น้ำมันขยับลงในวันพฤหัสบดี (21 ธ.ค.) หลังแองโกลาเปิดเผยว่าจะถอนตัวออกจากโอเปก ก่อคำถามเกี่ยวกับความพยายามของกลุ่มในการสนับสนุนราคาด้วยการจำกัดอุปทานโลก ส่วนวอลล์สตรีทและทองคำปิดบวก จากข้อมูลเศรษฐกิจที่ก่อแรงคาดหมายว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะยุติการปรับขึ้นดอกเบี้ย แล้วหันมาปรับลดดอกเบี้ยในปีหน้า
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ ลดลง 33 เซนต์ ปิดที่ 73.89 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านเบรนท์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ ลดลง 31 เซนต์ ปิดที่ 79.39 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
เดียมานติโน อาเซเวโด รัฐมนตรีพลังงานของแองโกลา บอกว่า ประเทศของเขาจะถอนตัวออกจากโอเปก เนื่องจากการเป็นรัฐสมาชิกโอเปกไม่รับใช้ผลประโยชน์ของประเทศอีกต่อไป ความเคลื่อนไหวที่ก่อคำถามเกี่ยวกับความพยายามของกลุ่มในการสนับสนุนราคา ด้วยการจำกัดอุปทานโลก
แองโกลาผลิตน้ำมันราว 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ทั้งกลุ่มโอเปกมีกำลังผลิตอยู่ที่ 28 ล้านบาร์เรลต่อวัน
การถอนตัวของแองโกลา ก่อคำถามเกี่ยวกับความเป็นหนึ่งเดียวกันและทิศทางของโอเปก แม้พวกเขาจะเป็นหนึ่งในชาติที่มีกำลังผลิตเพียงเล็กๆ น้อยๆ และการถอนตัวของพวกเขาอาจส่งผลกระทบต่ออุปทานโลกอย่างจำกัดก็ตาม
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดบวกในวันพฤหัสบดี (21 ธ.ค.) จากข้อมูลทางเศรษฐกิจที่โหมกระพือแนวโน้มว่า เฟดจะยุติการปรับขึ้นดอกเบี้ย แล้วหันมาปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า กระตุ้นให้นักลงทุนถือครองสินทรัพย์เสี่ยง
ดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 322.35 จุด (0.87 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 37,404.35 จุด เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 48.40 จุด (1.03 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,746.75 จุด แนสแดค เพิ่มขึ้น 185.92 จุด (1.26 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 14,963.87 จุด
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 3 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัว 4.9% ในไตรมาสดังกล่าว ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 5.1% ขณะที่ตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 และ 2 อยู่ที่ระดับ 4.9% และ 5.2% ตามลำดับ
ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการขยายตัว 2.2% และ 2.1% ในไตรมาส 1 และ 2 ตามลำดับ
ข้อมูลในวันพฤหัสบดี (21 ธ.ค.) แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาส 3 ไม่แข็งแกร่งอย่างที่คิดไว้ในเบื้องต้น และพบเห็นสัญญาณความเปราะบางภาวะตึงตัวของตลาดแรงงาน ซึ่งทางเฟดมองว่าเป็นอุปสรรคขัดขวางการอ่อนตัวของเงินเฟ้อ
ตลาดจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันศุกร์ (22 ธ.ค.) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
ส่วนราคาทองคำปรับขึ้นในวันพฤหัสบดี (21 ธ.ค.) จากดอลลาร์อ่อนค่าลง หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก่อความคาดหมายว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมปีหน้า โดยราคาทองคำโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้น 3.60 ดอลลาร์ ปิดที่ 2,051.30 ดอลลาร์ต่อออนซ์
(ที่มา : รอยเตอร์)