ประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรียเดินทางไปเมืองหางโจวของจีน และเข้าพบประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เมื่อวานนี้ (22 ก.ย.) ซึ่งถือเป็นการเยือนจีนครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปี ขณะที่ผู้นำปักกิ่งเรียกร้องให้ชาติตะวันตกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรซีเรีย และย้ำว่าจีนพร้อมที่จะเข้าไปช่วยฟื้นฟูบ้านเมืองของซีเรียที่พังเสียหายจากสงครามกลางเมือง
สื่อจีนรายงานว่า เครื่องบินแอร์ไชน่าพาผู้นำซีเรียเดินทางมาถึงหางโจวท่ามกลางหมอกที่ลงจัด ทำให้บรรยากาศการเยือนครั้งนี้ดู “ลี้ลับ” สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่า อัสซาด แทบจะไม่เดินทางออกนอกประเทศเลยนับตั้งแต่เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นเมื่อปี 2011
การพบกันระหว่าง สี และอัสซาด ที่หางโจว นอกจากจะช่วยสนับสนุนความพยายามของผู้นำซีเรียที่จะกลับมามีบทบาทในเวทีโลกอีกครั้งแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของจีนในภูมิภาคตะวันออกกลาง หลังจากที่ปักกิ่งได้เข้าไปสานสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิหร่าน และซาอุดีอาระเบียเอาไว้แล้วก่อนหน้า
“จีนไม่เห็นด้วยที่มหาอำนาจภายนอกจะเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของซีเรีย และขอเรียกร้องให้ทุกประเทศที่เกี่ยวข้องยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรฝ่ายเดียวต่อซีเรีย” ถ้อยแถลงจากการประชุมซัมมิตระหว่าง สี และอัสซาด ที่เผยแพร่ผ่านสื่อรัฐบาลจีน ระบุ
สี ยืนยันกับ อัสซาด ว่า จีนพร้อมที่จะช่วยซีเรียพลิกฟื้นเศรษฐกิจและรับมือกับปัญหาความไม่สงบภายในประเทศ โดยจะยกระดับความสัมพันธ์จีน-ซีเรียสู่ “ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” (strategic partnership)
ท่าทีรับรองจาก สี จิ้นผิง ถือเป็นอีกหนึ่งพลังที่จะช่วยให้ อัสซาด พ้นจากสถานะผู้นำที่ถูกนานาชาติรังเกียจ (pariah) โดยรัฐบาลซีเรียเองได้ประกาศเข้าร่วมโครงการแถบและเส้นทาง (Belt and Road) ของจีนในปี 2022 และยังได้รับการเปิดทางให้กลับเข้าสู่สันนิบาตอาหรับ (Arab League) อีกครั้งเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา
ในทางการทูตจีน ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์นั้นหมายถึงการยกระดับความร่วมมือทั้งในกิจการระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงในด้านการทหารด้วย และอยู่ขั้นรองลงมาจากระดับ “ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบครอบคลุม” (comprehensive strategic partnership)
โลกตะวันตกเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรกดดันซีเรียอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สงครามกลางเมืองปะทุขึ้นเมื่อปี 2011 โดยรัฐบาล อัสซาด นั้นได้ปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงอย่างรุนแรง ทำให้มีผู้คนล้มตายไปนับแสน ขณะที่ชาวซีเรียอีกหลายล้านคนต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยพลัดถิ่นฐาน
เวลานี้รัฐบาล อัสซาด ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากรัสเซียและอิหร่านสามารถควบคุมพื้นที่เกือบทั้งหมดในซีเรียไว้ได้แล้ว และเริ่มกลับมาฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตกับบรรดาชาติอาหรับที่ครั้งหนึ่งเคยให้การสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียมาก่อน
ซีเรียต้องการเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเพื่อนำมาฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานและภาคอุตสาหกรรมที่พังเสียหายจากพิษสงคราม อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์เชื่อว่าบริษัทจีนส่วนใหญ่น่าจะยังลังเลไม่กล้ากลับเข้าไปลงทุนในซีเรียตอนนี้ เพราะเสี่ยงต่อการถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรภายใต้กฎหมาย Caesar Act ปี 2020 ที่เปิดทางให้มีการสั่งอายัดทรัพย์สินบุคคลใดก็ตามที่เข้าไปทำธุรกิจกับซีเรีย
ปัญหาด้านความมั่นคงและสถานการณ์การคลังของซีเรียก็เป็นอีก 2 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนจีนต้องคิดหนักเช่นกัน
ที่มา : รอยเตอร์