เยอรมนีควรพร้อมสำหรับรับมือความเป็นไปได้ที่จะถูกรัสเซียโจมตี จากคำเตือน บอริส พิสโตริอุส รัฐมนตรีกลาโหม และเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ดังกล่าว เบอร์ลิน และบรรดาพันธมิตรนาโตต้องมุ่งมั่นเสริมความเข้มแข็งแก่แสนยานุภาพกองทัพของหมู่มวลสมาชิก
ในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ ZDF ของเยอรมนี เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ รัฐมตรีกลาโหมรายนี้ชี้ว่า แม้ปัจจุบันเยอรมนียังไม่ได้อยู่ภายใต้ภัยคุกคามโดยตรงจากการถูกโจมตี แต่ประเทศควรทำอย่างดีที่สุดในการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์นั้น
"หากเยอรมนีต้องพร้อมสำหรับรับมือกับการโจมตีหนึ่งๆ ซึ่งคุณไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่และเมื่อไหร่ เมื่อคุณจำเป็นต้องติดอาวุธตนเองด้วยหนทางต่างๆ และนั่นคือสิ่งที่กำลังทำในปัจจุบันร่วมกับเหล่าพันธมิตรในนาโต" เขาอธิบาย
พิสโตริอุส กล่าวต่อว่า "การป้องปรามจะเป็นแนวทางที่ได้ผลก็ต่อเมื่อมีการจัดวางสถานะของตนเองรับมือกับพวกผู้รุกรานตั้งแต่แรกเริ่ม ในขณะที่มันจะเป็นสัญญาณที่ส่งถึงศัตรูว่า เป้าหมายก็มีศักยภาพในการโจมตีตอบโต้กลับเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ท่าทีนี้ประสบความสำเร็จ เยอรมนีต้องมีการป้องปรามที่น่าเชื่อถือ และสามารถทำสงครามได้ถ้าสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องทำ"
ในความคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะโจมตีบรรดาชาติต่างๆ ในแถบบอลติก พิสโตริอุสระบุว่า เยอรมนีกำลังจัดตั้ง "กองพลลิทัวเนีย" ขึ้นมาเพื่อจัดการกับความกังวลเหล่านี้โดยเฉพาะ หน่วยทหารที่ประกอบด้วยกำลังพลราว 4,800 นาย ที่คาดหมายว่าจะพร้อมเข้าประจำการในปี 2027 และจะเป็นกองกำลังเยอรมนีชุดแรกที่จะประจำการถาวรในต่างแดน นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
อย่างไรก็ตาม พิสโตริอุส เชื่อว่าท่ามกลางความขัดแย้งกับยูเครน มันคงต้องใช้เวลาอย่างน้อยๆ หลายปีกว่าที่รัสเซียจะพร้อมสำหรับปฏิบัติการรุกรานเต็มรูปแบบ และบรรดาชาติตะวันตกควรใช้เวลานี้ทวีความเข้มข้นในการติดอาวุธตนเอง
หนังสือพิมพ์บิลด์ รายงานเมื่อช่วงกลางเดือน อ้างอิงเอกสารลับ ระบุว่า เยอรมนีกำลังเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์หนึ่งซึ่งรัสเซียเปิดฉากโจมตีนาโตในช่วงกลางปี 2024 ตามหลังคว้าชัยชนะครั้งสำคัญในยูเครน อย่างไรก็ตาม มอสโกเย้ยหยันการคาดเดาดังกล่าวว่าเป็นเพียงการทำนายมั่วๆ
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ปฏิเสธว่าไม่มีแผนใดๆ ในการโจมตีนาโต โดยอ้างว่ามอสโก "ไม่มีประโยชน์ทั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจหรือด้านการทหารที่จะทำสงครามกับพันธมิตรกลุ่มนี้" กระนั้นเป็นเวลานานหลายทศวรรษแล้วที่เครมลินส่งเสียงความกังวลต่อการขยายอาณาเขตของพันธมิตรทหารที่นำโดยสหรัฐฯ รุกคืบเข้าหาชายแดนของรัสเซีย โดยมองมันในฐานะภัยคุกคามการอยู่รอดของรัสเซีย
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)