รัสเซียประสบความสำเร็จในการขายน้ำมันได้ในราคาที่สูงกว่า 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นเพดานราคาที่ตะวันตกกำหนดไว้ ในความหวังว่าจะลงโทษจำกัดรายได้ทางพลังงานของมอสโก จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่รายหนึ่งในรัฐบาลรัสเซีย เมื่อวันพฤหัสบดี (23 พ.ย.)
สหภาพยุโรป กลุ่มประเทศจี7 และออสเตรเลีย บังคับใช้มาตรการกำหนดเพดานราคากับน้ำมันดิบของรัสเซีย เมื่อเดือนธันวาคมปีก่อน โดยมีเป้าหมายจำกัดศักยภาพของรัสเซียในการหาเงินทุนสำหรับนำไปใช้ทำศึกสงครามกับยูเครน
อย่างไรก็ตามล่าสุด วลาดิมีร์ ฟูร์กัลสกี เจ้าหน้าที่ของกระทรวงพลังงานรัสเซีย บอกกับโต๊ะหารือของสภาบน ว่า "แม้กระทั่งบรรดาประเทศที่ไม่เป็นมิตรก็ยังเน้นว่าสิ่งที่เรียกว่าเพดานราคานั้นไม่ได้ผล มากกว่า 99% ของการค้าขายน้ำมันอยู่เหนือเพดาน 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล"
รัสเซียถูกบีบให้ปรับลดการส่งออกน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันในทันทีหลังมาตรการกำหนดเพดานราคามีผลบังคับใช้ เนื่องจากประสบปัญหาในการหาเรือให้เพียงพอสำหรับขนส่งน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันทั้งหมดที่พวกเขาผลิตออกมา
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นไม่นานรัสเซียก็สามารถบริหารจัดการการส่งออกน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันของพวกเขาเกือบทั้งหมด ผ่านบริษัทขนส่งภายในประเทศหรือบริษัทขนส่งต่างชาติที่ไม่ใช่ตะวันตก ซึ่งไม่จำเป็นต้องพึ่งการคุ้มครองด้านประภันภัยจากประกันภัยชาติตะวันตก
อ้างอิงข้อมูลจาก วีอีบี แบงก์ ธนาคารแห่งรัฐของรัสเซีย คาดการณ์ในวันพฤหัสบดี (23 พ.ย.) ว่าการส่งออกน้ำมันของรัสเซียอยู่ที่ 242 ล้านเมตริกตัน (4.84 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ในปีนี้ ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 248 ล้านเมตริกตัน ในปี 2022
ในปี 2024 ทาง วีอีบี แบงก์ คาดหมายว่าการส่งออกน้ำมันของรัสเซียจะเปลี่ยนแปลงแค่เล็กน้อย น่าจะอยู่ที่ราว 241 ล้านเมตริกตัน
อย่างไรก็ตาม อังเดร เคลพัช หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของวีอีบี ระบุว่า การส่งออกก๊าซของรัสเซียผ่านท่อลำเลียงไปยังยุโรปจะยังคงลดลงอย่างมาก สู่ระดับ 16,000 ล้านลูกบาศก์เมตรในปีนี้ จากระดับ 56,000 ลูกบาศก์เมตรในปี 2022 และจากระดับราว 130,000-140,000 ลูกบาสก์เมตร ก่อนหน้านั้น
"และการส่งออกนี้จะไม่ฟื้นตัวจนกว่าความสัมพันธ์ของเราจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว แต่นี่ชัดเจนว่ามันอยู่ในอนาคตที่ห่างไกลมาก" เคลพัชกล่าว พร้อมยอมรับว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่้ชดเชยการส่งออกก๊าซที่ลดลงของรัสเซีย ด้วยการเพิ่มอุปทานที่จ่ายป้อนแก่จีน
(ที่มา : รอยเตอร์)