สื่อต่างประเทศรายงาน โรงเรียนต่างๆ มากกว่า 250 แห่งในกรุงเทพฯ ต้องปิดการเรียนการสอนในวันพฤหัสบดี (23 ม.ค.) สืบเนื่องจากมลพิษ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ก็เรียกร้องประชาชนทำงานจากที่บ้าน และจำกัดการใช้รถหนักในเมืองหลวงของไทยแห่งนี้
เอเอฟพีรายงานว่า มลพิษทางอากาศตามฤดูกาล ก่อความทุกข์ทรมานแก่ไทยมาอย่างยาวนาน โดยเช่นเดียวกับหลายประเทศในภูมิภาค มันเป็นผลมาจากสภาพอากาศฤดูหนาวที่เย็นลงและลมนิ่ง ประกอบกับควันจากการเผาตอซังพืชและไอเสียรถยนต์
รายงานของเอเอฟพีระบุว่าในตอนเช้าวันพฤหัสบดี (23 ม.ค.) เมืองหลวงของไทยติดอันดับ 6 ของเมืองใหญ่ที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก อ้างอิงข้อมูลจาก IQAir โดยวัดค่ามลพิษ PM2.5 ไมโครพาติเคิล (อนุภาคขนาดเล็กจิ๋ว) ก่อมะเร็ง ที่มีขนาดเล็กมากพอที่จะหายใจเข้าไปสู่ปอด และซึมผ่านผนังปอดเข้าสู่กระแสเลือด ได้ที่ระดับ 122 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
องค์การอนามัยโลกมีคำแนะนำด้านคุณภาพอากาศ ว่าค่าเฉลี่ยของปริมาณฝุ่น PM 2.5 ไม่ควรเกิน 15 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตรใน 24 ชั่วโมง
รายงานข่าวของเอเอฟพีระบุว่าพวกเจ้าหน้าที่กรุงเทพฯ ระบุเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ว่า โรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ที่มีระดับ PM 2.5 สูงลิ่ว ควรเลือกปิดการเรียนการสอน และในตอนเช้าวันพฤหัสบดี (23 ม.ค.) มีโรงเรียน 194 แห่ง จากทั้งหมด 437 แห่ง ที่อยู่ภายใต้สังกัดของกรุงเทพมหานคร ได้ปิดการเรียนการสอน ส่งผลกระทบต่อนักเรียนหลายหมื่นคน
ตัวเลขดังกล่าวถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2020 โดยคราวนั้นโรงเรียนทุกแห่งที่อยู่ภายใต้สังกัดของกรุงเทพมหานคร ได้ปิดการเรียนการสอน สืบเนื่องจากมลพิษทางอากาศ ตามรายงานของเอเอฟพี
นอกจากนี้ เอเอฟพีระบุว่า ยังมีโรงเรียนอีก 58 แห่ง จากทั้งหมด 156 แห่ง ที่อยู่ภายใต้สังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หน่วยงานของรัฐบาลกลาง ที่ตัดสินใจปิดการเรียนการสอนในวันพฤหัสบดี (23 ม.ค.)
ขณะเดียวกัน ยังมีโรงเรียนอื่นๆ อีกหลายแห่งในเมืองหลวงที่อยู่ภายใต้สังกัดอื่น หรือเป็นโรงเรียนเอกชน แต่ไม่มีข้อมูลว่าสถาบันการศึกษาเหล่าปิดการเรียนการสอนไปจำนวนมากน้อยแค่ไหน
เด็กๆ มีความอ่อนแออย่างยิ่งต่อผลกระทบของมลพิษทางอากาศ แต่องค์กรพิทักษ์สิทธิฯเด็กเตือนว่าการปิดโรงเรียนอาจก่อผลกระทบกับพวกเด็กนักเรียนกลุ่มที่มีความอ่อนแอมากที่สุด
"การปิดโรงเรียนควรเป็นทางเลือกสุดท้าย" เซเวอรีน ลิโอนาร์ดี รองผู้แทนองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ประจำประเทศไทยกล่าว "จำเป็นต้องมีสัญญาณเตือนหนึ่งๆ ให้ตระหนักถึงความจำเป็นในการลงทุนในระบบการศึกษาและปกป้องเด็ก" เธอบอกกับเอเอฟพี
สื่อต่างประเทศแห่งนี้รายงานต่อว่า พวกเจ้าหน้าที่ได้กระตุ้นให้ประชาชนทำงานจากที่บ้านในสัปดาห์นี้ แต่มันเป็นโครงการโดยสมัครใจ และพบว่ามีผู้คนไม่ถึง 100,000 คน ที่เข้าร่วมในโครงการดังกล่าว ในเมืองที่มีประชากรมากถึง 10 ล้านคน
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ยังจำกัดไม่ให้รถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไป เข้าไปยังบางพื้นที่ของเมืองหลวง ไปจนถึงช่วงเย็นวันศุกร์ (24 ม.ค.)
รัฐบาลแถลงโครงการจูงใจหยุดเผาตอซังและฟางข้าว และใช้กระทั่งลองใช้วิธีแปลกๆ ด้วยการฉีดน้ำแย็นหรือโปรยน้ำแข็งแห้งเหนือฝุ่นมลพิษ
แต่เอเอฟพีระบุว่าจนถึงตอนนี้มาตรการต่างๆ ดังกล่าวแทบไม่ได้ผล และพวกนักการเมืองฝ่ายค้านกล่าวหา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ล้มเหลวในการจัดการกับประเด็นนี้อย่างจริงจัง
เอเอฟพีระบุว่าพวกนักเคลื่อนไหวด้านอากาศสะอาด กำลังผลักดันให้มีการออกกฎหมายฉบับหนึ่ง ที่น่าจะผ่านความเห็นชอบในปีนี้ "คุณจำเป็นต้องมีกฎหมายอย่างครอบคลุม ในขอบเขตต่างๆ ทุกมิติเพื่อจัดการกับวิกฤตนี้" กีโยม ราชู ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก ประเทศไทย บอกกับเอเอฟพี "มันยาก แต่ผมคิดว่าด้วยกฎหมายอากาศสะอาด เราจะทำได้"
(ที่มา : เอเอฟพี)