ความเป็นไปได้ของการยุติข้อตกลง "เปโตรดอลลาร์" หรือข้อตกลงซื้อขายน้ำมันด้วยสกุลเงินดอลลาร์ ระหว่างสหรัฐฯ กับซาอุดีอาระเบียจะส่งผลกระทบต่อความเป็นเจ้าโลกในตลาดน้ำมันของดอลลาร์ และจะกลายเป็นชัยชนะเชิงสัญลักษณ์สำหรับความพยายามลดพึ่งดอลลาร์อเมริกา จากความเห็นของสภาแอตแลนติก (Atlantic Council) ซึ่งเป็นหน่วยงานคลังสมองของวอชิงตัน เมื่อช่วงสุดสัปดาห์
ในความเห็นที่เผยแพร่บนเว็บบล็อก ทางสถาบันวิจัยแห่งนี้ได้พิจารณาถึงแนวโน้มการสิ้นสุดลงของข้อตกลงปี 1974 ที่บังคับให้ซาอุดีอาระเบียใช้สกุลเงินดอลลาร์แต่เพียงอย่างเดียวยามที่ขายน้ำมันดิบ ในขณะที่ข้อตกลง "เปโตรดอลลาร์" นี้ เป็นการรับประกันบทบาทของดอลลาร์สหรัฐในฐานะเจ้าการเงินโลกและสกุลเงินที่ซื้อขายกันทั่วโลก
สถาบันแห่งนี้ระบุว่า หลังจากความไม่แน่นอนสั่นคลอนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษ 1970 เปโตรดอลลาร์กลายเป็นหนทางหนึ่งในการรักษาเสถียรภาพแก่ดอลลาร์ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งในข้อตกลงกับซาอุดีอาระเบีย แลกกับการรับประกันความมั่นคงและยุทโธปกรณ์ด้านการทหาร จะพบเห็นดอลลาร์ที่ซื้อขาย หมุนเวียนสู่พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เสริมความแข้มแข็งแก่บทบาทของดอลลาร์ในฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ข้อตกลงเบื้องต้นเมื่อ 55 ปีก่อน เวลานี้หลายสิ่งหลายอย่างได้เปลี่ยนไปมากแล้ว จากความเห็นของสภาแอตแลนติก
เศรษฐกิจของอเมริกาไม่ได้ครองความเป็นเจ้าโลกโดยสิ้นเชิงอีกต่อไป โดยสัดส่วนจีดีพีของสหรัฐฯ กับจีดีพีโลกลดลงจากระดับ 40% เหลือแค่ 25% มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 ยิ่งไปกว่านั้น สหรัฐฯ พึ่งพิงน้ำมันของซาอุดีอาระเบียลดน้อยลงอย่างมาก จากการเฟื่องฟูครั้งประวัติศาสตร์ของกำลังผลิตภายในอเมริกาเอง
นอกจากนี้ ตลาดทางเลือกอื่นยังโผล่ขึ้นมา ดังนั้น ชาติเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาน้ำมันดิบทั้งหลาย จึงได้ทบทวนพิจารณาแนวทางปฏิบัติทางการค้าของตนเอง สภาแอตแลนติก ระบุ
"จีนกลายเป็นลูกค้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของซาอุดีอาระเบีย คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 20% ของการส่งออกน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย ปักกิ่งสถาปนาความสัมพันธ์ใกล้ชิด ที่มีแรงผลักดันจากการค้าทั่วตะวันออกกลาง ดินแดนที่อิทธิพลของสหรัฐฯ ลดน้อยถอยลง" ฮั่ง ทราน นักเศรษฐศาสตร์จากสภาแอตแลนติกระบุ
ด้วยเหตุผลนี้ ซาอุดีอาระเบียจึงค่อยๆ เป็นแนวร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวลดพึ่งพิงดอลลาร์ ซึ่งกำลังหาทางลดบทบาทความเป็นเจ้าในตลาดการเงินโลกของสกุลเงินสหรัฐฯ
(ที่มา : บิซิเนส อินไซเดอร์)