xs
xsm
sm
md
lg

ไพ่เอซ 4 ใบที่สีจิ้นผิงถือเอาไว้ในมือ ขณะเขาเจรจาหารือกับไบเดน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เดวิด พี. โกลด์แมน ***


ไพ่เอซ 4 ตัว  ใครอยู่ในฐานะเข้มแข็งกว่ากัน? สี จิ้นผิงมีไพ่แต้มสูง 4 ใบอยู่ในมือ ขณะเข้าเจรจากับ โจ ไบเดน ที่ซานฟรานซิสโก   (ภาพจาก Vecteezy)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Xi holds four aces as he meets Biden
By DAVID P. GOLDMAN
11/11/2023

สงครามยูเครนที่อยู่ในภาวะชะงักงัน ส่อแสดงถึงความเพลี่ยงพล้ำในจุดยืนทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ สงครามเทคซึ่งมาตรการสกัดกั้นของอเมริกาล้มเหลวไม่อาจขัดขวางการพัฒนาชิประดับก้าวหน้าของแดนมังกร การที่จีนอาศัยสงครามกาซาเพื่อหนุนส่งฐานะตนเองในฐานะเป็นผู้นำในทางพฤตินัยของกลุ่มซีกโลกใต้ และการที่ฝ่ายทหารของสหรัฐฯ ต้องการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับจีนในบริเวณหลังบ้านของแดนมังกรอย่างภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้และน่านน้ำทะเลจีนใต้ เหล่านี้คือไพ่แต้มสูงที่ สี จิ้นผิง มีอยู่ในมือ ซึ่งผูกมัดทำให้ ไบเดน ต้องเล่นเกมการทูตในการประชุมซัมมิตซานฟรานซิสโกด้วยท่าทีระมัดระวังตัวอย่างสูง

สี จิ้นผิง ผู้นำของจีน พบปะหารือกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ในวันพุธ (15 พ.ย.) นี้ที่นครซานฟรานซิสโก โดยที่เขามีไพ่แต้มสูงถึง 4 ใบอยู่ในมือ ทั้งนี้ พวกที่ปรึกษาทางนโยบายที่ใกล้ชิดกับ สี ต่างแสดงความมั่นอกมั่นใจในจุดยืนทางยุทธศาสตร์ของจีน อย่างชนิดที่ไม่เคยปรากฏให้เห็นกันมาก่อน

ไพ่ทั้ง 4 ใบเหล่านี้ได้แก่ ใบแรก การพังทลายของการรุกตอบโต้ที่ยูเครนกระทำกับกองกำลังของฝ่ายรัสเซีย รวมทั้งการที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของยูเครนออกมายอมรับว่า สงครามครั้งนี้กำลังตกอยู่ใน “ภาวะชะงักงัน” นี่คือความเพลี่ยงพล้ำสำหรับจุดยืนทางยุทธศาสตร์ของอเมริกา และการอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบของจีน ซึ่งยอดส่งออกไปยังรัสเซียของพวกเขาได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตัวนับตั้งแต่การรุกรานยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 เป็นต้นมา

ใบที่สอง สงครามเทคที่สหรัฐฯ มุ่งเล่นงานจีนก็ประสบความล้มเหลว เมื่อพวกบริษัทปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) จีนพากันซื้อชิปประมวลผลที่มีความเร็วสูงของหัวเว่ย แทนที่พวกเซมิคอนดักเตอร์จากอินวิเดีย (Nvidia) และผู้ผลิตสหรัฐฯ รายอื่นๆ

ใบที่สาม สงครามกาซาที่ยั่วยุให้เกิดขึ้นโดยพวกฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ทำให้จีนมีทางเลือกฟรีๆ ขึ้นมาทางหนึ่งสำหรับใช้แสดงตัวเป็นผู้นำในทางพฤตินัยของกลุ่มซีกโลกใต้ (Global South) ในการคัดค้านอิสราเอล ผู้เป็นพันธมิตรของอเมริกัน โดยที่ยอดส่งออกของจีนไปยังโลกมุสลิมในเวลานี้สูงกว่าที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ แล้ว

และไพ่ใบที่สี่ ฝ่ายทหารสหรัฐฯ นั้นต้องการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับจีนในภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ เช่นเดียวกับในน่านน้ำบ้านเกิดของจีนอย่างในทะเลจีนใต้ ที่ซึ่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีนมีขีปนาวุธยิงจากภาคพื้นดินสู่เรือเป็นจำนวนพันๆ ลูก รวมทั้งเครื่องบินรบรุ่นเจเนอเรชันที่ 4 และรุ่นเจเนอเรชันที่ 5 จำนวนเกือบๆ 1,000 ลำ ทำให้ประเทศจีนมีความได้เปรียบในยุทธบริเวณบ้านเกิดอย่างท่วมท้นในแง่ของอำนาจการยิง

ต่างฝ่ายต่างก็กลัวจะเกิดสงคราม

เบื้องหน้าเบื้องหลังของซัมมิตไบเดน-สีคราวนี้ คือความหวาดกลัว -ความหวาดกลัวที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็มีกันอยู่ทั้งคู่- ที่ว่าการประจันหน้ากันระหว่างสหรัฐฯ-จีนอาจจะนำไปสู่สงครามใหญ่

เฮนรี คิสซิงเจอร์ (Henry Kissinger) บอกกับนิตยสารดิ อีโคโนมิสต์ (the Economist) เอาไว้ตั้งแต่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า “เรากำลังอยู่ในสถานการณ์คลาสสิกอย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อช่วงก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เป็นสถานการณ์ซึ่งไม่มีฝ่ายไหนเลยที่มีความสามารถในการอ่อนข้อผ่อนปรนทางการเมืองได้อย่างมากมาย และดังนั้นถ้าหากภาวะสมดุลถูกรบกวนใดๆ ขึ้นมา มันก็สามารถนำไปสู่ผลต่อเนื่องที่เป็นความวิบัติหายนะ”

แผนที่จีนยุครณรัฐ (จ้านกั๋ว) ที่แบ่งออกเป็น 7 อาณาจักร (ภาพจากวิกิพีเดีย)
จิน ช่านหรง (Jin Canrong) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเหรินหมิน (Renmin University) ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญคนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน บอกกับเว็บไซต์ “กวนฉา” (ผู้สังเกตการณ์ The Observer) เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนว่า “โลกทุกวันนี้ได้ย่างเข้าสู่ยุคสมัยของการต่อสู้ดิ้นรนครั้งใหญ่ กล่าวคือ ระเบียบเก่าที่ครอบงำโดยฝ่ายตะวันตกนั้น มันกำลังอยู่ในอาการสลายตัว ทว่าระเบียบใหม่ก็ยังไม่ทันได้ปักหลักอย่างมั่นคง” จินเปรียบเทียบสถานการณ์โลกเวลานี้ว่าคล้ายๆ กับยุคจ้านกั๋ว หรือยุครณรัฐ (Warring States period) อันนองเลือดของจีน (ช่วงระหว่างปี 475 ก่อน ค.ศ. ถึงปี 221 ก่อน ค.ศ.)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.guancha.cn/JinCanRong/2023_11_09_715033_s.shtml)

ความกังวลใจอย่างสำคัญประการหนึ่งของฝ่ายอเมริกัน ได้แก่ การที่จีนขยายคลังแสงนิวเคลียร์จนเป็นที่คาดการณ์กันว่าจะมีหัวรบนิวเคลียร์ราว 1,000 หัวรบภายในปี 2030 จากที่มีเพียง 220 หัวรบในปี 2020 บทวิจารณ์ชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ทาง ฟอเรนจ์ แอฟแฟร์ส (Foreign Affairs) วารสารชื่อดังทางด้านกิจการต่างประเทศของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน กล่าวเตือนเอาไว้ว่า “พวกนักวิเคราะห์ชาวจีนกำลังวิตกเรื่องที่สหรัฐฯ เพิ่งมีการลดขีดขั้นต่ำสุดสำหรับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของตนให้ต่ำลง --รวมไปถึงการเปิดทางให้สหรัฐฯ สามารถเป็นฝ่ายแรกที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้ก่อนอย่างจำกัดในเมื่อเกิดการสู้รบขัดแย้งเรื่องไต้หวันขึ้นมา – ตลอดจนเรื่องที่ฝ่ายทหารของสหรัฐฯ กำลังได้ครอบครองสมรรถนะใหม่ๆ ซึ่งสามารถใช้ในการทำลายหรืออย่างน้อยก็ในการลดเกรดกองกำลังนิวเคลียร์ของจีนลงมาอย่างสำคัญ”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.foreignaffairs.com/china/chinas-misunderstood-nuclear-expansion)

แกวิน นิวซอม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐฯ ขณะแถลงข่าวในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2023 การไปเยือนของเขาคราวนี้ถูกมองว่าเหมือนเป็นการชิมลางของฝ่ายสหรัฐฯ สำหรับใช้ในการเตรียมตัวประชุมซัมมิตไบเดน-สี
ผู้ว่านิวซอมแสดงถึงวิธีในการถอยหลังกลับ

ก่อนที่ไบเดน-สีมีการเจรจากันจริงๆ ในวันที่ 15 พฤศจิกายน กล่าวได้ว่าทางสหรัฐฯ ได้จัดการชิมลางด้วยการเดินทางไปเยือนปักกิ่งเมื่อวันที่ 25 ตุลาคมของผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย แกวิน นิวซอม (Gavin Newsom) ผู้ซึ่งน่าจะได้ขึ้นเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครตมากที่สุด หากไบเดนเกิดมีอันต้องถอนตัวด้วยปัญหาทางสุขภาพ หรือเพื่อตอบสนองต่อการสอบสวนของรัฐสภาในเรื่องการเงินส่วนตัวของเขาและการเงินในครอบครัวของเขา ฉากทัศน์หนึ่งที่มีการพูดกันอย่างกว้างขวางสำหรับการแข่งขันชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีอเมริกันที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปี 2024 ได้แก่การทำนายว่า นิวซอม จะเข้าแทนที่ไบเดนผู้ชราภาพ ในการเป็นผู้สมัครของพรรคเดโมแครต
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://apnews.com/article/china-visit-gavin-newsom-wang-yi-us-7f2bcb44d9279296f853f1042b298877)

จุดสำคัญอยู่ตรงที่ว่า นิวซอมได้รับการอ้างอิงว่า ขณะอยู่ในเมืองจีนนั้น เขาไปพูด “แสดงความสนับสนุนนโยบายจีนเดียว ... เช่นเดียวกับที่ทางเรา (อเมริกา) ไม่ได้มีความปรารถนาที่จะเห็นการเป็นเอกราช” ของไต้หวัน นิวซอมยังพูดเกี่ยวกับ “การฟื้นฟูมิตรภาพของเรา (สหรัฐฯ-จีน) ขึ้นมาใหม่ และการเข้ามีปฏิสัมพันธ์อีกครั้งในประเด็นปัญหาระดับรากฐานและระดับพื้นฐานต่างๆ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดตัดสินความเชื่อมั่นศรัทธาร่วมกันของเราในอนาคต”

การที่นิวซอมปฏิเสธอย่างชัดเจนไม่เอาด้วยกับการเป็นเอกราชของไต้หวันเช่นนี้ เป็นท่าทีที่ตรงกันข้ามกันเลยกับคำแถลงของไบเดนหลายครั้งก่อนหน้านี้ ซึ่งถึงแม้บอกว่าสหรัฐฯ “ไม่ได้กำลังส่งเสริมหนุนหลังการเป็นเอกราชของพวกเขา (ไต้หวัน)” แต่ก็ย้ำด้วยว่าการจะเป็นเอกราชหรือไม่ ต้องเป็น “การตัดสินใจของพวกเขาเอง” ไบเดนยังเคยประกาศว่าสหรัฐฯ มี “พันธกรณี” ที่จะต้องเข้าพิทักษ์ป้องกันไต้หวัน จนทำให้มีเสียงประท้วงจากทางกระทรวงการต่างประเทศของจีน สำหรับที่ซานฟรานซิสโก เป็นที่คาดหมายกันว่าไบเดนน่าที่จะส่งเสียงในทางกลับมาให้ความมั่นใจมากยิ่งขึ้นกับฝ่ายจีนอีกครั้ง –นั่นก็คือ ทำแบบที่นิวซอมทำในเมืองจีน
(ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับท่าทีก่อนหน้านี้ของไบเดนได้ที่ https://www.reuters.com/world/biden-says-us-forces-would-defend-taiwan-event-chinese-invasion-2022-09-18/)

กองทัพจีนมีแสนยานุภาพและความแข็งกร้าวยืนกรานมากขึ้น

การที่กองทัพเรือ และกองทัพอากาศในย่านทะเลจีนใต้ของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (People’s Liberation Army หรือ PLA ชื่ออย่างเป็นทางการของกองทัพจีน) กำลังแสดงความแข็งกร้าวยืนกรานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นเรื่องที่สร้างความกังวลให้แก่ฝ่ายทหารของสหรัฐฯ ผลที่เกิดขึ้นประการหนึ่งก็คือจีนกล้าทะเลาะเบาะแว้งกับสหรัฐฯ ด้วยการระงับช่องทางติดต่อสื่อสารแบบฮอตไลน์ระหว่างฝ่ายทหารของสองประเทศ ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเดือนที่แล้ว เจ้าหน้าที่เพนตากอนผู้หนึ่งร้องโวยว่าเครื่องบินรบของจีนมีการเคลื่อนไหวแบบเสี่ยงๆ เมื่อบินเฉียดใกล้เครื่องบินสหรัฐฯ เป็นจำนวนรวมแล้วถึง 200 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://finance.yahoo.com/news/u-details-risky-chinese-military-170809368.html)

เวลาเดียวกัน พวกอาวุธตามแบบแผน (นั่นคืออาวุธที่ไม่ใช่นิวเคลียร์) ของกองกำลังจรวดแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (PLA Rocket Force) ก็ได้รับการประเมินว่า “เป็นกองกำลังขีปนาวุธชนิดตั้งฐานอยู่ทางภาคพื้นดินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีขีปนาวุธตามแบบแผนทั้งแบบทิ้งตัว (ballistic) และทั้งแบบร่อน (cruise) จำนวนกว่า 2,200 ลูก อีกทั้งมีขีปนาวุธต่อสู้เรือจำนวนมากเพียงพอที่จะโจมตีเรือรบผิวน้ำสหรัฐฯทุกๆ ลำในทะเลจีนใต้ได้ด้วยอำนาจการยิงซึ่งเพียงพอเอาชนะระบบป้องกันขีปนาวุธของเรือแต่ละลำ” นี่คือสิ่งที่ พันตรีคริสโตเฟอร์ เจ. มิฮัล (Major Christopher J. Mihal) เขียนเอาไว้ในปี 2021 ในวารสารกองทัพบกสหรัฐฯ (US Army journal) ฉบับหนึ่ง
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.armyupress.army.mil/Journals/Military-Review/English-Edition-Archives/July-August-2021/Mihal-PLA-Rocket-Force/)

สหรัฐฯ เจอแรงสะท้อนกลับจากสงครามชิป

อเมริกาใช้ความพยายามอย่างมากมายในการเข้มงวดจำกัดไม่ให้มีการส่งออกพวกชิประดับไฮเอนด์ไปยังจีน แต่ปรากฏว่ายังคงประสบความล้มเหลวไม่สามารถขัดขวาง หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ไม่ให้เสนอสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ออกสู่ตลาด ตลอดจนพวกชิปประมวลผลด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ที่มีความสามารถการทำงานในระดับเทียบเคียงหรือใกล้เคียงกับสิ่งที่ได้ออกมาจากพวกผลิตภัณฑ์ของอินวีเดีย (Nvidia) และบริษัทดีไซเนอร์ด้านเซมิคอนดักเตอร์สัญชาติสหรัฐฯ รายอื่นๆ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้เอง สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ไป่ตู้ (Baidu) ยักษ์ใหญ่ทางอินเทอร์เน็ตของจีนได้ออเดอร์ชิปเอไอรุ่น 910บี แอสเซนด์ (910B Ascend AI chips) ของหัวเว่ยจำนวน 1,600 ชิ้น โดยที่มีรายงานระบุว่ามันสามารถทำงานได้พอๆ กับชิปอินวีเดีย เอ100 กราฟิกส์ โปรเซสซิง ยูนิต (Nvidia A100 Graphics Processing Unit) ซึ่งเป็นตัวประมวลผลเอไอที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเวลานี้

เวลาเดียวกันนั้น อินวีเดียก็เสนอชิปชุดใหม่ชุดหนึ่งสำหรับวางจำหน่ายในตลาดจีน ชิปชุดนี้มีการลดระดับศักยภาพในการทำงานลงมาเพื่อให้อยู่ภายในกรอบข้อจำกัดใหม่ๆ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ประกาศบังคับใช้ในเดือนที่แล้ว อย่างที่บริษัทที่ปรึกษา เซมิแอนนาไลซิส (Semianalysis) พูดเอาไว้ในรายงานที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนนั่นแหละ “สิ่งที่สร้างเซอร์ไพรส์ให้แก่เราก็คือว่า อินวิเดียยังสามารถค้นพบหนทางในการจัดส่งชิป GPU ศักยภาพการทำงานสูงของบริษัทไปยังจีนได้ ด้วย GPU รุ่น เอช20 แอล20 และ แอล2 ที่กำลังนำออกสู่ตลาดของพวกเขา อินวิเดียมีตัวอย่างผลิตภัณฑ์ GPU เหล่านี้เรียบร้อยแล้ว และจะเข้าสู่การผลิตอย่างขนานใหญ่ภายในเดือนหน้า เรื่องนี้ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงทักษะความชำนาญของพวกเขาในเรื่องห่วงโซ่อุปทาน”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://substack.com/redirect/018dbb9f-7691-4a15-825c-af941f467e05?j=eyJ1IjoiN2p1eiJ9.g7LWShTwWs5P977Fz2iK3A3oDslX1k8e3FhcRU-KgEA)

หาประโยชน์จากวิกฤตการณ์กาซา

จากการที่จีนมีการปรากฏตัวทางเศรษฐกิจในโลกมุสลิมนำหน้ากว่าใครๆ ปักกิ่งจึงมองสงครามกาซาว่าเป็นจุดสำหรับการรณรงค์ปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึกต่อต้านสหรัฐฯ และเหล่าพันธมิตรของสหรัฐฯ “เสียงของซีกโลกใต้ (Global South) กำลังดังกึกก้องขึ้นเรื่อยๆ โลกอาหรับในภูมิภาคตะวันออกกลางกำลังเคลื่อนไหวมุ่งสู่การคืนดีปรองดองกัน และเสียงของโลกที่สามก็เติบใหญ่ขยายตัวบนเวทีระหว่างประเทศต่อไปอย่างต่อเนื่อง” จิน ช่านหรง เขียนเอาไว้ในข้อเขียนชิ้นที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ “กวนฉา” เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนตามที่ได้อ้างอิงไว้ข้างต้น “ในเหตุการณ์ที่ถือเป็นหลักหมายทั้งหลายเหล่านี้ สามารถมองเห็นประเทศจีนได้อย่างชัดเจน และประเทศต่างๆ เหล่านี้จึงยิ่งมีความคาดหวังและเรียกหาประเทศจีนกันมากขึ้นทุกที”

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน จับมือกับประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส แห่งปาเลสไตน์ ในพิธีต้อนรับที่มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2023
จุดสำคัญที่พึงต้องสังเกตเอาไว้ก็คือว่า จินได้รวมเอาอิสราเอลเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแกนกลางของพวกประเทศตะวันตก เขาเขียนเอาไว้ดังนี้:

ทุกๆ คนเฝ้าพูดกันเกี่ยวกับฝ่ายตะวันตก แต่ว่าจริงๆ แล้วฝ่ายตะวันตกมีความหมายอย่างไรแน่? ฝ่ายตะวันตกนั้นเป็นการอ้างอิงถึง 3 ประเทศใหญ่และ 4 ประเทศเล็ก โดย 3 ประเทศใหญ่คือ สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ส่วน 4 ประเทศเล็กคือแคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอิสราเอล พวกเขาเป็นวงแบบปิดขนาดเล็กๆ ที่ประเทศอื่นๆ ไม่สามารถเข้าไปได้ มีกลุ่มปัญญาชนฝ่ายขวาในจีนกลุ่มหนึ่งที่ยังคงใฝ่ฝันจะเข้าร่วมอยู่กับฝ่ายตะวันตก ทว่ากระทั่งพวกเขารื้อพระราชวังกู้กงในกรุงปักกิ่งทิ้งไป และสร้างทำเนียบขาวขึ้นแทนที่เอาไว้ตรงนั้น พวกเขาก็จะไม่สามารถเข้าไปได้อยู่ดี ถ้าพวกเขาเข้าไป พวกเขาก็จะต้องยอมเป็นคนรับใช้ที่คอยพิทักษ์รักษาพระราชวัง แบบเดียวกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

ถึงแม้ว่า อิสราเอลใต้การปกครองของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู มีการวางตัวเป็นพันธมิตรของอเมริกันอย่างคงเส้นคงวา คอยซื้อหาฮาร์ดแวร์การทหารส่วนใหญ่จากสหรัฐฯ และเข้าร่วมการพัฒนาระบบอาวุธต่างๆ หลายหลากกับสหรัฐฯ ทว่าอิสราเอลไม่เคยปฏิบัติตนเสมือนเป็นสมาชิกระดับแกนกลางรายหนึ่งของกลุ่มพันธมิตรตะวันตกเลย แล้วยังไม่เหมือนกับนิวซีแลนด์ แคนาดา หรือออสเตรเลียอีกด้วย อิสราเอลนั้นไม่ได้ร่วมอยู่ในกลุ่มแลกเปลี่ยนแบ่งปันข้อมูลข่าวกรอง ที่เรียกกันว่า กลุ่ม “ไฟฟ์อายส์” (Five Eyes) รวมทั้งได้ปฏิเสธไม่จัดหาความช่วยเหลือชนิดที่มีอานุภาพทำลายร้ายแรงถึงชีวิตให้แก่ยูเครน

อิสราเอลกับจีน: ความสัมพันธ์ที่น่าจะเกิดขึ้นมา


ยิ่งไปกว่านั้น อิสราเอลกับจีน ทั้งคู่ต่างมีปัญหากับลัทธิก่อการร้ายมุสลิม และได้เคยจัดการหารืออย่างไม่เป็นทางการว่าด้วยความร่วมมือกันที่อาจเป็นไปได้มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง – ถึงแม้ยังไม่มีอันไหนเลยซึ่งนำไปสู่ข้อตกลงที่มีผลในทางปฏิบัติก็ตามที

ในปี 2019 ผมได้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาแบบปิดประตูมุ่งแลกเปลี่ยนทัศนะกันเป็นการภายใน กับพวกผู้ชำนาญการพิเศษด้านความมั่นคงคนสำคัญทั้งที่เป็นชาวจีนและชาวอิสราเอล โดยที่ถือเป็นการประชุมภายใต้กฎระเบียบแบบชาแธมเฮาส์ (Chatham House rules นั่นคือต้องไม่มีการระบุตัวตนของผู้พูดแสดงความคิดเห็น) ปรากฏว่ามีที่ปรึกษาด้านนโยบายคนสำคัญชาวจีนผู้หนึ่งขอให้ฝ่ายอิสราเอลช่วยเหลือจีนในการอธิบายนโยบายของแดนมังกรที่มีต่อชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์มุสลิมในมณฑลซินเจียงให้รัฐบาลอเมริกันได้ทราบและเข้าใจ

อดีตเจ้าหน้าที่ระดับท็อปผู้หนึ่งของอิสราเอลตอบดังนี้

อิสราเอลจะช่วยเหลือจีนในการติดต่อสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ไหม? ที่จริงเรามีประสบการณ์ในด้านนี้อยู่ นี่ไม่ใช่ความลับอะไรอีกต่อไปแล้ว เอกอัครราชทูตอียิปต์ประจำวอชิงตันเคยพูดในที่สาธารณะว่า อียิปต์คงไม่สามารถผ่านพ้นระยะเวลา 4 ปีหลังสุดของคณะบริหารโอบามามาได้ ถ้าหากปราศจากความสนับสนุนของอิสราเอล เราช่วยเหลือทั้งกับรัฐสภาสหรัฐฯและกับทำเนียบขาว ความสำเร็จของ [ประธานาธิบดีอียิปต์] เอล-ซิซี (El-Sisi) ในการต่อต้านกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ แต่ถ้าเราช่วยเหลือจีน เราก็ต้องตั้งคำถามว่า ทำไมต้องช่วย? พวกคุณคาดหวังให้เราช่วยป้องกันนโยบายของพวกคุณที่มีต่อชาวอุยกูร์ ก็แล้วพวกคุณจะป้องกันนโยบายของเราที่มีต่อพวกฮามาสหรือไม่? ไม่หรอก แล้วทำไมเราจึงควรช่วยป้องกันพวกคุณ แรกสุดเลยเปลี่ยนนโยบายของพวกคุณเสียก่อน พวกคุณไม่สามารถคาดหวังให้อิสราเอลทำอะไรได้หรอกในเมื่อพวกคุณยังกำลังประณามอิสราเอลอยู่

ผู้พูดชาวจีนคนนั้นประท้วงว่า จีนมีชาวมุสลิมอยู่ 20 ล้านคนที่จีนไม่ต้องการไปกระตุ้นยั่วยุ ด้วยการโหวตออกเสียงให้อิสราเอลในสหประชาชาติ นี่ยังไม่ต้องพูดถึงสถานเอกอัครราชทูตของชาติมุสลิมอีกมากกว่า 50 แห่ง

ชาวอิสราเอลคนสำคัญคนดังกล่าวในห้องนั้นพูดสวนกลับว่า นายกรัฐมนตรีของอินเดีย โมดี (Modi) “มีชาวมุสลิมมากกว่าพวกคุณอีก แต่เขาก็โหวตให้สหรัฐฯ ในยูเอ็น! อินเดียนั้นเปลี่ยนนโยบายแล้ว อินเดียมีความสัมพันธ์ที่ดีกับอิหร่าน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบ รัฐอย่างจีนก็เฉกเช่นเดียวกับอินเดีย เป็นรัฐใหญ่เพียงพอที่จะทำอะไรก็ได้ที่พวกเขาต้องการ มันทำให้ผมรู้สึกอัศจรรย์ใจมากที่เห็นว่า ไม่เหมือนกับอินเดีย ประเทศที่เข้มแข็งอย่างจีนยังคงกำลังอธิบายว่าพวกเขาอ่อนแอเกินกว่าที่จะโหวตคัดค้านพวก 57 ประเทศมุสลิมในยูเอ็น มันไม่สมเหตุสมผลแล้วภายหลังจากประสบการณ์ของอินเดีย”

ที่ปรึกษาชาวจีนผู้นั้นตอบโต้ดังนี้: “ผมได้พบเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่โตมากที่กำลังเกิดขึ้นในสหรัฐฯ สหรัฐฯ นั้นไม่ได้มีความอดทนอดกลั้นเหมือนอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต ขณะที่จีนก็มีความมั่นอกมั่นใจมากขึ้น บางครั้งก็มั่นอกมั่นใจจนเกินไป เราเผชิญกับประเด็นปัญหาต่างๆ ภายในประเทศที่ยากลำบาก จีนกำลังเอียงซ้ายในเรื่องภายในประเทศ ส่วนสหรัฐฯ กลับกำลังกลายเป็นอนุรักษนิยมมากขึ้น

“นโยบายต่างๆ ทางด้านภายในประเทศ (ของสหรัฐฯ) ได้หันเหไปในทิศทางที่แตกต่างออกไป” เขากล่าวต่อ โดยอ้างอิงถึงการที่คณะบริหารทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีศุลกากรเอากับสินค้านำเข้าจากจีน แต่ที่ปรึกษาชาวจีนผู้นี้กล่าวต่อไปว่า “อิสราเอลจะแสดงบทบาทในด้านบวก เพราะอิสราเอลมีความสัมพันธ์ที่ยิ่งใหญ่กับสหรัฐฯ ประชาชนชาวจีนนั้นชื่นชมยกย่องอิสราเอลและประชาชนชาวอิสราเอล ประชาชนชาวจีนส่วนใหญ่มีความประทับใจที่ดีต่ออิสราเอล แต่เรายังมีประชากรมุสลิมขนาดใหญ่ และพวกเขาเป็นพวกนิยมอาหรับ นี่คือข้อเท็จจริง”

จีนมีทัศนะในทางลบมากขึ้น

สิ่งที่กล่าวไว้ข้างบนนี้เป็นการคัดย่อจากบันทึกแบบคำต่อคำการสนทนาในครั้งนั้นของผม นี่เป็นการเจรจาต่อรองที่ชุลมุนวุ่นวาย แต่ก็ไม่ใช่มีลักษณะเป็นปรปักษ์กัน ทว่านับแต่นั้นมาน้ำเสียงของจีนก็ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน โดยที่สื่อมวลชนจีนตลอดทั่วทั้งหมดก็แสดงน้ำเสียงที่เป็นปรปักษ์อย่างแหลมคมต่ออิสราเอล

ความรับรู้ความเข้าใจของจีนต่อเจตนารมณ์ของอเมริกันก็ได้เปลี่ยนแปลงไปด้วยในเวลาเดียวกันนี้ ในการให้สัมภาษณ์เว็บไซต์ “กวนฉา” เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน จิน ช่านหรง ยังพูดต่อไปอีก ดังนี้

ถึงแม้ระเบียบโลกอยู่ในสภาพปั่นป่วนวุ่นวายทุกหนทุกแห่ง แต่ส่วนประกอบที่อันตรายที่สุดเท่าที่ปรากฏอยู่จนถึงเวลานี้ก็คือการสู้รบขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ยูเครนนั้นเป็นตัวแทนและเป็นหุ่นเชิดของสหรัฐฯ พวกนักการเมืองอเมริกันและสื่อมวลชนอเมริกันต่างพากันเรียกการสู้รบขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ว่าเป็น “สงครามตัวแทน” สหประชาชาตินั้นมีรัฐสมาชิกอยู่ 193 ราย ขณะที่บนพื้นพิภพนี้มีประเทศและดินแดนต่างๆ มากกว่า 200 แห่ง ทว่าแห่งที่มีความเป็นอิสระในทางยุทธศาสตร์และมีความสามารถที่จะทำลายกันและกันได้ ก็มีเพียงจีน, สหรัฐฯ และรัสเซีย โดยที่ 2 รายในจำนวนนี้กำลังอยู่ในสภาพของการประจันหน้ากันทางการทหาร

น่าเศร้าใจที่ว่า คำพูดที่แข็งกระด้างไม่น่าฟังของ จิน เกี่ยวกับบทบาทของสหรัฐฯ ในสงครามยูเครนเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล การพยายามหาทางเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในรัสเซียโดยผ่านการทำ “การปฏิวัติสี” (color revolutions) อย่างต่อเนื่องเป็นชุดตามประเทศต่างๆ ที่มีพรมแดนประชิดกับรัสเซีย คือแนวเรื่องสำคัญซึ่งเป็นที่นิยมจนคลั่งไคล้ของนโยบายของพวกอนุรักษนิยมใหม่ (neo-conservative) นับตั้งแต่ที่วอชิงตันหนุนหลัง “การปฏิวัติสีส้ม” (Orange Revolution) ในยูเครนเมื่อปี 2004 แล้ว

จีนกับซีกโลกใต้

จีนมองเห็นโอกาสที่จะสามารถตอบโต้เอาคืนสหรัฐฯ และกำลังอาศัยจุดยืนที่เด่นตระหง่านมากขึ้นของตนในกลุ่มซีกโลกใต้ เพื่อบ่อนทำลายอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์ของอเมริกา ทั้งนี้นับตั้งแต่การสนทนาที่อ้างอิงไว้ข้างต้นเมื่อปี 2019 การส่งออกของจีนไปยังกลุ่มซีกโลกใต้ได้เพิ่มสูงขึ้นมากซึ่งถ้าคิดเป็นตัวเลขคร่าวๆ ก็คือเป็นสองเท่าตัว



วอชิงตันแทบไม่มีไพ่อะไรที่จะงัดมาเล่นด้วย และไบเดนน่าที่จะตอบสนองต่อจุดยืนที่อ่อนแอลงของเขา ด้วยการกลับตาลปัตรความเห็นในเรื่องเกี่ยวกับไต้หวัน

เดวิด พี. โกลด์แมน ผู้ช่วยบรรณาธิการของเอเชียไทมส์ เป็นสมาชิกคนหนึ่งของคณะกรรมการที่ปรึกษาของ SIGNAL (Sino-Israel Government Network and Academic Leadership เครือข่ายรัฐบาลและคณะผู้นำทางวิชาการ จีน-อิสราเอล)
กำลังโหลดความคิดเห็น