องจากรถไฟฟ้าใต้ดินจะเปิดให้บริการเร็วๆนี้แล้ว

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการรายหนึ่ง กล่าวกับ "ผู้จัดการรายวัน" ว่า ทางเมโทรมอลล์ให้ผู้ที่สนใจกรอกแบบฟอร์มและข้อมูลที่ต้องการทั้งรูปแบบธุรกิจ พื้นที่ที่ต้องการ รวมไปถึงแนวทางการออกแบบตกแต่งร้าน และนโยบาย เพื่อเมดทรมอลล์จะนำไปพิจารณา ส่วนเงื่อนไขต่างๆนั้นยังไม่บอกรายละเอียด เพียงแต่บอกว่าสถานีใดมีคอนเซ็ปท์แบบใดบ้าง ซึ่งบางสถานีมีการระบุไว้เลยว่า ต้องการ เทสโก้โลตัสเอ็กซ์เพรส

เผยสเปกธุรกิจที่ต้องการ
อย่างไรก็ตาม "ผู้จัดการรายวัน" มีข้อมูลและรูปแบบแผนงานเบื้องต้นของทางเมโทรมอลล์ ที่กำหนด คอนเซ็ปท์และแนวทางการออกแบบของแต่ละสถานี รวมไปถึง ประเภทของร้านค้าและธุรกิจที่ต้องการจะให้มาเปิด โดยมีการวางกรอบไว้เรียบร้อยแล้ว กล่าวคือ

1.สถานีคลองเตย คอนเซ็ปท์เปิดกว้าง กลุ่มธุรกิจที่ต้องการคือ การศึกษา ดนตรี คอมพิวเตอร์ เกมโซน คอนวีนเนียนสโตร์ อาหารและเครื่องดื่ม นิตยสาร เพย์พอยท์ บริการทางการเงิน

2.สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คอนเซ็ปท์ออกแบบใต้ดิน กลุ่มธุรกิจที่ต้องการคือ อาหารและเครื่องดื่ม ร้านหนังสือ ร้านน้ำผลไม้ คอนวีเนียนสโตร์ ไปรษณีย์ บริการทางการเงิน เพย์พอยท์ อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ เทเลคอม ร้านขายสินค้าสุขภาพ

3.สถานีสุขุมวิท คอนเซ็ปท์แบบทรานส์แพเร้นท์ ต้องการพื้นที่ขายไม่น้อยกว่า 1,980 ตร.ม.กลุ่มที่ต้องการคือ อาหารและเครื่องดื่ม ร้านขายหนังสือ ร้านน้ำผลไม้ ร้านแฟชั่นสมัยใหม่ ร้านผลิตภัณฑ์ความงาม บริการทางการเงิน เพย์พ้อยท์ ไปรษณีย์ อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ร้านเทเลคอม ร้านผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ สปา

4.สถานีเพชรบุรี คอนเซ็ปท์แบบฟิวริสติก ต้องการพื้นที่ขายไม่น้อยกว่า 1,250 ตร.ม.กลุ่มธุรกิจที่ต้องการคือ อาหารและเครื่องดื่ม คอนวีเนียนสโตร์ ร้านนิตยสาร ร้านน้ำผลไม้ บริการทางการเงิน เพย์พ้อยท์ ไปรษณีย์ อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ร้านเทเลคอม ร้านวิดีโอ ร้านซักแห้ง ฟิตเนส

5.สถานีพระรามเก้า คอนเซ็ปท์แบบโมเดิร์นดีไซน์ ต้องการพื้นที่ขายไม่น้อยกว่า 1,380 ตร.ม. กลุ่มธุรกิจที่ต้องการคือ อาหารและเครื่องดื่ม ร้านหนังสือ ร้านน้ำผลไม้ ร้านกีฬาและเสื้อผ้า ยิมและฟิตเนส อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ร้านเทเลคอม คอนวีเนียนสโตร์ บริการทางการเงิน เพย์พ้อยท์ ไปรษณีย์ ร้านวิดีโอ ร้านซักแห้ง ร้านแฟชั่นสมัยใหม่

6.สถานีศูนย์วัฒนธรรม คอนเซ็ปท์แบบทรานแพเร้นท์ดีไซน์ ต้องการพื้นที่ขายไม่น้อยกว่า 850 ตร.ม. กลุ่มธุรกิจที่ต้องการคือ อาหารและเครื่องดื่ม ร้านหนังสือ คอนวีเนียสโตร์ ร้านน้ำผลไม้ บริการทางการเงินเพย์พ้อยท์ ไปรษณีย์ อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ร้านเทเลคอม ร้านวิดีโอ

7.สถานีรัชดาภิเษก คอนเซ็ปท์แบบโมเดิร์นดีไซน์ ต้องการพื้นที่ขายไม่น้อยกว่า 1,280 ตร.ม. กลุ่มธุรกิจที่ต้องการคือ การศึกษา ภาษา ดนตรี คอมพิวเตอร์ เกมโซน คอนวีเนียนสโตร์ ร้านหนังสือ อาหารและเครื่องดื่ม

8.สถานีลาดพร้าว คอนเซ็ปท์แบบ โมเดิร์นดีไซน์ ต้องการพื้นที่ขายไม่น้อยกว่า 1,240 ตร.ม. กลุ่มธุรกิจที่ต้องการคือ อาหารและเครื่องดื่ม ร้านหนังสือ คอนวีเนียนสโตร์ บริการทางการเงิน เพย์พ้อยท์ ไปรษณีย์ อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ร้านเทเลคอม ร้านวิดีโอ อีกส่วนหนึ่งนั้นเป็นคอนเซ็ปท์ ซูเปอร์มาร์เกต ต้องการพื้นที่ขายไม่น้อยกว่า 1,200 ตร.ม. กลุ่มธุรกิจที่ต้องการคือ เทสโก้โลตัสเอ็กซ์เพรส

9. สถานีพหลโยธิน คอนเซ็ปท์แบบคัลเลอร์ดีไซน์ ต้องการพื้นที่ขายไม่น้อยกว่า 1,200 ตร.ม. กลุ่มธุรกิจที่ต้องการ อาหารและเครื่องดื่ม ร้านน้ำผลไม้ กีฬาและเสื้อผ้า อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ร้านเทเลคอม คอนวีเนียนสโตร์ ร้านบันเทิง ร้านแฟชั่น ร้านกิ๊ฟท์ชอป ร้านสินค้าทั่วไป บริการทางการเงิน เพย์พ้อยท์ ไปรษณีย์ ร้านวิดีโอ

10.สถานีสวนจตุจักร คอนเซ็ปท์แบบเรโทรดีไซน์หรือย้อนยุค ต้องการพื้นที่ขายไม่น้อยกว่า 2,500 ตร.ม. กลุ่มธุรกิจที่ต้องการ อาหารและเครื่องดื่ม กีฬา เสื้อผ้า สินค้าโอทอป สินค้าตกแต่ง ร้านสินค้าสุขภาพ ร้านแฟชั่น บริการทางการเงิน เพย์พ้อยท์ ไปรษณีย์ คอนวีเนียนสโตร์ ร้านวิดีโอ ร้านธุรกิจภาษา ดนตรี ยิมและฟิตเนส อินเทอร์เน็ตคาเฟ่
กำลังโหลดความคิดเห็น