ฝนที่ตกหนักในช่วงฤดูมรสุมบวกกับมวลน้ำที่ไหลมาจากทางอินเดียส่งผลให้พื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของบังกลาเทศเกิดน้ำท่วมใหญ่เป็นวงกว้าง และมีประชาชนได้รับผลกระทบแล้วมากกว่า 2 ล้านคน ขณะที่เจ้าหน้าที่เตือนว่าสถานการณ์อาจยิ่งเลวร้ายลงอีก
กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ระบุว่า ชาวบ้านซึ่งติดอยู่ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ในจำนวนนี้รวมถึงเด็กๆ มากกว่า 772,000 คน
“เด็กๆ เป็นกลุ่มเปราะบางที่สุด พวกเขาเผชิญความเสี่ยงจากการจมน้ำ ภาวะทุพโภชนาการ โรคที่มากับน้ำ ความทุกข์ทรมานจากการพลัดถิ่นฐาน และอาจจะถูกล่วงละเมิดในศูนย์พักพิงที่มีคนอาศัยอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากๆ” เชลดอน เยตต์ ผู้แทน UNICEF ประจำบังกลาเทศ กล่าว
สำนักงานอุตุนิยมวิทยาบังกลาเทศพยากรณ์ว่าจะยังคงมีฝนตกหนักต่อเนื่องไปอีก 2-3 วัน ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงขึ้นและมีดินถล่มตามพื้นที่เชิงเขา
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (19) ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักทำให้เกิดดินสไลด์บริเวณค่ายผู้ลี้ภัยโรฮิงญาทางตอนใต้ของบังกลาเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 10 ราย
ภูมิภาคทางตะวันออกเฉียงเหนือของบังกลาเทศเป็นจุดที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด เนื่องจากเจอทั้งฝนและมวลน้ำที่ไหลหลากมาจากอินเดียจนเกิดอุทกภัยเป็นบริเวณกว้าง
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนับว่าเป็นการซ้ำเติมความทุกข์ยากของชาวบังกลาเทศที่ยังไม่ทันฟื้นตัวจากอิทธิพลของพายุไซโคลนซึ่งซัดถล่มชายฝั่งตอนใต้เมื่อปลายเดือนที่แล้ว
ภาพจากสถานีโทรทัศน์เผยให้เห็นสภาพทุ่งนาและหมู่บ้านจมอยู่ใต้กระแสน้ำที่เมือง Sylhet หลังจากฝนที่ตกหนักทำให้แม่น้ำทั้ง 4 สายในภูมิภาคเอ่อล้นตลิ่ง
UNICEF ระบุว่า สถานการณ์น้ำท่วมยังสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยโรงเรียนรัฐบาล 810 แห่งใน Sylhet ถูกน้ำท่วม และอีกเกือบ 500 แห่งถูกแปรสภาพเป็นศูนย์พักพิงสำหรับชาวบ้าน ขณะที่คลินิกชุมชนเกือบ 140 แห่งก็จมอยู่ใต้บาดาลจนส่งผลกระทบต่อการให้บริการด้านสุขภาพ
บทวิเคราะห์ของธนาคารโลก (เวิล์ดแบงก์) ในปี 2015 ระบุว่า บังกลาเทศมีประชากรที่สุ่มเสี่ยงเผชิญความเดือดร้อนจากภาวะน้ำหลากประจำปีมากเกือบ 3.5 ล้านคน ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมีส่วนทำให้ภัยพิบัติเหล่านี้รุนแรงขึ้น
ที่มา : รอยเตอร์