xs
xsm
sm
md
lg

ศาลญี่ปุ่นตัดสินประหารชีวิตผู้วางเพลิง “เกียวโตแอนิเมชัน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - ศาลญี่ปุ่นมีคำตัดสินในวันพฤหัสบดี (25 ม.ค.) ให้ประหารชีวิตผู้วางเพลิงสตูดิโอเกียวโต แอนิเมชัน ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 36 คน เมื่อปี 2019 และถือเป็นคดีอาชญากรรมสะเทือนขวัญที่สุดของญี่ปุ่นในรอบหลายทศวรรษ รวมทั้งสร้างความตกตะลึงในอุตสาหกรรมอนิเมะ และเหล่าแฟนของสตูดิโอแห่งนี้ทั่วโลก

ผู้รอดชีวิตเล่าว่า ชินจิ อาโอบะ วัย 45 ปีในขณะนี้ บุกเข้าไปในอาคารที่เป็นที่ตั้งของเกียวโต แอนิเมชัน และราดน้ำมันเบนซินทั่วชั้นล่างก่อนจุดไฟเผาและตะโกนว่า “ตายเสียเถอะ” เมื่อเช้าวันที่ 18 กรกฎาคม 2019

ผู้เสียชีวิตหลายคนเป็นคนหนุ่มสาว ซึ่งรวมถึงหญิงสาววัย 21 ปีคนหนึ่ง เหยื่อหลายคนถูกพบบนบันไดวนที่ขึ้นไปสู่ดาดฟ้า บ่งชี้ว่า พวกเขาเหล่านั้นพยายามหนีเอาชีวิตรอด

ผู้หญิงคนหนึ่งเล่าให้สื่อท้องถิ่นฟังหลังเกิดเหตุว่า เหยื่อคนหนึ่งกระโดดลงมาจากชั้น 2 แต่ไม่มีใครรีบเข้าไปช่วยได้เนื่องจากไฟลุกไหม้รุนแรง

เหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 30 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงบอกว่า เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยพบมาก่อน และเสริมว่า การเข้าไปช่วยคนที่ติดอยู่ในตึกยากลำบากอย่างยิ่ง

อาโอบะที่ถูกจับกุมใกล้ที่เกิดเหตุ ถูกตั้งข้อหา 5 กระทง ซึ่งรวมถึงฆาตกรรม พยายามฆ่า และลอบวางเพลิง และอัยการต้องการให้ศาลตัดสินประหาร

ทนายความของอาโอบะปฏิเสธการรับผิด โดยอ้างว่า ลูกความของตนไม่สามารถแยกแยะระหว่างความดีกับความชั่ว รวมทั้งไม่สามารถหยุดยั้งการกระทำผิดเนื่องจากมีความผิดปกติทางจิต

สถานีเอ็นเอชเครายงานว่า ในวันพฤหัสบดี (25 ม.ค.) ผู้พิพากษาวินิจฉัยว่า อาโอบะไม่ได้วิกลจริตหรือมีความบกพร่องทางจิตระหว่างที่ก่อเหตุ และตัดสินให้ประหารชีวิตจำเลยผู้นี้

อาโอบะเคยกล่าวในศาลแขวงเกียวโตขณะเริ่มต้นการพิจารณาคดีเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วว่า เขาไม่คิดว่าจะมีคนตายมากขนาดนั้น และคิดว่า ตัวเองทำรุนแรงเกินไป ด้านอัยการระบุว่า อาโอบะมีอาการหลงผิดโดยคิดว่า เกียวโต แอนิเมชัน ที่แฟนๆ รู้จักในชื่อ เกียวอะนิ ขโมยไอเดียของตัวเอง

อาโอบะมีแผลไหม้ 90% ของพื้นผิวร่างกาย และต้องเข้ารับการผ่าตัดถึง 12 ครั้ง เขาฟื้นคืนสติหลังผ่านไปหลายสัปดาห์ และมีรายงานว่า เขาถึงกับร้องไห้ออกมาด้วยความโล่งใจหลังเสร็จสิ้นกระบวนการฟื้นฟูความสามารถในการพูด

ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้วเพียงไม่กี่ประเทศที่มีโทษประหาร ซึ่งปกติแล้วจะใช้กับคดีฆาตกรรมที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่าหนึ่งคน และผลสำรวจความคิดเห็นพบว่า ประชาชนจำนวนมากเห็นด้วยกับมาตรการลงโทษนี้

นอกจากนั้น แม้มีการวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มสิทธิมนุษยชน แต่บ่อยครั้งที่นักโทษแจ้งให้ครอบครัวรับรู้เกี่ยวกับคำสั่งประหารในเช้าวันที่จะมีการแขวนคอ

การประหารชีวิตในญี่ปุ่นครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2022 และนับจนถึงเดือนธันวาคม 2022 มีนักโทษที่ถูกประหารชีวิตในญี่ปุ่นรวม 107 คน

การประหารชีวิตที่โด่งดังที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมาเกิดขึ้นในปี 2018 ที่มีการแขวนคอนักโทษ 13 คน ซึ่งรวมถึงผู้นำลัทธิโอมชินริเคียว จากคดีใช้ก๊าซซารีนโจมตีผู้คนในรถไฟใต้ดินโตเกียวเมื่อปี 1995

ทั้งนี้ เกียวอะนิที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1981 โดยสามี-ภรรยาคู่หนึ่ง เป็นผู้สร้างสรรค์อะนิเมะยอดฮิตทางทีวีหลายเรื่อง เช่น "The Melancholy of Haruhi Suzumiya" และ "K-ON!"

ภายหลังเหตุลอบวางเพลิง คนญี่ปุ่นและทั่วโลกต่างตกใจและเสียใจ ทิม คุก ซีอีโอแอปเปิล ทวีตว่า ศิลปินของเกียวอะนิสร้างความสุขสันต์หรรษาให้ผู้คนทุกวัยทั่วโลกด้วยผลงานระดับมาสเตอร์พีซ และบริษัทแอนิเมชันแห่งหนึ่งในอเมริการะดมทุนผ่านคราวด์ฟันดิ้งเพื่อช่วยให้เกียวอะนิลุกขึ้นยืนได้อีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น