รัฐบาลเนปาลประกาศแบน TikTok โดยอ้างว่าแอปแชร์วิดีโอสั้นยอดนิยมนี้มีการเผยแพร่คอนเทนต์ที่บ่อนทำลาย “ความสมานฉันท์ในสังคม” (social harmony)
ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน หลังจากที่รัฐบาลเนปาลได้ออกกฎให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั้งหลายต้องมีการเปิดสำนักงานผู้ประสานงาน (liaison office) ขึ้นในประเทศ
TikTok ซึ่งมีผู้ใช้งานต่อเดือนประมาณ 1,000 ล้านคนถูกรัฐบาลหลายๆ ประเทศสั่งแบน รวมถึงอินเดียด้วย และเมื่อต้นปีนี้รัฐมอนทานาได้กลายเป็นรัฐแรกในสหรัฐอเมริกาที่สั่งแบนแอปตัวนี้ ขณะที่รัฐสภาของสหราชอาณาจักรก็ห้ามเจ้าหน้าที่ใช้เครือข่ายของสภาในการเล่น TikTok
เรขา ชาร์มา รัฐมนตรีกระทรวงสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งเนปาล ให้สัมภาษณ์กับ BBC Nepali ว่า แพลตฟอร์มนี้มีการเผยแพร่คอนเทนต์ที่เป็นอันตรายต่อสังคม และคำสั่งแบน “มีผลบังคับทันที”
อย่างไรก็ตาม กากัน ธาปา ผู้นำระดับสูงของพรรคคองเกรสเนปาล (Nepali Congress Party) ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ได้ออกมาตั้งคำถามเกี่ยวกับการตัดสินใจแบน TikTok ครั้งนี้ว่าจะเข้าข่ายลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออกหรือไม่ พร้อมเสนอให้เจ้าหน้าที่รัฐกำหนดมาตรการควบคุมดูแลแพลตฟอร์มจะเหมาะสมกว่า
TikTok ซึ่งเป็นแอปแชร์วิดีโอสั้นยอดนิยมของไบต์แดนซ์ (ByteDance) โดนเพ่งเล็งอย่างหนักในสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศเกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ อีกทั้งยังถูกครหาว่ามีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลจีน ซึ่งทางไบต์แดนซ์เองออกมาปฏิเสธ
แม้ว่า TikTok จะยังคงตามหลัง Facebook และ Instagram ในแง่ของจำนวนผู้ใช้งานต่อเดือน (monthly active users) ทว่าความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่นั้นแซงหน้าคู่แข่งไปแล้ว
สื่อท้องถิ่นเนปาลรายงานว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเกิดอาชญากรรมไซเบอร์ที่เชื่อมโยงกับ TikTok มากกว่า 1,600 คดี
ที่มา : BBC