พระเจ้าชาร์ลส์แสดงความเสียใจสุดซึ้งกับความโหดร้ายป่าเถื่อนที่ชาวเคนยาต้องเผชิญระหว่างต่อสู้เพื่อปลดแอกจากการเป็นอาณานิคมอังกฤษในอดีต แต่ไม่ได้ตรัสขอโทษตามเสียงเรียกร้องของผู้รอดชีวิตจากยุคมืดดังกล่าว และกลุ่มสิทธิมนุษยชนท้องถิ่นที่ต้องการให้รัฐบาลเมืองผู้ดีจ่ายเยียวยา
พระเจ้าชาร์ลส์แห่งอังกฤษตรัสระหว่างงานเลี้ยงต้อนรับในวันแรกของการเสด็จเยือนเคนยาอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 4 วันเมื่อวันอังคาร (31 ต.ค.) ว่า การกระทำผิดในอดีตเป็นที่มาของความเสียใจอย่างสุดซึ้ง และยอมรับว่า มีการใช้ความรุนแรงอย่างไม่เป็นธรรมและน่ารังเกียจต่อชาวเคนยาที่พยายามต่อสู้ฝ่าฟันอย่างเจ็บปวดเพื่ออิสรภาพและอธิปไตย และไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ สำหรับการกระทำเหล่านั้น
ทั้งนี้ พลเมืองมากมายในเคนยาที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ซึ่งรวมถึงผู้นำของชาวนันดี ต้องการให้พระเจ้าชาร์ลส์ตรัสขอโทษโดยตรงและรับรองการจ่ายเยียวยาสำหรับการกระทำทารุณของอังกฤษในยุคอาณานิคม ซึ่งรวมถึงการทรมาน เข่นฆ่า และยึดที่ดิน ที่ปัจจุบันยังมีที่ดินมากมายอยู่ในการครอบครองของอังกฤษ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเคนยาประเมินว่า “การปฏิวัติเมาเมา” ระหว่างปี 1952-1960 ทำให้ชาวเคนยาราว 90,000 คนเสียชีวิตหรือพิการ และอีก 16,000 คนถูกควบคุมตัวในค่ายโดยไม่มีการไต่สวน
ก่อนหน้านั้น คอยทาเลล อาแรป ซาโมอี กษัตริย์นันดี เป็นผู้นำก่อกบฏนานหนึ่งทศวรรษจนกระทั่งถูกอังกฤษสังหารในปี 1905 และปีถัดมาอังกฤษได้ยึดที่ดินและปศุสัตว์ส่วนใหญ่ของชาวนันดี
คิปโชกี อาแรป โชมู เหลนของซาโมอี ยกย่องอังกฤษที่วางระบบการศึกษาและสาธารณสุขในเคนยา แต่ย้ำว่า ความอยุติธรรมในอดีตต้องได้รับการเยียวยาด้วยการกล่าวขอโทษอย่างเปิดเผยจากรัฐบาลอังกฤษและการจ่ายเยียวยา
ปี 2013 อังกฤษเคยแสดงความเสียใจต่อการกระทำเหล่านั้นและตกลงจ่ายเงินชดเชย 20 ล้านปอนด์ (24 ล้านดอลลาร์) ให้ชาวเคนยากว่า 5,000 คนที่ถูกกดขี่ข่มเหงในระหว่างการปฏิวัติเมาเมา
อย่างไรก็ดี วิลเลียม เฮก รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษในขณะนั้น “แสดงความเสียใจอย่างแท้จริง” แต่ไม่ได้กล่าวคำขอโทษ
ประธานาธิบดีวิลเลียม รูโต ของเคนยา ยกย่องพระเจ้าชาร์ลส์สำหรับความกล้าหาญและความพร้อมในการตีแผ่ความจริงที่น่าอึดอัดใจที่ชาวแอฟริกามีร่วมกัน และสำทับว่า การตอบโต้ของเจ้าอาณานิคมต่อการต่อสู้เพื่ออธิปไตยและการปกครองตนเองของแอฟริกาช่างโหดร้ายอย่างยิ่ง
รูโตเสริมว่า แม้มีความพยายามในการชดเชยให้ผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และทุกข์ทรมานจากรัฐบาลของเจ้าอาณานิคม แต่ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องทำเพื่อการชดเชยอย่างสมบูรณ์
ด้านพระเจ้าชาร์ลส์ตรัสว่า ต้องการทำความเข้าใจความผิดในอดีตอย่างลึกซึ้งขึ้น รวมถึงพบกับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวระหว่างการเยือนเคนยาครั้งนี้ ซึ่งมีพระราชินีคามิลาโดยเสด็จด้วย
วางกี มาคาเรีย ผู้นำศูนย์เพื่อการแก้ไขและป้องกันแห่งแอฟริกา ซึ่งเป็นกลุ่มสิทธิมนุษยชน ระบุว่า อังกฤษควรปฏิบัติตามเยอรมนีที่ขอโทษสำหรับการกดขี่ข่มเหงในนามิเบีย และตกลงสนับสนุนโครงการต่างๆ รวมมูลค่า 1,000 ล้านยูโร
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี)