xs
xsm
sm
md
lg

ไม่เอาด้วย! สหรัฐฯ รับปากพวกผู้นำอาหรับ คัดค้านอิสราเอลขับไล่ชาวปาเลสไตน์พ้นกาซา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในวันอาทิตย์ (7 ม.ค.) รับปากกับพวกผู้นำอาหรับ ว่า วอชิงตันคัดค้านการบีบบังคับโยกย้ายถิ่นฐานชาวปาเลสไตน์ออกจากกาซาหรือยึดครองเวสต์แบงก์ ในขณะที่เขาหาทางเริ่มต้นการเจรจาเกี่ยวกับอนาคตหลังสิ้นสุดสงครามของฉนวนแห่งนี้

กษัตริย์อับดุลเลาะห์แห่งจอร์แดน หยิบยกความกังวลต่อจอร์แดนที่มีต่อการกดดันโยกย้ายถิ่นฐาน ในการพูดคุยกับ บลิงเคน ระหว่างพบปะหารือกันในกรุงอัมมาน อ้างอิงถ้อยแถลงจากสำนักพระราชวัง ความเคลื่อนไหวซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่อิสราเอลยังคงเดินหน้าปฏิบัติการทางทหาร ที่ทำลายล้างกาซาเหลือแต่ซากปรักหักพัง และทำให้ประชากร 2.3 ล้านคนของฉนวนแห่งนี้อยู่บนขอบเหวของความอดอยาก

"พลเรือนปาเลสไตน์ต้องสามารถเดินทางกลับบ้านได้อย่างเร็วที่สุด ทันทีที่สภาพแวดล้อมต่างๆ เอื้ออำนวย พวกเขาไม่อาจ ต้องไม่อาจ ถูกกดดันให้ออกจากกาซา" บลิงเคนกล่าวระหว่างแถลงข่าว ระหว่างหารือแยกกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกาตาร์ในโดฮา

ชาวบ้านส่วนใหญ่ของกาซาต้องไร้ถิ่นฐานสืบเนื่องจากความขัดแย้งและความรุนแรงปะทุขึ้นในเวสต์แบงก์เช่นกัน ในนั้นรวมถึงเหตุปะทะนองเลือดในเมืองเจนินเมื่อวันอาทิตย์ (7 ม.ค.)

สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ที่ 2 แห่งจอร์แดน บอกกับบลิงเคน ว่า วอชิงตันมีบทบาทสำคัญในการกดดันอิสราเอลเข้าสู่การหยุดยิงในทันที และเตือนเกี่ยวกับผลกระทบหายนะ หากสงครามในกาซายังคงเดินหน้าต่อไป

ความขัดแย้งนี้มีจุดเริ่มต้นจากการที่พวกฮามาส บุกจู่โจมเล่นงานอิสราเอลอย่างไม่คาดคิด เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม สังหารผู้คนไป 1,200 ราย และจับตัวประกันราว 240 คน ต่อมาอิสราเอลเปิดปฏิบัติการแก้แค้น โจมตีทางอากาศและทางภาคพื้นอย่างไม่รามือ จนถึงวันเสาร์ (6 ม.ค.) มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 22,722 ราย

บลิงเคน กำลังเดินทางทัวร์ภูมิภาค ท่ามกลางความกังวลขึ้นสูงว่าปฏิบัติการโจมตีของอิสราเอล เล่นงานพวกนักรบปาเลสไตน์ฮามาส ในกาซา อาจโหมกระพือสถานการณ์ที่ลุกลามบานปลายไปทั่วภูมิภาคในวงกว้าง "ณ เวลานี้ ความตึงเครียดพุ่งสูงในภูมิภาค มันคือความขัดแย้งที่ลุกลามได้ง่าย ก่อภาวะไร้ความมั่นคงและทุกข์ทรมานได้มากยิ่งขึ้น" เขาบอกกับพวกผู้สื่อข่าวในโดฮา

การเดินทางครั้งนี้มีขึ้นหลังเกิดเหตุโดรนโจมตีในเบรุต สังหารแกนนำระดับสูงของฮามาส และอิสราเอลยิงตอบโต้กับกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ข้ามชายแดนทางเหนือติดกับเลบานอน นอกจากนี้ วอชิงตันยังระดมพันธมิตร เพื่อป้องปรามการโจมตีเรือในทะเลแดง โดยพวกนักรบฮูตี ซึ่งควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของเยเมน

บลิงเคน เดินทางถึงจอร์แดนในช่วงค่ำวันเสาร์ (6 ม.ค.) และพบปะกับกษัตริย์อับดัลเลาะห์ในวันอาทิตย์ (7 ม.ค.) ก่อนเดินทางไปยังกาตาร์ เพื่อพูดคุยกับอามีร์ ชีค ทามิม บิน ฮาหมัด อัล ธานี ประมุขของรัฐ และนายกรัฐามนตรี โมฮัมหมัด บิน อับดุลเราะห์มาน อัล-ธานี ซึ่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ

ในโดฮา บลิงเคน ได้หารือในประเด็นต่างๆ ในนั้นรวมถึงความพยายามปล่อยตัวประกันมากกว่า 100 คน ที่เชื่อว่ายังอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของฮามาส หลังจากข้อตกลงหนึ่งก่อนหน้านี้ที่มีกาตาร์เป็นคนกลางพังครืนลง

นายกรัฐมนตรีกาตาร์ บอกว่าเหตุสังหารผู้นำฮามาสรายหนึ่ง โดยฝีมือของโดรนอิสราเอล ส่งผลกระทบต่อความสามารถของโดฮา ในการเป็นคนกลางระหว่างกลุ่มนักรบปาเลสไตน์กับอิสราเอล

วอชิงตันต้องการให้บรรดาชาติเพื่อนบ้านอาหรับของอิสราเอล มีบทบาทในด้านการฟื้นฟู บริหารจัดการและความั่นคงในกาซา ท่ามกลางความคาดหมายว่าการจู่โจมของอิสราเอล ในท้ายที่สุดแล้วจะกำจัดพวกฮามาสพ้นไปจากฉนวนแห่งนี้ ในขณะที่ฮามาสปกครองดินแดนดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2007

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ มีเป้าหมายรวบรวมมุมมองของรัฐอาหรับทั้งหลายเกี่ยวกับอนาคตของกาซา ก่อนนำจุดยืนเหล่านั้นไปพูดคุยกับอิสราเอล อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่อเมริกายอมรับว่าท่าทีของทั้ง 2 ฝ่าย แตกต่างกันอย่างมาก

ทั้งนี้ กำหนดการสุดท้ายของบลิงเคน จะเป็นการเดินทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น