xs
xsm
sm
md
lg

ความช่วยเหลือหลั่งไหลมาถึงลิเบีย อัยการเริ่มสอบหาสาเหตุเขื่อนแตก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเจนซีส์ - ความช่วยเหลือจากนานาชาติหลั่งไหลสู่ลิเบียเพื่อช่วยผู้รอดชีวิตจากภัยพิบัติรุนแรง หลังเขื่อน 2 แห่งในเมืองเดอร์นาทางตะวันออกของประเทศแตกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และทำให้มีผู้เสียชีวิตนับพันคน ขณะเดียวกัน อัยการประกาศเริ่มต้นการสอบสวนหาสาเหตุที่ทำให้เขื่อนทั้ง 2 แห่งแตกทั้งที่รู้กันมาตั้งแต่ปี 1998 ว่าทั้ง 2 เขื่อนมีรอยร้าว

ท่ามกลางความพยายามกู้ภัยที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย รายงานยอดผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในลิเบียจากแต่ละแหล่งมีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยตัวเลขอย่างเป็นทางการล่าสุดของรัฐบาลฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ประสบภัยอยู่ที่ 3,252 คน

ในวันอาทิตย์ (17 ก.ย.) สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เตือนว่า ยอดผู้เสียชีวิตในเมืองเดอร์นาเมืองเดียวอาจสูงถึง 11,300 คน และสูญหายอีก 10,100 คน โดยอ้างอิงจากข้อมูลของสภาเสี้ยววงเดือนแดงลิเบีย

ก่อนหน้านี้ สภาเสี้ยววงเดือนแดงลิเบียปฏิเสธตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ยูเอ็นรายงานว่า สูงกว่า 10,000 คน โดยระบุว่า ทางสภาฯ มีโฆษกอย่างเป็นทางการเพียงคนเดียว และเรียกร้องให้สื่อใช้ความระมัดระวังและรายงานข้อมูลที่ถูกต้อง

ข้อมูลที่ขัดแย้งนี้เป็นผลจากความแตกแยกและการที่ลิเบียไม่มีการรวมศูนย์อำนาจนับจากปี 2011 ที่ประชาชนลุกฮือโค่นล้มผู้นำเผด็จการ โมอัมมาร์ กัดดาฟี โดยมีองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ให้การสนับสนุน และทำให้ลิเบียเผชิญสงครามในประเทศนานหลายปี

แม้ภัยพิบัติครั้งนี้ผ่านพ้นไปหนึ่งสัปดาห์ แต่ยังคงพบร่างผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (15 ก.ย.) หนังสือพิมพ์ไทมส์ ออฟ มอลตารายงานว่า ทีมกู้ภัยจากกรมคุ้มครองพลเรือนมอลตาพบศพกระจัดกระจายบนชายหาดแห่งหนึ่ง

ภัยพิบัติครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เขื่อนต้นน้ำ 2 แห่งในเมืองท่าเดอร์นาที่มีประชากร 100,000 คนแตกเนื่องจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักภายหลังพายุเฮอร์ริเคนแดเนียลพัดขึ้นฝั่ง

เขื่อนทั้ง 2 แห่งสร้างขึ้นหลังจากเมืองนี้ถูกน้ำท่วมใหญ่ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 และขณะนี้เริ่มมีการตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงไม่สามารถป้องกันภัยพิบัติครั้งนี้ได้ ทั้งที่รับรู้กันตั้งแต่ปี 1998 ว่าเขื่อน 2 แห่งนี้มีรอยร้าว

อัล-เซ็ดดิก อัล-ซูร์ อัยการลิเบีย ประกาศว่า ได้เริ่มสอบสวนสถานการณ์ที่ทำให้เขื่อนทั้ง 2 แห่งแตกแล้ว

อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับโครงสร้างพื้นฐานที่ผุพังอีกมากมายของลิเบีย เขื่อน 2 แห่งในเดอร์นาถูกละเลยจากความขัดแย้งและความแตกแยกตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ปัจจุบัน ลิเบียปกครองโดยคณะบริหาร 2 ชุด ชุดหนึ่งอยู่ในกรุงทริโปลี ได้รับการสนับสนุนจากยูเอ็นและได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และอีกชุดอยู่ทางตะวันออก

ขณะเดียวกัน ความช่วยเหลือจากนานาชาติ เช่น ยูเอ็น ยุโรป และตะวันออกกลางไปถึงลิเบียแล้ว เพื่อนำสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปมอบให้ เช่น น้ำ อาหาร เต็นต์ ผ้าห่ม ผลิตภัณฑ์สุขอนามัย ยา อุปกรณ์สำหรับการผ่าตัดฉุกเฉิน ตลอดจนถึงถุงบรรจุศพ และเครื่องจักรกลหนักเพื่อช่วยเคลียร์เศษซากปรักหักพัง

องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานระบุว่า มีประชาชนที่กลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัยอย่างน้อย 40,000 คนทางตะวันออกเฉียงเหนือของลิเบีย แต่สำทับว่า ตัวเลขจริงมีแนวโน้มสูงกว่านี้เนื่องจากปัญหาในการเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยรุนแรง

องค์การบรรเทาทุกข์หลายแห่งยังเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงจากกับระเบิดที่ยังหลงเหลืออยู่ที่อาจไหลไปตามกระแสน้ำ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากโรคทางน้ำ เช่น อหิวาตกโรค ด้านศูนย์เพื่อการควบคุมโรคแห่งชาติรายงานว่า มีเด็กอย่างน้อย 55 คนป่วยจากการดื่มน้ำเสียในเดอร์นา

กระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาลฝั่งตะวันออกยืนยันว่า มีการเก็บตัวอย่างน้ำไปวิเคราะห์เป็นประจำทุกวันเพื่อป้องกันการปนเปื้อน และเตือนให้ประชาชนงดใช้น้ำบาดาล

กระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาลฝั่งตะวันออกยังปฏิเสธข่าวที่ว่า อาจมีการอพยพประชาชนจากเดอร์นา โดยระบุว่า มีเพียงบางพื้นที่เท่านั้นที่อาจถูก “โดดเดี่ยว” เพื่ออำนวยความสะดวกในการบรรเทาทุกข์

ทั้งนี้ ยูเอ็นได้ร้องขอให้นานาชาติบริจาคเงินกว่า 71 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือชาวลิเบียนับแสนคนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น