โตโยต้าครองแชมป์ค่ายรถที่มียอดขายสูงสุดในโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 4 หลังรายงานยอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 11.2 ล้านคันในปี 2023 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ในงานแถลงข่าว ประธานบริษัทได้ขอโทษสำหรับกรณีอื้อฉาวเกี่ยวกับการปลอมแปลงข้อมูลคุณภาพของบริษัทในเครือ 3 แห่ง
โตโยต้า มอเตอร์ บริษัทรถเบอร์หนึ่งของญี่ปุ่น รายงานเมื่อวันอังคาร (30 ม.ค.) ว่า ยอดขายทั่วโลกในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 7.2% เป็น 11.2 ล้านคัน ซึ่งรวมถึงยอดขายจากไดฮัทสุ มอเตอร์ และฮีโน มอเตอร์ บริษัทย่อยที่ผลิตรถเล็กและรถบรรทุกตามลำดับ
หากนับเฉพาะแบรนด์โตโยต้า และเลกซัส ยอดขายรวมทั่วโลกก็อยู่ที่ 10.3 ล้านคันแล้ว ทว่าเรื่องอื้อฉาวซึ่งเกิดขึ้นกับไดฮัทสุ ทำให้ยอดเติบโตหล่นลงมา ขณะที่ฮีโนยอดขายหล่นลงเกือบ 10% ทีเดียว
ทั้งบริษัทย่อย 2 แห่งนี้และบริษัทในเครืออีกแห่งหนึ่ง คือ โตโยต้า อินดัสทรีส์ กำลังเผชิญปัญหาการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการรับรองผลการทดสอบรถและเครื่องยนต์ ซึ่งอาจส่งผลต่อชื่อเสียงด้านคุณภาพและความปลอดภัยของแบรนด์โตโยต้าทั่วโลก
ในงานแถลงวิสัยทัศน์สำหรับกลุ่มกิจการโตโยต้าที่ขณะนี้ครอบคลุมบริษัทรวม 17 แห่งเมื่อวันอังคาร อากิโอะ โตโยดะ ประธานกรรมการโตโยต้า กล่าวขอโทษลูกค้าและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดสำหรับปัญหาและข้อกังวลที่เกิดจากความผิดปกติในฮีโน ไดฮัทสุ และโตโยต้า อินดัสทรีส์ และสำทับว่า 1 ใน 5 ทัศนคติสำคัญที่สุดที่พนักงานโตโยต้าจะต้องมุ่งเน้นคือ ความซื่อสัตย์และทำสิ่งต่างๆ อย่างถูกต้อง
โตโยต้า เผยว่า เดิมทีวางแผนจัดงานแถลงวิสัยทัศน์ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของซากิชิ โตโยดะ ผู้ก่อตั้งบริษัท ทว่า ตัดสินใจเลื่อนมาจัดตอนนี้เนื่องจากสถานการณ์ปัญหาข้างต้นของพวกบริษัทในเครือ
ทั้งนี้ เมื่อวันจันทร์ (29 ม.ค.) โตโยต้าประกาศระงับการจัดส่งรถ 10 รุ่นชั่วคราวที่รวมถึงรถกระบะไฮลักซ์ และเอสยูวีแลนด์ครุสเซอร์ 300 หลังจากคณะกรรมการตรวจสอบอิสระพบการกระทำผิดในการทดสอบเครื่องยนต์ดีเซลของโตโยต้า อินดัสทรีส์
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ไดฮัทสุระงับการจัดส่งรถทั้งหมด หลังการตรวจสอบกรณีอื้อฉาวด้านความปลอดภัยพบปัญหาในรถ 64 รุ่น ซึ่งรวมถึงกว่า 20 รุ่นที่จำหน่ายภายใต้แบรนด์โตโยต้า
นอกจากนั้นในปี 2022 คณะกรรมการอีกชุดที่ตรวจสอบมาตรฐานการปล่อยไอเสียของฮีโนยังพบว่า บริษัทแห่งนี้ปลอมแปลงข้อมูลการปล่อยไอเสียที่ย้อนกลับไปได้ถึงปี 2003
ยอดขายแกร่ง
ในการแถลงวิสัยทัศน์เมื่อวันอังคาร โตโยต้ายังระบุว่า ปีที่ผ่านมาถือเป็นปีที่ 9 ใน 10 ปีล่าสุดที่บริษัททำยอดขายทะลุ 10 ล้านคัน โดยมีเพียงปี 2020 เท่านั้นที่วิกฤตโควิดส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมยานยนต์
สำหรับค่ายรถที่ครองยอดขายมากอันดับ 2 ในปี 2023 เป็นของโฟล์คสวาเกนของเยอรมนี ที่เพิ่งรายงานเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ยอดจัดส่งในปี 2023 เพิ่มขึ้น 12% เป็น 9.2 ล้านคัน สะท้อนการฟื้นตัวหลังวิกฤตโรคระบาด ขณะที่ปัญหาคอขวดในห่วงโซ่การผลิตผ่อนคลายลง
ส่วนฮุนได-เกีย ของเกาหลีใต้ครองอันดับ 3 ด้วยยอดขาย 7.3 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 6.7%
อย่างไรก็ตาม ในแง่มูลค่าตลาด เทสลา บริษัทรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของอีลอน มัสก์ ยังคงเป็นอันดับ 1 ในบรรดาบริษัทรถทั่วโลก
เป้าหมายอีวี
อีกเรื่องหนึ่งซึ่งโตโยต้าถูกจับจ้อง ได้แก่ความล่าช้ากว่าคู่แข่งหลายรายในการลงทุนเรื่องอีวี โดยปีที่ผ่านมาบริษัทมียอดขายรถไฟฟ้าเพียง 104,018 คัน หรือเพียงเศษเสี้ยวของยอดขาย 1.81 ล้านคันของเทสลา และ 1.57 ล้านคันของบีวายดีของจีน
สำหรับยอดขายรถไฮบริดของโตโยต้าเพิ่มขึ้น 31.4% อยู่ที่ 3.4 ล้านคัน
กระนั้น โตโยต้าประกาศว่า บริษัทมีแผนพัฒนารถทุกรุ่นของโตโยต้าและเลกซัสในเวอร์ชันอีวีภายในปี 2025 รวมทั้งเล็งทำยอดขายอีวีปีละ 1.5 ล้านคันภายในปี 2026 และเพิ่มเป็น 3.5 ล้านคันภายในปี 2030
นอกจากนั้นเมื่อเร็วๆ นี้โตโยต้ายังประกาศแผนขยายโรงงานแบตเตอรี่รถไฟฟ้าในรัฐนอร์ทแคโรไลนา ของสหรัฐฯ
โตโยดะทิ้งท้ายว่า เป้าหมายเหล่านี้จะบรรลุผลหรือต้องเลื่อนออกไปขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งรวมถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ความต้องการในตลาด สภาพแวดล้อมด้านกฎข้อบังคับ และความสามารถของโตโยต้าในการเร่งการผลิตและคิดค้นนวัตกรรม
(ที่มา: รอยเตอร์, เอเอฟพี)