xs
xsm
sm
md
lg

ไปต่อไม่รอใคร! อินเดียส่งยานสำรวจ ‘Aditya-L1’ ศึกษาดวงอาทิตย์ หลังเพิ่งลงจอดขั้วใต้ดวงจันทร์สำเร็จ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



องค์การวิจัยด้านอวกาศของอินเดีย (ISRO) ส่งยานสำรวจ “อาทิตยา” ขึ้นไปทำภารกิจศึกษาดวงอาทิตย์เป็นครั้งแรกในวันนี้ (2 ก.ย.) หลังเพิ่งประสบความสำเร็จในภารกิจ “จันทรายาน-3” (Chandrayaan-3) โดยสามารถส่งยานไปลงจอดบริเวณขั้วใต้ดวงจันทร์ เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา

ภารกิจของยาน Aditya-L1 ซึ่งถูกถ่ายทอดสดผ่านเว็บไซต์ ISRO มีผู้เข้าชมมากกว่า 860,000 คน ขณะที่ชาวอินเดียอีกหลายพันคนไปจับจองพื้นที่บริเวณจุดชมการปล่อยจรวด เพื่อร่วมเป็นสักขีพยานในการส่งยานอวกาศขึ้นไปศึกษาเกี่ยวกับลมสุริยะ (solar winds) ที่ส่งผลกระทบต่อโลกโดยจะปรากฏให้เห็นในรูปของ “แสงออโรรา”

ยาน Aditya-L1 ซึ่งมาจากภาษาฮินดีที่แปลว่า “ดวงอาทิตย์” พุ่งทะยานขึ้นสู่อวกาศเพียงราวๆ 1 สัปดาห์ หลังจากที่อินเดียเอาชนะ “รัสเซีย” จนกลายเป็นชาติแรกในโลกที่สามารถส่งยานไปลงจอดแบบนุ่มนวลที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์

นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี สนับสนุนภารกิจด้านอวกาศของประเทศอย่างเต็มที่ เพื่อผลักดันให้อินเดียก้าวขึ้นไปอยู่ในระดับที่ทัดเทียมกับชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีน

“ท่านต้องการทำให้อุตสาหกรรมไอทีของอินเดียบูมขึ้นมา ด้วยความสำเร็จด้านอวกาศ” เจ้าหน้าที่รัฐบาลผู้ไม่ประสงค์ออกนามคนหนึ่ง ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน

“เรามั่นใจว่าจะได้รับชุดข้อมูลเฉพาะเจาะจงที่ไม่เคยได้รับจากภารกิจอื่นๆ มาก่อน” ศังกร สุพรามาณียัน หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ผู้ดูแลภารกิจ Aditya-L1 ระบุ

“มันจะช่วยให้เราเข้าใจดวงอาทิตย์ เข้าใจพลวัตของมัน รวมถึงสุริยมณฑลชั้นใน (inner heliosphere) ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญต่อเทคโนโลยีในปัจจุบัน รวมถึงในแง่มุมของสภาพอากาศด้วย”

ยาน Aditya-L1 ถูกออกแบบมาเพื่อท่องอวกาศเป็นระยะทาง 1.5 ล้านกิโลเมตรภายในช่วงเวลา 4 เดือน ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับระยะทาง 150 ล้านกิโลเมตรระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ และจะหยุดพักการเดินทางในจุดที่เรียกกันว่า “จุดลากร็องฌ์” (Lagrange Point) ซึ่งเป็นจุดที่แรงโน้มถ่วงที่ได้รับจากสองวัตถุมวลมหึมา (ในกรณีของระบบสุริยะคือ โลกและดวงอาทิตย์) ทำการหักล้างกันโดยสมบูรณ์ เปรียบเหมือนการชักเย่อที่สองฝั่งใช้แรงเท่ากัน ซึ่งจะทำให้วัตถุขนาดเล็กที่เข้ามาอยู่ในจุดนี้ไม่เคลื่อนที่ และช่วยประหยัดเชื้อเพลิงให้ยานอวกาศได้ด้วย

ที่มา : รอยเตอร์








กำลังโหลดความคิดเห็น