โตโยต้า ตกลงขึ้นค่าจ้างครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 25 ปี เช่นเดียวกับอีกหลายบริษัทยักษ์ใหญ่แดนอาทิตย์อุทัย เพิ่มความคาดหวังที่ว่า ความเคลื่อนไหวนี้จะปูทางให้แบงก์ชาติญี่ปุ่น (บีโอเจ) ยุตินโยบายดอกเบี้ยติดลบและมาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่ซึ่งใช้มานานหลายปี โดยอย่างเร็วที่สุดอาจจะได้เห็นกันในสัปดาห์หน้า
โตโยต้า มอเตอร์, พานาโซนิก, นิปปอน สตีล และนิสสัน มอเตอร์ เป็นส่วนหนึ่งของพวกบริษัทยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นที่ตกลงตอบสนองข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานในการเจรจาขึ้นค่าจ้างประจำปีที่สิ้นสุดลงเมื่อวันพุธ (13 มี.ค)
การเจรจาดังกล่าวถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดในปีนี้ เนื่องจากคาดกันว่า การขึ้นค่าจ้างจะช่วยปูทางให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ยุตินโยบายดอกเบี้ยติดลบที่ใช้มายาวนาน โดยอย่างเร็วที่สุดอาจจะเป็นในสัปดาห์หน้า
โตโยต้า บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลก และตามประเพณีแล้วถือเป็นผู้นำชี้แนวโน้มของการเจรจาขึ้นค่าจ้างประจำปีของแดนอาทิตย์อุทัย เผยว่า บริษัทตกลงตามข้อเรียกร้องของฝ่ายสหภาพในการขึ้นค่าจ้างรายเดือน โดยสูงสุดขึ้นให้ 28,440 เยน (193 ดอลลาร์) อีกทั้งจะจ่ายโบนัสมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ดี ตามธรรมเนียมปฏิบัติของโตโยต้าจะไม่มีการระบุว่าขึ้นเงินเดือนไปกี่เปอร์เซ็นต์
โยชิมาสะ ฮายาชิ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีและหัวหน้าโฆษกรัฐบาลญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลคาดหวังว่า โมเมนตัมที่แข็งแกร่งสำหรับการขึ้นค่าจ้างขณะนี้จะส่งผลต่อเนื่องถึงบริษัทขนาดกลางและเล็กด้วย
ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ประกาศว่า การยุติยุคของการขึ้นค่าจ้างเพียงน้อยนิดเป็นเป้าหมายสำคัญ เพื่อเริ่มต้นการกระตุ้นการใช้จ่ายที่ซบเซาของผู้บริโภค
การขึ้นค่าจ้างของญี่ปุ่นอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) มาก
บีโอเจจับตาผลการเจรจานี้อย่างใกล้ชิดเช่นกัน เนื่องจากถือเป็นข้อมูลสำคัญในการตัดสินใจกำหนดเวลาในการยุติอัตราดอกเบี้ยติดลบที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2016
แบงก์ชาติญี่ปุ่นซึ่งใช้มาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่และอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษมานานกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ มีกำหนดจัดประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินครั้งต่อไปในวันที่ 18-19 ที่จะถึงนี้
คาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการบีโอเจ แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันพุธว่า ผลการเจรจาขึ้นค่าแรงประจำปีนี้มีความสำคัญต่อการตัดสินใจกำหนดเวลาในการยุติมาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่
เรนโก ซึ่งเป็นกลุ่มสหภาพแรงงานใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น เผยว่า พนักงานของบริษัทขนาดใหญ่เรียกร้องขอค่าแรงเพิ่ม 5.85% ซึ่งหากสำเร็จจะสูงกว่าระดับ 5% เป็นครั้งแรกในรอบ 31 ปี
ฮิซาชิ ยามาดะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของสถาบันวิจัยญี่ปุ่นและผู้เชี่ยวชาญปัญหาแรงงาน ประเมินว่า ค่าแรงโดยรวมจะเพิ่มขึ้น 4.2-4.3% อิงกับการตอบสนองที่แข็งแกร่งมาก และอาจสูงกว่า 5% สำหรับบริษัทชั้นนำ ซึ่งสอดคล้องกับกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้คือการขึ้นค่าจ้าง การขาดแคลนแรงงานในประเทศ และภาวะเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ดี เขาสำทับว่า ยังไม่มีความแน่นอนว่า แนวโน้มการปรับขึ้นค่าจ้างสูงมากเช่นนี้จะยั่งยืนหรือไม่ และจะขยายผลต่อเนื่องไปยังบริษัทขนาดกลางและเล็กหรือเปล่า
ทั้งนี้ บริษัทขนาดเล็ก เป็นผู้ว่าจ้างแรงงาน 70% ในญี่ปุ่น แต่ประสบปัญหาในการขึ้นค่าแรง เนื่องจากไม่สามารถผลักภาระต้นทุนไปยังลูกค้าได้
ขณะเดียวกัน บริษัทชั้นนำอย่างโตโยต้า ถูกรัฐบาลกดดันให้ช่วยเหลือทำให้การขึ้นค่าจ้างสามารภขยายไปถึงส่วนปลายน้ำ เพื่อให้ค่าจ้างที่แท้จริงที่ปรับตามอัตราเงินเฟ้อฟื้นตัวครั้งแรก หลังจากที่ลดลงต่อเนื่อง 22 เดือน
ทาคาโนริ อาซูมะ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของโตโยต้า ทิ้งท้ายว่า บริษัทหวังว่า การขึ้นค่าแรงครั้งนี้จะขยายผลไปถึงซัปพลายเออร์ของบริษัทด้วย
(ที่มา: รอยเตอร์, เอเจนซีส์)