(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
World trade tumbles into recession
By DAVID P. GOLDMAN
10/08/2023
ผลงานที่สะดุดติดขัดของจีนเวลานี้ อันที่จริงก็สอดคล้องอยู่ในลักษณะเดียวกันกับความย่ำแย่ของประเทศผู้ส่งออกใหญ่รายอื่นๆ
ชาติส่งออกรายใหญ่ๆ ทุกๆ ชาติ ล้วนแต่แสดงให้เห็นตัวเลขการจัดส่งสินค้าที่ลดต่ำลงมาฮวบฮาบในช่วงเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมนี้ เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2022 นำโดยเกาหลีใต้และอินเดีย ซึ่งทั้งคู่ต่างลดลงมา 16% ในเดือนกรกฎาคมและมิถุนายนตามลำดับ สำหรับจีน และไต้หวัน ให้ตัวเลขการส่งออกในเดือนกรกฎาคมเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้านี้ ก็ถดถอยลงมา 9.2% และ 10.4% นอกจากนั้นแล้ว การส่งออกในเดือนกรกฎาคมของสิงคโปร์ หล่นลงมา 19.3% หากเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ของเวียดนามหดลง 15%
การถอยลงของการส่งออกจีนในเดือนกรกฎาคมได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากพวกสื่อมวลชนใหญ่ๆ สืบเนื่องจากบรรยากาศทางการเมืองอันตึงเครียดที่แวดล้อมการค้าของแดนมังกร แต่ที่จริงแล้วข้อมูลเรื่องนี้ของจีนไม่ได้ดูโดดเด่นเป็นพิเศษอะไร ดังที่ชาร์ตข้างบนนี้แสดงให้เห็น ผลงานด้านการส่งออกของจีนก็อยู่ในลักษณะเดียวกันกับคนอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกตลอดจนในเอเชียใต้ ทั้งนี้พวกสถานที่สำคัญที่สุดของกระแสการหวนกลับมาลงทุนกันใหม่อีกครั้ง (ของโลกตะวันตก เพื่อจะได้ลดการพึ่งพาอาศัยจีน) หรือ re-shoring --ซึ่งหมายถึงประเทศที่ถูกจับตามองว่าเป็นทางเลือก (สำหรับสหรัฐฯ และโลกตะวันตก) ที่จะสามารถทำหน้าที่ทดแทนเครื่องจักรส่งออกอันใหญ่โตมหึมาของจีนได้ ก็ปรากฏว่ามีตัวเลขที่หล่นวูบลงไกลกว่าจีนด้วยซ้ำ
การส่งออกที่หดตัวลงเช่นนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดใหญ่ๆ ทุกแห่งถ้วนหน้า จีนนั้นตีพิมพ์รายละเอียดข้อมูลการส่งออกก่อนประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ และตัวเลขเหล่านี้ก็แสดงให้เห็นการติดลบในจุดหมายปลายทางแห่งการส่งออกสำคัญๆ ทั้งหมด
เมื่อหันมาพิจารณาจากข้อมูลของฝ่ายสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายน ซึ่งจวบจนถึงเวลานี้เป็นเดือนล่าสุดที่มีการเผยแพร่ตัวเลขอย่างเป็นทางการออกมา ก็ปรากฏว่าการนำเข้าของอเมริกันลดต่ำลง 9.9% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แล้วการถอยลงในการส่งออกของจีนไปสหรัฐฯ ยังอยู่ในลักษณะสอดคล้องต้องกันกับการหดตัวของการส่งออกของสหรัฐฯ โดยรวมอีกด้วย
การที่การส่งออกของทั่วโลกทรุดฮวบลงเช่นนี้ ส่วนหนึ่งสืบเนื่องจากระดับราคาที่ลดต่ำลง ทั้งนี้หลังจากการระเบิดของอัตราเงินเฟ้อในช่วงปี 2021-2022 ซึ่งถึงขีดสูงสุดด้วยการที่ราคาการส่งออกพุ่งพรวดขึ้นสู่อัตรา 19% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้านั้นในเดือนพฤษภาคม 2021 แล้ว ราคาการส่งออกของโลกก็ดำดิ่งลงสู่ภาวะเงินฝืดในช่วงระยะ 3 เดือนหลังมานี้ โดยราคาการส่งออกโดยภาพรวมได้ถดถอยลงมา 5% ณ เดือนพฤษภาคม 2023 ตามข้อมูลการศึกษาของสำนักงานวางแผนส่วนกลางเนเธอร์แลนด์ (Netherlands Central Planning Bureau)
พวกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ผู้บริโภค ที่เคยบูมสนั่นในช่วงระหว่างที่มีการล็อกดาวน์เนื่องจากโรคระบาดใหญ่โควิด เป็นหนึ่งในภาคที่ได้รับความกระทบกระเทือนหนักหนาสาหัสที่สุด ภาวะขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งเคยเกิดขึ้นในระยะปี 2021-2022 กลับกลายเป็นภาวะล้นเกินในทั่วโลก และชิปคอมพิวเตอร์ทั้งหลายก็กำลังมีราคาลดต่ำลงมาอย่างสำคัญ