โรมีโอ บราวเนอร์ ผู้บัญชาการกองทัพฟิลิปปินส์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อวานนี้ (15 ม.ค.) ว่าฟิลิปปินส์มีแผนพัฒนาหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลจีนใต้ที่เป็นดินแดนในอธิปไตยของตน เพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการส่งทหารเข้าประจำการได้มากขึ้น
แผนการดังกล่าวมีขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างฟิลิปปินส์และจีน ซึ่งต่างก็อ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนเหนือท้องทะเลและเกาะแก่งต่างๆ ในทะเลจีนใต้ อีกทั้งยังกล่าวหากันและกันว่าแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวในน่านน้ำซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญในเชิงยุทธศาสตร์
นอกจากสันดอน เซเกินด์ โธมัส (Second Thomas Shoal) หรือ Ayungin ในภาษาตากาล็อกที่เป็นข้อพิพาทกับจีนแล้ว ฟิลิปปินส์ยังควบคุมเกาะแก่งในทะเลจีนใต้อีก 8 แห่ง โดยถือว่ายังอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) ของตนเอง
“เรามีแผนที่จะพัฒนาเกาะทั้ง 9 แห่ง โดยเฉพาะหมู่เกาะที่เราควบคุมอยู่” บราวเนอร์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมที่กองบัญชาการทหาร ซึ่งมีประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ นั่งเป็นประธาน
หนึ่งในนั้นคือเกาะทิตู (Thitu Island) ซึ่งเป็นเกาะใหญ่และมีความสำคัญในทางยุทธศาสตร์มากที่สุดในทะเลจีนใต้ โดยเกาะแห่งนี้มีชื่อเรียกในภาษาท้องถิ่นว่า Pag-asa และอยู่ห่างจากจังหวัดปาลาวันของฟิลิปปินส์ไปทางตะวันตกราว 300 กิโลเมตร
กองทัพฟิลิปปินส์มีแผนติดตั้งเครื่องผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล (desalination machine) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ทหารที่ประจำการอยู่บนซากเรือรบลำหนึ่ง ซึ่งทางการฟิลิปปินส์จงใจเอาไปเกยตื้นไว้บนสันดอน เซเกินด์ โธมัส เมื่อปี 1999 เพื่อประโยชน์ในการอ้างอธิปไตย
ฟิลิปปินส์ จีน บรูไน มาเลเซีย ไต้หวัน และเวียดนาม ต่างก็อ้างอธิปไตยเหนือน่านน้ำบางส่วนของทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางเรือมูลค่ามากกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในแต่ละปี
แผนพัฒนาหมู่เกาะของกองทัพฟิลิปปินส์ยังรวมถึงการจัดหาเรือ ระบบเรดาร์ และอากาศยานต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อให้สอดรับกับนโยบายป้องกันดินแดน
ที่มา : รอยเตอร์