xs
xsm
sm
md
lg

ชี้สาวเกาหลีใต้เจอแรงกดดันด้านหน้าที่การงาน แถมค่าเลี้ยงดูลูกก็แพง ทำวิกฤตประชากรแก้ไม่ตก อัตราเจริญพันธุ์ปี 2023 ลงต่ำทำสถิติใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วิกฤตประชากรเกาหลีใต้ยิ่งย่ำแย่ อัตราเจริญพันธุ์เกาหลีใต้ต่ำที่สุดในโลกอยู่แล้ว ยังคงลดฮวบต่อในปี 2023 ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญชี้หญิงมีข้อกังวลเกี่ยวกับความก้าวหน้าในอาชีพการงาน ขณะค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรสูงลิ่ว พากันตัดสินใจชะลอการมีลูกหรือเลือกที่จะไม่มีลูกเลย

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติเกาหลีใต้ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันพุธ (28 ก.พ.) ระบุว่า อัตราเจริญพันธุ์ หรือก็คือ จำนวนเฉลี่ยทารกที่คาดหวังจากผู้หญิงเกาหลีใต้ระหว่างวัยเจริญพันธุ์แต่ละคน ได้ลดลงทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.72 คนในปี 2023 จากระดับ 0.78 คนในปี 2022

ตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่ามากจากอัตราทารก 2.1 คนต่อผู้หญิง 1 คน ซึ่งเป็นอัตราสjวนที่จำเป็นสำหรับการทำให้มีประชากรอยู่ในระดับคงที่

นับจากปี 2018 เกาหลีใต้กลายเป็นสมาชิกเพียงชาติเดียวองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ซึ่งมีอัตราทารกที่คาดหวังต่ำกว่า 1% และถึงแม้รัฐบาลทุ่มงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อพยายามแก้ไขปัญหานี้ ทว่า จำนวนประชากรในปี 2023 ยังคงลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 4

นอกจากนี้เกาหลีใต้ยังมีช่องว่างรายได้ระหว่างเพศรุนแรงที่สุดในโออีซีดีอีกด้วย โดยผู้หญิงเกาหลีใต้มีรายได้เพียง 1 ใน 3 ของผู้ชาย

จุง แจฮุน ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยสตรีโซล ชี้ว่า ปกติแล้วผู้หญิงไม่สามารถใช้ประสบการณ์สร้างความสำเร็จในที่ทำงานได้ เนื่องจากมักเป็นฝ่ายที่ต้องเลี้ยงดูลูกและจำเป็นต้องกลับไปทำงานใหม่หลังจากลาออกไปเลี้ยงลูกเป็นเวลานาน

กวาก แต-ฮี วัย 34 ปี ผู้จัดการระดับปฏิบัติการของบริษัทผลิตภัณฑ์นมแห่งหนึ่งที่แต่งงานมาแล้ว 3 ปี บอกว่า มีแผนมีลูก แต่ก็ไม่อยากพลาดโอกาสที่จะได้เลื่อนตำแหน่ง เธอเคยคิดว่า จะเริ่มทำการปฏิสนธิภายนอกร่างกายหรือเด็กหลอดแก้ว (ไอวีเอฟ) เมื่อปีที่แล้ว แต่สุดท้ายจบลงด้วยการอาสาทำโครงการต่างๆ ของบริษัทเพื่อเพิ่มโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ

กวากเสริมว่า ไม่รู้ประเทศอื่นเป็นอย่างไร แต่ในบริษัทเกาหลีใต้ การทำงานสัปดาห์ละ 2 หรือ 3 วันไม่ช่วยให้ก้าวหน้าได้เลย และเธอหวังว่า คงไม่สายเกินไปถ้าจะพยายามมีลูกในปีหน้าหรือปีต่อไป

วิกฤตประชากรเกาหลีใต้กลายเป็นความเสี่ยงสำคัญสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและระบบสวัสดิการสังคม จากการที่จำนวนประชากร 51 ล้านคนในขณะนี้มีแนวโน้มลดลงถึงครึ่งหนึ่งภายในสิ้นศตวรรษ

ก่อนหน้านี้เกาหลีใต้คาดว่า อัตราเจริญพันธุ์มีแนวโน้มลดลงอยู่ที่ 0.68 ในปีปัจจุบัน โดยปีที่ผ่านมาโซลซึ่งเป็นเมืองที่ค่าที่พักอาศัยแพงที่สุดในประเทศ มีอัตราเจริญพันธุ์ต่ำสุดคือ 0.55

ในช่วงก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนเมษายน บรรดาพรรคการเมืองขนาดใหญ่ของเกาหลีใต้ต่างประกาศเพิ่มเคหะสาธารณะหรือที่อยู่อาศัยที่รัฐบาลจัดสรรให้ประชาชน รวมทั้งเพิ่มสินเชื่อ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการมีบุตร และคลายความกังวลเกี่ยวกับ “การสูญพันธุ์ของประเทศ” อันเนื่องมาจากอัตราเจริญพันธุ์ลดต่ำ

การแต่งงานในเกาหลีใต้ ที่ถูกมองว่า เป็นเงื่อนไขเบื้องต้นก่อนมีลูก ก็กำลังลดลงเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่สำนักงานสถิติแห่งชาติคนหนึ่งกล่าวว่า ตามความเข้าใจของตนนั้น การแก้ปัญหาอัตราเกิดตกต่ำน่าจะมุ่งประเด็นที่เหตุผลที่คู่แต่งงานเลือกที่จะไม่มีลูก มากกว่าไปสนใจว่า ทำไมคนถึงไม่อยากแต่งงาน

ขณะเดียวกัน การที่พรรคต่างๆ โฟกัสปัญหาประชากรสะท้อนสัญญาณเตือนภัยที่ชัดเจนขึ้น หลังจากรัฐบาลเกาหลีใต้ทุ่มงบกว่า 360 ล้านล้านวอน (270,000 ล้านดอลลาร์) เช่น การอุดหนุนการเลี้ยงดูบุตร นับจากปี 2006 แต่กลับไม่สามารถฟื้นอัตราเจริญพันธุ์ได้

ในเอเชียไม่ได้มีแค่เกาหลีใต้เท่านั้นที่เผชิญปัญหาประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว วันอังคาร (27 ก.พ.) ญี่ปุ่นแถลงว่า จำนวนทารกที่เกิดในปี 2023 ลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 และทำสถิติต่ำสุดครั้งใหม่

ทั้งนี้ อัตราเจริญพันธุ์ของญี่ปุ่นทำสถิติต่ำสุดครั้งใหม่ที่ 1.26 ในปี 2022 ขณะจีนอยู่ที่ 1.09 ซึ่งถือเป็นสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกัน

(ที่มา: รอยเตอร์, เอเจนซีส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น